อุตสาหกรรมแฟชั่นขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ร้ายอันดับสองรองจากน้ำมันในการทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการใช้ทรัพยากรจำนวนมากในการผลิต และสินค้าที่ผลิตมากเกินความจำเป็นจบลงที่กลายเป็นขยะก้อนโตรอการทำลาย ทุกอย่างวนลูปไม่มีวันสิ้นสุดแต่แล้วกระแส ‘Sustaianable’ หรือ ‘ความยั่งยืน’ เริ่มกลายเป็นประเด็นที่ทุกคนให้ความสนใจ เนื่องจากผลกระทบจากมลภาวะต่างๆ มันเริ่มใกล้ตัวมากขึ้นทุกที และแฟชั่นเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่ต้องปรับ จึงเป็นที่มาของแฟชั่นรักษ์โลกที่ไม่ใช่แค่เทรนด์แต่คือไลฟ์สไตล์ รวมถึงเหล่านักคิดที่ตั้งใจจะเปลี่ยนภาพลักษณ์แฟชั่นให้ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หนึ่งในนั้นก็คือ Gabriela Hearst
ถ้าพูดเรื่องแฟชั่นยั่งยืนชื่อแรกที่หลายคนนึกถึงคงไม่พ้น Stella McCartney ปัจจุบันเธอยังคงเป็นดีไซเนอร์แถวหน้าที่เดินหน้าเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ในทุกๆ คอลเลคชั่น และเธอเป็นแรงบันดาลใจคนสำคัญต่อดีไซเนอร์เลือดใหม่ที่อยากเดินตามรอย เช่นเดียวกับ Gabriela เธอเลือกเดินสายรักษ์โลกเพราะแรงบันดาลใจที่กล้าหาญของ Stella สำหรับใครที่ยังไม่รู้จัก Gabriela ดีนัก เธอเริ่มต้นแบรนด์ของตัวเองมาสักพักใหญ่ภายใต้ชื่อ Gabriela Hearst ด้วยเงินเพียง 700 เหรียญสหรัฐฯ กับสไตล์แบบโมเดิร์นนิวยอร์กเกอร์ทำให้แบรนด์ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และเธอยังสามารถคว้ารางวัลใหญ่ CFDA ‘s Womenwears Designer Prize ในปี 2019 อีกด้วย
ความตั้งใจต่อไปของ Gabriela คือการปั้นให้แบรนด์ของเธอยั่งยืนที่สุดเท่าที่จะทำได้ในแบบ ‘Elegance Sustainablity’ เธอต้องการเปลี่ยนความคิดว่างานดีไซน์ด้วยวัสดุเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไม่จำเป็นต้องดูน่าเบื่อเสมอไป มันสามารถเก๋ เท่ และเปรี้ยวได้ไม่ต่างจากวัสดุอื่นๆ ดังนั้นคำว่า Sustaianble สำหรับเธอไม่ใช่เทรนด์แต่มันคือสิ่งจำเป็นและสิ่งที่ควรลงมือทำ ถ้าถามหาเสื้อผ้าอิงเทรนด์คงไม่เจอสิ่งนี้จากแบรนด์นี้แต่ถ้าต้องการเสื้อผ้าดีไซน์คลาสสิก โมเดิร์นและสวมใส่ได้นาน นั่นต่างหากคือ Gabriela Hearst การผลิตแบบพอดีและเน้นการใช้สอยให้ยาวนานมากขึ้นเป็นโมเดลการทำงานที่เธอยึดเป็นหลัก
กว่า 80% ของคอลเลคชั่น Gabriela Hearst ล้วนทำมาจากผ้าค้างในสต็อคและผ้าเหลือใช้ในพื้นที่ฝังกลบ (Landfill) เธอร่วมมือกับ TIPA Sustainable Packaging บริษัทสตาร์ตอัพสัญชาติอิสราเอลผลิตแพ็กเกจที่สามาถย่อยสลายเองได้ใน 24 สัปดาห์ รวมถึง Bureau Betak และ EcoAct เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และลดการใช้เครื่องไฟฟ้าทั้งหมดในการผลิตคอลเลคชั่น แต่ไปเน้นการสร้างอาชีพให้ชุมชนในบ้านเกิดของเธอที่ประเทศอุรุกวัยให้มีอาชีพจากการทำงานฝีมือให้กับแบรนด์เพื่อลดการผลิตด้วยเครื่องจักร และยังมีโครงการที่ชื่อว่า ‘Garment Journey’ ป้าย QR บนเสื้อผ้าที่สามารถสแกนข้อมูลถึงแหล่งที่มาของไอเท็มแต่ละชิ้นได้อีกด้วย
การที่ Richemont ดึงเธอมาดูแลแบรนด์ Chloé ในปี 2021 ไม่ใช่เพื่อเรียกร้องความสนใจแต่เป็นการประกาศจุดยืนใหม่ของแบรนด์หรูจากฝรั่งเศสว่าพวกเขานั้นเน้นการสร้าง ‘คุณค่า’ มากกว่าการสร้างตัวเองให้อยู่ในกระแส มันคือการสร้างรากฐานใหม่และธุรกิจแฟชั่นแบบใหม่ขึ้นโดยคำนึงถึง ‘จุดประสงค์เฉพาะ’ มากขึ้น ถามว่า Chloé จะเสียมู้ดของสาวเก๋ปารีเซียงไปไหม ไม่แน่นอนพวกเธอจะยังคงเก๋เหมือนเดิม เพิ่มเติมคือพวกเธอรู้จักคุณค่าในตัวของมากขึ้น และให้ความสำคัญกับเรื่องรอบตัวมากขึ้น เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม
ดังนั้น Chloé ในวันนี้คือการหยิบเอาผ้าค้างสต็อคและวัสดุที่เหลือใช้ในโกดังออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ฟังดูเหมือนของวินเทจมือสองแต่เปล่าเลยมันคือความท้าทายสุดๆ ในแง่ของความคิดสร้างสรรค์ เมื่อทุกอย่างเคยถูกใช้และเห็นมาแล้วจะทำอย่างไรให้สามารถสร้างสิ่งใหม่จากของเดิมได้ Gabriela พิสูจน์ให้เห็นในคอลเลคชั่นของ Chloé ว่าการดีไซน์ด้วยวัสดุยั่งยืนนั้นไม่มีข้อจำกัด ทุกอย่างสามาถเป็นไปได้หมดเพียงแค่เราลงมือทำมันต่างหาก และการมาอยู่ Chloé ของเธอครั้งนี้จะเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่แบรนด์แฟชั่นอื่นๆ ว่าพวกเขาและเธอสามารถทำได้เช่นกัน เราสามารถสร้างสิ่งสวยงามที่ยั่งยืน มีคุณค่า และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้แค่ทุกคนเริ่มลงมือทำ ดังนั้น Gabriela Hearst ถือเป็นตัวแปรสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมแฟชั่นตอนนี้ในบทบาทของผู้กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงให้แฟชั่นก้าวไปข้างหน้าในทางที่ดีขึ้น