การเปลี่ยนแปลงก้าวแรกมาพร้อมคนที่ไม่ย่ำตามรอยเดิมของคนอื่น นั่นทำให้ ดิว-ศิรธันย์ สิทธิธัญวัฒน์ ไม่ยอมละทิ้งอัตลักษณ์ของตนเอง เธอไว้ผมยาว นุ่งกระโปรง แต่งสาว แล้วก้าวตามฝันไปเป็น ‘นักการทูตปฏิบัติการข้ามเพศคนแรกของประเทศไทย’
รักเดียวของเจนจิรา
“ตอนนี้ทำงานมาได้ 8 เดือนแล้ว เป็นไปตามที่หวังไว้ที่เราอยากเป็นนักการทูต” ย่ำค่ำหลังเลิกงาน LIPS ได้พูดคุยกับนักการทูตป้ายแดงซึ่งเรียนจบจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เอกการปกครอง แต่ใจกลับเอนเอียงไปทางรัฐศาสตร์การทูต เธอว่าอาชีพนี้เป็นความฝันมาตั้งแต่เด็ก จนเรานึกไปถึงละครช่อง 3 เรื่องดัง ‘รักเดียวของเจนจิรา’ ที่ฉายภาพชีวิตนักการทูตที่ดูโก้เสียไม่มี “แต่งานที่กระทรวงการต่างประเทศไม่ใช่งานราชการงานแรกที่ดิวทำ งานแรกหลังจากสอบได้ทุนกพ. ก็ได้บรรจุที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย มีความคุ้นชินกับระบบราชการในระดับหนึ่ง”
พี่น้องชาว LGBTQ+ มีอยู่ทุกวงการ เราเชื่อ หากไม่ใช่ทุกอาชีพที่พวกเธอและพวกเขาจะได้แสดงออกตามเพศสถานะ (gender) ยิ่งในอาชีพที่ต้องการความน่าเชื่อถือสูง ความเชื่อว่าต้องปฏิบัติตนตามเพศสรีระ (sex) หรือตามอวัยวะเพศแต่กำเนิดก็ยิ่งแรงกล้า “เราเป็นคนข้ามเพศแต่มารับราชการก็ค่อนข้างผิดคาด งานแรกที่ทำที่กระทรวงมหาดไทย พอนึกถึงชื่อนี้ เราจะนึกถึงความโบราณ มีระบบระเบียบกฎเกณฑ์ แต่พอดิวไปทำงานจริงก็ไม่ได้มีกฎเข้มงวดอะไรขนาดนั้น เขาไม่ได้กีดกันอะไรเลย เราอยากเป็นอะไรก็เป็น
“แต่กลับกัน พอพูดถึงกระทรวงการต่างประเทศ เราจะนึกถึงความสมัยใหม่ ตอนไปสัมภาษณ์เราก็ไปด้วยลุคนี้ คือผมยาว ใส่กระโปรง เขาก็รับรู้ว่ากำลังรับมือกับอะไรอยู่ พอได้เข้ามาทำงานที่นี่ เราค่อนข้างจะสำรวมมากกว่าตอนอยู่มหาดไทย ด้วยความที่เราเป็นนักการทูต ต้องติดต่อสื่อสารกับองค์กรและหน่วยงานหลายๆประเทศ เลยต้องสำรวมในระดับหนึ่ง ที่นี่ไม่ได้กีดกันมากกว่า เพียงแต่ต้องมีกาลเทศะมากกว่า” ดิวซึ่งเกิดในครอบครัวข้าราชการและตนเองก็รับราชการมาตั้งแต่เรียนจบบอก
ประเทศไทยพร้อมหรือยังที่จะมีนักการทูตทรานส์?
ดิวยังเล่าย้อนไปถึงวันที่นั่งเก้าอี้สอบสัมภาษณ์งานที่กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งด่านยากนั้นกลับง่าย เพราะเธอคาดไว้อยู่แล้วว่าจะเจอคำถามอะไร “คิดว่าประเทศไทยพร้อมแล้วหรือยังที่จะมีนักการทูตเป็นทรานส์เจนเดอร์หรือคนจากกลุ่ม LGBTQ+ อย่างเปิดเผย” ดิวทวนคำถามนั้นอย่างไม่ตกหล่นเพราะจำได้ฝังใจ “ตอนนั้นดิวตอบไปว่าคิดว่าพร้อมแล้ว นักการทูตเป็นตัวแทนของประเทศไทยที่ประกอบไปด้วยคนหลากหลายเชื้อชาติ ศาสนาและเพศ ดังนั้นการที่ประเทศไทยมีนักการทูตที่เป็นตัวแทนจากกลุ่ม LGBTQ+ เวลาติดต่อสื่อสารหรือพูดคุยในประเด็นเจนเดอร์กับต่างชาติ จะทำให้คำพูดของประเทศไทยมีน้ำหนักมากขึ้น เพราะเรามีคนจากชุมชนนี้จริงๆมาเป็นตัวแทน”
ก่อนจะขยายความคำว่า ‘พร้อมแล้ว’ ว่า “ดิวคิดว่าแต่ก่อนจะมีมายาคติ เป็น myth ที่ก็พิสูจน์ไม่ได้ว่าจริงแท้อย่างไร ไม่ได้มีเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ก่อนทูตเหมือนเป็นหน้าตาของประเทศ เลยจะอิงกับกฎเกณฑ์ที่เป็นกระแสหลักของโลก ซึ่งในสมัยนั้นกระแสหลักก็ไม่ได้เปิดกว้างต่อความหลากหลายทางเพศ เช่น เวลาไปออกงานก็ต้องเป็นคู่ชายจริงหญิงแท้เป็นคู่สมรสไปออกงาน ซึ่งเป็นค่านิยมในยุคก่อน อาจจะสัก 20 ปีก่อนขึ้นไป เราปฏิเสธไม่ได้ว่ายุคนั้นไม่ได้มีการยอมรับเรื่องความหลากหลายทางเพศมากเท่ายุคนี้ จึงเป็นที่มาของคำถามว่าพร้อมหรือยัง” ดิวอธิบายละเอียด
“แปลกอย่างหนึ่งตั้งแต่ทำงานราชการ ดิวเจอแต่เกย์กับเลสเบี้ยน ยังไม่เคยเจอใครที่แต่งหญิงเลย ตอนเข้ามาทำงานใหม่ๆ ดิวเคยคุยกับฝ่ายบุคคล เขาบอกว่าเราเป็นเคสแรก เป็นคนแรกที่กรุยทาง เป็นคนสร้างมาตรฐานใหม่ ถ้าเราทำงานดีมีประสิทธิภาพก็จะเป็นประตูเปิดทางให้กลุ่ม LGBTQ+ คนอื่นๆต่อไป” น้ำเสียงผู้บุกเบิกแฝงความภูมิใจชัดเจนที่อย่างน้อยการเบิกทางของเธอจะเป็นประโยชน์ตกแก่คนรุ่นหลัง
สาวสองต้องแต่งหญิงจริงหรือ
แต่ก็ใช่ว่าการเปิดเผยชัดเจนว่าเป็นคนข้ามเพศจะราบรื่นไปเสียหมด กว่าจะมาถึงจุดที่เธอปรากฏตัวในแบบที่เป็นจริงๆได้อย่างทุกวันนี้ ดิวผ่านการตั้งคำถามมาแล้วมากมาย ทั้งจากตัวเองและคนรอบข้าง
“ดิวเคยมีประเด็นเรื่องการแต่งกายกับสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ตอนนั้นดิวไปฝึกงาน มีเจ้าหน้าที่บอกให้เราใส่ชุดนิสิตชาย พอเราถามว่าทำไมต้องแต่ง เขาบอกว่าเป็นเหมือนระเบียบขั้นตอนปฏิบัติ เราเลยมาเขียนโพสต์เฟซบุ๊ก เปิดพับลิกจนกลายเป็นไวรัลไปทั่ว วันต่อมาผู้ใหญ่เรียกเข้าพบไปบอกว่ามันไม่มีกฎแบบนี้นะ หนูอยากแต่งแบบไหนก็ได้ แต่คนที่บอกหนูไม่ให้แต่งชุดนิสิตหญิงอาจจะกลัวโดนตำหนิก็เลยกันไว้ก่อน”
และก็ใช่ว่าดิวจะมาดมั่นมาตั้งแต่รู้ตัวตนของตนเอง เธอเองก็ผ่านช่วงเวลาขบคิดเรื่อง ‘แกรนด์โอเพนนิ่ง’ ตัวเองอยู่หลายครั้ง “ตอนเข้าปี 1 ช่วงแรกๆ ดิวใส่ชุดนิสิตชาย ตัดผมสั้น ไม่ได้คิดจะแต่งหญิงเลยนะคะ แต่พอผ่านไปสักระยะเรารู้สึกว่าเข้ามหาวิทยาลัย เป็นผู้ใหญ่ในระดับหนึ่งแล้วก็น่าจะทำได้ พอปี 2 ก็เริ่มใส่กระโปรง แต่งหญิง คณะรัฐศาสตร์ไม่ได้มีกฎห้าม เพื่อนทรานส์คนอื่นก็แต่งหญิงตั้งแต่ปี 1 เลย
“ที่บ้านดิวพ่อเป็นตำรวจ แม่เป็นครู ในหนังถ้ามีครอบครัวแบบนี้แล้วลูกเป็นกะเทยก็ต้องโดนว่าแน่นอน แต่แปลกที่พ่อแม่เปิดกว้าง เขาไม่ได้บอกว่าสิ่งที่เราเป็นผิดหรือเราต้องแก้ไขอะไร เราก็ทำให้เห็นว่าการที่เป็น LGBTQ+ ไม่ได้กระทบอะไรกับชีวิตเราเลย เราก็สอบทุนติด มีหน้าที่การงานของเรา”
เธอเป็นหนึ่งในชาว LGBTQ+ ที่ต้องพยายามพิสูจน์ตัวเองเยอะมากๆ ต้องเรียนเก่ง สอบชิงทุนได้ มีความสามารถเอกอุเลิศเลอ ต้องประสบความสำเร็จมากๆ เพื่อไม่ให้ใครมาว่าได้หรือเปล่า “ดิวไม่ค่อยเห็นด้วยกับสเตทเมนต์นี้เท่าไรนะคะ เพราะ LGBTQ+ ก็คนเหมือนกัน ทำไมต้องพยายามพิสูจน์คุณค่าของตัวเองเพื่อให้คนอื่นยอมรับ ตอนเรียนก็ไม่ได้พยายามเรียนให้เก่ง ทำไมเราต้องพิสูจน์สิ่งเหล่านี้ในขณะที่ผู้หญิงผู้ชายไม่ต้องทำ
“ความคิดนี้เกิดขึ้นก่อนที่ดิวจะไปสอบสัมภาษณ์เข้าทำงานนักการทูต ดิวคิดหนักมาก มันคืองานในฝัน หรือเราจะลองละทิ้งอัตลักษณ์ของตัวเอง ตัดผมแล้วพูดครับดีไหม ลองทำแค่แป๊บเดียว ได้งานแล้วค่อยเปิดตัวก็ได้ สุดท้ายก็ฉุกคิดขึ้นมาว่าคนอื่นไม่เห็นต้องคิดคำถามนี้เลยว่าจะตัดผมดีไหม แล้วทำไมฉันต้องมาคิดด้วย เราก็เข้าไปแบบนี้แหละ”
ถ้าไว้ผมสั้น ใส่กางเกง เธอจะรู้สึกว่าไม่เป็นตัวเองหรืออย่างไร “เราชอบเสื้อผ้าที่ตามกรอบเพศหญิงมากกว่า แต่ตอนนี้เราสบายใจที่จะเป็นตัวเองมากๆ ถ้าต้องตัดผมหรือแต่งตัวเป็นผู้ชายก็ไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหา ลึกๆแล้วเรารู้ตัวเองดีว่าเราเป็นใคร เลยไม่ค่อยผูกตัวเองกับเครื่องแต่งกายแล้ว แต่คนที่แต่งก็ไม่ได้ผิด ทุกคนควรมีสิทธิทำตามสิ่งที่ตัวเองอยากแสดงออก
“จริงๆแล้วดิวไม่เคยแม้แต่เทคฮอร์โมนด้วยซ้ำ ในทางชีววิทยาแล้วดิวก็เหมือนผู้ชายผมยาวแค่นั้นเลย เราแค่อยากแต่งตัวและมีอัตลักษณ์เป็นเพศหญิงเท่านั้น ไม่ใช่ว่ากะเทยต้องมีหน้าอก ต้องมีลุคนั้นนี้ เราไม่ได้อยาก conform ตัวเองตามคนอื่น” ดิวกล่าวอย่างคนที่สบายใจกับการเป็นตัวเองอย่างถึงที่สุดแล้วจริงๆ
โปรดเรียกฉันว่า…หนู(ก็ได้นะ)
พูดคุยกันมาพักใหญ่ เราสังเกตว่าดิวเป็นคนใจกว้าง ไม่ตัดสิน และยังเอื้อนเอ่ยเปิดทางให้เราถามอะไรก็ได้ที่สงสัย เป็นต้นว่า
เพื่อนสาวไปทำอาชีพอะไรกันบ้าง “มีพี่ที่เป็นทรานส์ มีหน้าอก เขาก็เป็นนักกฎหมาย หมอฟัน ทำงานฝ่ายบุคคล เริ่มกระจายไปในหลากหลายอาชีพ เพียงแต่ยังไม่ได้เป็นคนส่วนใหญ่ อนาคตต่อไปคงไม่ใช่เรื่องผิดแปลกค่ะ” ดิวตอบ
เวลาได้ยินคนใช้คำว่า ‘หญิงแท้ หญิงเทียม’ กระทบใจบ้างไหม “ดิวมีความไม่ค่อยแคร์ประมาณหนึ่ง เพราะเราโอเคกับการเป็นตัวเองมากๆ ใครจะเรียกอะไรก็เรียกไป ไม่ค่อยเจ็บหรือคิดมาก เพราะป้ายที่คนอื่นให้ อย่างไรก็ไม่เท่าป้ายที่เราให้กับตัวเองว่าเราเป็นใคร” ดิวตอบฉะฉานจนอยากให้มง
เรียกแทนตัวเองว่าอะไรเวลาทำงานที่กระทรวง “หนูกับค่ะ พูดกับผู้ใหญ่ ระดับอธิบดีก็หนูกับค่ะ”
เวลาเจอคนต่างชาติ เขาใช้สรรพนามเรียกเราว่าอะไร “ในงานเอเปกคนเรียกเราว่า she/her โดยที่เราไม่ได้บอกก่อน แต่ใครเรียก he/him ก็ไม่ได้ซีเรียสนะคะ ครั้งหนึ่งตอนไปเกาหลี ตม.เคยทักว่าคำนำหน้าผิดหรือเปล่า ทำไมใช้ Mister เขากลัวข้อมูลผิด ไม่ได้แซว แต่นี่ก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องแก้ไขกันต่อไป เรื่องคำนำหน้าที่ไม่ได้ตรงเจนเดอร์”
ดิวยังให้ความรู้เรื่องนักการทูต อาชีพที่เธอและหลายคนใฝ่ฝันว่าเริ่มต้นจาก ‘นักการทูตปฏิบัติการ’ ซึ่งเป็นตำแหน่งปัจจุบันของเธอ ก่อนจะขยับขึ้นไปเป็น ‘นักการทูตชำนาญการ’ ตามด้วย ‘นักการทูตชำนาญการพิเศษ’ แต่คำเรียกชื่อตำแหน่งของประเทศไทยเหล่านี้แตกต่างจากคำเรียกสากลที่จะเรียกว่าเลขานุการตรี โท เอก ที่ปรึกษา อัครราชทูต เอกอัครราชทูต
“ตำแหน่งของดิวถ้าเทียบกับสากลจะเรียกว่าผู้ช่วยเลขานุการหรืออะตาเช่ (attaché)” เธอเล่า “นักการทูตแรกเข้าต้องปฏิบัติการในประเทศ 4 ปีก่อนจึงจะไปประจำการต่างประเทศครั้งแรก ดิวอยากไปจุดที่เรียกว่า hardship post เป็นประเทศที่จัดว่ายากลำบากเป็นพิเศษ กำลังพัฒนา มีปัญหาประเด็นเยอะ” เอ…ฟังคุณสมบัติแล้วนี่มัน…ประเทศไทยหรือเปล่า เราแซวว่าไม่ต้องขอไปประจำการที่ไหนไกล อยู่เมืองไทยนี่แล แต่เธอไม่หลงกล “ส่วนใหญ่จะเป็นประเทศแถบแอฟริกาค่ะ เรายังเด็กอยู่ อยากออกไปเจอความท้าทายใหม่ๆค่ะ”
เดินหน้าเปลี่ยนนโยบายประเทศ
เข้าทำงานได้ไม่ทันไร ดิวก็ได้เจองานใหญ่ระดับสากลคือการประชุมเอเปก 2022 นักการทูตมือใหม่จึงได้บททดสอบฝีมือแบบแทบไม่มีเวลาให้ตั้งตัว
“การพูดคุยส่วนใหญ่ในงานนี้จะเป็นเรื่องเศรษฐกิจค่ะ ส่วนในด้านความเท่าเทียมทางเพศจะเริ่มจากการส่งเสริมผู้หญิง เช่น ผู้บริหารส่วนมากมีแต่ผู้ชาย จะทำอย่างไรจึงจะเพิ่มจำนวนผู้บริหารหญิงได้บ้าง ซึ่งเป็นวาระการพูดคุยทั่วไป ไม่เฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น” ก่อนจะเผยถึงแผนในอนาคตที่อยากมุ่งไปในสายเจนเดอร์ให้ลึกซึ้งขึ้นว่า “ดิวอยากไปเรียนต่อด้านเจนเดอร์ระดับปริญญาโท ซึ่งที่กระทรวงมีทุนให้ เราเข้ามาอยู่ในระบบแล้วก็อยากมีส่วนช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงเรื่องเจนเดอร์ให้กับคนรุ่นต่อๆไปด้วย
“งานราชการคืองานนโยบาย ถ้าขยับเคลื่อนนโยบายได้ก็จะมีผลในวงกว้างได้ ดิวคิดว่าในตอนนี้เรารับรู้ถึงการมีอยู่ของกลุ่ม LGBTQ+ เราไม่ได้เหยียดเพศรุนแรง ค่อนข้างเปิดกว้างด้วยซ้ำ แต่ในแง่ความถูกต้องทางกฎหมาย บ้านเรายังขาดตรงนี้ไป เราจะเห็นได้ว่าแทบไม่มีกฎหมายรองรับกลุ่ม LGBTQ+ เลย อย่างเรื่องสมรสเท่าเทียมก็ยังไม่ผ่านเป็นกฎหมาย เราน่าจะต้องมาดูเรื่องสิทธิพลเมืองและสิทธิทางกฎหมายของคนกลุ่มนี้ได้แล้วเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมเช่นเดียวกับคนกลุ่มอื่นๆ กฎหมายที่เกี่ยวข้องมีแค่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญว่าห้ามเลือกปฏิบัติไม่ว่าจะเป็นคนเพศ เชื้อชาติ ศาสนาใด เป็นหลักการไว้แค่นั้น” เธอแถลงนโยบายในใจยาวเหยียด
ดิวและคนรอบข้างยังไม่เคยประสบปัญหาเรื่องเจนเดอร์กับกฎหมายที่สวนทางกัน แต่เข้าอกเข้าใจเต็มเปี่ยมถึงคนที่ได้รับผลกระทบเจอกับตัวเต็มๆ “ดิวเคยได้ยินเรื่องของครูที่จดทะเบียนสมรสกับสามีไม่ได้ เขาไม่สามารถใช้สิทธิรักษาของราชการได้ อ่านแล้วก็เศร้า เขาอยู่ด้วยกัน แต่งงานกันแล้ว แต่ไม่มีสิทธิทางกฎหมายใดๆ ดิวก็เป็นลูกข้าราชการ ดิวเข้าใจ แฟนหรือลูกเราก็จะไม่ได้สวัสดิการตามสิทธิเลยหรือ”
ถ้ามีคนแย้งว่า งั้นก็ให้แฟนรับราชการหรือทำประกันสิ ต้องแก้ปัญหาที่ตัวเองเท่าที่จะทำได้ดีกว่าไหม “มันไม่ใช่สิ่งที่น่าจะถูกต้องเท่าไรนะคะ เพราะคู่ชายหญิงไม่ได้ตรรกะหลักการเดียวกัน” น้ำเสียงดิวเริ่มเข้มขึ้น
แต่ก็ทำตามกฎหมายไง กฎหมายเขียนไว้แบบนี้ “ถ้าเห็นว่ามีปัญหา ก็แสดงว่ากฎหมายนั้นไม่น่าจะมีประสิทธิภาพแล้วกับบริบทในปัจจุบันอีกต่อไป กฎหมายนั้นก็ควรต้องเปลี่ยน” ดิวพยายามอธิบายด้วยเหตุและผล
คนรุ่นใหม่ทำไมชอบเรียกร้องจัง ได้คืบจะเอาศอก “ดิวคิดว่าเราไม่ได้เรียกร้องในสิ่งที่เราไม่สมควรจะได้นะคะ” ดิวยังปักหลักมั่นในจุดยืนเดิมของตนแม้เจอตรรกะวิบัติแค่ไหนก็ตาม
หลังจากเล่นบทนางอนุรักษ์นิยมใส่ดิว จึงได้เห็นความจริงจังทั้งในหลักการและจิตใจของเธอ “ดิวเจอแบบนี้บ่อยเวลาเล่นโซเชียล” เธอหัวเราะได้ในที่สุดหลังจากดีเบทย่อยๆจบลง “เราควรเสริมสร้างความเข้าใจในเรื่องนี้กันค่ะ แต่ก็เคยคิดว่าหรืออาจต้องรอให้ผ่านเจเนอเรชั่นนี้ไปก่อน ปัญหานี้จึงจะแก้ไขได้
“บางทีเราใส่ข้อมูลให้มากมายแต่คนที่ไม่เปลี่ยนก็ไม่เปลี่ยนจริงๆนะคะ แอบเศร้า แต่อีกใจหนึ่งเราก็เข้าใจว่าการเลี้ยงดูของคนต่างเจนกันก็ต่างกัน ในช่วงเวลาหนึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เหมือนที่ยุคหนึ่งผู้หญิงต้องเรียกร้องสิทธิเลือกตั้ง หรือแต่ก่อนก็ไม่ให้คนที่ไม่มีการศึกษา เช่น ชาวนา มีสิทธิเลือกตั้งได้ เพราะคิดว่าไม่มีคุณสมบัติมากพอ สิทธิต่างๆล้วนเกิดจากเรียกร้อง ดังนั้นเราอาจจะไม่ได้สิทธิของเราในตอนนี้ แต่ถ้าเราพูดไปเรื่อยๆก็คงเป็นแรงกระเพื่อมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสักวัน
“เราเข้าใจว่าเส้นทางนี้ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่การที่คุณยังดำเนินต่อไปในเรื่องนี้เรื่อยๆ สักวันการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้น อย่างดิวก็ถือว่าทลายกรอบเดิม ใครจะคิดว่ากะเทยก็เป็นนักการทูตได้ เราแค่ไม่เลิกเชื่อ เรามีศรัทธาว่ากระทรวงฯน่าจะเข้าใจว่ามันถึงจุดเปลี่ยนแปลงแล้ว การลงมือทำของเราน่าจะเป็นการเบิกทางหรือเปิดประตูไปสู่ศักราชใหม่ ซึ่งก็เป็นแบบนั้นจริงๆ
“ใครที่รู้สึกท้อแท้หรือประสบความยากลำบากในเรื่องอัตลักษณ์ของตัวเองอยู่ ก็ขอให้คิดว่ายังมีเพื่อนที่ทำแบบนี้เหมือนคุณ อย่างน้อยหากไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในยุคสมัยของคุณ แต่เราก็ทำไว้ให้กับคนรุ่นต่อไป ต่อให้ตัวเองจะไม่ได้ แต่ในอนาคตจะมีคนที่ได้รับประโยชน์จากสิ่งที่คุณทำในวันนี้แน่นอน”
Words: Suphakdipa Poolsap
Photograph: Somkiat Kangsdalwirun