หลายคนเซอร์ไพรส์ยกใหญ่เมื่อเห็นภาพเขื่อน-ภัทรดนัยอดีตบอยแบนด์วงดัง K-otic ลุกขึ้นมาสวมกระโปรงฟูฟ่องใส่เดรสลูกไม้สีหวานดูขัดกับหุ่นล่ำๆกล้ามเป็นมัดๆที่เป็นดั่งสัญลักษณ์แสดงออกถึงความเป็นชายอันแข็งแกร่ง อันที่จริงนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราต้องเซอร์ไพรส์กับการเปิดเผยเพศสภาพของเขาเพราะเมื่อราว 2 ปีที่แล้วใครที่ติดตามข่าวบันเทิงคงได้รับรู้ว่าเขื่อนมีคู่หมายเป็นชายหนุ่มชาวไอริชที่คบหากันจริงจังถึงขั้นมีการจดทะเบียน Civil Partnership ที่เกือบจะเทียบเท่าการสมรสก็ว่าได้แต่ครั้นชีวิตคู่ต้องจบลงที่ทางแยกเชื่อว่าขาเม้าธ์ชาวเน็ตก็คงแอบคิดว่า “นั่นไงล่ะชีวิตคู่ของเพศเดียวกันมันจะไปรอดได้อย่างไร”
แต่เชื่อเถอะว่าถ้าลิปสเตอร์ได้ลองเปิดใจอ่านบทสัมภาษณ์ว่าด้วยมุมมองความรักมิติของเพศสภาพและการเดินทางสู่การค้นพบตัวเองของเขาคุณจะต้องรื้อกรอบมาตรฐานเก่าๆค่านิยมเดิมๆที่เคยเชื่อฝังหัวออกไปและเปิดรับทำความเข้าใจเขาในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่มีสิทธิ์ที่จะรักและใช้ชีวิตในแบบที่เขาต้องการทั้งยังอยากรณรงค์ให้คนอื่นๆได้รักและเคารพในสิทธิ์อันพึงมีของตัวเอง
ลิปส์ : เราพอจะได้ทราบนิยามคำว่า ‘Queer’ ผ่านคลิปของคุณในแชนเนล Koendanai มาบ้างแล้วแต่อยากให้คุณช่วยอธิบายนิยามความเป็น “Queer” ให้ลิปสเตอร์เข้าใจชัดเจนขึ้นอีกสักนิด
ภัทรดนัย : เขื่อนว่า ความเป็น LGBTQ+ เนี่ย ต้อง + ด้วยนะครับ เพราะเรามีตัว ‘ A’ ตัว ‘ I ’ และอีกหลายๆ ตัว เป็น spectrum ที่กว้างมาก ตอนนี้พอเรามีคำว่า “LGBTQ” กลายเป็นการล็อคไปอีกว่า ‘L’ ต้องเป็นอย่างไร ‘G’ ต้องเป็นอย่างไร ‘Queer’ เป็นเหมือน Umbrella Term ของ LGBTQ+ ครับ อย่างตัวเขื่อนเองเป็นคน Gender Fluid มาก บางวันก็เป็น Hyper Masculine บางวันก็ Hyper Feminine บางวันแข็งแรง เข้มหน่อย บางวันอ่อนหวานหน่อย
ลิปส์ : โมเม้นต์ที่ค้นพบว่าตัวเองเป็น ‘Queer’ คือเมื่อไรค่อยๆ เผยทีละเลเยอร์หรือมีกระบวนการอย่างไร
ภัทรดนัย : มีหลายเลเยอร์มากๆ ครับ เพราะว่า ตอนแรกเขื่อน indentify ตัวเองเป็น ‘เกย์แมน’ ก่อน เพราะเขื่อนอยู่เมืองไทยก็ไม่ได้ explore ไม่ได้มี reference ให้ดูมากนัก แล้วก็รู้สึกว่า เราไม่ได้เป็น Straight ไม่ได้อยู่ในโลกของชาย-หญิง พอรู้สึกว่า เราแตกต่าง เราก็คงเป็นเกย์สินะ แต่ก็ไม่ได้รู้สึก belong ในโลกของเกย์มากนัก หลายๆ อย่างที่เราเป็น เรารู้สึกว่า มันไม่ตรงกับสิ่งที่สังคมบอกเรา ในโลกชายหญิงก็ไม่ตรงแล้ว ในโลกเกย์ก็ยังไม่ตรงอยู่ดี
เขื่อนคิดว่า สังคมมักจะมองว่า การเป็นเกย์เรื่องเซ็กซ์จะต้องเป็นอย่างไร พอเขื่อนได้ไปอยู่ที่อังกฤษ ได้มีเพื่อนที่ identify ตัวเองเป็น Queer มากขึ้น แล้วเขื่อนรู้สึกเลยว่า เขื่อน belong กับ community นี้มาก
“‘Queer’ เป็นคำที่ใช้กับเพศหญิงหรือชายก็ได้ หรือ Transgender ข้ามเพศมาก็ได้ เขื่อนจะไปออกเดทกับคนที่เป็น Queer ด้วยกันก็ได้ หรือ Trans หรือ เกย์ก็ได้”
ลิปส์ : แสดงว่าเมื่อก่อนตอนอยู่เมืองไทยมี stereotype ของเกย์ที่มาครอบเราอยู่
ภัทรดนัย : ใช่ครับ เมื่อก่อนนี้ พอเขื่อนรู้สึกว่า “เขื่อนเป็นเกย์สินะ” เขื่อนก็คิดว่า เป็นเกย์ก็ต้องเล่นกล้าม ต้องตัวใหญ่ ต้องพูดจาแบบนี้ ทำกิจกรรมแบบนี้ ซึ่งเขื่อนไม่ได้รู้สึกว่า ทำแล้วเรา comfortable สักเท่าไร แต่เขื่อนไปคิดเอาเองว่า สังคมบอกว่า มันต้องเป็นอย่างนี้นะ ยกตัวอย่างง่ายมาก หลายๆ อย่างพรีเซ็นต์ออกมาว่า คนเป็นเกย์จะต้อง Hypersexual มากๆ ชอบเรื่องเซ็กซ์มาก แต่เขื่อนน่ะเป็น ‘Asexual’ เขื่อนก็รู้สึกว่า ต้องมีอะไรผิดปกติกับเราแน่เลย เราไม่อินกับเรื่องนี้น่ะ ต่อให้เล่นกล้าม ให้ใส่กางเกงรัดรูปยังไงก็ตาม เขื่อนก็ไม่ได้อยากมี One Night Stand
“เพื่อนๆ บางคนก็ชอบบอกว่า เขื่อนต้องมีเซ็กซ์เยอะแน่ๆ เลย ต้อง Hypersexual มาก เขื่อนก็จะบอกว่า “ไม่เลย เคยมีเซ็กซ์น้อยมาก” ซึ่งเราจะโดนตีตรามาตลอดว่า ‘โกหก’, ‘ปลอม’, ‘ตอแหล’”
เพราะเขารู้สึกว่า เกย์ต้อง Hypersexual มากๆ การมีเซ็กซ์ คือ ปัจจัยสำคัญของชีวิต จนกระทั่งได้มารู้จัก community ที่บอกว่า สิ่งที่เราเป็น คือ Asexuality นะ ซึ่งไม่ได้ให้ความสำคัญกับเพศสัมพันธ์มาก
ลิปส์ : นอกจากการค้นพบตัวเองเรื่อง gender แล้วเรื่องความรักคุณเริ่มค้นพบมันได้อย่างไรความรักครั้งแรกเป็นอย่างไรเกิดขึ้นกับเพศไหนเรายังทราบมาว่าคุณเคยเดทกับผู้หญิงด้วยครั้งนั้นเรียกว่าความรักได้ไหม
ภัทรดนัย : เรียกว่า friendship มากกว่า ในวันนี้ที่เขื่อนไม่มีแฟนมาพักใหญ่ๆ แล้ว เป็นเพราะเขื่อนเข้าใจมากขึ้นว่า สิ่งที่เขื่อนต้องการจากแฟน คือ intimacy ซึ่งเขื่อนสามารถหาได้จากคนใกล้ตัวอย่างเพื่อนๆ ยิ่งเราเป็น Asexuality แล้ว เรื่องเพศสัมพันธ์ไม่ต้องพูดถึง เก็บไว้ในหีบฝังดินลึก 6 ฟุตได้เลย
“แฟนคนแรกกิจกรรมที่เราทำด้วยกันเป็นประจำ คือ เล่นเกมโปเกมอนแข่งกัน ฟักไข่โปเกมอนด้วยกัน นั่งดูการ์ตูนเซลเลอร์มูนแล้วก็เต้นตามอะไรแบบนี้ พอกลับไปดูแล้วมันเป็นความรักที่มุ้งมิ้ง และเป็น friendship จริงๆ เป็นพื้นที่ปลอดภัยในเราสองคนได้กระซิบบอกกันว่า “เราเป็นเกย์” นะ”
สุดท้ายแล้วความรัก หรือความสัมพันธ์ก็มีหลายรูปแบบ คนแรกที่เขื่อนเรียกว่าแฟน คบกันนาน 3-4 ปี ถ้าวันนี้มองกลับไปสิ่งที่เรามีในตอนนั้นคงเรียกว่า เพื่อนสนิทคนหนึ่งมากกว่า เพราะนิยามความรักของเขื่อนก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่รักแรกก็ถือว่า คบนานนะ ตอนนี้ต้องหลบๆ ซ่อนๆ แน่นอน เพราะเราอยู่ในบริบทที่เรารู้สึกว่า สังคมยังรับไม่ได้ ด้วยอาชีพการงานแล้ว ผู้ใหญ่ก็ยังไม่ให้เราเปิดเผยได้ครับ
