Search
Close this search box.
Search
Close this search box.
HOME / Tech / Living

‘Japan Inside’ กลยุทธ์ที่ทำให้แบรนด์ญี่ปุ่นหายไป แต่กลายเป็น ‘ไส้ใน’ ของทุกสิ่งรอบตัวเรา

Living / Tech

เมื่อเศรษฐกิจฟองสบู่ของญี่ปุ่นแตก เกาหลีใต้กับไต้หวันเป็นคู่แข่งในอุตสาหกรรมหลายอิเล็กทรอนิกส์ เซมิคอนดักเตอร์ เหล็กกล้าและรถยนต์ ส่วนจีนก็ประกาศจนเป็น ‘โรงงานของโลก’ และชนะในเกมที่ญี่ปุ่นเคยเป็นเจ้าตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค แบรนด์สินค้า Made in Japan หายไป แต่กลายเป็น ‘Japan Inside’ หรือไส้ในของสินค้าสารพัดชนิดที่คุณขาดไม่ได้ในยุคนี้!

Made in Japan ที่หายไป

เมื่อพานาโซนิคและโซนีที่เคยเป็นแบรนด์สามัญประจำบ้านเริ่มเสียตลาดให้กับไอพอด สมาร์ทโฟน วิดีโอสตรีมมิ่ง และแท็บเล็ต รักษาไว้ได้แค่ผลิตภัณฑ์แพงหรูหูฉี่ไม่กี่อย่าง นอกนั้นแล้ว แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนจากญี่ปุ่นก็หายไปจากชีวิตเรา หลังถูกถาโถมด้วยสึนามิลูกยักษ์ที่เรียกว่า ซัมซุง แอลจี และแอปเปิล

สตีฟ จ็อบส์เปิดตัวไอพอดรุ่นแรกในปี 2001

ลูกฮึดของญี่ปุ่นคือต้องก้าวไปเป็นผู้นำเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่คู่แข่งในเอเชียทำไม่ได้ อย่างน้อยก็ทำไม่ได้ในระยะกลาง หรือไม่ทำ เพราะธุรกิจเหล่านี้กว่าจะขยายตลาดได้ก็กินเวลานานเกินไป

ธุรกิจเหล่านั้น ได้แก่ เคมีภัณฑ์หายาก วัสดุก้าวหน้า และชิ้นส่วนระดับสูง เช่น ตัวเซ็นเซอร์ ซึ่งเป็นสินค้าที่บริษัทญี่ปุ่นสั่งสมเทคโนโลยีและทักษะเฉพาะด้านไว้อย่างยาวนาน แม้จะเป็นสินค้าเฉพาะตลาดกลุ่มเล็กๆ แต่ก็สลักสำคัญมากและทำกำไรสูง ซึ่งเข้ามาแทนที่สินค้า ‘Made in Japan’ ด้วยกลยุทธ์ใหม่ที่เรียกว่า ‘Japan Inside’ แบรนด์ญี่ปุ่นอาจหายไปจากชั้นวางสินค้า แต่กลายไปเป็นวัตถุดิบที่สอดไส้อยู่ในสินค้าต่างๆอยู่ในชีวิตของเราแทน

ญี่ปุ่นพัง โลกก็พัง

ก่อนเกิดแผ่นดินไหวที่โทโฮคุและฟูกุชิมะเมื่อวันที่ 11 มีนาคม ปี 2011 ทั่วโลกคิดกันไปว่าญี่ปุ่นโดนชิงมงไปเสียแล้ว เพราะมีส่วนแบ่งตลาดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ‘เพียง’ 10 เปอร์เซ็นต์ของตลาดโลก แต่หลังเกิดวิกฤตนิวเคลียร์รั่วที่ญี่ปุ่น โลกจึงได้ตระหนักว่า ‘10 เปอร์เซ็นต์’ ที่ญี่ปุ่นถือครองนั้นประกอบไปด้วยวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตสินค้าสารพัดสิ่ง ตั้งแต่จอแอลซีดี เซมิคอนดักเตอร์ แบตเตอรี ไปจนถึงอุปกรณ์การแพทย์ และสินค้าบางอย่าง บริษัทญี่ปุ่นครองส่วนแบ่งตลาดทั่วโลก 100 เปอร์เซ็นต์

