แม่ที่กลัวความตาย ศิลปินที่หลงใหลในความโศก โลกมืดดำที่ถูกขย้ำด้วยสรรพสีสัน สัตว์ประหลาดสารพันที่เป็นส่วนผสมของหมี นางฟ้า ซาตาน นั่นละคือจักรวาลที่ทุกสิ่งล้วนเป็นไปได้ ตั้งแต่ศิลปะดิจิทัลจนถึงภาพเพ้นต์และแฟชั่นไอเท็มของ กุ๊ก – ชนิดา วรพิทักษ์ ศิลปินที่ใช้ชื่อว่า Cuscus the Cuckoos
จักรวาลแห่งความเป็นไปได้
หมีนอนแช่ในอ่างอาบน้ำมีขนและขาปุกปุยพร้อมกับจระเข้ กุ๊กบอกว่านั่นคือ ซูลิส เทพีแห่งบ่อน้ำที่มีพลังช่วยรักษาและฟื้นคืนทุกสิ่งอย่าง ส่วนหมีหูยาวราวกับกระต่ายที่มีขาใหญ่โตเหมือนช้างคือผู้ครองเมืองหลวงเมื่อ 4,000 ปีก่อนสมัยที่ยังมีดวงอาทิตย์ 3 ดวงอันเป็นผลจากการให้กำเนิดชิปคอมพิวเตอร์โดยมิได้ตั้งใจของจักรวาล และยังมีผู้เสพความกลัวที่ความกลัวของมันเองมีขนาดมหึมาเท่ากับจักรวาล 11 แห่งรวมกันซึ่งอยู่ในร่างของ…หมีแฝดลายเสือพาดกลอน
สัตว์ประหลาดอาละวาดอยู่ในผลงานภาพแล้วภาพเล่าของ ‘กุ๊ก’ ศิลปินผู้มีสมัญญาว่า Cuscus the Cuckoos ซึ่งชื่อนี้ก็ได้มาจากลิงหน้าแบ๊วจากออสเตรเลีย ความน่าเอ็นดูของผองสัตว์เหล่านี้มาพร้อมภูมิหลังสุดขอบจินตนาการ หรือในจักรวาลของกุ๊กแปลว่า ‘เราไม่รู้หรอกว่ามันมีหรือไม่มีอยู่จริง’
“เพราะชีวิตคือ Stimulation (สถานการณ์จำลองที่จัดสภาพแวดล้อมเลียนแบบของจริงให้ใกล้เคียงสภาพความเป็นจริงให้มากที่สุด) อยู่แล้ว” ประโยคนี้กุ๊กบอกด้วยว่าจำมาจากการ์ตูนของอาจารย์เทสึกะ โอซามุ ผู้เขียนมังงะเรื่องเจ้าหนูอะตอมอันโด่งดังที่เธอรับมาใช้เป็นปรัชญาชีวิต
ในความน่ารักของสัตว์ประหลาดและผลงานสร้างสรรค์ของกุ๊กทุกชิ้นนั้น แม้จะอาบอวลไปด้วยสีแสบสันสุกสกาว หากพวกมันถือกำเนิดมาจากบ่อน้ำแห่งความกลัว ความตายและความเศร้า อันเป็นคำถามที่กุ๊กเผชิญในฐานะมนุษย์และแม่ ทั้งยังเป็นสมมติฐานของกุ๊กในนามของศิลปินว่าสิ่งที่ถูกแปะป้ายว่าดำมืด หากฉาบด้วยสีสัน ผลจะออกมาเป็นเช่นไร
ความกลัวของแม่
“เรากลัวตายตั้งแต่เรามีลูก” กุ๊กบอกซื่อตรง “ก่อนหน้านั้นเราใช้ชีวิตเต็มเหนี่ยว แต่พอลูกยิ่งโต เรายิ่งผูกพันกับลูก เราจะตายไม่ได้นะ สัตว์ที่ออกมาจากความกลัวของเรามีพื้นฐานมาจากความชอบในตุ๊กตาของเราอยู่แล้ว เราชอบตุ๊กตาผ้าโบราณ” ประเภทที่เวลาเดินลงมากินน้ำตอนดึกๆแล้วมันลืมตาโพลงท่ามกลางความสลัวใส่เราน่ะหรือ กุ๊กหัวเราะ บอกใช่
“แต่เราไม่กลัว เพื่อนๆเวลาไปเจอตุ๊กตาตัวที่ไม่มีใครซื้อ ก็จะซื้อตัวนั้นแหละมาฝากเรา ต้องเป็นเราที่ชอบ” สัตว์ในนิทรรศการแรกของกุ๊ก หากมองเผินแล้วคล้ายหมี แต่กุ๊กว่าไม่เชิง “เราไม่ได้วาดหมี แต่คนมองไปทางหมี ตัวเราคิดว่าเขาคือนางฟ้าเลยเติมปีกให้ จริงๆอาจเป็นซาตานก็ได้ ไอเดียเราคือถ้าตายแล้ว คุณจะเห็นอะไร มีประมาณ 25 ภาพในงาน ภาพไหนถูกโฉลกคุณ นั่นละคือสิ่งที่คุณจะได้เห็นหลังความตาย”
ตลอดเวลาที่พูดคุย สีหน้า แววตา น้ำเสียงของตัวศิลปินสดใสไร้วี่แววว่าจะขบคิดถึงด้านมืดมากมาย แต่สิ่งเหล่านี้คือพลังขับเคลื่อนงานสร้างสรรค์ของกุ๊ก เฉกเช่นศิลปินผู้มาก่อนหน้าเธอทั้งหลาย “ศิลปินหลายๆคนที่เราชอบ ถ้าไปอ่านประวัติก็จะเห็นว่าผลงานของเขาเกิดจากความเศร้าและความกลัว คนที่มีความสุขแล้ววาดรูปก็มี แต่เราไม่ได้ชอบงานแนวนั้น อย่าง David Hockney ที่รูปสีสันหวานใสมากแต่ชีวิตจริงเศร้าสุด หรือ Francis Bacon ที่วาดแนวแอ็บสแตรกต์ สีสวยงาม แต่พออ่านแคปชั่นรูปแล้วมันคือสีของเลือดที่เขาโดนคู่รักซ้อม มุมมองในงานการเสพของศิลปินนั้นๆก็เปลี่ยนไป สีดำไม่ใช่ความเศร้าเสมอไป ต้องดูที่มาของความคิดด้วย” กุ๊กกล่าว
เวลาว่างของแม่…ก็ใช้ไปกับศิลปะสิคะ
หลังเรียนจบด้านกราฟิกดีไซน์ กุ๊กทำงานสายกราฟิกมาโดยตลอด จนกระทั่งถึงทางแยกที่เธอต้องเลือกระหว่างความตายของตัวเองกับการมีชีวิตอยู่โดยไม่ได้ทำงานที่รัก ด้วยสุขภาพทางกายและใจที่แขวนอยู่ปากเหวระหว่างตั้งครรภ์ “เราคิดว่าเราผ่านมันไปไม่ได้” กุ๊กบอกถึงความคิดของตนในเวลานั้น
“คนเราแค่มีแรงและไม่ป่วยก็ดีเท่าไรแล้ว พอมีคนช่วยเลี้ยงลูก เราได้นอนเต็มๆครั้งแรกเลยนึกถึงช่วงเวลาที่หายไป เราอยากทำในสิ่งที่เราอดทำ ก็เลยวาดรูปโดยไม่ได้คิดว่าจะเอาไปทำอะไร สนใจงานปักก็ไปเข้าเวิร์กช็อปงานปักมือฝรั่งเศสโบราณ วาดบนผ้าและปักผ้า โพสต์ลงไอจีแล้วมีคนขอซื้อ อ้าว อยู่บ้านก็ทำงานได้นี่ เราก็วาดรูป โพสต์รูป ปริ๊นท์ออกมาเป็นผ้าพันคอเพราะเราอยากใช้เอง อ้าว มีคนขอซื้ออีก
“งานแฟชั่นเริ่มจากเราอยากได้ผ้าพันคอก็ทำใช้เอง พอมีคนขอซื้อ ทีหลังเวลาเราอยากได้เสื้อผ้ากระเป๋าก็จะทำเผื่อให้คนอื่นที่อยากได้ด้วย เราไม่สามารถวาดลายแล้วไปพิมพ์เอามาทำเสื้อตัวเดียวได้ ก็เลยตัดเสื้อเผื่อมาเลยหลายๆตัว แต่ไม่ได้เยอะหรอก ใช้ผ้า 10 หรือ 20 เมตร หรือเท่าที่เราจ่ายไหว เราออกแบบเสื้อผ้าเอง ไม่ได้ออกแบบตามซีซั่น ใครพรี-ออร์เดอร์ก็รับทำ เราออกแบบทรงที่ทุกคนใส่ได้ ผู้หญิง ผู้ชาย เพศไหนๆ คนตัวเล็ก คนตัวใหญ่ คนอวบ ใส่ได้หมด ถ้ามีไซส์อาจจะขายยากเลยเจาะกลุ่มฟรีไซส์ ซึ่งก็คือเราคนเดียว แต่พอทำออกมาก็มีคนซื้อตลอด ทำให้รู้ว่ามีคนที่ชอบแบบนี้
“เราสนใจผ้าไหมไทย เริ่มจากทำผ้าพันคอไพลีเอสเตอร์ก่อน อยากทดลองว่าลวดลายที่เราวาดพอเอาไปพิมพ์ขยายใหญ่ขึ้นจะออกมาเป็นอย่างไร ไร้สาระมาก เราเสียเงินไปเยอะมาก แต่สุดท้ายเราได้ไปออกแฟร์ ซีอีโอเอ็มโพเรียม/เอ็มควอเทียร์มาชวนเราไปทำ collaboration หลังจากนั้นก็มีคนชวนไป collab ด้วยเยอะมาก แค่เพราะเราอยากไปออกงานแฟร์ผ้าพันคอ” กุ๊กเล่าถึงการต่อยอดงานศิลปะสู่แฟชั่นแบบไม่ได้เจตนาของเธอ
“จากนั้นเราเริ่มทดลองกับผ้าไหม อยากรู้ว่าลายของเราที่สีแรงๆ ไปลงผ้าไหมไทยจะเป็นอย่างไร ซึ่งก็ได้รู้ว่าสีไม่ติดอีกด้าน พิมพ์สองด้านไม่ได้ อีกด้านจะขาว ต่อให้ทะลุก็ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ต้องใช้ซิลค์เกรดพรีเมียมที่บางสุด ซึ่งหมายความว่าเราต้องขายผืนละ 9,000 บาท ตอนนั้นเราเริ่มฝากขายในห้าง ในร้าน The Selected ซึ่งขายดีเลย
“เราได้โรงงานพิมพ์ผ้าไหมที่ดีมาก มีเครื่องพิมพ์ระบบผ้าธรรมชาติที่ต้องใช้หมึกอีกแบบ โรงงานนี้จะเอาผ้าไหมจากชาวบ้านที่อุบล อุดร ขอนแก่น ชาวบ้านจะส่งผ้าตรงให้โรงงานซึ่งจะส่งไปขายต่างประเทศ เราเป็นคนไทยทำแบรนด์เล็กๆคนเดียวที่ได้ผ้าจากเขา เขาใจดีมาก เขาจะแจ้งเราตลอดว่าเหลือปลายผ้าเท่านั้นเท่านี้นะ แต่ถ้าเราทำเองต้องเริ่มจากผ้า 50 หลา ซึ่งมโหฬารมาก เลยลองทำเสื้อคอลเล็กชั่นเล็กๆ ลูกค้าหลักของเราคือคนญี่ปุ่นที่มาทำงานที่เมืองไทย
“หลังจากนั้นเริ่มมีศิลปินติดต่อให้ทำงาน collaboration เยอะ อย่างพี่ตูน บอดี้สแลมจะแต่งงาน พี่โน้ส (อุดม แต่พานิช) ก็แนะนำให้กุ๊กทำงานให้ จริงๆพี่ตูนอยากให้พี่โน้สทำ แต่พี่โน้สไม่ถนัดงานคอมเมอร์เชียล หรือก็คืองานที่มีคำสั่งเกิดขึ้น (หัวเราะ) ณเดชน์ (คูกิมิยะ) ให้เราทำปกอัลบั้ม วงเก็ตสึโนว่า เราก็ทำงานให้”
เคล็ดลับการเป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จ
ไล่เรียงผลงานของศิลปินที่ใช้ชื่อลิงมาเป็นชื่อแบรนด์แล้ว ไม่มีคำอื่นนอกจากคำว่า ‘ประสบความสำเร็จ’ นั่นทำให้กุ๊กต้องตอบคำถามของศิลปินรุ่นน้องไม่เว้นวาย “น้องๆชอบถามว่าอยากประสบความสำเร็จต้องทำอย่างไร เราก็จะตอบว่าต้องทำงาน” กุ๊กตอบตรงๆ ไม่ได้กวน
“เรามาถึงตรงนี้ได้ก็เพราะทำงาน คนดูไอจีแล้วเห็นคนนั้นคนนี้ประสบความสำเร็จแล้วก็ท้อ รู้สึกว่าไม่วาดดีกว่า ไม่ทำดีกว่า แต่เราเหนื่อยมาเยอะและต้องแลกกับเวลาด้านอื่นๆที่หายไป เงยหน้ามาอีกทีหมดปีแล้ว ไม่ได้ออกไปสังคมที่ไหน โลกของศิลปินต้องการความสันโดษสูง
“สามีเราทำงาน 3D มีเพื่อนชาวต่างชาติเยอะ เวลาเพื่อนเขามาเมืองไทย เราจะขอให้มาเล็กเชอร์ให้น้องๆที่นี่ฟังว่าชีวิตศิลปินที่เซี่ยงไฮ้ หรือที่ประเทศต่างๆเป็นอย่างไร ซึ่งพอได้ฟังแล้วก็ไม่มีใครมีความสุขไปหมดหรอก ต่อให้คุณอยู่ท็อปสุดของโลก แต่เขาก็ต้องตื่นมาทำงานกินข้าวเหมือนเราแหละ เราเลยบอกน้องๆว่ายิ่งแค้นยิ่งทำงานยิ่งดี ถ้าเรามีความสุขสิไม่ต้องทำงาน ไปหาพ่อแม่ ไปเที่ยว ไปเจอเพื่อน และเราว่าเด็กที่เจ๋งในตอนนี้คือเด็กที่ไม่ตามอะไรเลย ไม่เล่นโซเชียล แล้วมีงานด้วยนะ อาจจะส่งพอร์ตไปทื่อๆ แล้วก็ติดต่อกันผ่านอีเมลแบบที่เราทำกันสมัยก่อน
“เราเห็นหัวข้อทีสิสของเด็กรุ่นใหม่หลายๆคนเป็นเรื่อง ‘ไม่ได้อยากเกิดมา’ เด็กรุ่นใหม่ไปศึกษาปรัชญาของคนที่ต่อต้านการเกิด (Anti-natalism เป็นแนวคิดที่เชื่อว่าการสร้างมนุษย์ขึ้นมาบนโลกเกือบทุกกรณีเป็นเรื่องผิดศีลธรรมที่คนจะสืบพันธุ์และมีลูก และอาจจะดีกว่าถ้ามนุษยชาติสูญพันธุ์ผ่านการจงใจไม่มีลูกทั้งสปีชีส์) ลูกไม่ได้ขอมาเกิด เราเห็นหัวข้อแล้วตกใจเลย เด็กรุ่นนี้คิดแบบนี้กันหรือ แต่เราเข้าใจนะ
“เด็กรุ่นนี้เกิดมาโลกที่กำลังพัง คนรุ่นก่อนหน้านี้ใช้ของที่ควรจะเป็นของเขาไปหมดแล้ว แล้วเขาจะอยู่อย่างไร” กุ๊กแชร์อีกด้านของอิทธิพลโซเชียลอันสวยงามให้ฟัง เราถามว่าแล้วเธอบอกคนรุ่นใหม่ไปว่าอะไร
ศิลปินผู้มีด้านมืดเป็นจุดกำเนิดงานสร้างสรรค์ใหม่กล่าวว่า “ไหนๆก็เกิดมาแล้วก็ลองดูหน่อย”.
Words: Suphakdipa Poolsap
Photos: Cuscus the Cuckoos