นับเป็นปีที่ 3 ในการร่วมโครงการพัฒนาการออกแบบเครื่องแต่งกายผ้าไทยร่วมสมัย สำหรับ เอก ทองประเสริฐ ดีไซเนอร์ผู้หลงใหลในเสน่ห์แห่งสิ่งทอท้องถิ่น ซึ่งเขามีความสุขทุกครั้งที่ได้ค้นหาแรงบันดาลใจใหม่ในการรังสรรค์ผ้าไทยให้ดูร่วมสมัย โดยครั้งนี้ เอก ทองประเสริฐได้เปลี่ยนชนิดของผ้าในการสร้างสรรค์ผลงานจากผ้าบาติกมาเป็นผ้าไหม
“สำหรับ 2 ครั้งที่ผ่านมามีผ้าบาติกเป็นวัสดุหลักในการทำงาน ซึ่งเหมาะกับการใช้งานในชีวิตประจำวัน แต่สำหรับปีนี้ได้กลับมาออกแบบผ้าไหมอีกครั้งหนึ่ง ได้เดินทางไปเลือกผ้าที่บ้านคึมมะอุ อ.บัวลาย จ.นครราชสีมา ซึ่งครั้งนี้มีเวลาค่อนข้างจำกัดด้วยสถานการณ์ของโควิด-19”
สำหรับแนวคิดหลักในออกแบบคือการสร้างความเข้าใจใหม่ และลบภาพจำของผ้าไหมไทยที่ยึดโยงกับความหรูหรา ความเป็นประเพณีนิยมซึ่งห่างไกลจากวิถีชีวิตร่วมสมัย โดยรื้อโครงสร้างชุดแบบเดิม พร้อมหาสมดุลด้านราคาด้วยการผสมผ้าไหมเข้ากับผ้าทอทางอุตสาหกรรม นอกจากจะช่วยให้ตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น ยังเพิ่มความสะดวกสบายในการดูแลรักษาชุดผ้าไหม จนเกิดเป็นคอลเล็กชั่นที่ชื่อว่า “ไร้เดียงสา” (Naive)
“คอลเล็กชั่นนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากงานตัดต่อผ้าแบบ Appliqué งานศิลปะของ
Jordy van den Nieuwendijk และ Antti Kalevi รวมถึงงาน Paper Cut ของ Henri Matisse ซึ่งถือเป็นผลงานในช่วงสุดท้ายของชีวิตศิลปินท่านนี้ ในเวลานั้นร่างกายของเขาไม่แข็งแรง ไม่สามารถเดินทางทำงานได้ งาน Paper Cut Out ของ Matisse ทำให้เราหวนคิดถึงงานศิลปะในวัยเยาว์ ที่เด็กนำกระดาษมาตัดเป็นรูปทรงต่างๆ ความไร้เดียงสาที่แสนบริสุทธิ์นั้นสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองเชิงบวก ที่แสนจะเข้ากับสถานการณ์ในปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความหม่นหมองจากภาวะโรคระบาด ความสิ้นหวัง ความท้อแท้”
แน่นอนว่า การทำงานศิลปะภายใต้สภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวย่อมมีความท้าทาย แต่นั่นไม่ใช่ข้อจำกัดของดีไซเนอร์ที่พร้อมก้าวข้ามขีดจำกัด
“เราต้องหาจุดสมดุลระหว่างผ้าทอมือที่มีราคาสูงกับเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่กำลังถดถอย พยายามทำอย่างไรให้ผ้าจากชุมชนสามารถขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น มองเห็นลู่ทางที่จะไปสู่การเปิดตลาดใหม่ได้”
และไม่ใช่เพียงตลาดในประเทศที่เป็นโจทย์ของการร่วมมือจากทุกภาคส่วนในโครงการนี้ แต่ยังมีเวทีระดับโลกที่เป็นอีกเป้าหมายสำคัญ
“สำหรับการผลักดันผ้าไทยให้คนไทยนิยมมากขึ้น จำเป็นต้องเข้าใจมุมมองของผู้บริโภคที่หลากหลายในปัจจุบัน ส่วนตัวยังเห็นว่าการรับรู้ถึงการดำรงอยู่ของผ้าไทยยังยึดโยงกับกลุ่มประชากรในบางเจเนอเรชั่น ไม่กระจายไปถึงกลุ่มคนใหม่ๆ ทำให้ลูกค้ากระจุกตัวอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง สิ่งที่ต้องทำคือสร้างความหลากหลายเพื่อตอบสนองผู้บริโภคทุกกลุ่ม
…ส่วนการก้าวสู่ตลาดโลกทำได้ 2 แบบคือ การทำการตลาดในกลุ่มประเทศที่มีวัฒนธรรมร่วม อย่างกลุ่มประเทศในเอเชียหรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกัน เนื่องจากเรามี Preperception ร่วมกัน แต่หากต้องการทำตลาดกับกลุ่มประเทศอื่น เราอาจต้องทำความเข้าใจวัฒนธรรม หัตถกรรมพื้นถิ่น แล้วทำการปรับงานออกแบบผ้าไทยให้สอดคล้องกับประเทศนั้นๆ ที่เห็นในปัจจุบันคืองานเขียนผ้าบาติกเพื่อนำไปทำชุดกิโมโน โดยลายผ้าจะออกแบบจากญี่ปุ่น หรือเราขายผ้าคอตตอนออร์แกนิกให้เขาไปทำต่อเอง หรือทางตลาดยุโรปที่กำลังตระหนักถึง Sustainable Movement เราก็สามารถทำให้สอดคล้องได้ไม่ยาก เพราะเรามีความโดดเด่นเรื่องความละเอียดอ่อนในการผลิตผ้าเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว”
Text : Prim S.
Photography : Somkiat K.