คุณเป็นหนึ่งในนั้นหรือเปล่า คนที่ออกจากบ้านไม่ได้ถ้าไม่ได้ใส่เฮดโฟน บางทีมันอาจเป็นแฟชั่นแอ็กเซสเซอรีส์ไม่ต่างจากกระเป๋าหรือรองเท้า เฮดโฟนอาจช่วยให้คุณมีสมาธิดีขึ้น เฮดโฟนอาจเป็นเหมือนสัญลักษณ์บอกผู้คนว่าคุณต้องการความเป็นส่วนตัว หรืออาจเป็นเพื่อนที่ช่วยปลอบประโลมเมื่อคุณรู้สึกกระเดิดอายเมื่อออกไปเผชิญโลกกว้าง
เฮดโฟนมีไว้เพื่ออะไรบ้าง?
LIPS เก็บตกผลการศึกษาต่างๆ มาเล่าให้ฟังว่าเรามีเฮดโฟนไว้เพื่ออะไร?
เฮดโฟน: จากแรกคลอด ถึงการเติบโต
ย้อนไปในยุค 1880 เวลาจะโทรหาใครก็ไม่ใช่ว่ากริ๊งหาคนนั้นๆได้ทันที แต่ต้องผ่านตัวกลางคือพนักงานรับโทรศัพท์จะทำหน้าที่ต่อสายให้ พวกเธอมักสวมเฮดโฟนแบบมีหูฟังข้างเดียว อีกข้างติดไมโครโฟน ทวดแห่งเฮดโฟนนี้มีน้ำหนักถึง 4.5 กิโลกรัม!
ในศตวรรษที่ 20 เฮดโฟนถูกใช้งานแพร่หลายและพัฒนารุดหน้าในแวดวงทหาร ก่อนที่โลกจะต้อนรับเฮดโฟนแบบไร้สายครั้งแรกในยุค 1960 จากแนวคิดล้ำที่ว่า ผู้คนสามารถพกพาวิทยุไปไหนต่อไหนได้
และเป็นวง The Beatles ที่คอลแลบกับ John Koss บริษัทเครื่องเสียงเปิดตัว Beatlephones เฮดโฟนที่เจาะกลุ่มเป้าหมายที่วัยรุ่น จนมาถึงยุค 1980 เมื่อ Sony Walkman คือไอเทมเปลี่ยนโลก ฟังเทปคาสเซตต์และวิทยุ แถมพกพาได้ในเครื่องเดียว
และช่วงต้นศตวรรษที่ 21 มี iPods แล้วก็ต้องมี EarPods เกิดภาพผู้คนเดินใส่หูฟังที่สายสีขาวพันกันยุ่งเหยิงทั่วทุกหนแห่ง และเทคโนโลยีบลูทูธก็เข้ามาปฏิวัติการฟังเพลงและการสื่อสาร แบรนด์ต่างๆเปลี่ยนโฉมหน้าเฮดโฟนให้เป็นมากกว่าแก็ดเจ็ต แต่เป็นแฟชั่นไอเท็มดีไซน์สวยเก๋ที่สามารถบ่งบอกความเป็นตัวตนของคนใช้งานได้ นำโดยหูฟังขายดี Beats ของแรปเปอร์รุ่นเก๋า Dr Dre
เฮดโฟน = “ฉันขอความเป็นส่วนตัว”
มีการศึกษามากมายที่ตั้งสมมติฐานว่า เพราะเหตุใดผู้คนยุคนี้จึงสวมเฮดโฟนกันมากขึ้น และได้ผลสรุปที่มีจุดร่วมเดียวกันหลายประการ หนึ่งในนั้นคือคนเราสวมเฮดโฟนเพื่อจะบอกคนอื่นว่า “ฉันขอความเป็นส่วนตัว” หรือ “อย่ารบกวนฉันตอนนี้”
เมื่อบริษัทต่างๆเลิกกั้นคอก และหันมาใช้ฟลอร์แปลนแบบเปิดโล่งแทน นัยว่าอยากให้คนทำงานมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น แต่ผลกลับตรงข้าม เพราะผลการศึกษาพบว่าฟลอร์แปลนแบบเปิดโล่งทำให้คนทำงานอารมณ์บูดมากขึ้น 25% และรู้สึกเครียดเพิ่มขึ้น 34% ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง เพราะรู้สึกว่าถูกรบกวนสมาธิมากขึ้น ขณะเดียวกัน ในออฟฟิศที่เงียบสงบ ประสิทธิภาพการทำงานจะเพิ่มขึ้น 14%
เพื่อจะแก้ปัญหานี้ คนทำงานจึงหันไปใส่เฮดโฟน ซึ่งเปรียบได้กับการปิดประตู ทว่าก็ส่งผลลบต่อการทำงานเป็นทีม เพราะมีผลการศึกษาที่บอกว่า เราจะพูดคุยกับคนที่ใส่เฮดโฟนน้อยลง เพราะคิดไปเองว่า พูดไป เขาคงไม่ได้ฟังเราอยู่หรอก และยิ่งคนเป็น introvert มากเท่าไร ก็ยิ่งใช้เฮดโฟนขนาดใหญ่ขึ้นเท่านั้น
เฮดโฟน = “ขอฉันมีสมาธิหน่อย”