ในปี 2011 เขตโทโฮคุเป็นที่ตั้งโรงงานผลิตเครื่องจักรกลที่เน้นความแม่นยำและอุปกรณ์การแพทย์กว่า 30 แห่ง โรงงานผลิตวัสดุและเคมีภัณฑ์กว่า 10 ราย โรงงานผลิตรถยนต์ 3 แห่ง และซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนรถยนต์กว่า 20 ราย ตัวแทนของบริษัทเหล่านี้ออกมาขอโทษราวกับแผ่นดินไหวคือความผิดของตน และประกาศว่าจะเร่งฟื้นฟูโรงงานให้เดินสายพานการผลิตให้ได้โดยเร็วที่สุด หาไม่แล้วโลกต้องหยุดชะงักไปเป็นแน่!

ฟานัค บริษัทด้านการวางระบบอัตโนมัติในโรงงานและเป็นผู้ผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรมมากมาย ระดมกำลังทำงานทั้งวันทั้งคืนเพื่อพัฒนาซอฟต์แวร์ใหม่ให้หุ่นยนต์สามารถตั้งค่าตัวเองได้ เพื่อแก้ปัญหาอาฟเตอร์ช็อกที่เกิดแผ่นดินไหวตามมาอีกหลายสัปดาห์ จนวิศวกรต้องตั้งค่าหุ่นยนต์ใหม่บ่อยครั้ง แถมยังบริจาคนวัตกรรมนี้ให้บรรดาผู้ผลิตที่เดือดร้อนใช้ฟรีอีกต่างหาก

เรนีซัส อิเล็กทรอนิกส์ บริษัทที่เกิดจากการควบรวมแผนกผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของเอ็นอีซี, ฮิตาชิ และมิตซูบิชิ อิเล็กทริก ทำให้เป็นหนึ่งในผู้ผลิตไมโครคอนโทรเลอร์ (หรือไม-คอนส์) รายใหญ่ที่สุดของโลก มีส่วนแบ่งตลาดไม-คอนส์ในรถยนต์ 44 เปอร์เซ็นต์ของตลาดโลก ชิปที่ออกจากบริษัทนี้ทำหน้าที่ควบคุมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชิ้นภายในรถยนต์ หากไม่ชิปตัวนี้ รถก็เป็นแค่เศษเหล็กที่จอดแช่แน่นิ่งอยู่เฉยๆ มิหน้ำซ้ำไม-คอนส์จะผลิตเฉพาะรถแต่ละรุ่นในแต่ละรอบผลิตเท่านั้น จึงหาซื้อชิปจากที่อื่นไม่ได้

ความซวยก็คือในปี 2011 เรนีซัสมีโรงงานในเขตโทโฮคุ 8 แห่ง ทุกแห่งพังพินาศจากแผ่นดินไหวทั้งสิ้น โดยเฉพาะโรงงานใหญ่สุดในเมืองนากะเสียหายหนัก และมันก็เป็นโรงงานผลิตเครื่องวัดที่มีคุณภาพสูงที่สุดในโลก ผู้บริหารประเมินว่าการปิดซ่อมโรงงาน 1 ปีอาจทำให้การผลิตรถยนต์ทั่วโลกเกือบครึ่งต้องเป็นอัมพาต กลุ่มบริษัทผลิตรถยนต์ทั้งหมดในโทโฮคุจึงร้องขอให้พนักงานของตนอาสาช่วยเรนีซัส จนมีอาสาสมัครผลัดเวรกันทำงานมากสุดถึงกะละ 2,500 คน ทั้งนี้ก็เพื่อให้เปิดโรงงานได้ เพื่อไม่ให้ลูกค้าทั่วโลกต้องผิดหวัง และแล้วไม่ถึง 3 เดือน โรงงานทั้งหลายในโทโฮคุก็ส่งสินค้าล็อตใหม่ได้สำเร็จ

Japan Inside ญี่ปุ่นสอดไส้

20 ปีที่แบรนด์ญี่ปุ่นหายไปจากการรับรู้ โลกหันไปเห่อจีนและเกาหลีใต้ ธุรกิจจิ๋วแต่แจ๋วที่ญี่ปุ่นซุ่มทำก็เริ่มแผลงฤทธิ์ว่าทำไมมันทำให้ญี่ปุ่นยังสำคัญต่อโลกอยู่

ยิ่งแบรนด์เกาหลีใต้และอเมริกันอย่างซัมซุง แอลจี และแอปเปิลขายดี ก็แปลว่าญี่ปุ่นยิ่งร่ำรวย เพราะญี่ปุ่นส่งออกสารเคมีชนิดพิเศษ ได้แก่ สารฟลูโอริเนตโพลีอิไมด์, ไฮโดรเจนฟลูออไรด์ และโฟโตรีซิสต์ บริษัทญี่ปุ่นครองตลาดสารเคมีชั้นสูงเหล่านี้เกิน 80 เปอร์เซ็นต์ และครองตลาด 100 เปอร์เซ็นต์สำหรับก๊าซกัดกรดฟลูออไรด์เกรดบริสุทธิ์สูงสุดที่ใช้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์คุณภาพสูง ส่วนสารโฟโตรีซิสต์คุณภาพเยี่ยม 1 แกลลอนราคาแพงเท่ากับรถยนต์ขนาดกลาง 1 คันนั้น บริษัทญี่ปุ่นครองส่วนแบ่งตลาดโลก 90 เปอร์เซ็นต์

ช่วงหนึ่งที่เกิดข้อพิพาทระหว่างญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ จนทำให้การส่งออกสารเคมีเหล่านี้ล่าช้า กระทบการผลิตชิป การพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์ 5จีรุ่นใหม่ของซัมซุง เอสเคไฮนิกซ์ และแอปเปิล

ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ ครองแชมป์ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ที่สุดในโลก โดยขายโทรศัพท์และแท็บเล็ตได้ 60 เปอร์เซ็นต์ของยอดขายรวม และยกระดับคุณภาพแซงคู่แข่งทั้งมวลได้ แต่ก็ต้องนำเข้าชิ้นส่วนไฮเทคและสารเคมีจากญี่ปุ่น

ส่วนจีนพยายามลดการพึ่งพาเทคโนโลยีนำเข้าด้วยนโยบาย ‘Made in China 2025’ แต่ก็ทำได้เฉพาะการประกอบชิ้นส่วน แต่วัตถุดิบตั้งต้นและผลิตภัณฑ์ขนาดเล็กซึ่งลอกเลียนยากหรือผลิตให้มีคุณภาพระดับสูงเลิศได้ยากนั้น ยังต้องนำเข้าจากญี่ปุ่นอยู่ดี

Nintendo Switch™ Family

เทคโนโลยีขั้นสูง ญี่ปุ่นจะทำเองในประเทศ แต่เรื่องง่ายๆหรือใช้เทคโนโลยีทั่วๆไป ญี่ปุ่นจะส่งให้ประเทศอื่นทำ ญี่ปุ่นจึงหาแหล่งผลิตได้ง่าย โดยย้ายฐานผลิตจากจีนไปตั้งใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในระยะไม่กี่เดือนในปี 2019 บริษัทใหญ่หลายรายของญี่ปุ่น อาทิ ริโก้, นินเทนโด, เคียวเซร่า, โซนี, โคมัตสุ และฟานัค ประกาศจะย้ายฐานผลิตจากจีนไปยังไต้หวัน ไทย เวียดนาม และประเทศอื่นๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยชะลอการลงทุนเพิ่มเติมในจีน

แม้ไม่ได้ติดป้าย ‘Made in Japan’ แม้บริษัทญี่ปุ่นที่ยิ่งใหญ่ในยุคนี้จะเป็นชื่อที่ผู้บริโภคไม่รู้จัก แต่สองทศวรรษแล้วที่โลกต้องพึ่งพิงวัตถุดิบจากญี่ปุ่นที่สอดไส้ในสินค้าต่างๆ มากมาย ตามกลยุทธ์ ‘Japan Inside’

Words: Suphakdipa Poolsap
ข้อมูลจาก: The Business Reinvention of Japan: How to Make Sense of the New Japan and Why It Matters by Ulrike Schaede

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม