เมื่อเวลาผันเปลี่ยน วัฒนธรรมถูกหล่อหลอมเข้ากับความทันสมัย ในฐานะคนอีสานบอกเลยว่าภูมิใจที่รากเหง้าถูกหยิบยกมาบอกเล่าอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นบริบททางดนตรี ละคร ภาพยนตร์ แฟชั่น และการท่องเที่ยว ฯลฯ ล่าสุดเราค้นพบมรดกทางวัฒนธรรมในงาน จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม 2566 ‘ไอเขียนเลตเตอร์ถึงเธอฟาร์มจิม’ ที่ทำให้เราสัมผัสได้ถึงความเป็น ‘อีสานอินเตอร์’ เลอค่าจนเราอยากโอบกอดโมเมนต์นี้ไว้นานๆ
@asianboytoy เที่ยวม่วนกรุบแบบ 'อีสานอินเตอร์' ที่ Jim Thompson Farm หยิบเสื้อผ้าสายแฟฯ ไปชมทุ่งดอกคอสมอส เซิ้งหน้าฮ้าน สร้างปราสาทรวงข้าว ฯลฯ วันนี้ถึง 2 มกราคม 2567 เท่านั้นจ้า #JimThompsonFarm2023 #JimThompsonFarm #จิมทอมสันฟาร์ม #TikTokพาเที่ยว #เที่ยวข้ามปี#ที่สุดแห่งปี#เที่ยวไทย#เที่ยวไทยใครก็ชอบ#เที่ยวไปเรื่อย#เที่ยวโคราช @jimthomsonfarmtour#IsanCulture ♬ เสียงต้นฉบับ – Aof S.
บรรยากาศเที่ยวงานจิม ทอมป์สัน ฟาร์ม 2566 ‘ไอเขียนเลตเตอร์ถึงเธอฟาร์มจิม’
วัฒนธรรมการเซิ้งหน้าฮ้าน
วัฒนธรรมเพลงอีสานไม่เคยถูกแช่แข็ง จากต้นกำเนิด ‘หมอลำกลอน’ ศิลปะการลำเล่าเรื่องประกอบเครื่องดนตรีพื้นเมืองอย่าง ‘แคน’ ถูกพัฒนาเป็น ‘หมอลำหมู่’ และ ‘หมอลำซิ่ง’ ที่ขับกล่อมท่วงทำนองเร้าใจผ่านเครื่องดนตรีหลากหลาย ที่มีตั้งแต่พิณ เบส กลองชุด ไปจนถึงเครื่องดนตรีสากลอย่างออร์แกนคีย์บอร์ด ฯลฯ บางครั้งมาพร้อมกับหางเครื่องละลานตา ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงมาถึงปัจจุบัน
2,000 ล้านครั้ง คือจำนวนคนไทยที่รับชมคอนเทนต์ผ่านแฮชแท็ก #ระเบียบวาทะศิลป์ นับจากปี 2021 จนถึงปัจจุบัน
153,000 ครั้ง คือจำนวนโพสต์ของคนไทยภายใต้ผ่านแฮชแท็ก #ระเบียบวาทะศิลป์ นับจากปี 2021 จนถึงปัจจุบัน
จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมหมอลำคณะ ‘ระเบียบวาทะศิลป์’ ถึงได้รับกระแสตอบรับจากคนรุ่นใหม่จนกลายมาเป็นหนึ่งในไฮไลต์สำคัญของงาน Big Mountain Music Festival ที่ขึ้นเวทีครั้งแรกในปี 2022 และต่อเนื่องมาในปี 2023
ปรากฏว่าฟาดเปรี้ยง! บรรดาวัยรุ่นคอดนตรีต่างไปจอยไปม่วน รวมถึงกระหน่ำโพสต์ลงโซเชียลฯ รัวๆ เสมือนว่าวงดนตรีขวัญใจมหาชนวงนี้เป็นการปลดแอกอิสระทางดนตรีในแบบฉบับ GEN Z ที่ไม่ชอบความเฟค
ซอมเบิ่ง ณ ลำโลก
516 ล้านครั้ง คือจำนวนคนไทยที่รับชมคอนเทนต์ผ่านแฮชแท็ก #ลำไยไหทองคำ นับจากปี 2021 จนถึงปัจจุบัน
เธอผู้นี้แจ้งเกิดกับเพลงหมอลำอินดี้ ‘ผู้สาวขาเลาะ’ ที่ดังแบบตีข้ามตลาด แม้กระทั่งนักร้องวงดนตรีสดประจำผับบาร์และร้านอาหารสมัยใหม่ ยังถูกขอร้องให้โคฟเวอร์เพลงดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น งานจิม ทอมป์สัน ฟาร์มจึงตีโจทย์การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอีสานสมัยใหม่ ด้วยการชูมรดกวัฒนธรรมอย่างหมอลำออกมาให้โลกรับรู้ผ่านนิทรรศการ Lam Loke, The World of Molam ซึ่งนิทรรศการนี้รวมประวัติการวิวัฒนาการของหมอลำอีสานถ่ายทอดออกมาเป็นแกลเลอรีภาพหมอลำชื่อดังแห่งยุค ไม่ว่าจะเป็นคณะหมอลำประถมบันเทิงศิลป์, แม่นกน้อย อุไรพร จากคณะหมอลำเสียงอิสาน, ไมค์ ภิรมย์พร, จินตหรา พูนลาภ, ต่าย-อรทัย ไปจนถึงลำไย ไหทองคำ เป็นต้น
อีกทั้งยังมีการจำลองฉากหมอลำที่มักแบ่งเป็นฉากป่า ซึ่งสื่อถึงความเปลี่ยนผ่าน การตกระกำลำบาก และความยากแค้น หรือฉากบ้านที่สื่อถึงวิถีชีวิตตามปกติ และฉากวังที่สื่อถึงความมั่งมี ในช่วงเวลาที่ชีวิตเสวยสุข เป็นต้น และในนิทรรศการนี้ได้จำลองฉากให้คุณลองรับบทเป็นนางเอกหมอลำหมู่เล่นๆ ท่ามกลางฉากวัง พร้อมเก็บโมเมนต์ความประทับใจกับเครื่องดนตรีอีสานพื้นเมืองอย่างแคน โหวด หรือพิณอีสาน
หมอลำฟิวชัน
ที่ผ่านมาเราได้เห็นการฟีเจอริงกันระหว่างสองวัฒนธรรมธรรมทางดนตรี ที่ผนึกความเป็นไทยสากลเข้ากับหมอลำอีสาน อย่างโปรเจกต์เพลง ‘คิดฮอด’ ที่วง Bodyslam ได้ขับกล่อมท่วงทำนองพร้อมกับแม่นาง-ศิริพร อำไพพงษ์ หรืออย่างปาล์มมี่ ที่นำเพลง ‘ซังได้ซังแล้ว’ ของต่าย-อรทัย มาโคฟเวอร์ใหม่ในสไตล์ของตัวเอง ส่งผลให้เพลงฮิตติดลมบน ขึ้นอันดับ 1 Trending บนยูทูบภายใน 24 ชั่วโมงหลังปล่อยเอ็มวีอีกด้วย
MV เพลง ‘คิดฮอด’ ของ Bodyslam feat. ศิริพร อำไพพงษ์
MV เพลง ‘ซังได้ซังแล้ว’ ที่ปาล์มมี่ หยิบมาตีความใหม่
ดังนั้น เมื่อทุกคนอินกับดนตรีอีสานฟิวชัน จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม จึงขนสองเวทีมาปะทะ ได้แก่ ‘American Isan Stage’ เวทีคอนเสิร์ตจากวงดนตรีโฟล์กและดนตรีคันทรี ซึ่งประกอบไปด้วยวง The Hopper, SUNDER, Hang Over และวง อ๊อด บ้านช้าง
ส่วนอีกหนึ่งเวทีคือ ‘Molam Music’ ซึ่งเป็นไฮไลต์ใหม่ของฟาร์ม ทุกคนสามารถมาม่วนหน้าฮ้านได้ตั้งแต่เวลา 20.00 – 22.00 น. โดยฟาร์มจิมขนศิลปินหมอลำร่วมสมัยมามากมาย อาทิ อีสาน ฟิวชั่น, ต้นตระกูล แก้วหย่อง x นริศรา ศักดิ์ปัญจโชติ, รัสมี อีสานโซล และออทิดสา หมอลำแบรนด์ x อ๊อฟ สุรพล เป็นต้น
ดังนั้นไม่ว่าคุณจะอินกับดนตรีอีสานอินเตอร์แบบไหน ฟาร์มจิมก็มีเสิร์ฟให้ตลอดทุกช่วงเวลาแน่นอน
หมอลำขอข้าว
นอกจากหมอลำ หากพูดถึงมรดกอีสาน หนึ่งในนั้นก็ต้องมีเรื่อง ‘ข้าว’ แน่นอน โดยนิทรรศการข้าว Rice is Life เป็นอีกหนึ่งนิทรรศการที่เปิดโลกของเรามาก เพราะได้ความรู้เรื่องตัวอย่างข้าวไทยกว่า 50 สายพันธุ์ จากจำนวนข้าวไทยทั้งหมด 5,928 สายพันธุ์ที่ได้รับการจดทะเบียนในไทย
และไม่ใช่แค่รูปสัมผัสที่ได้จากการฉายสไลด์และรูปภาพในนิทรรศการเท่านั้น ทุกคนจะได้ทำ Rice Tasting Workshop ซึ่งเป็นการชิมข้าวสายพันธุ์ต่างๆ เพื่อเรียนรู้ความแตกต่างระหว่างกลิ่นสัมผัส รสสัมผัส และเท็กซ์เจอร์ของข้าวแต่ละสายพันธุ์
รวมถึงนำเสนอไอเดียว่าข้าวไม่ได้หุงรับประทานเท่านั้น ยังต่อยอดเป็นสาโท ผลิตภัณฑ์ขนมขบเขี้ยวต่างๆ รวมถึงชาข้าวที่เราได้ลองชิมและพบว่าเป็นชาที่หอมนวลอย่างน่าประหลาด
มาตุ้มมาโฮมที่ปราสาทข้าว
จากข้าวสวยย้อนกลับไปสู่ข้าวเปลือก น้อยครั้งนักที่นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสกระบวนการผลิตข้าวไทยอย่างจริงจัง ที่นิทรรศการนี้ยังจำลองกรรมวิธีดังกล่าว ที่มีทั้งการฟัดข้าวในคุ การตากข้าว ไปจนถึงการสีข้าวในโรงสีขนาดยักษ์
และอีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญอย่างเวิร์กชอปสร้างปราสาทรวงข้าว ก็เป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์กที่นักเที่ยวมาถ่ายภาพกันให้ควั่ก ซึ่งปราสาทดังกล่าวเป็นสัญญะแห่งประเพณีบุญกุ้มข้าวใหญ่ ที่ให้คุณได้สัมผัสวัฒนธรรมอีสานผ่านข้าว ผลผลิตที่แสนภาคภูมิใจของหมู่เฮาชาวอีสานอีกด้วย
ฟ้อนสาวไหม
ภาคอีสานเป็นแหล่งผลิตผ้าไหมและผลิตภัณฑ์ไหมที่ใหญ่สุดในประเทศไทยคิดเป็นร้อยละ 80 ของประเทศ
นครราชสีมาเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพในการผลิตผ้าไหมสูงที่สุดในอีสาน ตามข้อมูลของโครงการศึกษาวิเคราะห์เศรษฐกิจการส่งออกผ้าไหมและผลิตภัณฑ์ไหมไทย ของกรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ไม่แปลกใจเลยว่าผ้าไหมของจิม ทอมป์สัน เหตุใดจึงเลื่องชื่อลือชาไปสู่สายตาโลก ซึ่งเราเคยเห็นแต่ผ้าไหมผืนสวยแต่ไม่เคยรู้ถึงกรรมวิธีอันประณีต ที่กว่าจะได้มาแต่ละผืนต้องอาศัยเวลาและความชำนาญอย่างมากในกระบวนการผลิต
ดังนั้น นิทรรศการหม่อนไหมนี้จะพาคุณไปหาคำตอบ เพราะจัดแสดงการจำลองวงจรชีวิตหม่อนไหม การสาธิตการทอผ้าไหมแบบวิถีถิ่นต่างๆ และดูเหมือนจะได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นพิเศษ เพราะทุกคนสามารถเข้าร่วมเวิร์กชอป เรียนรู้วิธีทำผ้าไหม ตั้งแต่การเลี้ยงไหม การสาวไหม ไปจนถึงการทอผ้า อย่างสนุกสนาน
หมู่บ้านอีสานและหลากหลายกิจกรรมเวิร์กชอป
นอกจากนี้ฟาร์มจิมยังยกหมู่บ้านอีสานมาให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสอีกเป็นกุรุส หลังจากได้ยินว่าที่นี่ใช้เป็นโลเคชันในการถ่ายละครเรื่อง ‘นาคี’ ก็ยิ่งตื่นเต้นยกใหญ่ ซึ่งภายใต้สถาปัตยกรรมที่บอกเล่าสังคมชนบทแบบอีสาน เราจะได้เห็นเฮือนแตงอ่อน เฮือนอ้อยใจ ที่ตั้งชื่อตามผู้ครอบครองคนสุดท้าย ซึ่งส่วนใหญ่พ่อแม่จะยกให้เป็นทรัพย์สมบัติของลูกสาว เนื่องจากประเพณีอีสานผู้ชายต้องทำการแต่งเข้าบ้าน เป็นต้น
ทุ่งคอสมอสสุดลูกหูลูกตา
ในบรรดากิจกรรมทั้งหมด คุณสามารถเก็บภาพความประทับใจได้มากมาย แต่สำหรับสายแฟฯ และสายรักธรรมชาติแล้วโซนทุ่งดอกไม้ซึ่งเป็นซิกเนเจอร์ของฟาร์มจิม ดูจะถูกใจเป็นพิเศษ
แม้ว่าปีนี้ไม่มีไฮไลต์ฟักทองยักษ์แบบทุกปี แต่ก็มีดอกคอสมอสสีเหลือง สีขาว สีบานเย็น มลังเมลืองเหลือบแดดรำไร รับรองได้ฟีล ‘อีสานอินเตอร์’ แบบเว่อร์วัง
เราแนะนำว่าลองเลือกเป็นผ้าไหมคัตติงดีๆ ที่มีดีไซน์แบบโมเดิร์น ผ้ามัดย้อมกรุยกราย เดรสสีขาวพริ้วๆ หรือจะเป็นยีนลุคทำฟาร์ม ก็จะยิ่งถ่ายรูปได้สวยเข้าธีมเป็นพิเศษ
เอาเป็นว่ามาเที่ยวจิม ทอมป์สัน ฟาร์มปีนี้ใจฟูมาก ยิ่งได้เห็นมรดกและทรัพยากรอีสานบ้านเกิด รวมถึงการตีความในบริบทร่วมสมัยของฟาร์มจิม ยิ่งทำให้รู้สึกภูมิใจอย่างที่สุด เลยอยากให้ทุกคนมาสัมผัสบรรยากาศดีๆ VIBE ดีๆ แบบนี้ ที่จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม 2566 แอบกระซิบว่าเขาเปิดให้ท่องเที่ยวแค่ปีละครั้งเท่านั้น ไปได้เลย ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2566 – 2 มกราคม 2567 นี้
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Jim Thompson Farm หรือซื้อบัตรเข้าชมได้ทาง www.ticketmelon.com
Words: Varichviralya Srisai
ข้อมูลจาก: