Search
Close this search box.
Search
Close this search box.

D.P. หน่วยล่าทหารหนีทัพ ซีซั่น 2 ดูซีรีส์แล้วมองการบูลลี่ให้เป็นโครงสร้าง

Culture / Entertainment

D.P. ย่อมาจาก deserter pursuit หรือหน่วยติดตามผู้ที่หนีทหาร โดยใช้เครื่องมือล้ำสุดไฮเทคและกำลังพลมหาศาลถึง…สองคนกับการเสิร์ชหาเบาะแสตามอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ เมื่อบวกกับคาแรกเตอร์ พลทหารสุดบื้อกับสิบโทเจ้าเล่ห์ หัวหน้า D.P. ทีมตามล่าตัวทหารหนีทัพ ส่วนผสมที่ช่วยบรรเทาความเลวร้ายของเรื่องราวให้น่าติดหนึบจนเน็ตฟลิกซ์ต้องมีคำสั่งลงมาให้สร้างซีซั่น 2 โดยไว

ซีซั่น 2 ยังวนเวียนกับการตามล่าหาตัวทหารหนีทัพของ D.P. แต่เพิ่มเติมปูมหลังของตัวละครที่หลากหลายและสอดรับกับยุคสมัยมากขึ้น เราจึงได้เห็นกลุ่มคนที่โดนทำเหมือนว่าไม่มีตัวตนในเกาหลีใต้มานานมากอย่างชาว LGBTQ+ ที่แค่ฉากเปิดเอพิโซดมาว่า เธอได้รับจดหมายเรียกให้ไปเข้ากรม ก็ทำเอาไม่อยากดูต่อว่าเมื่อเกย์เข้าไปอยู่กลางดงผู้ชายมาโชแล้วจะเป็นอย่างไร และนี่ก็เป็นตอนหนึ่งที่น่าหดหู่ใจที่สุด

ทหารชั้นผู้น้อย เด็กใหม่ แกะดำ คนเหล่านี้เหมือนสัตว์/คนป่วย แก่ หรืออ่อนแอที่สุดในฝูง ซึ่งคน/ตัวอื่นๆจะฆ่าเพื่อปลดภาระของฝูงในยุคที่มนุษย์ยังหาของป่าล่าสัตว์ และยังพบได้ทั่วไปในโลกธรรมชาติและมนุษย์บางเผ่า

ทว่าในสังคมมนุษย์ในโลกสมัยใหม่ การกระทำเช่นนี้คือความไร้อารยะยิ่ง และหากผู้มีอำนาจมากกว่ากระทำต่อผู้น้อยแล้ว มันถูกเรียกว่า บูลลี

พลทหารอ้วนโดนเรียกว่าไอ้ตูดบานจากทหารทั้งกรม
พลทหารเกย์ถูกจับแต่งหน้าทาปากและขว้างปาของใส่ทุกวัน
พลทหารหน้าตาจ๋องๆถูกเรียกตัวไปซ่อมจากรุ่นพี่ได้ตลอดเวลา
พลทหารที่เข้ามาใหม่สุดจะต้องเป็นผู้รับใช้ทหารทุกนายในหอนอนเดียวกัน
พลทหารมีเส้นสายได้รับอภิสิทธิ์

พลทหารที่โดนกระทำเช่นนี้ทุกเมื่อเชื่อวันมี 4 ทางเลือก หนึ่ง ทนไปจนถึงวันปลดประจำการ สอง ทนไปจนกว่าจะมีเหยื่อรายใหม่มารับตีนแทน สาม หนี และ สี่ กราดยิง

D.P. มีตัวอย่างให้รับชมในทุกทางเลือก และมันก็น่าสยองขึ้นไปอีกเมื่อทางเลือกที่สี่เกิดขึ้นซ้ำซากหลายหนในเมืองไทย

LIPS พูดคุยกับ นายแพทย์พีรพล ภัทรนุธาพร จิตแพทย์และเจ้าของเพจ ‘ผมอยู่ข้างหลังคุณ’ ซึ่งมักจะรีวิวหนังและซีรีส์แฝงมุมมองทางจิตวิทยาที่น่าอ่าน

ในวาระที่สนทนากัน คุณหมอกล่าวถึงปัญหาบูลลีในโรงเรียน แต่ถ้าตัดคำว่าโรงเรียนออก มันก็เกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ในสังคม โดยการแก้ปัญหาบูลลีนั้นต้องมองเป็นโครงสร้าง จึงจะเห็นองค์ประกอบต่างๆว่าไม่ใช่แค่เรื่องของเหยื่อกับคนกระทำ แต่ปัญหาบูลลีประกอบไปด้วย (1) ผู้กระทำ (2) เหยื่อ (3) ผู้เห็นเหตุการณ์หรือ BYSTANDER (4) ผู้มีอำนาจในระดับต่างๆ

ถ้าเราแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ คือเพิ่มนักจิตวิทยา เพิ่มบุคลากรด้านสุขภาพจิต ซึ่งไม่ผิด แต่ต้นตอหรือกลไกที่ผลิตปัญหายังคงผลิตออกมาเรื่อยๆ สุดท้ายคนปลายทางก็ไม่ไหว

เราจะลดปริมาณปัญหาลงได้ถ้าเรามองเห็นโครงสร้าง เช่น ถ้าคนทั้งหน่วยสังคมนั้นๆ รับรู้ตรงกันว่านี่คือการกลั่นแกล้ง นี่คือความรุนแรง ไม่ใช่การหยอกเล่นกัน ทุกคนก็จะช่วยกันยับยั้งป้องกัน การบูลลีก็จะยุติลงที่ตรงนั้น แต่ถ้ามีแค่มีไม่กี่คนที่เข้าใจ ความช่วยเหลือก็ลดน้อยลงไปตามลำดับ

แต่แค่รู้อย่างเดียวว่านี่คือบูลลีก็ไม่พอ ในระบบที่ว่าก็ต้องมีแนวทางว่า ผู้เห็นเหตุการณ์เวลาคนถูกบูลลี พวกเขาจะมีทางเลือกอะไรที่จะช่วยเหลือ เพราะบางทีเห็นแต่สู้ไม่ไหว ไม่รู้จะไปบอกใครในตอนนั้น หรือจะช่วยก็กลัวติดร่างแห เหยื่อก็เลยโดนรังแกซ้ำๆ แล้วอีกฝ่ายอย่างผู้มีอำนาจก็สำคัญว่าจะให้น้ำหนักความสำคัญเรื่องบูลลีหรือเปล่า มีงบประมาณ มีแผนการรับมือแค่ไหน ผู้เกี่ยวข้องของแต่ละฝ่ายไม่ว่าจะฝ่ายรังแกหรือเหยื่อได้รับการรับรู้และทางแก้ปัญหาหรือเปล่า

เพราะถ้าโครงสร้างไม่แข็งแรง โยนให้ไม่กี่คนทำ สุดท้ายคนทำก็จะเบิร์นเอาต์ ตามมาด้วยปัญหาสมองไหล คนลาออก หนี หรือเป็นซึมเศร้าเสียเอง

เรื่องสุขภาพจิตต้องมีคุณค่าและสำคัญในทุกพื้นที่ ให้คนมี empathy เข้าใจหัวอกคนอื่น ตระหนักถึงความเท่าเทียมกันของคน และมองปัญหาให้เป็นโครงสร้างมากขึ้น

“บ้าฉิบ ตั้งแต่ฉันหนีทัพมาจากสมัยสงครามเกาหลี (เมื่อปี 1953) กองทัพยังเป็นนรกเหมือนเดิมอยู่อีกเรอะ!” 1 ใน 4 ทหารหนีทัพได้ยาวนานที่สุดโดยไม่อาจตามตัวจับได้กล่าวในปี 2023

“คิดๆแล้วก็น่ากลัวนะที่ทหารทุกนายในกรมถืออาวุธร้ายแรงอยู่ในมือกันหมด”

พลทหารอันจุนโฮที่รับบทโดยจองแฮอินกล่าวขณะเข้าเวรยามพร้อมปืนเอ็ม 16 แต่เมื่อโดนข่มเหงรังแกไม่เว้นวาย ปืนเหล่านี้อาจถูกมองด้วยความคิดที่ต่างออกไป ซึ่งผลักดันให้ใครบางคนหยิบมันขึ้นมา ปลดเซฟ เล็ง แล้วเหนี่ยวไก

Words: Suphakdipa Poolsap

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม