Search
Close this search box.
Search
Close this search box.

Cycle Syncing เทรนด์สายเฮลที แพลนอาหาร เตรียมออกกำลังกายตามรอบเดือน

Beauty / Wellness & Aesthetic

หิว เหนื่อย เศร้า เหงาหวิวๆ เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ด้วยความผันผวนทางฮอร์โมนตามรอบเดือนของสาวๆทุกคน อารมณ์ ความหิวและพลังงานของร่างกาย ล้วนได้รับผลและแปรเปลี่ยนไปตามสภาวะของแต่ละช่วงของรอบเดือน ซึ่ง Cycle Syncing คือเทรนด์ล่าสุดของการวางแผนดูแลสุขภาพให้เข้าจังหวะกับรอบประจำเดือนของสาวๆ และกำลังเป็นเทรนด์ใหม่ใน TikTok เวลานี้  

ทีมฟุตบอลหญิงสหรัฐอเมริกาได้แชมป์ฟุตบอลโลกในปี 2019
ทีมฟุตบอลหญิงสหรัฐอเมริกาได้แชมป์ฟุตบอลโลกในปี 2019

Cycle Syncing เริ่มเป็นที่พูดถึงในวงการกีฬามาก่อนในฐานะที่เป็นหนึ่งในเทคนิคที่ช่วยให้ทีมฟุตบอลหญิงสหรัฐอเมริกาได้แชมป์ฟุตบอลโลกในปี 2019 Dawn Scott โค้ชประจำทีมให้สัมภาษณ์ว่า พวกเขาใช้เวลากว่า 1 ปีก่อนการแข่งขันฟุตบอลโลก ติดตามบันทึกรอบเดือนของนักกีฬาในทีมอย่างละเอียด แล้วนำข้อมูลนี้ไปวางแผนการฝึกซ้อม ส่งผลให้ในฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย Rose Lavelle กองกลางตัวเก่งของทีมที่อยู่ในช่วงที่ร่างกายอ่อนแรงที่สุดของเดือน สามารถยิงประตูชัยให้กับทีมในการแข่งขันกับเนเธอร์แลนด์ได้ ก่อนที่เมนส์จะมาในวันถัดไป

“คนส่วนใหญ่คิดว่า มันเป็นกลไกทางชีวภาพของผู้หญิง ที่เราทำอะไรกับมันไม่ได้ แต่จริงๆ เราทำอะไรกับมันได้มากทีเดียว” โค้ชสก็อตกล่าว

ฟีเจอร์ Cycle Syncing ถูกเพิ่มเข้ามาในแอปพลิเคชันออกกำลังกายของ Nike ตั้งแต่ปี 2022

Cycle Syncing เริ่มกลายเป็นส่วนหนึ่งของนวัตกรรมออกกำลังกายสำหรับผู้หญิง โดยในปี 2021 อุปกรณ์สวมใส่เพื่อออกกำลังกายอย่าง Whoop นำเสนอฟีเจอร์วางแผนการออกกำลังให้เข้ากับรอบเดือนในแอปพลิเคชันมือถือ ส่วนในฤดูร้อนปี 2022 แอป Nike Training Club ก็เพิ่มฟีเจอร์แบบเดียวกันเข้ามาด้วยเช่นกัน บรรดาเทรนเนอร์ออนไลน์และอินฟูเอนเซอร์สายออกกำลังกายพากันโพสต์วิธีการออกกำลังกายที่เหมาะกับช่วงต่างๆของรอบเดือนจนกลายเป็นกระแสในโซเชียล  เมื่อคลิป TikTok ที่ติดแฮชแท็ก #Cyclesyncing มีผู้เข้าชมกว่า 294 ล้านวิวในปี 2022

ฟีเจอร์ Cycle syncing ในแอปพลิเคชัน Whoop

คอนเทนต์ Cycle Syncing ไม่ได้มีเฉพาะการออกกำลังกาย แต่รวมถึงรูปแบบการกินอาหารด้วย โดยส่วนใหญ่จะแบ่งช่วงเวลาในรอบเดือนเป็น 4 ช่วง 

ช่วงแรก Menstrual Phase 

นับตั้งแต่วันแรกของการมีประจำเดือน เน้นออกกำลังกายเบาๆ เช่น เดิน ยืดเส้น และโยคะอย่างง่ายๆ ช่วงนี้ร่างกายจะเย็นและสูญเสียพลังงานมาก การกินอาหารจึงเน้นทานอาหารที่มีคุณค่าทางอาหารและธาตุเหล็กสูง เช่น เนื้อสัตว์ ช็อกโกแลต  

ช่วงที่ 2 Follicular Phase 

ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนเพิ่มสูงขึ้นจากการเตรียมพร้อมตกไข่ ร่างกายมีพลังงานมากเหมาะกับการออกกำลังหนักๆ อย่าง Body Weight การออกกำลังแบบ HIIT และคาร์ดิโอ ช่วงนี้ร่างกายจะจัดการกับอาหารประเภทแป้งได้ดี จึงเป็นช่วงเวลาทองของคาร์โบไฮเดรต 

ช่วงที่ 3 Ovulatory Phase 

ร่างกายหลังตกไข่ ฮอร์โมนเอสโตรเจนจะลดลง ทำให้รู้สึกเปื่อยๆเฉื่อยๆ การออกกำลังลดความเข้มข้นลง แต่เพิ่มเสริมไปที่ความอึดแทน เน้นการออกกำลังที่ไม่ต้องใช้แรงมากแต่ระยะเวลานานใช้ความอดทนสูง อย่างวิ่งหรือปั่นจักรยาน  อาหารเน้นผักที่มีไฟเบอร์และวิตามินสูง 

ช่วงที่ 4 Luteal Phase 

ออกกำลังกายโดยเน้นเพิ่มความสมดุลความคล่องตัวและสมาธิ เช่น โยคะ หรือพิลาทีส การออกกำลังกายในช่วงนี้จะช่วยลดภาวะ PMS ได้ ส่วนของอาหาร เน้นโปรตีนที่มีประโยขน์

ข้อมูลเทคนิคการทานอาหารและออกกำลังแบบ Cycle Syncing ยังมีอีกมากมาย ที่น่าสนใจก็คือ ข้อมูลของแต่ละแห่งจะมีจุดร่วมเดียวกันคือ แบ่งช่วงเวลาของรอบเดือนเป็น 4 ช่วง แต่ในส่วนข้อปฎิบัติต่างๆ ว่าแต่ละช่วงต้องทำอย่างไร อาจมีต่างกันไป และหลายครั้งก็ขัดแย้งกัน

สาเหตุก็คือ การแบ่งช่วงรอบเดือนเป็น 4 ช่วง เป็นข้อมูลทางการแพทย์ที่ได้รับการยอมรับแล้ว ในขณะที่ศาสตร์ของ Cycle Syncing ยังเป็นของใหม่และยังไม่มีงานวิจัยรองรับเพียงพอ ข้อปฏิบัติหลายอย่างยังเป็นเรื่องก้ำกึ่งในสายตาของนักวิทยาศาสตร์กระแสหลัก ผู้เชี่ยวชาญหลายคนให้ความเห็นว่า องค์ความรู้ Hpw to ต่างๆ ของแนวคิดนี้ยังเป็นเพียง “ไกด์ไลน์ที่สมเหตุสมผล” อย่างคร่าวๆเท่านั้น

ประกอบกับวงจรประจำเดือนมีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ไลฟ์สไตล์ น้ำหนัก และปัจจัยทางสุขภาพอื่นๆ การวางแผนสุขภาพอิงกับ Cycle Syncing จึงจำเป็นต้องติดตามสภาพร่างกายของแต่ละคนอย่างใกล้ชิดเป็นระยะเวลาหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ Cycle syncing จึงเวิร์กกับนักกีฬา แต่ไม่ได้เหมาะกับคนทั่วไป ซึ่งเจียดเวลาในชีวิตประจำวันมาออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะง่ายและเหมาะสมกับความเป็นจริงเสียกว่า 

อย่างไรก็ดี หากคุณสามารถติดตามสภาพร่างกายตัวเองในระหว่างรอบเดือนได้ละเอียดพอ ก็อาจไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไปที่จะวางแผนการออกกำลังกายและกินอาหารตาม Cycle Syncing ในแบบของคุณเอง ประยุกต์ไกด์ไลน์ที่สมเหตุสมผลมากมายที่กำลังแพร่กระจายทั่ว TikTok ตอนนี้มาปรับใช้ หรือใช้ฟังก์ชันที่มีในแอปพลิเคชันออกกำลังกายที่กล่าวมาแล้วก็ได้   

หากแผนการกินและออกกำลังกายตาม Cycle Syncing นั้นไม่ได้ผล อย่างน้อยเราก็ได้รู้เท่าทันรอบเดือนตัวเอง ได้สังเกตว่าวงจรของเราเป็นอย่างไร ช่วงไหนร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ความหิว และพลังงาน อย่างไรบ้าง 

อย่างไรเสีย Body Literacy ก็ย่อมดีต่อสุขภาพมากกว่าเทรนด์ใดๆ 

Words: Roongtawan Kaweesilp 

ข้อมูลจาก 

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม