Search
Close this search box.
Search
Close this search box.
HOME / Interview / People

Ethnic Chic – หิรัญกฤษฏิ์ ภัทรบริบูรณ์กุล

เมื่อความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในแม่ฮ่องสอน และสีสันของยุค 90s-2000s เข้ามาทำให้ผ้าไทยดูสนุกกว่าที่เคย
Interview / People

หลังร่วมงานกับสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) ในส่วนการออกแบบผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ในปีนี้ หิรัญกฤษฏิ์ ภัทรบริบูรณ์กุล ได้เปลี่ยนบทบาทมาเป็นหนึ่งในสี่ดีไซเนอร์ของโครงการพัฒนาการออกแบบเครื่องแต่งกายผ้าไทยร่วมสมัย โดยร่วมทำงานกับชุมชนจากหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน

“ปีที่ผ่านๆ มาได้เข้าร่วมโครงการฯ ในส่วนของ Product Designer ดังนั้น ปีนี้จึงรู้สึกตื่นเต้นเป็นพิเศษที่ได้รับโจทย์ให้ออกแบบเครื่องแต่งกายจากผ้าพื้นเมืองของแม่ฮ่องสอน โดยได้ไปลงพื้นที่เพื่อสอนทำแพตเทิร์นให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขาที่เดินทางมาจากหลายพื้นที่ บางกลุ่มต้องใช้เวลาเดินทางกว่า 5 ชั่วโมงเพื่อมาอบรม ซึ่งเมื่อพบว่าเขายังขาดความรู้ และทักษะด้านการตัดเย็บ ก็ยิ่งทำให้เราอยากทำอะไรหลายอย่างที่จะเป็นประโยชน์ให้กับพวกเขา”

หิรัญกฤษฏิ์ ภัทรบริบูรณ์กุล

ไม่เพียงความตื่นเต้นที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของทีมดีไซเนอร์ หิรัญกฤษฏิ์ ยังสัมผัสถึงความท้าทายในการทำงาน จากทั้งความหลากหลายของวัสดุในการสร้างสรรค์ผลงานและสถานการณ์โควิด-19

     “แม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์มากที่สุดในประเทศไทย โดยประชากรแบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ คนไทยเชื้อสายไทยใหญ่ และชาวไทยภูเขา แต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ต่างมีเอกลักษณ์ในการทอผ้าเป็นของตัวเอง ความท้าทายคือทำอย่างไรให้ผ้าที่มีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงสามารถผสมผสานกันได้ อีกมุมหนึ่งคือสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ตลาดและแหล่งค้าผ้าเงียบเหงา ซึ่งสิ่งที่จะช่วยให้เกิดการขายได้คือต้องทำการออกแบบให้สอดคล้องกับรูปแบบเสื้อผ้าที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน”

     เสื้อผ้าในคอลเล็กชั่น “I Love Mae Hong Son” จึงเต็มไปด้วยกลิ่นอายของแฟชั่นยุค 1990s – 2000s ที่กำลังกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง

     “ผ้าที่เลือกใช้มาจากสองกลุ่มหลักๆ คือผ้าทอมือ ผ้าปักมือของกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น กะเหรี่ยงโปว์ ลาหู่ดำ ลาหู่แดง เป็นต้น อีกกลุ่มเป็นผ้าทอโรงงานที่ได้รับความนิยมในการแต่งกายของ “คนไต” หรือคนไทยเชื้อสายไทยใหญ่ เช่น ผ้าไหมปักลายเลียนแบบผ้าลุนตะยา
ผ้าพิมพ์ลายเลียนแบบผ้าปักม้ง เป็นต้น โดยเสื้อผ้าในคอลเล็กชั่นนี้ออกมาในแนวสตรีทที่มีกลิ่นอายของแฟชั่นช่วงระหว่างยุค 90s ไปจนถึงปี 2000s ซึ่งผมเองเคยเป็นวัยรุ่นยุค 90s มาก่อน จึงชื่นชอบแฟชั่นและดนตรีของยุคนั้นเป็นพิเศษ”

     นักออกแบบผู้หลงใหลสไตล์วินเทจและเสื้อผ้ามือสองยังได้นำแนวคิด Upcycling มาออกแบบไอเท็มพิเศษในคอลเล็กชั่นนี้ด้วย

     “ผมออกแบบเสื้อยืดสกรีนลาย 3 แบบ โดยตั้งใจจะมอบให้กับผู้ประกอบการในจังหวัด
เพื่อนำไปทำเป็นของที่ระลึกจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยว โดยครึ่งหนึ่งของผ้าได้มาจากการตัดและเลาะจากเสื้อที่ผู้ประกอบการทำขาย เช่น เสื้อกะเหรี่ยง เสื้อมูเซอ เป็นต้น ซึ่งผมได้เลือก น้ำตาล-ชลิตา ส่วนเสน่ห์ มาเป็น Muse และได้ใช้รูปของเธอเมื่อครั้งที่ได้ไปประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวจังหวัดแม่ฮ่องสอนมาออกแบบเป็นลายสกรีนด้วย”

     นอกเหนือความภูมิใจที่ได้ร่วมสร้างความทันสมัยให้กับผ้าไทย เขายังต้องการเห็นงานฝีมือของคนในชาติโด่งดังไกลในระดับนานาชาติ

     “สิ่งที่จะช่วยให้ผ้าไทยเป็นที่นิยมทั้งในไทยและในระดับโลกคือการออกแบบทั้งนี้หมายรวมถึงการออกแบบตั้งแต่เส้นใย ผืนผ้า เครื่องแต่งกาย เรื่อยไปจนถึงการประชาสัมพันธ์และการขาย โดยเฉพาะโลกยุคโควิด-19 ตลาดออนไลน์ คือ ทางรอด นอกจากเราจะมุ่งเน้นให้ผ้าไทยเกิดความร่วมสมัยแล้ว ผมอยากให้ผู้ประกอบการเข้าถึงความรู้และทักษะในเรื่องการตลาดออนไลน์ให้มากยิ่งขึ้น”

Text : Prim S.
Photography : Somkiat K.

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม