หลังจากอยู่กับตัวเองมานานในช่วงล็อกดาวน์โควิด หลายคนได้ตระหนักว่ามนุษย์ต้องการ โหยหา หรือกระทั่งจำเป็นจะต้องมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์อื่นๆมากอย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน นั่นทำให้ระลอกแรกหลังจากคลายมาตรการล็อกดาวน์ ผู้คนจึงจองทริปไปท่องเที่ยวกับครอบครัว เพื่อนหรือคนรักอย่างอุตลุด ส่วนระลอกที่สองหลังจากออกไปเที่ยวทั่วจนฉ่ำใจแล้ว นักชีพจรลงเท้าทั้งหลายจึงหันมาเดินทางอย่างลงลึกในสถานที่ ผู้คน วัฒนธรรมและประสบการณ์ในพื้นที่นั้นๆมากขึ้น
‘Indigenous-friendly Tourism’ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ-วัฒนธรรม-ยั่งยืน-เป็นมิตรกับชุมชนเจ้าของพื้นที่ ซึ่งชนเผ่าพื้นเมืองเจ้าของพื้นที่เป็นผู้จัดโปรแกรมทัวร์ และดูแลการท่องเที่ยวชุมชนของตนได้แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยจึงบูมขึ้นมาในช่วงนี้ เมื่อนักท่องเที่ยวออกเดินทางพร้อมวัตถุประสงค์ชัดเจนว่า อยากจะไปเชื่อมโยงกับเจ้าของ ‘บ้าน’ ที่ตนไปเยือนอย่างแท้จริง มากกว่าจะแค่ไปเซลฟี่ให้ได้รูปแล้วก็จากไป
Kuku Yalanji ชนเผ่าในป่าฝนเดนทรี อุทยานแห่งชาติในรัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ลุกขึ้นมาเป็นผู้จัดการสถานที่ท่องเที่ยวในบ้านของตน เช่น ยอดเขา Budj Bim ซึ่งได้เป็นมรดกโลกด้วยคุณค่าทางวัฒนธรรมที่มีอยู่มากมายในบริเวณนี้ อย่างฟาร์มปลาไหลโบราณ Gunditjmara
ส่วนในรัฐบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดาเป็นที่ตั้งของ Haida Gwaii หมู่เกาะที่อุดมไปด้วยป่าดิบชื้นริมทะเลที่เป็นบ้านของชนเผ่าพื้นเมืองมานับพันปี
ในอดีตหมู่เกาะแห่งนี้เป็นสถานที่ที่นักตกปลาต้องมาเยือน เพราะเป็นบ้านของปลาแซลมอนและปลาตาเดียวที่ชุกชุม ทว่าเมื่อคนมาจับพวกมันไปมากเข้า ประชากรปลาเริ่มลดน้อย ชนเผ่าเจ้าของพื้นที่พยายามปรับการท่องเที่ยวจากทริปตกปลาไปเป็นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เป็นที่มาของ Haida Tourism การท่องเที่ยวที่ชาวเผ่าไฮด้าเป็นเจ้าของ 100 เปอร์เซ็นต์ และร่วมกันสร้าง Haida House เคบินริมทะเล 12 หลังบนหมู่เกาะ Haida Gwaii ที่จะทำให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสชีวิตความเป็นอยู่และเรียนรู้วิถีชาวไฮด้าที่เรียกว่า Yahguudang การนับถือและพึ่งพาอาศัยกันและกันของทุกชีวิต แทนที่จะตั้งหน้าตั้งตาจวกปลาไปจากแหล่งน้ำธรรมชาติแบบแต่ก่อน
ในอูกันดาก็มีที่พักใน Gahinga Batwa Village ซึ่ง Batwa หนึ่งในชนเผ่าเก่าแก่ที่สุดในแอฟริกาเป็นเจ้าของหมู่บ้านสร้างใหม่แห่งนี้
The Batwa of Mgahinga
ชาวบัตวาเคยดำรงชีพด้วยการเก็บของป่าล่าสัตว์ในแถบเทือกเขา Virunga แต่ในยุค 1990 รัฐบาลพยายามอนุรักษ์กอริลล่าภูเขาที่สุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ดังนั้นพื้นที่ที่เรียกว่า Mgahinga อันเป็นส่วนหนึ่งของภูเขาไฟวิรุงก้าที่ชาวบัตวาใช้เป็นบ้านจึงกลายเป็นอุทยานแห่งชาติของอูกันดาในปี 1991 ยังผลให้ชาวบัตวาต้องออกจากพื้นที่
ชาวบัตวา 18 ครอบครัวต้องไปอาศัยในพื้นที่กันดารที่มีแต่หินขรุขระบริเวณทางเข้าอุทยานแห่งชาติ Mgahinga ไม่ไกลจากบ้านเดิมของตน โดยยังชีพด้วยการใช้แรงงานหรือขอทาน พวกเขาไม่มีทั้งการศึกษา แผ่นดินจะอยู่ หรือแม้กระทั่งอาหาร จึงลงเอยด้วยการมีชีวิตอย่างยากไร้และขาดสารอาหารอยู่เป็นนิจ
ต่อมาทาง Volcanoes Safari ร่วมกับผู้สนับสนุนรายอื่นๆได้มอบที่ดิน 25 ไร่ให้กับชาวบัตวาที่ปัจจุบันมีจำนวนประชากรกว่า 100 ชีวิต นอกจากนี้แขกที่เข้าพัก Mount Gahinga Lodge ที่อยู่ใกล้เคียงยังช่วยสมทบทุนการสร้างบ้านให้กับ Studio FH สตูดิโอสถาปัตย์ในอูกันดาที่เข้ามาช่วยสร้างบ้านให้กับชาวบัตวารวม 18 หลัง รวมทั้งพื้นที่ส่วนกลางให้ชาวบัตวาได้มาพบปะรวมตัวกัน โดยชาวบัตวาเป็นผู้ก่อสร้างเองและใช้วัสดุในพื้นที่ตามวิถีการสร้างบ้านแบบดั้งเดิมของชาวบัตวา เช่น ใช้หินภูเขาไฟเป็นฐาน และใช้โคลนก่อผนัง หมู่บ้านชาวบัตวาแห่งนี้เปิดรับผู้มาเยือนให้ได้เข้ามาสัมผัสวิถีของชนเผ่าเก่าแก่ของแอฟริกา และจะมอบประสบการณ์ซาฟารีที่จะย้อนกลับไปใช้วิถีเดิมยุคเก็บของป่าล่าสัตว์
Gordon Hempton นักนิเวศวิทยาอะคูสติกไปบันทึกเสียงลมพัด สายน้ำไหลไปจนถึงเสียงลิงค่างบ่างชะนีและนกร้องในลุ่มแม่น้ำซาบาโล ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศเอกวาดอร์ ซึ่งเป็นเสียงสภาพแสดล้อมทางธรรมชาติที่เรียกว่า ‘เสียงแห่งความเงียบ’ ที่ปราศจากเสียงมนุษย์สร้างขึ้น
แรกทีเดียวคุณกอร์ดอนไปบันทึกเสียงเฉยๆและปล่อยคลิปให้ฟังที่ https://onesquareinch.org/ มูลนิธิที่คุณกอร์ดอนก่อตั้งขึ้นซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น Quiet Parks International
พื้นที่หลายล้านไร่รอบๆแม่น้ำซาบาโล ในประเทศเอกวาดอร์ คือบ้านของชนเผ่าโคฟาน ชนพื้นเมืองราว 1,200 ชีวิตที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติมาหลายศตวรรษ การจะรักษาบ้านของพวกเขาและสิ่งมีชีวิตเอาไว้ได้คือการทำให้ลุ่มแม่น้ำซาบาโลเป็น ‘อุทยานธรรมชาติแห่งความเงียบแห่งแรกในโลก’ เมื่อปี 2019 ซึ่งเปิดให้ผู้มาเยือนได้เข้าไปค้างคืนและอยู่ร่วมกับชนเผ่าโคฟานได้แบบจำกัดจำนวน เป็นการอนุรักษ์พื้นที่ที่คุณกอร์ดอนกล่าวว่าเป็น ‘พื้นที่แห่งความเงียบแห่งสุดท้ายในโลก’ ที่ปราศจากเสียงรบกวนของความเป็นเมือง และได้อนุรักษ์ธรรมชาติ ซึ่งคนกับป่าอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน
Words: Suphakdipa Poolsap
ข้อมูลจาก
- https://globalnews.ca/news/8725237/whats-behind-the-growing-interest-in-indigenous-led-tourism-in-canada/
- https://www.budjbim.com.au/
- https://edition.cnn.com/travel/article/quiet-parks-quiet-places-noisy-planet-spc-intl/index.html