ในช่วงที่ต้องหยุดเชื้อเพื่อชาติหรือเวิร์คฟอร์มโฮม หลายคนก็อาจจะเป็นเหมือนกัน คือ วันแรก ๆ ก็สบายดี แต่พออยู่ไปหลายวันเข้า เห็นแค่วิวเดิม ๆ แวดล้อมด้วยบรรยากาศซ้ำ ๆ ก็เลยเกิดเบื่อขึ้นมา เอาล่ะ ! ไหน ๆ เวลาก็มีเหลือเฟือมาจัดห้องแต่งบ้านกันใหม่ดีกว่า แต่ก่อนจะลงมือก็ต้องหาแรงบันดาลใจเพื่อนำมาปรับใช้ และหนึ่งในคลังไอเดียสำหรับการตกแต่งบ้านที่หลายคนอาจจะมองข้าม นั่นก็ คือ … หนัง !
หนังหลายเรื่องทำให้รู้สึก “ว้าว” กับการตกแต่งฉาก จนนึกอยากจะ “วาร์ป” เข้าไปอยู่ในนั้น ฉากหรืออุปกรณ์ประดับตกแต่งเหล่านั้นไม่ได้ทำออกมาเพื่อความสวยงามสะดุดตาดึงดูดใจเพียงเท่านั้น แต่มีบทบาทสำคัญสำหรับหนังแต่ละเรื่อง สามารถบอกเล่าเรื่องราว เหตุการณ์ และสะท้อนบุคลิกตัวละคร บางครั้งยังเป็น “สัญลักษณ์” แสดงความหมายหรือ “เมสเสจ” ที่ผู้สร้างต้องการสื่อ
นอกจากผู้กำกับที่ดูแลกระบวนการสร้างหนังทั้งเรื่องแล้ว ในส่วนผู้ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องการตกแต่งฉาก รวมถึงเฟอร์นิเจอร์และวัตถุอื่น ๆ ในฉาก คือ Set Decorator ซึ่งทำงานร่วมกับ Set Designer ผู้เป็นเหมือนสถาปนิกคอยดูโครงสร้างหรือพื้นที่ถ่าย เวลารับรางวัลสาขา Best Production Design ก็จะได้รับกันเป็นทีม
พูดถึงดีไซน์ในหนังที่สามารถนำมาเป็น “เรเฟอเรนซ์” สำหรับตกแต่งบ้านเรื่องล่าสุดที่เพิ่งได้ดูไป ซึ่งใครที่ได้ดูแล้วก็ตื่นตา จนอดไม่ได้ที่จะบอกว่า ฉันต้องการบ้านแบบนี้ นั่นก็คือ …
บ้านหรูสายเกาในหนังออสการ์
ปีที่ผ่านมา หนังเกาหลี “Parasite ชนชั้นปรสิต” ของผู้กำกับ บงจุนโฮ สร้างกระแสฮือฮา เพราะเป็นหนังที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษเรื่องแรกซึ่งคว้ารางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในรอบหลายสิบปี หนังนำเสนอเรื่องราวความเลื่อมล้ำทางสังคมในเกาหลี ที่มีประเด็นค่อนข้างแรงและโหดอยู่ แต่วันนี้เราจะขอผ่านประเด็นนั้นไป เพื่อพูดถึงบ้านซึ่งเป็นฉากหลักของหนัง
บ้านหลังใหญ่โตโอฬารของตระกูลพัคในเรื่อง ความจริงถูกสร้างขึ้นมาใหม่เพื่อการถ่ายทำ บ้านสวยบนเนินเขา รอบล้อมด้วยสนามหญ้าที่เขียว ห้องนั่งเล่นมีกระจกกว้างสำหรับนั่งชมวิวสวน แบบบ้านโอเพนแพลนเชื่อมต่อพื้นที่ห้องนั่งเล่นและห้องครัว โดยแยกด้วยระดับพื้น ดูโปร่งกว้าง เฟอร์นิเจอร์ออกแบบพิเศษ ไม่ว่าจะภาพศิลปะ โต๊ะอาหาร ฯลฯ ที่นำมาประดับฉาก ล้วนมีมูลค่าสูง (จริง ๆ) เพื่อแสดงถึงความมั่งคั่งของเจ้าของ
ในเรื่องบ้านหลังนี้เคยเป็นของสถาปนิกที่มีชื่อเสียงมาก่อน จึงไม่แปลกที่บ้านจะสวยมาก ใครที่ชอบบ้านตกแต่งสไตล์มินิมอล เรียบหรู กว้าง และเป็นระเบียบ นี่อาจจะเป็น “เรฟ” ที่ต้องไปหามาดู
บ้านของ แนนซี เมเยอร์ส ที่ใครๆ ก็อยากไปอยู่
ในแวดวงฮอลลีวู้ดมีผู้กำกับหญิงชื่อ “แนนซี เมเยอร์ส” ผลงานของเธอนั้นไม่แน่ว่าคุณจะเคยผ่านตามาแล้วอย่างเช่น Parent Trap, What Women Want, Something Gotta Give, Holiday, It Complicated และ The Intern นอกจากทำหนังครอบครัว อบอุ่น ตลก-โรแมนติคได้อย่างน่าดูแล้ว สิ่งหนึ่งที่ชื่อนี้การันตรีคือ ฉากสวยแน่นอน
แนนซี ให้ความสำคัญกับฉากแบบทุกรายละเอียด บ้านในหนังของเธอทำให้คนอยากได้อยากมี อยากหลบเข้าไปอยู่ในจินตนาการ ในบ้านสะอาดเป็นระเบียบ (ซึ่งเราอาจจะมีไม่ได้ในชีวิตจริง) ในหนังของ แนนซี เพื่อปลอบประโลมใจ กระจายความเครียด ฯลฯ
บ้านอันอบอุ่น สบาย ๆ เป็นธรรมชาติ มีเอกลักษณ์ และเชื่อมต่อกับตัวละคร คุณแม่บ้านอาจจะชอบ “ครัว” ในหนังของ แนนซี มากที่สุด ไม่ว่าจะห้องครัวใน Something’s Gotta Give (2003) หรือ It’s Complicated (2009) เรื่องหลังนี้ยังมีมุมอื่น ๆ ในบ้านสไตล์แคลิฟอร์เนียซึ่งอบอวลด้วยกลิ่นอายยุโรปนี้ ส่วนเรื่อง The Intern (2015) ก็มีฉากออฟฟิศสวยเก๋ จนรู้สึกว่า ถ้าได้ทำงานที่นี่จะไม่บ่นเลย
พาสเทลและดีเทล แบบเวส แอนเดอร์สัน
ใครอยากลองสาดสีพาสเทลใส่บ้านหรือห้อง อาจจะลองเปิดหนังของผู้กำกับอเมริกัน “เวส แอนเดอร์สัน” ดูก็ได้เขาปลดปล่อยจินตนาการเปี่ยมล้นออกมาในหนัง นอกจากจะขึ้นชื่อเรื่องการทำหนังแปลก ๆ มีตัวละครประหลาด ๆ แล้ว เครื่องหมายการค้าที่แท้ทรูของผู้กำกับคนนี้คือ ฉากซึ่งเต็มด้วยรายละเอียดน่าอัศจรรย์
ใน The Royal Tenenbaums (2001) บ้านของตระกูลเทเนนบัมตกแต่งภายในอย่างโดดเด่นด้วยการผสมผสานของโบราณวัตถุอันหรูหรา งานศิลป์ของแอฟริกา และสีที่ได้แรงบันดาลใจมาจากยุค 1970 ที่โดดเด่นจนลืมไม่ลงคือ สตูดิโอบัลเล่ต์ของ มาร์ก็อต เทเนนบัม กับวอลเปเปอร์ม้าลายบนพื้นสีแดงเชอร์รี่
หนังของเวสมักดูแปลกตาในอารมณ์เรโทร หลายฉากในบางเรื่องเน้นเฉดสีเดียวกัน เพื่อใช้สีเป็นเครื่องมือสำคัญ ในการเล่าเรื่องอย่างใน The Grand Budapest Hotel (2014) หนังซึ่งมีรางวัลออสการ์ Best Production Design การันตรี เขาคุมโทนสีชมพูพาสเทลราวกับขนม ตกแต่งภายในด้วยสีแดง ส่วน Hotel Chevalier หนังสั้นที่มาก่อน The Darjeeling Limited (2007) ที่มากับสีเหลือง นางเอกคือ นาตาลี พอร์ตแมน ในเสื้อคลุมสีเหลือง เช่นเดียวกับผ้าห่ม เตียง และผนังห้องก็เป็นสีเหลืองเข้าชุด
สำหรับคนที่อยากแต่งบ้านแบบหนัง เวส มีคีย์ คือ การใช้โทนสีพาสเทล, วัตถุตกแต่งมีรายละเอียดซับซ้อนและเยอะ ๆ หน่อย ใครที่ชอบความเรียบง่ายหรือมินิมัลลิสต์ นี่ไม่ใช่ทางของคุณหรอก
ชีวิตชีวาสไตล์ เปโดร อัลโมโดวาร์
ถ้าชอบการตกแต่งแบบมีชีวิตชีวา อยากให้ลองเข้าไปหา “เรฟ” ในงานของผู้กำกับรางวัลออสการ์ “เปโดร อัลโมโดวาร์” ชาวสเปน เจ้าของผลงานโดดเด่นมากมาย อย่างเช่น All About My Mother (1999), Talk to Her (2002), Broken Embraces (2009), Julieta (2016) และล่าสุดคือ Pain and Glory (2019)
นอกจากเขามักจะอ้างอิงถึงศิลปะแขนงอื่นในงาน ไม่ว่าจะละคร วรรณกรรม เต้นรำ ภาพวาด ฯลฯ เขายังใช้ฉากเป็นภาษา ให้ความสำคัญกับการออกแบบตกแต่งภายใน การใช้เฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ประกอบฉากเพื่อเพิ่มอารมณ์ของเรื่องราว กลายเป็นสไตล์ที่ผู้คนรู้จักและไม่ซ้ำใคร
ในการออกแบบฉาก อัลโมโดวาร์ ทำได้โดดเด่นสุด ๆ คือ เรื่องสีบวกกับความเยอะนอกจากแสดงความจริงแล้ว ฉากของเขายังเป็นนามธรรม ให้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวละคร บอกเล่าถึงความสนใจและความหลงใหลของพวกเขา
สีที่มักจะปรากฏในหนังของเขาเช่น สีแดง สีส้ม น่าจะเป็นสีที่หลายคนกลัวในการนำมาใช้ตกแต่งบ้านให้ออกมาสวย แต่ลองไปดูในหนังของผู้กำกับคนนี้
ไอเดียดี ๆ ยังมีในหนังอีกเยอะ
ยังมีหนังอีกมากมายที่สามารถเป็นแรงบันดาลใจในการตกแต่งบ้านได้ เฉพาะหนังตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมาก็นับไม่ถ้วน ใครที่ชอบงานยุค 1960 ต้องดู Amelie (2001) หนังฝรั่งเศสที่ให้แรงบันดาลใจในการออกแบบมากมายด้วยการใช้สีและรายละเอียดสำหรับคนชอบแนววินเทจ
Under the Tuscan Sun (2003) อยากมีบ้านสไตล์วิลลาในอิตาลีนี่คือ หนังควรดู, Down with Love (2003) นิวยอร์คยุค 1960 กับการตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์ “mid-century styles” หรือยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งนิยมรูปทรงเลขาคณิต ลายเส้น ที่ยังมีอิทธิพลด้านการออกแบบมาจนถึงปัจจุบัน
Sex and the City: The Movie (2008) สาว ๆ ที่ชอบแต่งตัวมีเสื้อผ้าเยอะ สามารถเข้าไปเก็บแรงบันดาลใจจากอพาร์ทเม้นท์ของ แคร์รี แบรดชอว์ เธอมีตู้เสื้อผ้าแบบวอล์คอินที่น่าอิจฉาสุด ๆ
A Single Man (2009) เมื่อดีไซเนอร์ดัง ทอม ฟอร์ด หันมากำกับหนัง เขาใช้สีและพื้นผิวแสดงถึงชีวิตชีวาของยุค 1960 ออกมาได้อย่างน่าดู, Coco Chanel & Igor Stravinsky (2009) ถ้าหลงใหลเสน่ห์สีขาว-ดำ หนังเรื่องนี้ได้นำสีโปรดของคุณมาตกแต่งฉากให้ออกมาดู “คลู” มาก
The Great Gatsby (2013) หนังรีเมคโดยผู้กำกับ บาซ เลอห์มานน์ นำเสนอฉากที่เต็มด้วยสีสัน “วิบวับ” ดึงดูดใจและเย้ายวนใจของยุคแจ๊สหรือทศวรรษ 1920, Call Me by Your Name (2017) การตกแต่งในสไตล์อิตาเลียนที่มีโบราณวัตถุ ของสะสม ฯลฯ ให้กลิ่นอายโรแมนติคผสมผสาน
ถ้ามองหาเรฟสไตล์เอเชียนย้อนยุค มีความหรูหรา งดงาม ผสมผสานกลิ่นอายเพอรานากัน จีน มาเลเซีย และตะวันตกมีใน Crazy Rich Asians (2019) ส่วน Eat Pray Love (2010) เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่จะให้แรงบันดาลใจในการแต่งบ้านกลิ่นอายตะวันออกหรือเมืองเขตร้อนอย่างเช่น บาหลี เป็นต้น
หนังเหล่านี้นอกจากจะดูเพลินแล้วยังให้ไอเดียนำไปแต่งบ้านแต่งห้องเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ หลุดพ้นจากความจำเจ อย่างน้อยก็ได้มุมใหม่สำหรับประชุมออนไลน์กับเพื่อนร่วมงาน