หลังจบบทสนทนากับ ‘น้องไดมอนด์’ ชื่อที่คนอื่นเรียก หรือที่เธอเรียกตัวเองว่า ‘เพชร’ คำนี้วาบในห้วงคิด
A Star is Made
เพชรคือดาวรุ่งในวงการ Drag เมืองไทยในชื่อ Gawdland ผู้ไปแผลงอิทธิฤทธิ์แสดงโชว์ต่อหน้าคนนับหมื่นจนเป็นที่โจษจันในช่วง Pride Month กระทั่งชื่อเสียงเลื่องลือไปเข้าตาแบรนด์ระดับโลก Jean Paul Gaultier ที่จีบตัวไปร่วมงานในแคมเปญน้ำหอม
LIPS ชวนเพชรมาโชว์สกิลแดร็ก หรือศาสตร์แห่งการแปลงร่าง จากตัวตนในชีวิตจริงที่เป็นเด็กผู้ชายผมสั้นตัวเล็กจิ๊ดหนึ่ง ชื่อ ธราเทพ ทวีผล ซึ่งเมื่อผ่านรองพื้น อายแชโดว์ บลัช ลิปส์ วิกผม และรองเท้าสูง 6 นิ้ว แทนที่ เพชร – ธราเทพ – Gawdland ได้ปรากฏตัวขึ้น
“แดร็กคือศาสตร์ของการแปลงร่างที่เอาไว้ทำอะไรก็ได้ ใช้แดร็กเป็นนางโชว์ พิธีกร ครู หรือใช้เป็นเครื่องมือในการสำรวจอัตลักษณ์ทางเพศของตนเองก็ได้”
LIPS: รู้ตัวว่าเป็นผู้หญิงตั้งแต่เมื่อไร
Gawdland: คือ…ไม่ได้นิยามตัวเองว่าเป็นผู้หญิง ไม่ได้คิดว่าเราเป็นผู้หญิง เราเอนจอยกับการแต่งหญิงในการทำงานมากกว่า ไม่ได้อยากแปลงเพศ ทำนม หรืออยากใช้ชีวิตเป็นผู้หญิงในชีวิตประจำวัน
LIPS: แล้วในชีวิตจริง เราคือ…
Gawdland: เป็นเด็กผู้ชายผมสั้น
LIPS: งั้นชอบอะไรในการแต่งหญิง
Gawdland: เราคิดว่ามันคือศาสตร์และศิลป์ในการเปลี่ยนตัวเองไปเป็นอีกเพศหนึ่ง ต้องใช้ทักษะการแต่งหน้า ทำผม แต่งตัว ทุกๆอย่าง มันคือศิลปะที่ทำให้เราได้กลายเป็นอีกคนหนึ่ง เราชอบตรงนี้ รู้สึกว่ามีเสน่ห์
LIPS: ค้นพบเวทมนตร์นี้ตอนไหน
Gawdland: ถ้าเรียกการแต่งแดร็กว่าคือการแต่งหญิง นั่นก็คือสิ่งที่เราทำมาตั้งแต่เป็นเด็กประถมที่เราทำโชว์เวลามีงานโรงเรียนบ่อยๆอยู่แล้ว พอตอนม.5 เราเห็นรายการ RuPaul ’s Drag Race ถึงได้รู้ว่าสิ่งที่เราทำมาตลอดเรียกว่าแดร็กสินะ เราก็เลยยึดถือสิ่งนี้เรื่อยมา
LIPS: แดร็กคือการแค่แต่งหญิง หรือต้องไปทำการแสดง ทำโชว์ด้วยไหม
Gawdland: ไม่จำเป็นค่ะ แดร็กเป็นเหมือนร่มใหญ่ที่เอาไว้ทำอะไรก็ได้ อย่างเราใช้แดร็กเป็นนางโชว์ บางคนใช้ในการเป็นพิธีกร บางคนใช้ในการเป็นครู หรือบางคนใช้เป็นเครื่องมือในการสำรวจอัตลักษณ์ทางเพศของตนเองก็มี ไม่จำเป็นต้องใช้ แดร็กเพื่อประกอบหาชีพหาเงินเสมอ มันกว้างมากๆ แดร็กคือศาสตร์ของการแปลงร่างนั่นแหละ
LIPS: เวลาขึ้นโชว์ครั้งหนึ่ง ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
Gawdland: มันคือ One-man Show ที่เราต้องทำเองทุกอย่าง ตั้งแต่คิดคอนเซปต์ ครีเอตเสื้อผ้าหน้าผม คิดการแสดง มันเหนื่อยมาก!
LIPS: แค่ทำชุดก็เหนื่อยแล้ว เห็นแต่ละชุดคืออลังการงานสร้างมาก ชุดไม่อลังนี่เงื้อง่าไม่ออกว่างั้น
Gawdland: ใช่ (หัวเราะ) ประมาณนั้น
LIPS: แล้วแต่งแดร็กทำอาชีพนางโชว์มานานเท่าไรแล้ว
Gawdland: ถ้าทำเป็นอาชีพจริงจังก็หนึ่งปีค่ะ
LIPS: เข้าสู่วงการนี้ได้อย่างไร
Gawdland: เราเป็นคนเชียงใหม่ จับพลัดจับผลูมาเรียนนิเทศฯ จุฬาฯ เรารู้จักว่าในไทยมีคอมมูนิตี้แดร็กควีน เราอยากเป็นส่วนหนึ่งมาแต่ไหนแต่ไร ความฝันของเราคืออยากเป็น Performer ที่ร้าน Drag Bar ที่สีลม พออายุครบ 21 ซึ่งเป็นวัยที่ทำงานได้อย่างถูกกฎหมายที่บาร์นี้ ก็เข้าไปสมัครและได้ลองออดิชั่น ซึ่งก็ไม่ผ่าน เขาให้ไปฝึกมาใหม่ เรายังเต้นไม่ปัง เราก็กลับไปฝึกฝนพัฒนาตัวเอง ทำผลงานให้เขาเห็นมาเรื่อยๆ จนเราได้เข้าไปเป็นหนึ่งในนักแสดงประจำร้าน ทำงาน 4 วัน นอกจากนั้นรับงานอีเวนต์ต่างๆ งานวันเกิด งานเลี้ยงบริษัท งานเปิดตัวสินค้า ปาร์ตี้ที่โรงแรม ฯลฯ
“แต่ก่อนคนมองว่าแดร็กเต้นกินรำกิน ทำงานกลางคืน อบายมุข แต่เดี๋ยวนี้คนเริ่มเปิดใจและเข้าใจมากขึ้นว่าเราก็เป็นศิลปินคนหนึ่ง”
LIPS: งานเยอะไหม
Gawdland: เยอะค่ะ เพราะเป็นช่วง Pride Month งานเยอะชนิดที่ว่าเราทำไม่ไหว แต่งหน้าทุกวัน
LIPS: ถ้าเทียบกับปีก่อนๆ ความตระหนักรู้ของคนไทยต่อแดร็กเป็นอย่างไร
Gawdland: ดีขึ้นมาก! แดร็กมีแนวโน้มที่จะบูมและบูมขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เราเข้ามา เราเห็นการเติบโตของคอมมูนิตี้นี้เยอะมาก เห็นการกระโดดเข้าไปสู่มีเดียที่เป็นกระแสหลักมากขึ้นมากๆ เป็นนิมิตหมายอันดีว่าวงการนี้ในบ้านเราจะบูมมากๆ
LIPS: ตอนอยู่เชียงใหม่ไม่มีคอมมูนิตี้แดร็กเลยหรือ
Gawdland: มี Drag Bar ค่ะ แต่ไม่ได้มีคอมมูนิตี้ที่หนาแน่นและแน่นแฟ้นเท่าที่กรุงเทพฯ
LIPS: ครอบครัวคิดเห็นอย่างไร สนับสนุนไหม
Gawdland: ไม่ค่ะ!
LIPS: ตอบอย่างทะนงองอาจมาก
Gawdland: เขาไม่รู้ว่าเราทำแดร็ก
LIPS: เราโพสต์ผลงานแต่งแดร็กโพสต์ลงโซเชียลขนาดนี้ เขาไม่รู้หรือ
Gawdland: เขาอยู่คนละโลกกัน เขาไม่เล่นโซเชียล
LIPS: หมายความว่าเราต้องใช้ชีวิตสองโลกหรือ
Gawdland: ประมาณนั้น
LIPS: แล้วอยากจะบอกเขาไหม ไม่อึดอัดแย่หรือ
Gawdland: อึดอัดมาก แต่ยังไม่ถึงเวลาที่จะบอก เราอยากทำให้เขาเห็นว่าเราทำสิ่งนี้แล้วไปได้ดี อย่างการเข้านิเทศฯ จุฬาฯ ได้ก็เป็นหนึ่งในบทพิสูจน์ว่าเราดูแลตัวเองได้ เราใฝ่ดี เราเลือกสิ่งดีให้ตัวเองเสมอ ทำให้เราภูมิใจในตัวเองมากเหมือนกัน
LIPS: เพราะแต่ก่อน Drag Performer ไม่ได้ถูกมองว่ากำลังทำศิลปะด้วยหรือเปล่า
Gawdland: แต่ก่อนจะมองว่าเราเต้นกินรำกิน ทำงานกลางคืน อบายมุข แต่เดี๋ยวนี้คนเริ่มเปิดใจและเข้าใจมากขึ้นว่าเราก็เป็นศิลปินคนหนึ่ง
LIPS: งาน Pride Month ที่เซ็นทรัลเวิลด์ เราก็ไปทำการแสดงบนเวทีที่เปิดมาด้วยเดิน 3 ก้าวแล้วฉีกขา 180 องศาไปกับพื้นเลยแล้วหมุนตัว 360 องศา 2 รอบ คนกรี๊ดลั่น นี่คือฝึกเองหรือเปล่า
Gawdland: ฝึกเองหมดค่ะ ไม่เคยเรียนเต้นที่ไหนเลยค่ะ
LIPS: ฝึกด้วยการเปิดคลิปโชว์ของ Lady Gaga แล้วเต้นตามในห้องนอนหรือ
Gawdland: ถูกต้องค่ะ เราทำแบบนี้มาตั้งแต่เด็ก ฝึกหนักเหมือนเด็กฝึกไอดอลเกาหลี แต่เราฝึกเอง
LIPS: ก่อนขึ้นเวทีที่คนดูเป็นพันเป็นหมื่น เราบิลด์ตัวเองอย่างไรถึงได้ออกไปแล้วดีดขนาดนั้นตั้งแต่วินาทีแรก
Gawdland: (หัวเราะ) โชว์ของเราเป็นสไตล์พลังเยอะ พลังล้นอยู่แล้ว แรกๆที่ทำงาน ก่อนขึ้นโชว์จะตื่นเต้นมาก แต่พอหลังๆมา ต่อให้คนดูเยอะแค่ไหนก็ไม่ตื่นเต้นนะ อาจจะเจนเวทีด้วย และเราก็อยากจะออกไปโชว์ แต่งหน้าแต่งตัวมา 4-5 ชั่วโมงก็เพื่อรอช่วงเวลานี้แหละที่จะได้ปล่อยของ เราเลยเต็มไปด้วยพลังที่รู้สึกว่า มา! ฉันพร้อมแล้ว! ไม่ได้รู้สึกกลัวหรือตื่นเต้น แต่ขณะเดียวกันเราต้องคอนโทรลพลังของตัวเองด้วย ไม่อย่างนั้นโชว์จะเละและเราจะเจ็บตัว ซึ่งในการทำโชว์ เราเจ็บตัวตลอด ลงจากเวทีเพิ่งรู้สึกแสบ อ้าว เลือดออก แผลที่แขนที่ศอกไม่เคยหาย บาดเจ็บวนไป
LIPS: เสื้อผ้าของเราแตกต่างโดดเด่นขึ้นมา ดูมีความเป็นแฟชั่น ครีเอตลุคอย่างไร
Gawdland: ต้องบอกก่อนว่าเราชอบแฟชั่นมากแบบมากๆ สาเหตุหลักที่เราทำแดร็กเพราะเราชอบแฟชั่น อยากใช้แดร็ก เป็นเครื่องมือในการแสดงออกถึงแฟชั่นของเรา เราเสพแฟชั่นเยอะมากๆ เลยจะมีเซนส์บางอย่างที่เวลาเราทำชุดออกมาแล้ว คนจะเห็นว่าชุดเราดูกลมกล่อม ดูลงตัว เพราะเราศึกษามาเยอะ ทำให้เรามีเซนส์ที่รู้ว่าจะต้องทำชุดอย่างไรไม่ให้ออกมาแล้วดูล้นเกินไป Total Look ต้องลงตัว
นัมเบอร์วันในใจที่เป็นแรงบันดาลใจหลักเลยคือ Thierry Mugler ที่ทำให้เราชอบแฟชั่น เราย้อนไปดูรันเวย์เก่าๆของเขาในยูทูบ มูแกลร์ยุคนี้ก็ชอบ อย่างคอลเล็กชั่น Mugler x H&M ก็ซื้อแล้วเอามาติดเพชรไรน์สโตนเองทั้งตัว ไม่ชอบเหมือนใคร
“เราใช้แดร็กเป็นเครื่องมือในการแสดงออกถึงแฟชั่นของเรา เราเสพแฟชั่นเยอะมากๆ ทำให้มีเซนส์ที่รู้ว่าจะต้องทำชุดอย่างไรให้ลงตัว”
LIPS: ชุดที่เราอยากได้มันไม่มีในโลกใช่ไหม เลยต้องประดิษฐ์เอง
Gawdland: ก็ด้วย มันประหยัดงบด้วยถ้าทำเอง แล้วก็ชอบ Schiaparelli ซึ่ง Daniel Rosebury ครีเอทีฟไดเร็กเตอร์คนใหม่ทำได้ดีมาก งานมีความวิจิตร เป็นโอตกูตูร์ที่สวยงามและลงตัวมากๆ เรารู้สึกว่าแบรนด์นี้มีเซนส์ของความเป็นไทยแลนด์เบาๆนะ ด้วยความทอง ความวิจิตร ปักเลื่อม ความละเอียด ถ้าทางแบรนด์ทำงานไทยๆน่าจะลงตัว และเราก็อยากทำงานแบบนั้น
LIPS: เวลาพูดถึงแฟชั่นที่ฉอดๆเก่งกว่าตอนพูดถึงแดร็กอีกนะ ไม่อยากเรียนแฟชั่นโดยตรงหรือ
Gawdland: มีช่วงที่เราคิดหนักมากว่าจะไปทางไหนดี ความฝันหลักของเราคืออยากเป็นครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ของแบรนด์แฟชั่น แต่พอชีวิตเราได้มาทางนี้เสียก่อนและเราก็กำลังไปได้ดีด้วย คนพูดกันว่าเราเป็นดาวรุ่งในวงการแดร็ก และเราเห็นตัวเองยังไปได้อีกไกลในวงการนี้เช่นกัน เลยคิดว่าความฝันด้านแฟชั่นก็เก็บไว้ก่อน ขอมุ่งทางแดร็กให้สุดทางก่อน เราใช้เซนส์แฟชั่นกับการทำชุดโชว์ไปด้วยได้
ที่คนบอกว่าเราเป็นดาวรุ่ง เพราะในคอมมูนิตี้แดร็กมีการแข่งขันสูงมาก คนที่จะอยู่ได้ หมายถึงคนที่จะทำเป็นอาชีพได้มีอยู่ไม่กี่คนที่มีงานเข้ามาต่อเนื่อง ต้องอาศัยความเป็นดาวนิดหนึ่งเพื่อให้ตัวเองอยู่ต่อและทำเป็นอาชีพหลักได้ ซึ่งเราทำมาแค่หนึ่งปี เราได้รับโอกาสดีๆที่หลายคนอยากได้เยอะ อย่างการได้งานต่างๆ งานถ่ายแบบ เป็นนางแบบ ในเดือน Pride Month เราถ่ายแบบให้สามย่านมิตรทาวน์ แบรนด์เครื่องประดับ แคมเปญของ Converse และได้ถ่ายแคมเปญคอลเล็กชั่น PRIDE ของน้ำหอม Jean Paul Gaultier เราถึงได้บอกว่าเป็นดาวรุ่ง
“ความเป็นแดร็กคือการประท้วงหรือไม่ทำตามขนบเดิม อย่างเราเป็นผู้ชาย แต่เราจะแต่งตัวเป็นผู้หญิง”
LIPS: เราทำยังไงให้ตัวเองได้โอกาสเหล่านี้ มีงานเข้ามาต่อเนื่อง
Gawdland: หลักๆเราจะนำเสนอตัวเองผ่านทางอินสตาแกรม @gawdland ต้องขยันทำลุคใหม่ๆมาถ่ายรูปแล้วโพสต์ลงไอจีให้คนเห็นว่าเราแต่งได้หลายแบบนะ เหมือนทำหน้าร้านให้ดูน่าสนใจ ไม่ใช่รอมีงานแล้วค่อยแต่งหน้าแต่งตัว ยิ่งไม่มีงาน ยิ่งต้องทำเลยค่ะ ถ่ายมันเข้าไปให้คนเห็นว่าเราทำอะไรได้บ้าง เราทำได้หลากหลายสไตล์ ลุคสาวใส แมน เท่ แซ่บ ทำได้หมด มันคืองานที่อาศัยความพยายามสูงมาก ด้วยรายละเอียดของงานที่เยอะจัด เราปั้นทุกอย่างเองด้วย คิดคอนเซปต์ หาเสื้อผ้า ยืมพร็อพ หาวิก หัดแต่งหน้า เราเรียนรู้ทุกอย่างจากยูทูบ นั่งแกะผลงานคนที่เราชอบ ถามตัวเองว่าทำไมเราชอบงานของคนนี้ แล้วทำในแบบของเรา
LIPS: เสื้อผ้าปังๆแต่ละชุดนี่ไปช้อปปิ้งที่ไหน
Gawdland: สำเพ็ง พาหุรัด แต่ประตูน้ำคือสวรรค์ ถ้ามีเงินเยอะๆ จะเหมาให้หมด! ที่นั่นมีร้านที่ชุดสำเร็จสำหรับนางโชว์ที่ไม่มีขายที่ไหน ต้องไปหน้าร้านออฟไลน์เท่านั้น เป็นที่รู้กันในวงการ แต่ละงาน เราจะครีเอตลุคใหม่เฉพาะสำหรับงานนั้นๆ เรื่องแต่งหน้าก็เป็นความชอบ เราแต่งหน้าแฟนซีมาก่อนที่จะมาทำแดร็ก เลยแต่งได้หลายลุค เมกอัพคือทักษะพื้นฐานที่แดร็กทุกคนต้องทำเองเป็น
“เราต้องขยันทำลุคใหม่ๆ มาโพสต์ลงไอจีให้คนเห็นว่าเราทำอะไรได้บ้าง ไม่ใช่รอมีงานแล้วค่อยแต่งหน้าแต่งตัว ยิ่งไม่มีงาน ยิ่งต้องทำ”
LIPS: เพราะการแต่งหน้าก็คือการใส่หน้ากากที่ทำให้เราแปลงร่างเป็นคนอื่นได้
Gawdland: ใช่ค่ะ มันคือการแปลงร่างตัวเองที่ง่ายที่สุดและเห็นชัดที่สุด
LIPS: ก่อนขึ้นเวทีที่คนดูเป็นพันเป็นหมื่น เราบิลด์ตัวเองอย่างไรถึงได้ออกไปแล้วดีดขนาดนั้นตั้งแต่วินาทีแรก
Gawdland: (หัวเราะ) โชว์ของเราเป็นสไตล์พลังเยอะ พลังล้นอยู่แล้ว แรกๆที่ทำงาน ก่อนขึ้นโชว์จะตื่นเต้นมาก แต่พอหลังๆมา ต่อให้คนดูเยอะแค่ไหนก็ไม่ตื่นเต้นนะ อาจจะเจนเวทีด้วย และเราก็อยากจะออกไปโชว์ แต่งหน้าแต่งตัวมา 4-5 ชั่วโมงก็เพื่อรอช่วงเวลานี้แหละที่จะได้ปล่อยของ เราเลยเต็มไปด้วยพลังที่รู้สึกว่า มา! ฉันพร้อมแล้ว! ไม่ได้รู้สึกกลัวหรือตื่นเต้น แต่ขณะเดียวกันเราต้องคอนโทรลพลังของตัวเองด้วย ไม่อย่างนั้นโชว์จะเละและเราจะเจ็บตัว ซึ่งในการทำโชว์ เราเจ็บตัวตลอด ลงจากเวทีเพิ่งรู้สึกแสบ อ้าว เลือดออก แผลที่แขนที่ศอกไม่เคยหาย บาดเจ็บวนไป
LIPS: ตอนนี้เป็นดาวรุ่งแล้วจะทำอย่างไรให้เป็นดาวค้างฟ้าได้
Gawdland: เรามองตัวเองว่าคงไม่ได้อยู่เมืองไทย น่าจะไปอเมริกา และจะพยายามหาทางเข้าไปเป็นหนึ่งในผู้แข่งขันรายการ RuPaul’s Drag Race ให้ได้ นี่คือฝันสูงสุด แต่ก่อนอื่นต้องหาทางไปอเมริกาให้ได้ก่อน ไอจีโพสต์เราเป็นภาษาอังกฤษตลอด เป็นเรื่องของแบรนดิ้ง ฐานแฟนเราเป็นคนไทย แต่ทำให้แบรนดิ้งเราดูสากล เลยได้งานอินเตอร์เข้ามา
บวกกับการที่เราเรียนด้าน Journalism แม้จะไม่ตรงสายกับการทำงาน แต่วิชานี้ทำให้เรามีแง่คิดที่เข้าใจเรื่องโครงสร้าง เลยทำให้การทำแดร็กของเราโดดเด่น และไม่เหมือนใคร ทำให้เราเป็นเรา มันสร้างพื้นฐานความคิดและวิธีคิดให้กับเรา ทำให้เรามองโลกต่างจากคนที่ทำอาชีพนี้ สุดท้ายเราเลยโดดเด่นกว่าคนอื่นก็เพราะเราเรียน JR เช่น เราใช้สื่อเป็น รู้จักการเข้าหาสื่อมวลชน รวมไปถึงการมองสังคม เพราะเราเรียนวิชาสื่อสารมวลชนที่ส่งเสริมประชาธิปไตย
ความเป็นแดร็ก – โดยตัวมันเองแล้วก็คือกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างหนึ่งอยู่แล้ว มันคือการที่เราประท้วงขนบเดิม เราไม่ทำตามขนบ เราเป็นผู้ชายแต่เราจะแต่งตัวเป็นผู้หญิง นี่ก็คือการปฏิเสธขนบของสังคมและต้องการท้าทายสังคมอยู่ตลอดเวลา เราทำให้สังคมตั้งคำถามเรื่องเพศสภาพว่ามันคือมายาคติที่สังคมสร้างขึ้นมา มันไม่ใช่สัจธรรมที่ต้องเป็นจริงไปตลอดกาล ถ้าไม่ทำแบบนี้คือตาย แต่เรื่องเพศนั้นไหลเลื่อนและยืดหยุ่นมากกว่าที่คุณคิด
Hair & Makeup: GAWDLAND
Words: Suphakdipa Poolsap
Photo: Somkiat Kangsdalwirun
Style: Anansit Karnnongyai