Search
Close this search box.
Search
Close this search box.

เมื่อการเมืองดราม่ากว่าซีรีส์ ชวนพักสักนิดแวะอ่าน 5 วิธีตามโซเชียลแบบไม่เสียสุขภาพจิต  

Beauty / Wellness & Aesthetic

ช่วงนี้การเมืองดุเดือด เหตุการณ์ใหญ่ๆระดับใครเป็นนายกพลิกผันกันนาทีต่อนาที ชวนให้หลายคนต้องเกาะติดหน้าฟีดกันแบบง่อมแงม ทำเอาอาการ FOMO กำเริบจนเสียงานเสียการพาลไปถึงสุขภาพจิต   

FOMO คืออะไร?

FOMO ย่อมาจาก Fear of missing out แปลเป็นไทยง่ายๆ ว่ากลัวจะตกกระแส เป็นความวิตกกังวลว่าตัวเองจะพลาดสิ่งสำคัญที่สังคมกำลังให้ความสำคัญไป ต้องรู้ว่าใครกำลังทำอะไรที่ไหน หรือกำลังเกิดอะไรขึ้นบ้าง ถ้าไม่ได้รับรู้จะรู้สึกหงุดหงิดเป็นกังวล 

โดยทั่วไปแล้ว FOMO มักหมายถึงการกลัวตกกระแสในเรื่องไลฟ์สไตล์ทั่วไป ด้วยธรรมชาติโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook และ IG ที่ฉายภาพให้ผู้ใช้รู้สึกอย่างรุนแรงว่า คนอื่นๆรอบตัวกำลังใช้ชีวิตอย่างเต็มที่สุดเหวี่ยงตลอดเวลา ตอกย้ำให้ชีวิตประจำวันธรรมดาดูจืดชืด จนทำให้หลายคนรู้สึกกำลังพลาดอะไรซักอย่างในชีวิต สูญเสีย Self-esteem นำมาซึ่งความวิตกกังวล และในขณะเดียวกันก็ยิ่งกระตุ้นอาการเสพติดโซเชียลให้รุนแรงขึ้นไปพร้อมกัน 

Illustration: AI-Generated Art

มีงานวิจัยพบว่า จำนวนครั้งของการเช็กหน้าฟีดโซเชียลมีเดียสัมพันธ์กับอาการ FOMO โดยไม่ขึ้นกับเพศและอายุ ยิ่งคนกลัวตกกระแสมากก็ยิ่งเข้าโซเชียลมีเดียมาก ยิ่งเข้าโซเชียลมีเดียมากก็ยิ่งเกิดอาการ FOMO มาก กลายเป็นงูกินหาง และเมื่อมีเหตุการณ์ที่สำคัญจริงๆให้ติดตามในโซเชียลมีเดีย อาการ FOMO ก็รุนแรงแรงขึ้นเป็นเงาตามตัว นำมาซึ่งอาการสมาธิสั้นจากการเสพติดหน้าฟีด

Illustration: AI-Generated Art

5 วิธีปรับสมดุลการเสพโซเชียล ลดอาการ FOMO

LIPS จะพาไปดูข้อแนะนำปรับสมดุลการเสพโซเชียล ลดอาการ FOMO เพื่อสุขภาพจิตที่ดีขึ้นในช่วงเวลาของความคร่ำเครียดเอาแน่เอานอนไม่ได้เช่นนี้ 

1. แปะเป้าหมาย

ทุกวันนี้หลายคนต้องใช้โซเชียลมีเดียในการทำงาน ติดต่อประสานงานหรือหาข้อมูลที่จำเป็น ไม่ได้ตั้งใจจะเสพคอนเทนต์ หรือติดตามกระแสสังคมอะไรเป็นพิเศษ แต่เมื่อเข้าหน้าฟีด ก็ถูกคลื่นคอนเทนต์พัดพาไปไหนต่อไหน 

ทางแก้ก็คือ ก่อนจะเข้าสู่โลกออนไลน์หรือเปิดแอปโซเชียลมีเดีย ให้คิดแล้วเขียนเป้าหมายหรือคำถามที่ชัดเจนลงไปในโพสต์-อิทก่อนว่า เราจะเข้าโซเชียลไปทำอะไร หาคำตอบของเรื่องอะไร หรือกำลังจะติดต่อกับใคร แปะโพสต์-อิทอันนั้นไว้ข้างๆหน้าจอเพื่อเตือนสติ ให้มีเป้าหมายนี้คอยเตือนอยู่ที่หางตา หลีกเลี่ยงการการไถฟีดเถลไถลเป็นเวลาหลายชั่วโมง 

2. แปะไว้ก่อน

เวลาใช้โซเชียลมีเดียในการทำงาน หากมีคอนเทนต์ที่น่าสนใจมาดึงให้เราออกจากเป้าหมายที่ทำอยู่ เลือกใช้ฟังก์ชั่น Save ที่โซเชียลมีเดียนั้นๆมีให้ เพื่อกลับมาอ่านคอนเทนต์นั้นทีหลัง อาจจะเป็นการกดบันทึกโพสต์หรือกดแชร์ทิ้งไว้ก่อนก็ได้ แล้วค่อยกลับมาเสพคอนเทนต์นั้นๆ ในเวลาที่กำหนดไว้  

Illustration: AI-Generated Art

3. รวบเวลาเล่นแล้วแปะ Timer

กำหนดเวลาเล่นโซเชียลมีเดียเพื่อความบันเทิงของตัวเองให้ชัดเจนว่า จะใช้ช่วงไหนของวัน และยาวนานแค่ไหน รวบเอาเวลาในการใช้หน้าจอทั้งหมดเข้าด้วยกันในช่วงเวลาเดียวกัน เช่น 1 ชั่วโมงหลังเลิกงาน หรืออาจให้ตัวเองเล่นโซเชียลมีเดียเฉพาะเวลาวิ่งสายพานหรือปั่นจักรยานในยิมก็ได้ หลีกเลี่ยงการกำหนดเวลาเหล่านี้ไว้ก่อนเข้านอน เนื่องจากแสงจากหน้าจอจะรบกวนวงจรการนอนหลับ ทำให้หลับยากขึ้น  

ใช้เวลานี้ในการเสพคอนเทนต์ที่แปะเก็บไว้ระหว่างวัน โดยอย่าลืมตั้ง Timer นับถอยหลังทุกครั้ง เสียงเตือนจากโทรศัพท์จะช่วยดึงสติให้เราหยุดไถฟีดได้ง่ายขึ้น และการเข้าแอปนาฬิกาไปปิดเสียงเตือนก็ช่วยให้เราจำเป็นต้องออกจากหน้าจอแอปโซเชียลอย่างเสียไม่ได้ ใช้โอกาสนั้นให้เป็นประโยชน์  

4. เสพคอนเทนต์แบบสรุป

เปลี่ยนรูปแบบคอนเทนต์ที่ติดตาม จากความคืบหน้าของประเด็นต่างๆแบบนาทีต่อนาที มาเป็นแบบสรุปรวบยอดเป็นประเด็นๆไป ทุกวันนี้มีเพจเฟซบุ๊กหรือช่องยูทูบมากมายที่นำเสนอคอนเทนต์แบบสรุปเหตุการณ์   ลำดับเรื่องราวประเด็นดราม่าต่างๆตั้งแต่ต้นจนจบ ทำให้เราไม่จำเป็นต้องติดตามอัปเดตนาทีต่อนาทีก็ได้ อีกทั้งคอนเทนต์แบบสรุปหลายครั้งจะมีรายละเอียดที่ลึกกว่า ครบถ้วนกว่า และฉายให้เห็นภาพกว้างที่ชัดเจนกว่าของประเด็นเหล่านั้นอีกด้วย 

Illustration: AI-Generated Art

5. ย้อนกลับไปหาสื่อเก่าบ้าง

ข่าวสารผ่านโซเชียลมีเดียอาจมีข้อดีที่ความฉับไว ทันท่วงที แต่หากไม่ใช่เหตุการณ์ภัยพิบัติร้ายแรงที่ต้องรีบอพยพเอาชีวิตรอด บางทีเราในฐานะคนทั่วไปก็อาจไม่ได้จำเป็นต้องรับรู้อย่างรวดเร็วขนาดนั้น เราสามารถติดตามข่าวสารสำคัญผ่านสื่อที่รวดเร็วน้อยกว่าอย่างโทรทัศน์ หรือหนังสือพิมพ์ ที่แม้จะช้าไปบ้าง แต่ก็ฉายให้เห็นภาพกว้างได้ดีกว่า และที่สำคัญคือ ไม่มีอัลกอริทึมอ่านใจที่ตั้งท่าจะสอดแทรกคอนเทนต์ดึงความสนใจเราตลอดเวลา   

FOMO ไม่ใช่เรื่องไม่ดีเสมอไป ในเรื่องไลฟ์สไตล์ทั่วๆไป FOMO ทำให้เรามีโอกาสเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ที่กำลังเป็นกระแสในโซเชียลมีเดีย ในเรื่องข่าวสารประเด็นต่างๆ FOMO กระตุ้นให้เราเป็น Active Citizen ที่รู้เท่าทันและมีส่วนร่วมกับประเด็นเชิงสังคม สิ่งสำคัญจึงอยู่การหาสมดุลไม่ให้แรงกระตุ้นนั้นมากเกินไป จนกระทบกระเทือนต่อสุขภาพร่างกาย

Words: Roongtawan Kaweesilp
ข้อมูลจาก:

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม