เครื่องประดับแบรนด์เก่าแก่ที่ใส่กันมาตั้งแต่รุ่นคุณทวดอย่าง Cartier, Bulgari, Tiffany & Co., Harry Winston ไปจนถึง Boucheron, Van Cleef & Arpels และ Chopard ยังคงการันตีมูลค่าที่รังแต่จะถีบตัวสูงขึ้นไปตามกาลเวลา แต่แบรนด์แฟชั่นเก่าแก่ขอโดดเข้ามาเป็นน้องใหม่ในวงการไฮจิวเวลรีกันเป็นแถว จนเข้ามาเบียดบังแบรนด์เครื่องประดับบนพรมแดง ตั้งแต่ Gucci, Louis Vuitton, Chanel และ Dior
รายงานความเหลื่อมล้ำทางความมั่งคั่งชิ้นล่าสุดขององค์กร OXFAM เผยให้เห็นว่า คนร่ำรวยที่สุดในโลก 1 เปอร์เซ็นต์ครอบครองความมั่งคั่งไว้เกือบ 2 ใน 3 ของสินทรัพย์ใหม่ราวๆ 42 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่นับจากปี 2020 ซึ่งมากกว่าเกือบ 2 เท่าของเงินทั้งหมดที่ประชากร 99 เปอร์เซ็นต์ของโลกถืออยู่ นั่นหมายความว่าตลอดทศวรรษที่ผ่านมา คนรวย 1 เปอร์เซ็นต์ของโลกถือครองความมั่งคั่งครึ่งหนึ่งของโลก โดยอภิมหาเศรษฐีจะมีรายได้เพิ่มขึ้นวันละ 2,700 ล้านดอลลาร์ และข้อมูลของ BAIN & CIMPANY เผยว่า เครื่องประดับเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่คนรวยเหล่านี้ถือครองเพิ่มมากขึ้น
(ขวา) สร้อยข้อมือLike a Queen Hypnotic Blue จาก Boucheron
Photo: Boucheron
(ขวา) สร้อยคอประดับเพชรเยลโยว์แฟนซี 100 กะรัต จาก Chopard Photo: Chopard
ในเมื่อนักวิเคราะห์และคนทั่วไปมองออกว่าความร่ำรวยอยู่ที่ใด แล้วไฉนแบรนด์ต่างๆ จะมองไม่เห็นเล่า เหตุฉะนี้ในรอบหลายปีที่ผ่านมาจึงได้เห็นแบรนด์แฟชั่นเปิดแผนกใหม่ ‘เครื่องประดับชั้นสูง’ และส่งสร้อย ต่างหู กำไล แหวนไปให้คนดังใส่เดินพรมแดงกันเป็นว่าเล่น ดังที่ Valerie Messika แห่งแบรนด์จิเวลรี MESSIKA ประกาศว่ายุคสมัยของเครื่องประดับมรดกที่ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่นนั้นได้ตายไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ เมื่อคนรุ่นใหม่มองหาเครื่องประดับดีไซน์ใหม่ๆที่แสดงออกถึงความเป็นตัวตนอันเป็นเอกลักษณ์ซึ่งมักจะไปเจอเอาตามแบรนด์แฟชั่น
Hortus Deliciarum (ภาษาลาตินที่แปลว่าสวนสำราญ) เครื่องประดับชั้นสูงคอลเล็กชั่นแรกของ GUCCI จึงออกมาให้โลกได้ยลครั้งแรกในปี 2019 ซึ่งครีเอทีฟไดเร็กเตอร์คนเก่า Alessandro Michele ได้สร้างจักรวาลสิงสาราสัตว์เหนือจินตนาการขึ้นจากรัตนชาติหลากสีสัน อาทิ อความารีนสีฟ้ากระจ่างไปจนถึงแซปไฟร์สีเหลืองแจ่ม
ส่วน Louis Vuitton เปิดแผนกไฮจิเวลรีมาตั้งแต่ปี 2009 แต่เห็นจะเป็นยุคที่ดึงตัว Francesca Amfitheatrof มาดูแลงานออกแบบไฮจิเวลรีในปี 2018 ทำให้ LV พอจะโดดเด่นสะดุดตาแข่งกับแบรนด์จิเวลรีแท้ๆได้บ้าง เมื่อฟรานเชสก้าเล่นกับสัญลักษณ์ต่างๆของแบรนด์เพื่อตอกย้ำและสร้างที่ยืนของ LV ในโลกเครื่องประดับชั้นสูงให้จงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโมทีฟสามเหลี่ยมจากอักษรย่อตัวแอลและตัววีของชื่อแบรนด์ในผลงานล่าสุด Spirit Collection
Chanel ซึ่งเข้าสู่สนามเครื่องประดับในปี 2013 ก็เล่นกับโมทีฟต่างๆที่โลกจดจำแบรนด์ ได้ อาทิ เลข 5, สิงโต, ดาวตกหรือดอกคามิเลีย ดังเช่นคอลเล็กชั่น 1932 อันเป็นตำนาน ส่วนในปารีส โอตกูตูร์ แฟชั่นวีก 2023 Chanel เปิดตัวนาฬิกา Mademoiselle Privé Pique-Aiguilles ที่หยิบเอากรรไกรที่มาดมัวแซลโกโก้มักผูกกับโบว์ห้อยคอ และหมอนปักเข็มที่สวมติดข้อมือไว้เสมอในยามทำงาน และนี่ก็คือ ‘เครื่องประดับ’ ของช่างตัดเย็บที่บอกเป็นนัยว่า Chanel คือเมซงแห่งงานฝีมือวิจิตร
เคสที่ประสบความสำเร็จของแบรนด์แฟชั่นที่หันมาแข่งขันในตลาดเครื่องประดับชั้นสูงเห็นจะเป็น DIOR ซึ่งเปิดแผนกนี้ให้เป็นสนามเด็กเล่นของ Victoire de Castellane ครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ไฟน์จิวเวลรีคนแรกของเมซง และเป็นคนแรกที่ใช้โอปอล์ในงานไฮจิวเวลรีผ่านคอลเล็กชั่น Dior et d’Opales เมื่อปี 2017 ก่อนที่ในผลงานล่าสุด Dearest Dior เธอจะชูมรกตสีเขียวเม็ดเล็กกว่ากำปั้นเล็กน้อยเป็นไฮไลต์เด่นของคอลเล็กชั่นไฮจิวเวลรี 77 ชิ้น
ในช่วงล็อกดาวน์ เมซงจิวเวลรีในเครือ Richemont อย่าง Cartier, Piaget และ Van Cleef & Arpels แม้ยอดขายจะลดลงจากช่วงเวลาก่อนโควิด แต่ก็ยังแล่นฉิวดีอยู่ เพราะคน(รวย)เอาเงินที่ใช้กับการท่องเที่ยวมาซื้อจิวเวลรีแทน โดยเฉพาะยอดขายจากชาวจีนที่พุ่งขึ้น 78 เปอร์เซ็นต์ในปี 2020 ซึ่งเป็นปีแรกด้วยซ้ำที่โลกเจอวิกฤตโควิดแบบเต็มๆ แต่จิวเวลรีกลับยังขายดี
ยุคหลังโควิด Cartier เดินหน้าเปิดบูติกใหญ่บึ้มตามสนามบินที่มีนักท่องเที่ยวกระเป๋าหนักเดินทางเข้าออก ทั้งที่สนามบินดูไบ สนามบินอิสตันบูลซึ่งมีบูติก Cartier ที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ไปเปิดตามสนามบิน รวมทั้งในเดือนมีนาคมปีนี้ที่ Cartier เปิดบูติกที่มีสินค้าครบถ้วนที่สุดในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลีย ณ สนามบินสุวรรณภูมิ ลำพังแค่ผนังหน้าร้านก็ยาวถึง 40 เมตรเข้าไปแล้ว ซึ่งบูติกของแบรนด์จิวเวลรียักษ์ใหญ่เหล่านี้บ่งบอกถึงกำลังซื้อของคนในประเทศนั้นๆนั่นเอง
ยิ่งจำนวนลูกค้าระดับอภิมหาโค-ตะ-ระ-รวยเพิ่มขึ้น และคนกลุ่มนี้ก็ยิ่งร่ำรวยขึ้น ตลาดไฮจิวเวลรีก็ยิ่งขับเคี่ยวกันผลิตชิ้นงานที่มีเพียงหนึ่งเดียวในโลกเพื่อตอบสนองลูกค้ากลุ่มนี้ ผู้ซึ่งช้อปปิ้งอย่างไม่แยแสป้ายราคา
Words: Suphakdipa Poolsap
ข้อมูลจาก: