her. นิทรรศการแสดงงานศิลปะของศิลปินหญิงหน้าใหม่ 6 คน แค่ได้ยินคอนเซปต์ เป็นใครก็คงคิดเหมือนกันว่า ต้องเป็นงานแฟมินิสต์จ๋าแน่ๆ เหมารวมไปก่อนแล้วว่างานจะต้องมีความเชื่อมโยงกับความเป็นหญิงไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ในทางกลับกันถ้ามีงานนิทรรศการที่ตั้งชื่อว่า HIM รวบรวมงานของศิลปินชาย 6 คน จะมีใครคิดว่างานจะสื่อถึงประเด็น Masculinity หรือไม่นั้น คือคำถามที่เป็นคอนเซปต์จริงๆ ของนิทรรศการ her. ที่ต้องการรวบรวมผลงานของศิลปินหญิงหน้าใหม่มาแสดงโดยสื่อสารความเป็นปัจเจกของพวกเธอ โดยไม่อิงกับบทบาททางเพศใดๆ
LIPS จะพาไปดูงานของศิลปินหน้าใหม่ทั้ง 6 คน ที่แสดงออกถึงแนวคิดในฐานะปัจเจกที่มีต่อเรื่องราวที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ความทรงจำส่วนบุคคล จินตนาการ โครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคม จนถึง ตัวตนเชิงนามธรรม
การเดินทางสู่ความเงียบสงบ โดย บงกชทิพย์ ภิรมย์ภักดี
งานชุดที่เกิดจากการผสมผสานจิตนาการและความฝันซ้ำๆของศิลปิน ถึงสถานที่ที่โอบล้อมโดยธรรมชาติ ห้วงความฝันที่เต็มไปด้วยสีสันแต่ก็มีความสงบสุข คอยปลอบประโลมเป็นที่พักพิงทางจิตใจ ผ่านเทคนิคการใช้สีเปียกบนเปียก (wet on wet สีผสมน้ำแล้ว ระบายบนกระดาษเปียก ซึ่งเป็นกระดาษที่ระบายน้ำหรือน้ำสีไว้แล้ว) ที่สร้างชั้นสีเหลื่อมซ้อนซึมทับกันไปมา ให้สีเคลื่อนที่ได้อย่างอิสระ ไม่ควบคุมผลลัพธ์อย่างสมบูรณ์ ซึ่ง บงกชทิพย์ เชื่อมโยงกระบวนการนี้กับการทำสมาธิ บำบัดจิตใจ เป็นกระบวนการค้นหาความสงบ บริสุทธิ์ โดยไม่คาดหวัง
What is left 2023 โดย ณภัทร สินไตรรัตน์
ผลงานผสานระหว่างรูปทรงนามธรรมกับลายเส้น ผ่านเทคนิคตัดแปะ (Collage) จากกระดาษสีจากสีกวอช (Gouache) ที่สื่อถึงความทรงจำของศิลปินที่มีต่อคุณยายที่เสียชีวิตไปแล้ว ช่วงชีวิตที่อาศัยอยู่ข้างบ้านคุณยาย และการเผชิญหน้ากับการรื้อถอนบ้านที่คุณยายเคยอยู่
ชนากานต์ เสมาชัย กับชุดงานเซรามิกแนวเซอร์เรียลลิสม์
แรงบันดาลใจจากประสบการณ์การย้ายประเทศของตัวศิลปิน ที่ทำให้ต้องใช้ชีวิตท่ามกลางวัฒนธรรมที่ไม่คุ้นเคย ปรับตัวและคล้อยตามกับบรรทัดฐานของสังคมใหม่ โดยไม่สูญเสียตัวตนแท้จริงของตัวเอง ชนากานต์จินตนาการถึงไดโนเสาร์ที่จับพลัดจับผลูมามีชีวิตในโลกยุคปัจจุบัน ความรู้สึกแปลกแยกไม่เข้าพวก เป็นสิ่งมีชีวิตหลงยุคหลงสมัยท่ามกลางสังคมที่มันไม่เข้าใจ แต่ก็สามารถเรียนรู้ที่จะยอมรับในตัวตนที่แท้จริงของตัวเองในฐานะไดโนเสาร์ และมีความสุขได้โดยไม่สูญเสียตัวตนด้วยการวิ่งตามใคร
ดีใจ โกสิยพงษ์ ถ่ายทอดความทรงจำเลือนลาง
เธอคิดระบบรหัสที่คิดจัดเรียงขึ้นมาใหม่เหมือนเป็นจิ๊กซอว์ เพื่อให้เห็นภาพรวม เป็นการบอกเล่าโดยไม่ใช้ภาษาที่มีข้อจำกัดในการให้ความหมายภายใต้อิทธิพลของโครงสร้างทางสังคม ขณะทำงานชุดนี้ ดีใจพบว่า การปฎิเสธอิทธิพลจากโครงสร้างทางสังคมไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแม้แต่สีก็ยังมีความหมายและความสัมพันธ์ที่ถูกผูกโยงจากสังคม เธอมองว่าความยากและข้อจำกัดนี้เป็นการค้นพบที่สำคัญในการทำงานชุดนี้ของเธอ จึงนำเสนอให้งานชุดนี้เป็นการเปิดมุมมองความสัมพันธ์ระหว่างความทรงจำ เงื่อนไขทางสังคม และการค้นพบตนเอง
พราวฟ้า สันติอัศวราภรณ์ กับชุดภาพวาดเรื่องทุนนิยมและวัตถุนิยม
ศิลปินใช้เอเลเมนต์ของละครสัตว์ที่สดใสและสนุกสนาน ตัวงานเปรียบเปรยความยั่วยวนของทุนนิยมกับความฝันของผู้พยายามจะหลุดพ้น ภาพความรื่นเริงของละครสัตว์ รายละเอียดวิจิตรบรรจงของวัตถุโบราณหรูหรา อ้างอิงถึงแบรนด์เนมสุดหรูในโลกร่วมสมัย เป็นการรวบเอาความน่าขันขัดแย้งของทุนนิยมมานำเสนอพร้อมกับ สร้างภาพฝันที่ปกคลุมด้วยความปรารถณาแบบเด็กๆ
ธีมา รักษะจิตร การค้นหา “ตัวตนแท้จริง/ตัวตนที่สูงกว่า”
ผลงานแนว Abstract แรงบันดาลใจจากการค้นหา ‘ตัวตนแท้จริง/ตัวตนที่สูงกว่า’ แก่นแท้ของตัวตนที่เราเป็น ผ่านการตระหนักรู้และสำรวจแนวคิดของการเป็นมนุษย์ โดยแยกอาณาจักรทางกายภาพและจิตวิญญาณออกจากกัน ธีมามองว่ามนุษย์มักยึดถือและกำหนดตัวตนที่แท้จริงของเราตามความคิด อารมณ์ โครงสร้างทางสังคม ศาสนา บทบาท สถานะ และยศถาบรรดาศักดิ์ ผลงานชุดนนี้จึงทำหน้าที่ย้ำเตือนผู้คนถึงผลกระทบของโครงสร้างทางสังคมที่ส่งผลต่อชีวิตเราโดยไม่รู้ตัว
นิทรรศการ her. จัดแสดงจนถึงวันอาทิตย์ที่ 24 กันยายนเป็นสุดสัปดาห์สุดท้ายแล้ว ใครอยากไปเดินชมตีความงานกันรีบไปก่อนจะพลาดกันได้ที่ ATT 19 เจริญกรุง 30 วันอังคาร – วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 11.00 – 18.00 น. (ปิดวันจันทร์) หรือถ้าไม่มีวันว่าง ชมภาพที่ LIPS เก็บมาฝากไม่จุใจ ตามไปชมผลงานได้ที่ไอจีของศิลปินข้างล่างนี้ได้
ธีมา รักษะจิตร @teemarsj
บงกชทิพย์ ภิรมย์ภักดี @bua_b @buab.studio
ดีใจ โกสิยพงษ์ @djaikosi
ณภัทร สินไตรรัตน์ @pannafuckingcotta
พราวฟ้า สันติอัศวราภรณ์ @proudfa
ชนากานต์ เสมาชัย @numpucsh_ceramics
Words & Photos: Roongtawan Kaweesilp