Search
Close this search box.
Search
Close this search box.

‘La Vie en Strass’ (ลา วี ออง สตราสส์) เมื่อศิลปะเปลี่ยนของรอบตัวให้วิ้งด้วยคริสตัล Swarovski Shourouk Rhaiem

Art & Design / Culture

Shourouk Rhaiem (ชูรุก ไรเอม) เป็นจิวเวลรีดีไซเนอร์และศิลปินชาวฝรั่งเศสเชื้อสายตูนิเชีย และชื่อ ‘Shourouk’ อันเป็นภาษาอารบิกก็มีความหมายว่า ‘ดวงอาทิตย์ขึ้น’ ไม่ต่างอะไรจากแสงเจิดจ้าจาก La Vie en Strass นิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกในเมืองไทยของเธอ

ชูรุกก่อตั้งแบรนด์ในปี 2007 และเครื่องประดับของเธอก็เป็นที่โปรดปรานของคนดังมากมาย ตั้งแต่ มิเชล โอบามา อดีตเฟิร์สต์เลดี้ของสหรัฐอเมริกา, เลดี้กาก้า ไปจนถึงซาราห์ เจสสิกา พาร์กเกอร์ เมื่อตัวมัมสายแฟพร้อมใจกันเลิฟผลงานของเธอกันขนาดนี้ แปลว่ามันต้องอะไรไม่ธรรมดา

‘ความพิเศษในสิ่งธรรมดา’ คือหัวใจในงานของชูรุก ซึ่งเห็นได้ชัดแจ้งในนิทรรศการ Ordinary Life ที่เธอฝังคริสตัลสวารอฟสกีในบรรจุภัณฑ์สินค้าอุปโภคบริโภคที่ผู้คนใช้กันในครัวเรือน เป็นต้นว่า ผงซักฟอก น้ำยาซักผ้าขาว น้ำมันพืช ขนมขบเคี้ยว ฯลฯ ซึ่งจัดแสดงที่แฟล็กชิปของสวารอฟสกีในกรุงเวียนนาเมื่อปี 2018 

ของกินของใช้ในครัวเรือนที่หักมุมกลายเป็นของมีค่ามากจนทิ้งไม่ลงกลายมาเป็นลายเซ็นประจำตัวของชูรุก ซึ่งยิ่งทัชใจผู้ชมเมื่อเห็นข้าวของที่มีขายเฉพาะในประเทศตัวเอง ดังจะได้เห็นกันใน La Vie en Strass นิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของชูรุก ไรเอมในเมืองไทย 

เราได้เห็นสินค้าที่คุ้นเคยและอาจจะเคยฉวยใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น กระป๋องบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อและรสชาติต่างๆ เช่น มาม่าต้มยำกุ้ง หรือนิชชินรสต้นตำรับ, แป้งตรางู, แป้งน้ำมองเล่ยะ, กระทิงแดง, บุหรี่กรองทิพย์, ผงซักฟอกไวส์ชนิดกล่องกระดาษ, ยาอมตราตะขาบ 5 ตัว, ซีอิ๊วขาวตราเด็กสมบูรณ์ ไปจนถึงน้ำหอม Chanel N°5 และ Miss Dior 

“อุ๊ย!” คือปฏิกิริยาแรกที่ผู้ชมนิทรรศการมักแสดงออกมาเมื่อได้เห็นงานศิลปะชิ้นแพรวพราวของชูรุก มันช่างคุ้นเคยกับแบรนด์ที่เราเติบโตมาและบางแบรนด์ที่หายไป เธอทำให้คนดูกระหวัดถึงช่วงเวลาธรรมดาและเรียบง่ายในชีวิต ในยามทำกับข้าว ซักผ้า อาทิตย์สุดท้ายก่อนเงินเดือนออก (มาม่าคือเพื่อนที่เรากลับไปหา) หรือกระทั่งช่วงเวลาทอดอารมณ์เงียบๆคนเดียวกับเบียร์สักขวด หรือบุหรี่สักมวนก่อนจะกลับไปเผชิญชีวิตต่อไป 

ท่ามกลางข้าวของที่สะท้อนชีวิตของเรา มันกลับถูกมองข้ามจนกลืนกลายเป็นเพียงฉากหลังที่ไม่ได้สลักสำคัญอะไร มันคือสินค้าอุปโภคบริโภคที่ถูกสร้างมาเพื่อมีชีวิตแสนสั้นหลังถูกบริโภคไปแล้ว ถ้วยบะหมี่ถูกทิ้ง ขวดเบียร์ถูกเก็บแยกไว้ให้ซาเล้ง ซองบุหรี่โดนขยำยับยู่ยี่ 

ชูรุกตามเก็บข้าวของเหล่านี้ หยิบมันขึ้นมาคลี่ออก เพ่งพินิจฟอนต์ เส้นสาย และสีสันที่นักออกแบบสร้างสรรค์มันขึ้นมาจนกลายเป็นโลโก้อันคุ้นเคย และหาวิธีไม่ให้พวกมันถูกมองข้ามอีกต่อไป หนำซ้ำจะกลับยกมันมาวางอวดโชว์เสียด้วยซ้ำ

Strass ที่อยู่ในชื่อนิทรรศการ La Vie en Strass หมายถึง พื้นผิวที่สมบูรณ์แบบของแก้ว ซึ่งเกิดจากแก้วผสมตะกั่ว 30% โดยแก้วผสมสตราสคริสตัล (Strass Crystal) ถือเป็นคริสตัลคุณภาพสูงที่สุดในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Swarovski Strass ที่ผลิตในประเทศออสเตรียนับได้ว่าเป็นสตราสระดับพรีเมียม ที่ได้รับการจดสิทธิบัตรเรื่องการเคลือบป้องกันฝุ่นและเป็นผลงานของแบรนด์สวารอฟสกี   

ชูรุกบรรจงประดับคริสตัลทีละเม็ดไปบนพื้นผิวของบรรจุภัณฑ์แบรนด์ต่างๆ สร้างชีวิตใหม่ให้มันกลายเป็นของที่มีพลังสะกดสายตา ดึงดูดคนให้เดินเข้าไปเพ่งมอง และอาจจะถึงกับอยากจ่ายเงินแสนแลกกับการนำมันกลับไปประดับบ้าน แทนที่จะลงเอยในครัวหรือถังขยะ 

ในอีกทางหนึ่ง La Vie en Strass อาจเป็นภาพในจินตนาการ เมื่อชีวิตที่แสนจะสามัญซ้ำเดิมของเราเปล่งประกายขึ้นมา เราจะมองชีวิตด้วยแววตาและความรู้สึกเช่นเดิมหรือไม่? เราจะมองชีวิตเป็นของขวัญ หรือค้นพบความพิเศษในสิ่งถูกละเลยได้หรือไม่?

จอร์แดน ปีเตอร์สัน จิตแพทย์ชาวแคนาดาที่กลายเป็นนักเขียนและนักพูดคนดังเขียนไว้ในหนังสือเล่มใหม่ Beyond Order กฎเหนือกฎ (ฉบับแปลภาษาไทย โดยสำนักพิมพ์อมรินทร์ฮาวทู) ว่า ‘พยายามทำให้ห้องหนึ่งในบ้านของคุณสวยงามที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้’ เพราะศิลปินเป็นผู้เปิดสายตาให้เรามองเห็นสิ่งที่เราละเลยหลงลืม และใช้ชีวิตอย่างยากไร้ในโลกที่รุ่มรวย เราฝึกตัวเองให้มองเห็นแต่สิ่งที่ใช้การได้และมีประโยชน์ และตัดทิ้งสิ่งที่ไม่เข้าใจหรือไม่อาจอธิบายได้ 

ทว่า โลกนั้นประกอบไปด้วย 3 ส่วน หรือโลกที่เรารู้จัก โลกที่เราไม่รู้จัก และโลกที่เราไม่อาจจินตนาการถึงได้ ศิลปินมองเห็นทั้งสามส่วนนี้และใช้งานศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นบทเพลง ภาพวาด ประติมากรรม หรือบทกวี นำพาเราผู้มืดบอดต่อการรับรู้ให้ขยายขอบเขตโลกของเรา 

จอร์แดนยกตัวอย่างละแวกบ้าน ในวัยเด็กนั้นเขาจำได้ว่าเดินไปตามถนนที่บ้านของเขาตั้งอยู่ พินิจบ้านแต่ละหลังที่ทาสีต่างกัน รั้วมีรูปทรงหลากหลาย แม้แต่ที่จับประตูก็หามีบ้านไหนเหมือนกันไม่ รายละเอียดเหล่านี้สร้างความตื่นตาตื่นใจแก่เขาราวกับได้ออกตามหาสมบัติล้ำค่า 

แต่แล้ว “เมื่อถึงจุดหนึ่งของชีวิต ผมเห็นบ้านมาแล้วมากมาย…” บ้านกลายเป็นเพียงคำพูดเหมารวมถึงสิ่งก่อสร้างแบบหนึ่ง ความเฉพาะเจาะจงและความพิเศษของบ้านแต่ละหลังจางหายไป เหลือเพียงบ้านที่เรารับรู้คุณประโยชน์ของมันว่าเป็นที่พักอาศัย

นี่คือเหตุผลที่คนเราหยุดจ้องมองงานศิลปะตามพิพิธภัณฑ์ เพื่อจะให้ศิลปินช่วยเปิดสายตาของเด็กที่มองเห็นทุกอย่างเป็นครั้งแรก และตื่นเต้นไปกับการค้นพบปีศาจหรือนางฟ้าที่อยู่ในรายละเอียดต่างๆ อีกครั้ง 

เช่นนี้แล้ว คริสตัลสวารอฟสกี จึงเป็นเพียงสัญลักษณ์ของสายตาที่กลับมามองเห็นความงามในสิ่งใกล้ตัว มันอาจทำให้เราอยากขยายขอบเขตออกไป ทำให้สังคมและโลกเป็นสถานที่อันพิเศษ น่าอยู่ และวิ้งวับเป็นประกายขึ้นก็เป็นได้

พิกัดงานนิทรรศการ LA VIE EN STRASS

เปิดทุกวัน 10:00-19:00 ที่ Four Seasons Art Space by MOCA Bangkok จัดแสดงถึงวันที่ 5 ธันวาคม 2023 

Words: Suphakdipa Poolsap
Photos: Somkiat Kangsdalwirun

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม