ในกองถ่ายแฟชั่นและโฆษณาเรามักจะเห็น ‘Stylist’ เป็นผู้ดูแลและกำหนดภาพรวมของการแต่งกายในแต่ละฉาก แต่ทว่าในโลกของภาพยนตร์และโทรทัศน์นั้นชื่อของตำแหน่งผู้ดูแลเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายนั้นจะถูกเปลี่ยนไปเป็น ‘Costume Designer’ แทน ซึ่งตำแหน่งนี้มีบทบาทไม่แพ้ตำแหน่งอื่นๆ ในกองถ่ายภาพยนตร์หรือโทรทัศน์เลย
เพราะว่าตั้งแต่เดรสสีขาวสุดไอคอนิกที่ Marilyn Monroe สวมในเรื่อง The Seven Year Itch ไปจนถึงเดรสสีเหลืองพิมพ์ลายดอกไม้ที่ Emma Stone สวมในเรื่องภาพยนตร์ La La Land ทุกชุดนั้นเกิดขึ้นจากไอเดียของเหล่า Costume Designer ทั้งนั้น เพราะว่าในภาพยนตร์หรือซีรีส์เสื้อผ้านั้นสามารถบ่งบอกได้ถึงเบื้องหลังของตัวละครและสามารถสื่อสารข้อความบางอย่างที่บทพูดในภาพยนตร์ไม่สามารถสื่อสารได้
ทำให้ในภาพยนตร์แต่ละเรื่องหรือซีรีส์แต่ละตอนนั้นเครื่องแต่งกายนั้นล้วนมีความสำคัญไม่แพ้องค์ประกอบภาพยนตร์ด้านอื่นๆ เลย เพราะมันเปรียบเสมือนกับเครื่องมือในการช่วยบอกเล่าเรื่องราว อารมณ์ ความรู้สึก และภูมิหลังของตัวละครโดยไม่ต้องใช้ภาพ ซึ่งเครื่องแต่งกายในภาพยนตร์ ซีรีส์ และละครเวทีทั้งหมดล้วนอยู่ภายใต้การดูแลของ Costume Designer นั่นเอง
วันนี้ LIPS เลยจะพาทุกคนไปรู้จักกับตำแหน่ง Costume Designer กันให้มากขึ้นว่าตำแหน่งนี้สำคัญอย่างไรและมีหน้าที่อะไรบ้าง และพาไปทำความรู้จักกับนักออกแบบเครื่องแต่งกายในภาพยนตร์หรือซีรีส์ที่ประสบความสำเร็จและได้คำชมอย่างล้นหลามในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และโทรทัศน์ จะมีใครกันบ้างไปดูเลย!
What is a Costume Designer?
ก่อนอื่นเราขออธิบายความหมายของ Costume Designer กันก่อน Costume Designer หรือนักออกแบบเครื่องแต่งกาย คือบุคคลที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการออกแบบองค์ประกอบเสื้อผ้าที่นักแสดงสวมใส่ในภาพยนตร์ ซีรีส์ และละครเวที ซึ่งจริงๆ แล้วตำแหน่ง Costume Designer นั้นมีความคล้ายกับแฟชั่นดีไซเนอร์มากๆ เพราะมีหน้าที่ที่ต้องรังสรรค์เสื้อผ้าขึ้นมาแต่ Costume Designer นั้นต้องมีความเข้าใจเฉพาะทางในด้านการออกแบบเสื้อผ้าสำหรับภาพยนตร์ ซีรีส์ และละครเวทีโดยเฉพาะ
ตำแหน่ง Costume Designer นั้นสำคัญถึงขนาดที่ว่า ‘The Academy of Motion Picture Arts and Sciences’ หรือ ‘สถาบันศิลปะและวิทยาการภาพยนตร์’ คณะผู้จัดงาน Oscars หรือรางวัลสำหรับภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในวงการหนังต้องแต่งตั้ง ‘รางวัลเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม’ หรือ ‘Best Costume Designs’ ขึ้นในปี 1949 โดยจะมอบรางวัลให้กับนักออกแบบเครื่องแต่งกายที่สามารถสร้างสรรค์เครื่องแต่งกายของตัวละครให้เข้ากับเนื้อเรื่องของภาพยนตร์เรื่องนั้นมากที่สุด ซึ่งขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของเหล่าคณะกรรมการผู้ตัดสินรางวัลในแต่ละปี
นอกจากนั้นชุดสำหรับใช้ในภาพยนตร์หรือชุดสำหรับงานแสดงนั้นต้องเป็นไปตามข้อกำหนดต่างๆ เพื่อที่จะต้องตอบสนองต่อการดำเนินเรื่องของภาพยนตร์หรืองานแสดงนั้นๆ และอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันของชุดสำหรับงานแสดงก็คือจะต้องมีความทนทานและทนต่อการสึกหรอเป็นอย่างมาก เพื่อที่จะตอบโจทย์กับงานแสดงประเภทต่างๆ ที่ปกติแล้วจะต้องเปลี่ยนชุดไปมาและใช้ความรวดเร็วเป็นอย่างมากระหว่างฉากต่างๆ
Responsibilities of a Costume Designer
ซึ่งหากมองให้ลึกลงไปกว่าการออกแบบเครื่องแต่งกายของนักแสดงที่ Costume Designer ต้องทำแล้ว เราจะเห็นได้ว่าบทบาทและหน้าที่ของพวกเขานั้นมีรายละเอียดปลีกย่อยมากมายซึ่งเราสรุปมาเป็น 6 ข้อ ได้ดังนี้
1. Costume Designer เริ่มต้นการทำงานโดยการอ่านบทอย่างละเอียดเพื่อวิเคราะห์โครงเรื่อง, Mood & Tone รวมถึงวางแผนในเรื่องของระยะเวลาในการทำงานอย่างรอบคอบ
2. ขั้นตอนต่อมาก็คือการพูดคุยเบื้องต้นกับผู้เขียนบท ผู้กำกับ และตำแหน่งอื่นๆ ในทีมผู้ผลิต เพื่อที่จะนำเอาข้อมูลต่างๆ ไปค้นคว้าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์แฟชั่น รวมถึงเทรนด์แฟชั่นต่างๆ ที่สอดคล้องกับช่วงเวลาและสถานที่นั้นๆ
3. ขั้นตอนต่อมาเป็นการค้นคว้าและการออกแบบ Costume Designer จะต้องรวบรวมแหล่งอ้างอิงเพื่อความถูกต้องในออกแบบเครื่องแต่งกายของตัวละครไม่ว่าจะเป็น งานศิลปะ รูปถ่าย หนังสือ แพทเทิร์นเสื้อผ้า รวมถึงชิ้นส่วนของเสื้อผ้าในช่วงเวลานั้นๆ เพื่อใช้ประกอบการออกแบบในขั้นตอนสุดท้าย
4. นอกจากนั้น Costume Designer จะต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าชุดแต่ละชุดนั้นจะสามารถสื่อถึงภูมิหลังของตัวละครได้ เช่น อายุ สถานะทางสังคม รวมถึงอาชีพของตัวละครด้วย โดยเสื้อผ้าของแต่ละตัวละครจะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาไปตามการเติบโตของตัวละคร
5. เมื่อเสร็จขั้นตอนการออกแบบและผ่านการเห็นชอบจากผู้กำกับและทีมผู้ผลิตภาพยนตร์แล้ว Costume Designer ก็จะเริ่มลงมือตัดเย็บชุดเหล่านั้นขึ้นมา ซึ่งในบางครั้งอาจจะต้องผลิตขึ้นมาใหม่ หรือในบางครั้งอาจจะเป็นการไปซื้อหรือเช่ามาจากร้านขายเสื้อผ้าต่างๆ ซึ่งในฮอลลีวูดจะมีร้านเช่าชุดสำหรับงานแสดงโดยเฉพาะ
6. ขั้นตอนสุดท้ายคือการ ‘Fitting’ หรือการทดลองใส่จริงกับนักแสดงเพื่อปรับเปลี่ยนชุดให้เข้ากับนักแสดงมากที่สุด
Costume Designer You Should Know!
Patricia Field
เราขอเริ่มต้นกันที่ Costume Designer คนแรกที่มีชื่อเสียงในหมู่สายแฟและถือเป็นอีกหนึ่งนักออกแบบเครื่องแต่งกายตัวแม่ที่ทรงอิทธิพลมากในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และซีรีส์อย่าง ‘Patricia Field’ นักออกแบบเครื่องแต่งกายผู้เนรมิตลุคสุดไอคอนิคมากมายให้กับตัวละครสุดไฮแฟชั่นอย่าง Carrie Bradshaw และผองเพื่อนจากซีรีส์เรื่อง Sex and the City จนกลายเป็นไอคอนิคลุคประดับวงการแฟชั่นและวงการบันเทิงจวบจนทุกวันนี้ และซีรีส์เรื่องนี้ก็พาเธอคว้ารางวัล Emmy Awards สาขา Outstanding Costumes for a Series มาแล้ว
นอกจากนั้นเธอยังอยู่เบื้องหลังเครื่องแต่งกายของภาพยนตร์และซีรีส์สุดไอคอนิกอีกหลายเรื่อง เช่น Emily in Paris, Confessions of a Shopaholic รวมถึงภาพยนตร์แฟชั่นขึ้นหิ้งตลอดกาลอย่าง The Devil Wears Prada จุดเด่นของ Patricia คือสไตล์สุดไฮแฟชั่นที่ผ่านการมิกซ์แอนด์แมตช์มาอย่างดี เธอมักเริ่มรังสรรค์เครื่องแต่งกายจากบท คาแรกเตอร์ และนักแสดงที่มารับบทนั้นๆ จากนั้นเธอก็เริ่มสร้างเสื้อผ้าด้วยไอเท็มสุดคลาสสิคก่อนที่จะเพิ่มมิติให้กับลุคด้วยไอเท็มแฟชั่นต่างๆ จนเครื่องแต่งกายในภาพยนตร์และซีรีส์หลายๆ เรื่องที่เธอดูแลสร้างอิมแพคให้กับสายแฟและผู้ชมได้เป็นอย่างดี
Heidi Bivens
มาต่อที่ Costume Designer คนต่อมาที่เรียกได้ว่าผ่านมาทุกสายงานแล้วในแวดวงแฟชั่นอย่าง ‘Heidi Bivens’ หนึ่งในนักออกแบบเครื่องแต่งกายที่มาแรงแซงทางโค้งมากๆ เพราะเธออยู่เบื้องหลังลุค Y2K ของเหล่าตัวละครในซีรีส์วัยรุ่นแห่งยุคนี้อย่าง Euphoria ทั้งสองภาค สไตล์แฟชั่นของซีรีส์เรื่องนี้นั้นกลายเป็นที่สนใจของเหล่าสายแฟและผู้ชมทั่วโลกจนกลายเป็นกระแสไปทั่วทั้งโลกออนไลน์
เธอสามารถสร้างสไตล์ส่วนตัวอันโดดเด่นของแต่ละตัวละครได้เป็นอย่างดี เช่น สไตล์สุดทอมบอยของ Rue Bennett (รับบทโดย Zendaya) หรือสไตล์แฟชั่นสุด Bombshell ของ Cassie Howard (รับบทโดย Sydney Sweeney) ที่เป็นที่ฮือฮามากในภาค 2 ของซีรีส์เรื่องนี้ เธอสร้างสไตล์การแต่งตัวของแต่ละตัวละครได้อย่างสมจริงและผสม DNA ของเธออย่างความ Y2K จน Heidi ได้รับคำชมจากสื่อหลายๆ สำนักว่าเป็น Costume Designer ที่มีความ ‘Realistic’ ที่สุด