บางคนใส่เฮดโฟนแล้วเปิดเพลง ฟังบีตต่างๆที่ช่วยให้มีสมาธิดีขึ้น หรือบ้างก็ใช้ระบบตัดเสียงรบกวนรอบข้าง เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่โลกของตัวเอง จมเข้าสู่งานตรงหน้า มีผลการศึกษาของ CSU Global ที่แสดงผลว่า นักเรียนที่ฟังเพลงไปอ่านหนังสือไปมีผลสอบดีกว่านักเรียนที่ไม่ได้ฟังเพลง
ส่วนผลการศึกษาของ Costas Karageorghis นักวิจัยด้านจิตวิทยาการกีฬาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Sports Exercise Psychology พบว่าเมื่อเปิดเพลงขณะออกกำลังกายจะช่วยให้คนก้าวข้ามความเหนื่อยได้มากขึ้น และความอุดถึกเพิ่มขึ้น 15% ด้วย
เฮดโฟน = “ฉันทำตัวไม่ถูกเวลาอยู่ท่ามกลางผู้คน”
เฮดโฟนคือด่านหน้าของการป้องกันตัวเองทางสังคม โดยเฉพาะในคน introvert ที่ชอบสันโดษและมักประดักประเดิด ทำตัวไม่ถูก ไม่อยากสบตาใคร ไม่กล้าพูดกับใครก่อน แค่ต้องอยู่ในลิฟต์กับคนแปลกหน้า พวกเขาก็แทบจะกลั้นหายใจแล้ว ในกรณีคนไม่ชอบเข้าสังคม เฮดโฟนเป็นดั่งกลไกป้องกันตัวเองที่จะไม่ต้องพูดคุยกับใคร และป้องกันไม่ให้ใครเข้าหา
นอกจากนี้ เฮดโฟนช่วยบรรเทาปัญหาสุขภาพจิตบางอย่างได้ เช่น อาการวิตกกังวล หรือเป็นไฮเปอร์เซนซิทีฟที่เสียงดังเพียงเล็กน้อยก็ทำให้รู้สึกกวนใจไปหมด มันคือฝันร้ายของคนที่มีภาวะเหล่านี้ เมื่อต้องใช้ชีวิตในโลกที่เต็มไปด้วยเสียงแตรรถ เครื่องยนต์ เพลงจากห้างร้านต่างๆ เสียงพ่อค้าแม่ขาย เสียงจากไซต์งานก่อสร้าง ไปจนถึงเสียงชัตเตอร์กล้องหรือเสียงตะโกนเรียกชื่อก็ตาม
ไอดอลเคป๊อปจึงมักสวมเฮดโฟนเวลาไปสนามบิน จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของ ‘แอร์พอร์ตแฟชั่น’ แต่ไอดอลหลายรายเคยสารภาพว่า จริงๆแล้วก็ใส่เฮดโฟนไปอย่างนั้นเอง บางทีไม่ได้เสียบสาย หรือไม่ได้เปิดเพลงอะไรด้วยซ้ำ นัยว่าใส่เฮดโฟนแก้เขิน แก้กังวล แก้เครียด หรือเพื่อให้รู้สึกผ่อนคลายขึ้นเมื่อต้องถูกรุมล้อมด้วยช่างภาพและแฟนๆ
เฮดโฟนจึงเป็นเสมือนด่านกั้นระหว่างตัวเรากับสิ่งกระตุ้นให้เรารู้สึกเครียดหรือวิตกกังวลนั่นเอง
เฮดโฟน = “ใช้ได้ – อย่างไม่มากหรือน้อยเกินไป”
Dr. Grant Blashki แห่ง Nossal Institute for Global Health, University of Melbourne ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญหาสุขภาพจิตในสถานประกอบการ และสุขภาพในช่วงวิกฤตโรคระบาดกล่าวว่า เฮดโฟนช่วยส่งเสริมสุขภาพจิตให้ดีขึ้นได้หากว่าใช้อย่างพอดี เพราะมันคือเครื่องมือบรรเทาความเครียดที่มีประโยชน์มาก หากว่าเราใช้มันฟังเพลงหรือพอดแคสต์แนวผ่อนคลาย
ขณะเดียวกันก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่ออกจากบ้านไม่ได้ถ้าไม่ได้สวมเฮดโฟน หรือบางคนแม้แบตมือถือหมด แต่ก็ยังสวมเฮดโฟนเอาไว้เพื่อจะสะกดจิตตัวเองว่า “ฉันโอเค ฉันปลอดภัย ฉันไม่เป็นไร” หรือเพื่อจะบอกคนอื่นว่า “ฉันยุ่งอยู่ อย่าพูดกับฉัน ฉันไม่อยากให้ใครมองเห็น” การยึดเหนี่ยวเฮดโฟนเป็นดั่งยากล่อมประสาทมากเกินไป จะส่งผลลบเกิดเป็นแพตเทิร์นของการปลีกวิเวกและหลีกเลี่ยงการเข้าสังคมไปในที่สุด
Words: Suphakdipa Poolsap
ข้อมูลจาก: