ถ้าต้องลิสต์ชื่อสถาปนิกเจ๋งๆ คงเป็นเรื่องยาก แต่สถาปนิกที่มีวิธีคิดงานเรียบง่ายเน้นการออกแบบที่ผู้คนเข้าถึงได้แถมยังสร้างประสบการณ์การใช้พื้นที่ได้อย่างน่าสนใจจะต้องมีชื่อของ Kazuyo Sejima และ Ryue Nishizawa จาก SANAA เป็นแน่ ซิกเนเจอร์การใช้สีขาวและการเล่นระดับกับความโปร่งแสงงานดีไซน์สุดมินิมอลแต่ทรงพลังทำให้พวกเขากลายเป็นสถาปนิกแถวหน้าของโลก
Kazuyo Sejima เกิดที่เมืองอิราบากิใกล้กรุงโตเกียว เธอได้แรงบันดาลใจจากภาพถ่ายงานออกแบบของตำนานสถาปนิกชื่อดังของญี่ปุ่น Kazuo Shinohara ซึ่งตรงนั้นเองจุดประกายให้เธอหลงใหลงานออกแบบจนนำไปสู่การศึกษาสถาปัตยกรรมที่มหาวิทยาลัยในเวลาต่อมา หลังจากสะสมประสบการณ์มาพักใหญ่ในปี 1987 เธอได้เปิดตัวโปรเจกต์ของตัวเองในชื่อ Kazuyo Sejima and Associates และนั่นทำให้เธอได้รับรางวัลสถาปนิกแห่งปีจากประเทศญี่ปุ่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอเป็นที่รู้จักในวงกว้าง
ในปี 1995 ตัว Sejima ดึงอดีตพนักงาน Ryue Nishizawa มาเป็นหุ้นส่วนเพื่อเปิดสตูดิโอทำงานใหม่ในชื่อ SANAA (Sejima and Nishizawa and Associates) ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซิกเนเจอร์งานที่โดดเด่นของทั้งสองคือสถาปัตยกรรมที่ภายนอกดูเรียบง่าย แต่จริงๆ แล้วแต่ละงานของพวกเขานั้นมักตั้งคำถามและค้นหาความเป็นไปได้ไม่รู้จบของสถาปัตยกรรมร่วมสมัย ผ่านงานออกแบบที่เน้นที่ว่าง รูปทรง รายละเอียดและวัสดุที่แตกต่างอย่างชัดเจน ทั้งสองยังชอบเล่นกับระดับความโปร่งใสของวัสดุเพื่อสร้างมิติสะท้อนทั้งแสงธรรมชาติและแสงไฟให้ดูร่วมสมัยได้อย่างน่าประหลาดใจ
นอกจากที่กล่าวมาอีกหนึ่งซิกเนเจอร์ของ SANAA คือการใช้สีขาวเป็นหลัก ก็เพื่อหลีกเลี่ยงลำดับชนชั้นในงานสถาปัตยกรรมนั่นเอง และการเล่นกับพื้นที่ให้แสงธรรมชาติวิ่งผ่านได้เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงอิสระด้วยเช่นกัน งานของทั้งสองที่ผ่านๆ มานั้นหลากหลายมากมีตั้งแต่ระดับ พิพิธภัณฑ์ ศูนย์การเรียนรู้ จนไปถึงที่พักอาศัยและร้านกาแฟ ความสำเร็จของทั้งคู่ยังการันตีด้วยรางวัล Pritker Prize ซึ่งเปรียบเสมือนรางวัลโนเบลในสาขาสถาปัตยกรรมในปี 2010 อีกด้วย
โปรเจกต์ที่โดดเด่นของทั้งสองได้แก่ Louvre-Lens Museum ในประเทศฝรั่งเศส The 21st Century Museum of Contemporary Art ที่เมืองคาซานาว่า ประเทศญี่ปุ่นและ The New Museum of Contemporary ที่เมืองนิวยอร์ค ประเทศอเมริกา ซึ่งสถาปัตยกรรมที่กล่าวมาล้วนเป็นสถาปัตยกรรมสาธารณะที่พวกเขาตั้งในให้เป็นศูนย์รวมคนจากหลากหลายวัฒนธรรมให้สามารถชื่นชมและใช้ฟังก์ชั่นภายในอาคารได้ เพราะพวกเขาเชื่อว่างานดีไซน์ของพวกเขาแม้จะมีลักษณะเฉพาะตัวแต่ทุกชิ้นล้วนออกแบบโดยคำนึงถึงอิสระของผู้อาศัยหรือแวะเวียนตลอด