ฉันไม่เคยกลัวความสูง อาทิตย์ที่แล้วเพิ่งพาเพื่อนต่างชาติไปขึ้นชิงช้าสวรรค์ที่เอเชียทีก ความกลัวการขับรถก็น่าจะละลายหายไปนานแล้วตั้งแต่สอบใบขับขี่ผ่าน จริงๆแล้วฉันมั่นใจฝีมือการขับรถของตัวเองมากด้วยซ้ำ แต่อยู่ๆ ฉันก็กลัวการขับรถบนทางด่วนขึ้นมาเฉยๆ เกิดกลัวกิจวัตรประจำวันที่เคยทำอย่างเคยชินซ้ำๆ เป็น 10 ปี
ฉันกำลังขับรถไปทำงานบนทางด่วนเหมือนที่ทำเป็นประจำทุกวัน ขณะที่หางตาเหลือบไปมองขอบกั้นปูนด้านซ้ายมือ หัวใจก็เริ่มสั่น เสียวแปลบที่สองแขน เหงื่อแตกที่อุ้งมือจนพวงมาลัยลื่น คิ้วขมวด ชีพจรเต้นแรง หายใจหอบถี่ ความกลัวแผ่ซ่านไปทั่วร่างกาย ภายในหัวหวาดหวั่นกับรถคันอื่นๆรอบตัว จินตนาการพาไปตะหนกถึงความสูงของทางด่วน ความเร็วของการเคลื่อนที่
ฉันพยายามควบคุมสติ จนถึงทางลง พอบังคับรถเลี้ยวเข้าสู่ผิวการจราจรปกติ ความกลัวก็หายไป เหลือแต่ความฉงน ฉันขับรถต่อไปถึงออฟฟิศเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
Simone Biles เริ่มเล่นยิมนาสติกมาตั้งแต่ 6 ขวบ เธอทุ่มเทฝึกฝนมาทั้งชีวิต จนได้เข้าแข่งขันโอลิมปิกปี 2020 ที่โตเกียว แต่แล้วเธอรู้สึกเหมือนว่า เธอเล่นยิมนาสติกไม่เป็นอีกต่อไป เธอสูญเสียความมั่นใจกับสิ่งที่เธอฝึกฝนมากว่า 18 ปี
สุดท้ายนักกีฬาสาวทีมชาติสหรัฐฯ วัย 24 ปี ประกาศถอนตัวในการแข่งขันอย่างกะทันหัน ด้วยเหตุผลทางสภาพจิตใจ
นอกจากยิมนาสติกแล้ว เหตุการณ์ทำนองนี้ยังมีเกิดขึ้นในกีฬาอื่นๆอีกมากมาย และเป็นที่รู้จักกันในชื่อ Yips อาการที่นักกีฬาบางคน จู่ๆก็ไม่สามารถทำในสิ่งที่เคยทำได้อยู่เป็นประจำ โดยไม่ทราบสาเหตุ ทั้งบาสเก็ตบอล เบสบอล กอล์ฟ เทนนิส
Tommy Ammour, Bernhard Langer, Ben Morgan, Harry Vardon และ Sam Snead คือชื่อของนักกอล์ฟที่มีอาการ Twitches ที่หมายถึงการกระตุกอย่างไม่มีเหตุผลระหว่างวาดวงสวิงหรือพัตต์ลูก จนกลายเป็นคนตีกอล์ฟไม่เป็นไปชั่วขณะ
ในกีฬายิงธนูมีอาการที่เรียกว่า Target Panic เป็นที่รู้จักมากตั้งแต่ยุค 70 เป็นภาวะที่นักยิงธนูรู้สึกเกร็ง กลัวเป้า จนสูญเสียความสามารถเดิมที่เคยมี บางครั้งถูกเรียกว่าอาการ ‘ตื่นทอง’ (Gold Panic) เพราะจะเกิดขึ้นเมื่อวาดลูกศรไปที่วงกลมสีเหลืองบริเวณกลางเป้า
เชื่อกันว่าอาการเหล่านี้มีสาเหตุมาจากความเครียดและสภาวะทางจิตใจภายใต้แรงกดดัน ความกังวลต่อความผิดพลาด ซึ่งเกิดขึ้นได้แม้แต่กับกิจกรรมทั่วไป อย่างการเขียนและการเล่นเครื่องดนตรี ในรูปของการเกร็งที่เรียกว่า Writing dystonia และ Musician dystonia ที่จิตใจส่งผลให้กล้ามเนื้อเกร็งและควบคุมไม่ได้ และสามรถเกิดขึ้นได้แม้กับคนทั่วไป
ในสภาพสังคมที่ผันผวน เราต้องเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอนมากมายในชีวิต หลายครั้งเราตกอยู่สถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้ รู้สึกสูญเสียการควบคุมต่อสิ่งต่างๆ สังคมรอบตัวลากเราไปมาโดยเราไม่รู้ตัว ยิ่งในยุคของโซเชียลที่เกือบทุกคนมีตัวตนในโลกไซเบอร์ เราต่างถูกจับจ้องด้วยผู้ติดตามหลากหลายช่องทาง บางครั้งเชิดชูขึ้นสูง บางครั้งก็ผลักไสให้ร่วงหล่น
ความตึงเครียดเหล่านี้เกิดขึ้นเรื้อรังซ้ำซาก จนสมองและระบบประสาทเกิดความเคยชิน ความรู้สึกสูญเสียการควบคุม ลุกลามจากเรื่องต่างๆในชีวิต สู่กิจกรรมที่เราเคยทำเป็นประจำ อย่างขับรถ จับดินสอ หรือแม้แต่งานประจำ
ความกลัว ความกังวลที่จะสูญเสียการควบคุม ทำให้เราสูญเสียการควบคุมทางกายภาพไปจริงๆ
สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้กับทุกคน เป็นเรื่องธรรมดาของสภาวะจิตใจ
สิ่งที่เราพอจะทำได้ น่าจะเป็นการหันมาดูแลสภาพจิตใจของตัวเองให้มากขึ้น
และอย่าลังเลที่จะหาตัวช่วยอย่างนักจิตบำบัดหรือจิตแพทย์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ
หากเปรียบสภาพจิตใจเราเป็นการขับรถ ในวันที่เราอยู่ๆก็ลืมวิธีควบคุมพวงมาลัย อย่างน้อยก็ยังมีคนนั่งข้างๆคอยประคับประคอง
Words: Roongtawan Kaweesilp
ข้อมูลจาก: