ภายในอุตสาหกรรมบันเทิงโดยเฉพาะแวดวงฮอลลีวูดจะมีประเป็นหนึ่งซึ่งได้กลายมาเป็นชนวนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในแวดวงภาพยนตร์และโทรทัศน์ และประเด็นนั้นก็คือ #Oscarssowhite ซึ่งแฮชแท็กหรือประเด็นนี้นั้นเกิดขึ้นเนื่องจากภายในแวดวงฮอลลีวูดนั้นมีปัญหาให้ที่เห็นได้ชัดเจนเกี่ยวกับความหลากหลายและความแตกต่าง
โดยเฉพาะเมื่อ ‘Academy of Motion Picture Arts and Sciences’ หรือหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการประกาศ ‘รางวัลออสการ์’ นั้นขาดความหลากหลายในการตัดสินผลรางวัลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกของภาพยนตร์นี้ โดยเฉพาะในปี 2015 และ 2016 เมื่อประชาชนทั่วไปตระหนักว่าไม่มีผู้เข้าชิงรางวัลออสการ์ทั้ง 20 หมวดหมู่เป็นนักแสดงสีผิวหรือเชื้อชาติอื่นเลยนอกจากดารานักแสดงผิวขาว!
ทำให้ประชาชนรวมถึงคนในอุตสาหกรรมบันเทิงหลายๆ คนออกมาเรียกร้องผ่านแฮชแท็ก #Oscarssowhite เพื่อเรียกร้องความหลากหลายให้กับฮอลลีวูดและอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของอเมริกา ทำให้ช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้เราจะได้เห็นรายชื่อนักแสดงในภาพยนตร์นั้นมีความหลากหลายมากขึ้นทั้งในด้านสีผิว เชื้อชาติ รวมถึงเพศ
วันนี้ LIPS จะพาไปดูถึงผลกระทบของ #Oscarssowhite ว่าเอฟเฟกต์ถึงโครงสร้างของอุตสาหกรรมภาพยนตร์อย่างไรบ้าง และมันเปลี่ยนให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์นั้นมีความหลากหลายมากขึ้นแค่ไหน ไปดูกัน!
ความหลากหลายที่ค่อยๆ เบ่งบาน
ล่าสุด UCLA หรือ University of California, Los Angeles ได้ออกมาเปิดเผยรายงานประจำปีเกี่ยวกับความหลากหลายในฮอลลีวูด ซึ่งส่วนแรกเป็นการศึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศและเชื้อชาติทั่วทั้งอุตสาหกรรมบันเทิง ควบคู่ไปกับมาตรการที่นำมาใช้ในการแก้ปัญหา ส่วนที่สองเป็นการรายงานเกี่ยวกับรายการโทรทัศน์ที่จะเข้าฉายในครึ่งปีหลังของปี 2022 นี้
ซึ่งรายงานประจำปีเผยถึงข้อมูลใหม่หลายอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายที่เข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมบันเทิงมากขึ้น กล่าวคือจำนวนผู้หญิงในจอทีวีนี้นั้นเพิ่มมากขึ้น โดย 47% ของนักแสดงนำในภาพภาพยนตร์นั้นเป็นผู้หญิง และ 42% ของนักแสดงหญิงและคนหลากหลายเชื้อชาติ เช่น ละติน เอเชียน และคนพื้นเมืองอเมริกันได้รับบทบาทสำคัญมากขึ้นในหน้าจอภาพยนตร์และจอทีวี
แต่อย่างไรก็ตามหากพูดถึงอีกหนึ่งบทบาทสำคัญอย่าง ‘งานเบื้องหลัง’ ผู้หญิงและคนหลากหลายเชื้อชาตินั้นยังคงเป็นส่วนน้อยในตำแหน่งเหล่างานเหล่านี้อยู่ เพราะจากรายงานของ UCLA นี้แสดงข้อมูลออกมาว่ามีผู้หญิงน้อยกว่า 22% ในตำแหน่งของผู้กำกับภาพยนตร์และมีเพียง 33% ในตำแหน่งนักเขียนบทภาพยนตร์
และในส่วนของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติทั้งเพศหญิงและชายคิดเป็น 30% ของผู้กำกับและ 32% ของนักเขียนบทภาพยนตร์ ซึ่งจำนวนความหลากหลายของบุคคลเบื้องหลังนั้นส่งผลกระทบโดยตรงต่อการผลิตภาพยนตร์ จากงานวิจัยของ UCLA พบว่างานของผู้กำกับหญิงหรือนักเขียนบทหญิงนั้นมีความหลากหลายมากกว่างานของผู้ชายผิวขาวอย่างมีนัยสำคัญ และในขณะเดียวกันผู้หญิงหรือคนหลากเชื้อชาตินั้นจัดหาเงินทุนในการสร้างภาพยนตร์ได้ยากและได้งบน้อยกว่าผู้ชายผิวขาว
อย่างไรก็ตามเราเชื่อว่าในอนาคตในยุคที่ประชาชนโลกนั้น ’ตื่นรู้’ และ ‘ตระหนัก’ ในความหลากหลายและความเท่าเทียมทั้งตำแหน่งงานเบื้องหน้าและเบื้องหลังในภาพยนตร์นั้นจะมีเปอร์เซ็นต์ของความหลากหลายที่มากขึ้น ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งจะทำให้เราได้บริโภคสื่อบันเทิงที่มีความหลากหลายลบกรอบความคิด มายาคติ และมุมมองที่ถูกถ่ายทอดเพียงคนกลุ่มเดียว
การตระหนักรู้ของผู้ชม
นอกจากข้อมูลที่เราได้กล่าวไปข้างต้นที่ทำให้วงการฮอลลีวูดและอุตสาหกรรมบันเทิงทั่วโลกเห็นถึงโอกาสในการเปลี่ยนแปลงแผนการผลิตต่อเรื่องความหลากหลายในสื่อบันเทิงประเภทต่างๆ โดยเฉพาะภาพยนตร์และรายการทีวี
มีรายงานว่าในปัจจุบันนี้ภาพยนตร์ที่มีนักแสดงที่มีความหลากหลายนั้นจะได้รับความนิยมจากเหล่าผู้ชม ทำให้ภาพยนตร์ที่มีความหลากหลายนั้นติดอยู่ในอันดับต้นๆ ของ ‘Box Office’ ซึ่งภาพยนตร์ที่เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ภายในปี 2021 ซึ่งภาพยนตร์ 10 อันดับแรกของ Box Office นั้นในแต่ละเรื่องมีนักแสดงที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติมากกว่า 30%
ในขณะที่ภาพยนตร์ที่มีนักแสดงที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติน้อยกว่า 11% นั้นทำรายได้ในการจัดอันดับ Box Office ต่ำที่สุด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ชมหรือผู้บริโภคสื่อภาพยนตร์และสื่อบันเทิงในปัจจุบันนั้นเริ่มเห็นและตระหนักถึงความหลากหลายและความแตกต่างมากขึ้น
ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค
การเปลี่ยนแปลงของการบริโภคสื่อภาพยนตร์ของผู้บริโภคส่งผลให้ผู้ผลิตในวงการฮอลลีวูดนั้นได้ดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ เพื่อแก้ไขช่องว่างทางความหลากหลายเหล่านั้น นอกจากนี้ Oscars ก็ได้กำหนดมาตรฐานของการนำเสนอตัวแทน (Representation) และการรวมกลุ่ม (Inclusion) สำหรับภาพยนตร์ที่มีคุณสมบัติในการเข้าชิงรางวัล Oscars ในปี 2024 อีกด้วย
ซึ่งมาตรฐานของ Oscars หรือ The Academy ได้กล่าวถึงการนำเสนอ ธีมเรื่อง และการเล่าเรื่องบนจอภาพยนตร์ ภาพยนตร์ที่มีคุณสมบัติในการเข้าชิงรางวัลอันสูงสุดของวงการภาพยนตร์นั้นจะต้องมีนักแสดงนำจากที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์หรือมีนักแสดงในบทบาทสมทบที่ความหลากหลายทางเชื้อชาติไม่น้อยกว่า 30% หรืออย่างต่ำ 2 กลุ่มชาติพันธุ์
นอกจากเหล่านักแสดงแล้ว The Academy ยังได้กำหนดให้โครงเรื่อง เนื้อหา หรือหัวข้อของภาพยนตร์นั้นมีศูนย์กลางอยู่ที่กลุ่มผู้ด้อยโอกาส ซึ่งข้อนี้เองเราจะเห็นได้จากภาพยนตร์ที่ชนะรางวัล Oscars ในช่วงนี้ อาทิ CODA (2021) ภาพยนตร์ที่ว่าด้วยเรื่องผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินและเด็กปกติที่เกิดมาท่ามกลางครอบครัวคนหูหนวก ซึ่งคว้ารางวัล Best Picutre หรือภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากงานประกาศผลรางวัลออสการ์ครั้งที่ 94 ไปครอง
ภาพยนตร์นั้นจะต้องเป็นไปตามเกณฑ์บางประการในแง่ของความหลากหลายของความเป็นผู้นำเชิงสร้างสรรค์ ทีมงาน โครงการ การตลาด และการเข้าถึงโอกาสของบริษัทผู้ผลิต ซึ่งเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานของ The Academy สตูดิโอผลิตภาพยนตร์หลายๆ แห่งได้เริ่มกระบวนการต่างๆ รวมถึงจัดการกับการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นไปตามมาตรฐานเหล่านั้น และนอกจากนั้นพวกเขายังทำงานร่วมกับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรหลายแห่งเพื่อสร้างความหลากหลายในอุตสาหกรรมภาพยนตร์
ตัวอย่างการปรับตัวของผู้ผลิต
เมื่อมองกลับมาที่กระแสอันร้อนแรงในปัจจุบันกับภาพยนตร์ชื่อดังของ Disney อันเป็นที่รักของผู้คนทั่วโลกอย่าง ‘The Little Mermaid’ ฉบับไลฟ์แอ็กชันที่ได้นักร้องสาวเสียงดีอย่าง Halle Bailey มารับบทเจ้าหญิง Ariel ซึ่งการที่เธอมารับบทเงือกสาวผมแดงทำให้เสียงวิจารณ์นั้นแตกออกเป็นสองฝั่งมีทั้งเห็นด้วยไม่เห็นด้วย
ซึ่งการเปลี่ยนแปลงไปของอุตสาหกรรมภาพยนตร์และโทรทัศน์ที่เราได้กล่าวไปข้างต้น ก็พอทำให้เราเข้าใจถึงเหตุผลของ Walt Disney ว่าทำไมถึงได้คัดเลือกนักแสดงสำหรับตัวละคร Ariel โดยให้ความสำคัญความหลากหลายและแตกต่างมากกว่าจะตอบสนองกลุ่มผู้ชมแค่บางกลุ่ม ตัวละคร Ariel นั้นในบทประพันธ์ดังเดิมนั้นมีผิวขาวและเป็นกลุ่มชาติพันธุ์คอเคซอยด์ ซึ่งต่างจากสีผิวและชาติพันธุ์ของ Halle Bailey ที่จะมารับบทนี้ในภาพยนตร์ไลฟ์แอ็กชันเรื่องล่าสุดของค่ายการ์ตูนยักษ์ใหญ่ค่ายนี้
เราสรุปได้ว่าทาง Walt Disney นั้นต้องการที่จะให้เพิ่มความหลากหลายในการสร้างภาพยนตร์เพื่อโอบรับไปกับการปรับตัวของผู้บริโภคและองค์กรภาพยนตร์ระดับนานาชาติ นอกจากนั้นยังมีข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่ากลุ่มลูกค้าหลัก (Main Target) ของ Walt Disney นั้นได้เปลี่ยนไปแล้ว ซึ่งพวกเขาก็คือคน ‘Gen Z’ ที่มีอิทธิพลและเป็นกำลังซื้อหลักในหลายๆ แวดวงทั่วโลก
ซึ่งคน Gen Z นั้นเป็นคนเจเนอเรชั่นที่ให้ความตระหนักรู้และความสำคัญกับความหลากหลายเป็นอันดับต้นๆ ซึ่งส่งผลให้พวกเขาบริโภคสินค้าและบริการต่างๆ ที่ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ ซึ่งนี่คือการปรับตัวในครั้งนี้ของ Walt Disney ถึงแม้มันจะไม่ตรงใจใครหลายๆ คน แต่มันก็เป็นการเปลี่ยนแปลงที่โอบรับไปกับประเด็นอันแสนสำคัญนี้ เพื่อปรับตัวให้อยู่รอดในโลกที่ความหลากหลายได้กลายมาเป็นจุดหมายของผู้คนทั่วโลกใน พ.ศ. นี้