Search
Close this search box.
Search
Close this search box.

1 ปีผ่านไป ‘Let Her Grow’ แคมเปญของ Dove สู่การเปลี่ยนแปลงระเบียบทรงผมนักเรียนไทย

Beauty / Hair & Nail

Cannes Lions เทศกาลโฆษณาระดับโลกที่จัดเป็นประจำทุกปีที่เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส โดยในปี 2023 นี้มีแคมเปญโฆษณาจากประเทศไทยได้รับรางวัล Bronze ในหมวด Health & Wellness Lions และ Glass the Lion for Change แคมเปญนั้นก็คือ ‘Let Her Grow’ ของ Dove ประเทศไทย ที่ว่าด้วยการกฎระเบียบเรื่องทรงผมในโรงเรียน และการลงโทษตัดผมเด็กที่เป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดอำนาจนิยมในระบบการศึกษาไทยมาอย่างยาวนาน 

Photo : Unilever

ย้อนกลับไปเดือนพฤษภาคม 2022 คลิปวิดีโอของแคมเปญ #LetHerGrow จาก Dove ประเทศไทย กลายเป็นกระแสไวรัลในช่วงข้ามคืน ด้วยยอดคนดูกว่า 11 ล้านครั้งภายใน 3 วัน ภาพของเด็กนักเรียนหญิงถูกกล้อนผมจนแหว่งติดติ่งหูที่เราอาจเคยเห็นสมัยเรียน นำมาฉายให้เห็นอีกครั้งบนยูทูบ พร้อมกับประเด็นทางสังคมที่ถกเถียงกันมาอย่างยาวนานเรื่องการบังคับตัดผมสั้นในโรงเรียน  ทำให้เกิดการแสดงความคิดเห็นและแชร์ประสบการณ์กันอย่างแพร่หลายในวงกว้าง สอดคล้องไปกับการขับเคลื่อนเพื่อลดความเป็นอำนาจนิยมในระบบการศึกษาของคนรุ่นใหม่หลายกลุ่ม จนพูดได้อย่างเต็มปากว่า แคมเปญนี้ประสบความสำเร็จทั้งแง่ของเอนเกจเมนต์และฉันทามติทางสังคม

ผกาฉัตร เตชาบูรพานนท์ รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายพัฒนาตลาด ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ส่วนบุคคล กลุ่มบริษัท ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ว่า แคมเปญนี้มาจากเวิร์กชอปการทำ Local Marketing โดยคิดมาจาก Pain Point ของผู้บริโภคที่ต่างเคยมีประสบการณ์นี้ร่วมกัน การจำกัดทรงผมภายในโรงเรียนและลงโทษด้วยการตัดผมสร้างผลกระทบอย่างมากต่อสุขภาพจิตของเด็กและส่งผลต่อความมั่นใจในตัวเอง การบังคับตัดผมสั้นเป็นประเด็นเรื่องของ ‘Self-Esteem หรือการตระหนักในคุณค่าของตนเอง อันเป็นโจทย์สำคัญของการทำแคมเปญของ Dove ทั่วโลก 

การผลักดันประเด็นเรื่อง ‘Self-Esteem’ ของ Dove เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2004 ผ่านแคมเปญ Dove Self-esteem Project ที่ต้องการสนับสนุนผู้หญิงทั้งเด็กและผู้ใหญ่ให้มีความมั่นใจในตัวเอง และส่งเสริมค่านิยมที่เชื่อว่า ความงามที่แท้จริงเกิดขึ้นจากความมั่นใจ ไม่ได้มาจากรูปลักษณ์ภายนอก 

Photo: Dove UK 

Dove Self-esteem Project  ถูกนำไปต่อยอดในประเทศต่างๆตามประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละบริบทพื้นที่ เช่น ในแคมเปญ My Hair My Crown ในอังกฤษ ที่จับประเด็นปัญหาของเด็กผู้หญิงผิวสีที่ถูกเหยียดหรือกลั่นแกล้งจากการมีผมหยิกตามธรรมชาติ โดยเน้นไปที่การสร้างค่านิยมทั้งในเด็ก ผู้ปกครอง และครู เพื่อรับมือกับปัญหาการกลั่นแกล้ง และสร้างการรับรู้ถึงความหลากหลายทางเชื้อชาติและรูปลักษณ์ผ่านสื่อต่างๆ

แคมเปญที่ปังที่สุดอันหนึ่งภายใต้ Dove Self-esteem Project ก็คือ  Stop The Beauty Test ในปี 2021 ของ Dove ประเทศอินเดีย ที่เล่าเรื่องที่ผู้หญิงอินเดียต้องเผชิญกับบททดสอบความสวยงามจากครอบครัวและสังคมเพื่อเตรียมตัวเป็นเจ้าสาวภายใต้วัฒนธรรมแบบชายเป็นใหญ่ ในวัฒนธรรมอินเดียที่ผู้หญิงทุกคนถูกคาดหวังให้แต่งงานทำหน้าที่ภรรยา  พวกเธอจะต้องเข้าร่วมประเพณีดูตัวและถูกประเมินคุณสมบัติต่างๆจากฝ่ายชายและครอบครัว ด้วยมาตรฐานความสวยงามที่ไม่สนใจความแตกต่างหลากหลายที่มีมาตั้งแต่กำเนิด อ้วนเกินไป ผอมเกินไป เตี้ยเกินไป รอยปานหรือผิวพรรณจะถูกตัดสินจากฝ่ายชายและเครือญาติ ถูกวิพากษ์วิจารณ์จนถึงขั้นหัวเราะเยาะอย่างเปิดเผยทั้งต่อหน้าและลับหลัง เหมือนจับเอา Self-esteem ของพวกเธอไปตบกลางสี่แยกในนามของประเพณีดูตัว

 แคมเปญนี้กลับมาอีกครั้งในปี 2022 Stop The Beauty Test 2.0 ลงลึกไปยังรากของปัญหาเดิมที่ไม่ได้เกิดขึ้นแค่เมื่อผู้หญิงเป็นว่าที่เจ้าสาว แต่เริ่มต้นก่อนหน้านั้นตั้งแต่พวกเธอเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นโดยครอบครัวและสังคมรอบตัวพวกเธอเอง ที่ตั้งมาตรฐานความสวยงามขึ้นมากดดันให้พวกเธอต้องทำตาม แคมเปญเล่าเรื่องจริงของเด็กผู้หญิงหลายคนที่ยังเป็นนักเรียนแต่กลับถูกคาดหวังให้ให้ความสำคัญกับการไล่ตามมาตรฐานความงาม เพื่อให้ได้มีโอกาสได้รับเลือกเป็นภรรยาจากผู้ชายในอนาคต โดยมองข้ามตัวตนแท้จริงที่พวกเธออยากจะเป็น

Dove Self-esteem Project อาจจะดูเป็นแคมเปญที่ดูผิวเผินแล้วเหมือนจะพูดเรื่องที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันอย่างเรื่อง Self-esteem แต่หากมองดีๆแล้ว Dove ในฐานะแบรนด์สินค้าต้องใช้ความกล้าหาญอย่างมากในการเสี่ยงท้าทายค่านิยมในสังคมนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นอคติต่อชาติพันธุ์ใน My Hair My Crown วัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ใน Stop The Beauty Test และอำนาจนิยมในระบบการศึกษาใน Let Her Grow เพื่อผลักดันให้เกิดการตั้งคำถามและการเปลี่ยนแปลงต่อค่านิยมทางสังคมที่กัดกร่อน Self-esteem ของปัจเจกบุคคล โดยเฉพาะกับผู้หญิง 

การเปลี่ยนแปลงค่านิยมในสังคมไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องใช้เวลา เรื่องทรงผมของนักเรียนไทยเองก็เช่นกัน ในความเป็นจริงก็คือ ก่อนที่จะมีแคมเปญ Let Her Grow กระทรวงศึกษาธิการได้มีประกาศห้ามการลงโทษด้วยการตัดผมนักเรียนอยู่ก่อนแล้ว อีกทั้งระเบียบเรื่องทรงผมก็ไม่ได้เข้มงวดระดับหัวเกรียนติ่งหู แต่กลับไม่ได้รับการตอบสนองในระดับปฎิบัติ ปัญหาเรื่องทรงผมจึงไม่ได้อยู่ที่กฎจากกระทรวงหรือนโยบายระดับประเทศ แต่อยู่ที่การบังคับใช้และบัญญัติกฎเพิ่มเติมในระดับโรงเรียนซึ่งเป็นผลมาจากค่านิยมความเชื่อของผู้ใหญ่ในสถานศึกษาเอง ที่ยังติดอยู่ในแนวทางอำนาจนิยมแบบเดิมๆ

ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนปัจจุบัน

แคมเปญ Let Her Grow ช่วยให้เสียงของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงได้ดังขึ้นในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่ก็อาจจะไม่เพียงพอเมื่อทางกระทรวงศึกษาธิการในสมัยของรัฐมนตรี ตรีนุช เทียนทอง ได้ลงนามในวันที่ 24 มกราคม 2566  ยกเลิกกฎทรงผมของกระทรวงฯ และโยนอำนาจการออกกฎทรงผมไปไว้ที่โรงเรียน สิ่งที่ตามก็คือภาวะสุญญากาศทรงผม เปิดทางให้โรงเรียนออกกฎกำหนดทรงผมได้ตามใจชอบ โดยไม่มีเงื่อนไข ‘กฎทรงผมของโรงเรียนต้องไม่ขัดแย้งกับกฎทรงผมของกระทรวง’ อีกต่อไป

อย่างไรก็ดีนิมิตหมายอันดีก็เกิดขึ้น เมื่อทางกรุงเทพมหานครได้มีประกาศในวันที่ 23 มิถุนายน 2023 ที่ผ่านมา ให้โรงเรียนในสังกัด 437 แห่ง จัดทำข้อกำหนดให้นักเรียนไว้ทรงผมได้อย่างอิสระ บนพื้นฐานสุขอนามัยที่ดี สะอาด ส่งเสริมบุคลิกภาพและความมั่นใจ และห้ามมีการลงโทษด้วยการตัดผมหรือทำให้อับอาย ซึ่งทำให้เด็กนักเรียนในโรงเรียนสังกัดเมืองหลวงรอดพ้นจากวิบากกรรมกฎทรงนักเรียนอันยาวนานมาได้  

แต่ในส่วนของนักเรียนในโรงเรียนในจังหวัดที่เหลืออีก 76 จังหวัด ก็คงยังต้องรอต่อไป หรือถ้าเป็นไปได้ หาก Dove ประเทศไทยจะสานต่อแคมเปญ Let Her Grow เป็นเวอร์ชั่น 2.0 เหมือน Stop The Beauty Test 2.0 ของ Dove อินเดีย ก็คงจะดีไม่น้อย

Self-esteem ของเด็กนักเรียนจะได้ไม่กระจุกตัวอยู่แค่ในกรุงเทพ เฉกเช่นเดียวกับความเจริญอื่นๆ 

Words: Roongtawan Kaweesilp 

ข้อมูลจาก 

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม