ในอุตสาหกรรมแฟชั่นทั่วโลกทุกวันนี้ผู้หญิงเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในฐานะ ‘แฟชั่นดีไซเนอร์’ หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมผู้หญิงถึงเพิ่งเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมนี้ทั้งๆ ที่วงการแฟชั่นนั้นก็ดูพื้นที่ของผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เราต้องขอบอกว่ามันเป็นเพราะการกดทับทางเพศต่างๆ ที่แฝงมาตั้งแต่อดีต ทำให้ผู้หญิงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนั้นเป็นที่ยอมรับน้อยกว่าผู้ชายในบทบาทนักออกแบบเสื้อผ้า
แต่ในปัจจุบันความเท่าเทียมทางเพศที่เพิ่มมากขึ้นทำให้ไม่ว่าจะเพศอะไรก็สามารถเป็นนักออกแบบเสื้อผ้าได้และก็มีแฟชั่นดีไซเนอร์ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่สามารถคว้าตำแหน่ง ‘ครีเอทีฟไดเร็กเตอร์’ หรือ ‘ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์’ ของแบรนด์แฟชั่นชั้นระดับโลกมาครองได้สำเร็จ พวกเขามีหน้าที่มากกว่าออกแบบเสื้อผ้า พวกเขาต้องใช้ความรู้ ความสามารถ ตัวตน รวมไปถึงกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อทำให้ยอดขายของแบรนด์นั้นสูงขึ้น
แฟชั่นดีไซเนอร์ผู้หญิงพวกเธอมีวิสัยทัศน์และสไตล์การออกแบบเสื้อผ้าที่ต่างออกไปจากผลงานการออกแบบของบรรดาดีไซเนอร์ผู้ชาย วันนี้ LIPS จึงรวบรวมเหล่าดีไซเนอร์ที่ได้กุมบังเหียนบ้านแฟชั่นชั้นนำต่างๆ มาให้ทุกคนได้ดูกันถึงมุมมองที่ต่างกันระหว่างสองเพศ
Karl Lagerfeld and Virginie Viard for Chanel
สำหรับแบรนด์แฟชั่นแบรนด์แรกที่มีความแตกต่างที่ชัดเจนมากระหว่างงานออกแบบของแฟชั่นดีไซเนอร์ผู้ชายและแฟชั่นดีไซเนอร์ผู้หญิงอย่าง ‘Chanel’ แบรนด์แฟชั่นเก่าแก่ของฝรั่งเศส ขอเท้าความก่อนว่าแบรนด์ Chanel ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในช่วงที่ Coco Chanel เจ้าของแบรนด์ยังมีชีวิตอยู่แต่เมื่อเธอเสียชีวิตลงแบรนด์ก็ไม่ได้รับความนิยมสักเท่าไหร่
Chanel by Karl Lagerfeld
แต่เมื่อปี 1983 แบรนด์ Chanel กลับมาโด่งดังอีกด้วยฝีมือดีไซเนอร์มือฉมังอย่าง ‘Karl Lagerfeld’ ที่มีสมญานามว่าเป็นราชาแห่งวงการแฟชั่น กว่า 36 ปีที่แบรนด์ค่อยๆ เติบโตจนเป็นแบรนด์อันดับต้นของโลกก็เพราะ Karl เป็นครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ให้กับแบรนด์ ฝีมือการออกแบบของ Karl เรียกว่าโดดเด่นไม่แพ้ดีไซเนอร์คนไหนๆ ทั้งซิลลูเอ็ตต์เสื้อผ้าที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร การนำเอามรดกของแบรนด์มาต่อ ยอดในงานออกแบบ หรือแม้แต่เวทีของแฟชั่นโชว์ที่ Karl จัดเต็มทุกฤดูกาลจนเป็นภาพจำของแบรนด์ Chanel
รวมไปถึงแรงบันดาลต่างๆ ใจที่ใช้ในการออกแบบแต่คอลเลคชั่นก็เรียกว่าหวือหวาสร้างภาพจำให้กับโลกแฟชั่นได้เป็นอย่างดี แต่เมื่อปี 2019 ปีที่ Karl ได้จากโลกนี้ไปอย่างกะทันหันทำให้ ‘Virginie Viard’ มือขวาของเขาได้ขึ้นมาเป็นครีเอทีฟไดเร็กเตอร์แทน Virgine ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสตูดิโอของแบรนด์กว่า 30 ปีตั้งแต่ปี 1987 ทำให้เธอรู้จักกับรากเหง้าของแบรนด์ไม่แพ้กับ Karl เลย
Chanel by Virginie Viard
แต่มุมมองในการออกแบบและขับเคลื่อนแบรนด์ของ Virgine นั้นแตกต่างออกไปเธอมีผลงานการออกแบบที่ไม่หวือหวาเท่า Karl แต่กลับเรียบง่ายและเต็มเปี่ยมไปด้วยสไตล์ French Chic แรงบันดาลใจที่หวือหวาอย่างโลกใต้ทะเลถูกลดทอนให้กลายเป็นเพียงโรงเรียนคอนแวนต์ แม้เสื้อผ้าของ Virgine นั้นอาจจะไม่โดดเด่นเท่า Karl แต่เราเชื่อว่าเธอสามารถออกแบบเสื้อผ้าได้อย่างเข้าใจและใกล้ชิดกับผู้หญิงมากขึ้นและสร้างอาณาจักร Chanel ในรูปแบบของเธอเอง
Raf Simons and Maria Grazia Chiuri for Dior
อีกหนึ่งแบรนด์แฟชั่นชั้นนำที่แต่งตั้งผู้หญิงให้ขึ้นมากุมตำแหน่งครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ของแบรนด์และเป็นการสร้างคลื่นใต้น้ำให้แบรนด์ใหญ่ๆ ระดับโลกแต่งตั้งผู้หญิงให้ขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งนี้อย่าง ‘Dior’ ที่ได้ครีเอทีฟไดเร็กเตอร์หญิงคนแรกของแบรนด์อย่าง ‘Maria Grazia Chiuri’ มาดูแลแบรนด์สุดหรูนี้ ซึ่งก่อนหน้าที่ Maria จะเข้ามากุมตำแหน่งนี้ Dior ก็เคยมีดีไซเนอร์คนเก่งอย่าง ‘Raf Simons’ ที่ไม่ว่าเขาจะไปอยู่แบรนด์ไหนก็สามารถใส่ DNA ลงไปในทุกงานออกแบบของเขาได้อย่างลงตัว
Dior by Raf Simons
ผลงานการออกแบบของ Raf นั้นโดดเด่นที่สไตล์มินิมัลที่แฝงไปด้วยศิลปะ ดนตรี รวมไปถึงงานออกแบบอีกหลายแขนงเพราะ Raf เรียนจบด้านออกแบบอุตสาหกรรมและการออกแบบเฟอร์นิเจอร์มาทำให้เสื้อผ้าของเขานั้นงดงามราวกับสถาปัตยกรรม แต่เมื่อปี 2015 เขามีปัญหาทางธุรกิจกับ Dior ทำให้เขาลงจากตำแหน่ง ทำให้ Maria ที่ก่อนหน้านั้นทำงานให้ที่ Valentino ได้มาครองตำแหน่งนี้แทน
Dior by Maria Grazia Chiuri
งานออกแบบของ Maria นั้นเรียกได้ว่า Friendly กับผู้หญิงเป็นอย่างมากเธอสลัดเอางานเทเลอร์รัดรูปอย่าง ‘New Look’ มรดกชิ้นเอกของบ้านให้สามารถสวมใส่จริงได้มากขึ้น ชุดเดรสผ้าชีฟองทรงหลวม เดรสผ้าพลีตทรงหลวม รวมไปถึงเครื่องประดับต่างๆ ที่ถูกออกแบบมาให้ใช้ง่ายในชีวิตประจำวันของผู้หญิง ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เธออยู่ในตำแหน่งนี้เข้าปีที่ 7 ไปแล้วถึงแม้ในมุมมองของนักวิจารณ์เธออาจจะไม่ใช่ดีไซเนอร์ที่รักของพวกเขาสักเท่าไหร่
Phoebe Philo and Hedi Slimane for Celine
สำหรับคู่สุดท้ายซึ่งเรียกว่าเป็นสองแฟชั่นดีไซเนอร์ที่มีแฟนคลับเป็นอันดับต้นๆ ในยุคนี้เลยก็ได้นะ เพราะทั้งสองนอกจากมีความสามารถในการออกแบบเสื้อผ้าเป็นเลิศแล้ว อีกหนึ่งจุดเด่นของพวกเขาก็คือการสร้างสไตล์โค้ดให้ผู้หญิงทำให้ผู้หญิงทั่วโลกอยากใส่เสื้อผ้าของพวกเขาเลยทำให้ ‘Celine’ กลายเป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่โดดเด่นในเครือ LVMH ในยุคนี้ ซึ่งดีไซเนอร์คนแรกก็คือ ‘Phoebe Philo’ ดีไซเนอร์สาวชาวอังกฤษที่มากุมบังเหียนห้องเสื้อฝรั่งเศส เธอได้สร้างสไตล์แบบมินิมัลแต่ซับซ้อนแบบ ‘Normcore’ สร้างคาแรกเตอร์ให้กับสาวมินิมัลยุคใหม่ให้มีความน่าสนใจมากขึ้นนอกจากนั้นยังคำนึงถึงความหลากหลายอีกด้วย โดยเฉพาะหมวดหมู่กระเป๋าที่ Phoebe สามารถปั้น It Bag ให้กับแบรนด์จนสาวๆ ทั่วโลกแห่ซื้อไอเท็มต่างๆ ของ Celine เก็บเอาไว้ เช่น ‘Luggage’ It Bag ใบแรกๆ ของแบรนด์ ‘Classic Box’ กระเป๋าอีกใบที่ดังไม่แพ้กัน รวมไปถึงผลงานการออกแบบท้ายๆ อย่าง ‘Alphabet Necklace’ เครื่องประดับชิ้นเด่นที่ยังคงอยู่กับแบรนด์มาจนถึงทุกวันนี้
Celine by Phoebe Philo
ส่วนดีไซเนอร์คนต่อมาก็โด่งดังไม่แพ้กันอย่าง ‘Hedi Slimane’ ดีไซเนอร์คงเก่งที่สร้างสไตล์แบบ ‘Rock Chic’ ในทุกแบรนด์ที่เขาเคยไปทำมาตั้งแต่ Dior Homme, Saint Laurent และ Celine ความเจ๋งของเขาคือสร้างความเท่ให้กับทุกแบรนด์ที่เขาไปทำงานด้วย แต่การออกแบบและมุมมองด้านครีเอทีฟของเขาต่างกับ Phoebe อย่างสิ้นเชิงจากที่การออกแบบเสื้อผ้าให้ผู้หญิงดู Sophisticated ไปสู่ความเท่และความคูลแบบวัยรุ่นแทน แต่นั่นก็อาจจะเป็นการตีตลาดวัยรุ่นและคนรุ่นใหม่หรือ ‘Youth Culture’ รวมถึงภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่เน้นไปที่วัยรุ่นอย่าง Lisa วง Blackpink ที่เป็นตัวแทนของผู้หญิงวัยรุ่นยุคใหม่ แม้หลายคนจะบ่นว่าเสื้อผ้าของเขาที่ Celine ดูธรรมดาจังเปรียบเทียบงานเก่าที่ Saint Laurent แต่เมื่อเวลาผ่านไปทุกคนก็ตกเสน่ห์งานของ Hedi อยู่ดี เริ่มแห่กันไปซื้อยีนส์และกระเป๋าจนขายดีแบบ Sold out
Celine by Hedi Slimane