อีกทั้งเธอยังเป็น Costume Designer ที่ขับเคลื่อนประเด็นเรื่องของ Sustainable Fashion ด้วยเพราะว่าซีรีส์ทั้งสองซีซั่นเธอใช้เสื้อผ้ามือสองกว่า 60% ในการนำมาใช้ให้กับคาแรกเตอร์ต่างๆ นอกจากนั้นในซีรีส์เรื่องนี้เธอยังสอดแทรกความหลากหลายไว้ในเครื่องแต่งกายอีกด้วย ส่งต่ออิทธิพลความยั่งยืนและความหลากหลายสู่ผู้ชมจำนวนมากของซีรีส์เรื่องนี้ นอกจาก Euphoria เธอยังฝากผลงานการออกแบบเครื่องแต่งกายไว้ในภาพยนตร์สุดฮิปอย่างเรื่อง The Beach Bum และ Spring Breakers ซึ่งมีคอสตูมที่สมจริงและน่าสนใจไม่แพ้กัน
Jacqueline Durran
Costume Designer คนสุดท้ายที่เราอยากให้ทุกคนรู้จักเป็นนักออกแบบเครื่องแต่งกายสายภาพยนตร์ย้อนยุคที่ฝากผลงานประดับวงการภาพยนตร์ไว้มากมายอย่าง ‘Jacqueline Durran’ จนเข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง 7 ครั้งและคว้ารางวัลออสการ์สาขาออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยมมาแล้ว 2 ตัว เธอเป็นนักออกแบบเครื่องแต่งกายที่ผันตัวจากพนักงานในร้านเช่าชุดอันโด่งดังในกรุงลอนดอน และใช้ความหลงใหลในเสื้อผ้าวินเทจจนทำให้เธอได้โอกาสเป็นผู้ช่วยของ Lindy Hemming นักออกแบบเครื่องแต่งกายชื่อดังแห่งยุค 90s
การเริ่มต้นสายอาชีพนักออกแบบเครื่องแต่งกายจากตำแหน่งเล็กๆ ทำให้เธอได้เรียนรู้งานการเป็น Costume Designer ตั้งแต่พื้นฐานก่อนจะเก็บเกี่ยวประสบการณ์จนกลายเป็นอีกหนึ่ง Costume Designer ที่ทรงอิทธิพลในปัจจุบัน และเธอได้ร่วมงานกับผู้กำกับชื่อดังมากมายและเป็นที่ต้องการตัวของพวกเขาให้เธอมาดูแลเครื่องแต่งกายของตัวละครในภาพยนตร์ของพวกเขา เพราะเครื่องแต่งกายในทุกๆ ภาพยนตร์ที่เธอดูแลนั้นมีเสน่ห์ โดดเด่น และเข้ากับ Mood & Tone ของภาพยนตร์เป็นอย่างมาก
จนทำให้เธอคว้ารางวัลออสการ์ 2 ตัวจากภาพยนตร์ย้อนยุคอย่าง Anna Karenina และ Little Women แต่เราพูดเลยว่าภาพยนตร์ย้อนยุคสุดไอคอนิคอีกหลายๆ เรื่องที่เราได้ชมกันล้วยเป็นฝีมือของ Jacqueline ยกตัวอย่างเช่น Pride & Prejudice, Atonement, Beauty and the Beast, Darkest Hour, 1917 และล่าสุดอย่างเรื่อง Spencer ที่แสดงนำโดย Kristen Stewart ก็เป็นเธอนี้แหละที่อยู่เบื้องหลังเครื่องแต่งกายย้อนยุคสุดอลังการของภาพยนตร์เหล่านี้ แต่นอกจากภาพยนตร์ย้อนยุคแล้วเธอยังกระโดดมาทำเสื้อผ้าให้กับภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ของปีนี้อย่างเรื่อง The Batman ด้วย