ย้อนกลับไปเมื่อกลางเดือนธันวาคมปีที่แล้ว Chanel แฟชั่นแบรนด์หรูสัญชาติฝรั่งเศสออกมาประกาศอย่างเป็นทางการว่าแบรนด์ได้เปลี่ยน CEO ของแบรนด์เป็นที่เรียบร้อย และผู้ที่จะเข้ามารับตำแหน่งอันทรงเกียรตินี้ก็คือ ‘Leena Nair’ ผู้บริหารสาวชาวอังกฤษเชื้อสายอินเดียได้กลายมาเป็น CEO ผู้หญิงคนใหม่และคนแรกของแบรนด์ Chanel ทั้งๆ ที่เธอไม่มีประสบการณ์ในการบริหารแบรนด์แฟชั่นมาก่อน ซึ่งปกติแล้วแบรนด์แฟชั่นขนาดใหญ่ราวกับอาณาจักรอย่าง Chanel ที่ไม่ได้อยู่ใต้สังกัดบริษัทใดๆ มักจะไม่นิยมจ้างคนนอกเข้ามาบริหารองค์กร แล้วอะไรละที่ทำให้แบรนด์เลือกเธอเข้ามาดำรงตำแหน่งนี้แทน CEO คนก่อนอย่าง Alain Wertheimer ที่จะเลื่อนตำแหน่งไปเป็น Executive Chairman แทน
เราต้องกล่าวเท้าความย้อนกลับไปก่อนว่าผู้หญิงแกร่งคนนี้เคยดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารฝ่ายทรัพยากรบุคคลหรือ CHRO ของบริษัท Unilever ซึ่งเธอเป็นผู้หญิงคนแรก เอเชียคนแรก และอายุน้อยที่สุดที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนี้และไม่ใช่เรื่องง่ายที่เธอจะอยู่ในตำแหน่งสูงสุดของผู้บริหาร ทั้งที่ก่อนหน้านี้หากย้อนกลับไปเธอเคยทำงานในสายงานด้านวิศวกรมาก่อนที่เธอจะย้ายสายงานมาทำงานด้านบริหาร โดยเริ่มต้นทำงานที่ Unilever ตั้งแต่ปี 1992 ในตำแหน่งผู้จัดการฝึกหัดและเธอก็ได้ไต่ตำแหน่งระดับสูงขึ้นมาเรื่อยๆ จนในปี 2016 เธอก็ได้ดำรงตำแหน่ง CHRO ที่ปูทางจนทำให้เธอกลายมาเป็น CEO ของแบรนด์ Chanel ในวันนี้นั่นเอง
บทบาทของหน้าหัวหน้าฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ในบริษัทใหญ่ระดับโลกทำให้เธอต้องดูแลพนักงานงานกว่า 160,000 ชีวิตทั่วโลกทำให้ Leena เป็นตัวเลือกที่เหมาะสมในการบริหารบริษัทแฟชั่นขนาดใหญ่แบบ Chanel แม้จะไม่มีประสบการณ์มาก่อนก็ตาม ความเข้าใจในความหลากหลายและประสบการณ์ทำงานกว่า 30 ปีทำให้เธอกลายเป็นแรงจูงใจแบบใหม่ที่ Chanel ต้องการมาเสริมให้กับแบรนด์ในระยะยาว
ในช่วงที่เธอดูแลบุคลากรให้กับบริษัท Unilever ภายใต้การดูแลของ Leena นั้นเรียกว่ามีสภาพแวดล้อมที่เป็นกลางและเท่าเทียมเป็นอย่างมาก เธอพยายามผลักดันความเท่าเทียมและความหลากหลายในบริษัทซึ่งทำให้บริษัท Unilever นั้นมีจำนวนพนักงานชายและหญิงในอัตราส่วน 50-50 ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ยากมากๆ แต่ Leena สามารถทำได้และเธอต้องการให้เป็นแบบนั้นเพราะเธอมักอยู่ในองค์กรที่มีแต่ผู้ชายเป็นผู้บริหารระดับสูงมากกว่าผู้หญิงนั่นเป็นสาเหตุหลักของการกดทับทางเพศในที่ทำงาน ซึ่งเราว่านี่ก็เป็นหนึ่งเหตุผลที่แบรนด์ดึงตัวเธอเข้ามาทำงาน
นอกจากนั้นเธอยังเพิ่มค่าแรงให้พนักงานทั้งสายพานการผลิตให้มีค่าแรงที่เหมาะสมต่อการดำรงชีพในปัจจุบันเพราะว่าแบรนด์แฟชั่นส่วนใหญ่ทั่วโลกโดนตั้งคำถามถึงความถูกต้องและเหมาะสมในเรื่องของค่าจ้างที่จ่ายให้บุคลากรในองค์กรโดยเฉพาะกับแบรนด์แฟชั่นที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งการขับเคลื่อนของเธอทั้งสองอย่างทำให้เกิดความเสมอภาคและความเท่าเทียมในองค์กรเป็นอย่างมาก เพราะเธอเชื่อว่าสภาพแวดล้อมที่มีให้ความเท่าเทียมและปลอดภัยเป็นสิ่งที่ผู้นำและองค์กรควรมีและมันเป็นกุญแจที่นำมาสู่ความสำเร็จขององค์กรในภาพรวมทั้งหมด ผลลัพธ์ทางธุรกิจอาจจะไม่ใช่สิ่งสำคัญเสมอไปแต่การให้ความสำคัญกับคนนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้บริษัทอยู่รอดในระยะยาว ซึ่งนี่อาจเป็นจุดมุ่งหมายที่แบรนด์ Chanel ต้องการให้เกิดขึ้นกับบ้านแฟชั่นอันเก่าแก่หลังนี้
อีกหนึ่งสิ่งที่ Chanel ดึงตัวเธอมาเพื่อแก้ไขนั้นก็คือช่วยฟื้นฟูยอดขายของแบรนด์ที่ได้รับผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 เนื่องจากหน้าร้านของแบรนด์ได้ปิดตัวลงทำให้ผู้บริโภคหันให้ซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์กันมากขึ้นแต่ Chanel เป็นแบรนด์ที่ไม่ได้สินค้าแฟชั่นผ่านช่องทางออนไลน์ของแบรนด์เหมือนกับแบรนด์แฟชั่นชั้นนำอื่นๆ ทำให้เธอมีหน้าที่เข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหานี้เพื่อสร้างยอดขายที่เพิ่มขึ้น และเธอยังเข้ามาช่วยกำหนดภาพรวมของแบรนด์ที่ระส่ำระสายหลังจาก Karl Lagerfeld ครีเอทีฟไดเร็กเตอร์คนก่อนได้เสียชีวิตไปให้มีภาพที่ชัดเจนมากขึ้นและสร้างมนตร์สะกดที่ Chanel ทำให้หายไปในปัจจุบันนี้