ลิปส์ : คุณมีประสบการณ์ความรักผ่านเข้ามาในชีวิตเยอะไหม
ภัทรดนัย : เคยมีแฟน 3 คน คนแรกที่เล่นโปเกมอนกันคบกัน 3-4 ปี คนที่สองมาในรูปแบบผู้ใหญ่เลย มาคอยดูแลเทคแคร์ ขับรถรับส่ง กินข้าวหรือยัง เป็น Hypermasculine มาก คบกันประมาณ 2 ปี พอคบกันแล้วก็มี conflict หลายอย่างเลยไม่ได้ไปต่อ ซึ่งความรักครั้งที่สองทำให้เราได้เติบโตขึ้นอีกเยอะมาก เราได้สำรวจอารมณ์ตัวเองเยอะมากจากความสัมพันธ์ครั้งนี้ มาอีกครั้ง คือ เป็นครั้งที่ได้ทำ Civil Partnership ซึ่งทั้งสาม relationship เขื่อนว่า เราคบค่อนข้างนานเพราะชีวิตนี้เขื่อนไม่ได้เดทเยอะมาก กล้าพูดเลยว่า ใน relationship 3 ครั้งนี้ ทุกคนคือ The One ถ้าเรียกใครเป็น ‘แฟน’ แล้ว คนนั้นก็คือ The One เสมอ
ลิปส์ : หลังจากผ่านชีวิตคู่มาแล้วยังมองว่าการแต่งงานในเพศเดียวกันเป็นเรื่องสำคัญอยู่ไหม
ภัทรดนัย : การที่เขื่อนไม่ได้ไปต่อ ไม่ได้แปลว่า แนวคิดหรืออุดมการณ์ของเขื่อนเปลี่ยนไป เขื่อนมองว่า การสมรสระหว่างเพศเดียวกันสำคัญมาก เพราะมันคือความเท่าเทียมกัน ไม่ได้เป็นการเรียกร้องสิทธิ์เพิ่มมากกว่าคนอื่น แต่เป็นการลุกขึ้นมาบอกว่า เราต้องการสิทธิ์ที่เท่าเทียมกัน
ลิปส์ : ในชีวิตคู่จำเป็นต้องมีลูกไหม
ภัทรดนัย : ถ้ามีลูกแล้วถึงจะเรียกว่า “ครอบครัว” มันใช่เหรอ การเป็นแฟนกันสองคนก็เป็นครอบครัวแล้วนะ การมีลูกต้องถามตัวเองก่อนว่า มีทำไม ถ้ามีลูกเพราะคิดว่า สังคมบอกให้มี มีเพราะถือเป็นความสำเร็จของชีวิต สำหรับเขื่อนอาจจะไม่ตอบโจทย์ เพราะเขื่อนอยู่ในโลกที่แกะนิยามความเป็นมนุษย์ออกทุกอย่าง
“ถ้ามีลูกแล้วเรา treat ลูกเหมือนกระเป๋าหนึ่งใบที่จะมาเติมเต็มเราเขื่อนเลือกที่จะไม่มี”
เขื่อนคิดว่า ยังมีเด็กกำพร้าอีกมากมาย เขื่อนอยากมีลูก เพราะอยากทำให้ชีวิตของเด็กคนนี้ดีขึ้น เขาจะได้มีการศึกษาที่ดี มีบ้านนอน อันนี้ตอบโจทย์เขื่อน เพราะเขื่อนคิดว่า โลกเรามีประชากรเยอะแล้ว Carbon Footprints ก็เยอะ
ลิปส์ : ทุกวันนี้มองหาอะไรในตัวคนที่จะมาเป็นคู่ของเราในอนาคต
ภัทรดนัย : ใครที่จะมาเป็นแฟนเขื่อนนี่ยากมาก เพราะ 7 โมงเช้า เขื่อนต้องตื่นมาเดินตรวจตึกสะอาดไหม คนงานได้เงินเดือนพอใช้หรือเปล่า คนงานเขามีลูก ลูกเขาได้สวัสดิการที่ดีหรือเปล่า ทีนี้คุณตาคุณยายเขื่อนอายุ 90 ปีแล้ว เขื่อนต้องมีเวลาดูแลท่าน รวมถึงคุณพ่อคุณแม่ด้วย ยังมีงานส่วนของ activist อีก เราต้องมานั่งคิดงานว่า ทำอย่างไรให้คนย่อยง่าย ฟังเราแล้วไม่หนี รู้สึกว่า เราเป็นพื้นที่ปลอดภัย เราต้องลงพื้นที่ด้วย ไหนจะมีส่วนของการเรียนปริญญาเอกอีก งานสัมนา อ่านรีเสิร์ช ในส่วนของนักจิตบำบัดก็ต้องประชุมงาน เขียนเคส ขึ้นโครงงาน ลงพื้นที่เจอคนไข้ ทีนี้ถ้ามีแฟนเขาจะอยู่ตรงไหนในชีวิตของเรา เขาจะอยู่ในโลกของเราได้มากแค่ไหน แล้วเขื่อนจะไปอยู่ในโลกของเขาได้มากแค่ไหน เวลาที่เขื่อนมีให้เขาตอบโจทย์เขาไหม ถ้าเขื่อนกลับมาบ้านแล้วเขื่อนเอางานกลับมาทำด้วย เขาเข้าใจหรือเปล่า
ในส่วนอุดมการณ์ ถ้ามีแฟนแล้วเขาไม่เชื่อเรื่อง ความเท่าเทียม อย่างที่เขื่อนเชื่อเท่ากับเขาตกรอบเลย สอง เขื่อนอยู่ในโลกที่ Phenomenon มาก เขื่อนเปิดรับหลายอย่างมาก ไม่ได้บอกว่า แฟนต้องเปิดรับเหมือนเขื่อนแต่อาจจะเป็นโลกที่เราต้องค่อยๆ ศึกษากันไป
ลิปส์ : อะไรคือมาตรวัดว่าสิ่งที่คุณกำลังขับเคลื่อนได้สัมฤทธิ์ผลแล้วใช่เรื่องการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันหรือเปล่า
ภัทรดนัย : ในอายุขัยมนุษย์คนหนึ่งสิ่งที่เขื่อนอยากได้คงยังไม่พอ วันนี้สิ่งที่ทำได้เต็มที่คือการสร้าง awareness การเป็นแรงผลักดันในคนทุกเจเนอเรชั่นรับรู้ว่า มันมีเรื่องนี้นะ และเราควรผลักดัน ในวันที่เขื่อนบอกว่า “สำเร็จแล้ว” คือ วันที่เขื่อนเลิกสู้แล้ว เพราะเขื่อนเลือกไม่ถูกเลยว่า จะเป็นเรื่องไหน เพราะยังมีเรื่องที่ต้องการผลักดันเรื่องความเท่าเทียมกันเยอะมาก ถ้าเรื่องการแต่งงานเพศเดียวกันสำเร็จก็ยังมีเรื่องการเหยียดสีผิวในประเทศ การเหยียดชนชั้น เรื่องมาตรฐานความงาม ทุกสีผิวก็ถือเป็นความสวยงาม ทุกเชื้อชาติสวยงามเท่าเทียมกัน หรือคนพิการต้องได้สิทธิ์เท่าคนอื่นๆ เขาต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทำให้เขาสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนทุกคน ปัจจัยต่างๆ ที่ทุกคนควรจะได้ครบ ทั้งการศึกษา สวัสดิการทางการเข้ารักษาพยาบาล หลายเรื่องมากๆ
เพราะฉะนั้น เรื่องที่เขื่อนต้องการผลักดันในอายุขัยของเขื่อนคงไม่พอแน่นอน วันไหนที่เขื่อนรู้สึกว่า ทำสำเร็จแล้ววันนั้นคงเลิกเป็น activist จริงๆ แล้วครับ ทุกวันนี้ในวันเกิดเขื่อนก็เลือกที่จะทำงาน ออกไปพูดเรื่องการทำ activist เหมือนเดิม พูดได้เลยว่า วันใดวันหนึ่งที่เขื่อนตายไป หรือรู้สึกพอแล้ว อุดมการณ์ของเขื่อนก็ยังคงอยู่
อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ในนิตยสารลิปส์ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2564
ทุกแผงหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ หรือสั่งซื้อออนไลน์ทาง inbox
Photography : Somkiat K.
Styling : Anansit K.
Makeup : Tachapol S.
Hair : Jatupong C.
Wearing : T and T