เราเชื่อว่าในตอนนี้โลกของเราเข้าสู่ยุคแห่งความหลากหลายอย่างแท้จริง ซึ่งเราสามารถสังเกตได้จากสื่อแขนงต่างๆ ที่ช่วยกันขับเคลื่อนประเด็นความหลากหลายนี้ให้กลายมาเป็นอีกหนึ่งบรรทัดฐานหลักที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสีผิว เชื้อชาติ อายุ วัฒนธรรม และประเด็นความหลากหลายที่หลายๆ คนให้สำคัญมากอย่างเรื่อง ‘เพศ’ (Gender) ก็กลายมาอีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญไม่น้อยกว่าหัวข้ออื่นๆ
ทุกวันนี้เพศของคนเรานั้นไปไกลมากกว่าแค่เพียงคำว่า ‘ชาย’ และ ‘หญิง’ เพราะบนโลกของเรานั้นมีอัตลักษณ์ทางเพศและรสนิยมทางเพศอีกมากมายที่มาทำลายกรอบทางเพศแบบเดิมๆ ออกไป ในสังคมทุกวันนี้เราจะเห็นได้ว่าคนเราสามารถรักกันได้ไม่ใช่เฉพาะเพศตรงข้ามเท่านั้น แต่เพศเดียวกันก็สามารถรักกันได้และมีความสัมพันธ์ฉันคู่ได้เช่นกัน
และด้วยธีมของ LIPS Magazine ในเดือนนี้ว่าด้วยเรื่องของ #NEWWEDDING หรือเรื่องราวของความรักในมุมมองใหม่ๆ วันนี้เราเลยจะหยิบยกคำศัพท์หรือคำนิยามเรื่องเพศขึ้นมาพูดเพื่อให้ทุกคนได้รู้จักอัตลักษณ์ทางเพศ รสนิยมทางเพศ และคำศัพท์เกี่ยวกับเพศต่างๆ เพื่อเข้าใจถึงความหลากหลายทางเพศที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา ถึงแม้ว่าเรื่องราวความหลากทางเพศนี้จะอยู่คู่กับสังคมมนุษย์มาอย่างยาวนานแต่คำนิยามและคำศัพท์เหล่าก็ไม่ได้ถูกเปิดกว้างเท่าที่ควร ไปดูกันดีกว่าว่าเรื่องนิยามทางเพศบนโลกไปนี้เปิดกว้างไปถึงไหนแล้ว!
Let’s Get Started
ก่อนจะไปเริ่มทำความรู้จักกับนิยามคำศัพท์อันหลากหลายเราควรมาทำความรู้จักกับ ‘เพศกำเนิด’ หรือ ‘Assigned Sex’ กันก่อน ซึ่งเพศกำเนิดนี้เกิดจากการระบุเพศตามลักษณะทางกายวิภาค โครโมโซม และฮอร์โมนของคุณที่คุณได้รับมากับร่างกายตั้งแต่กำเนิด ซึ่งแบ่งออกเป็น ‘Assigned Male at Birth’ (AMAB) หรือเพศชายแต่กำเนิดและ ‘Assigned Female at Birth’ (AFAB) หรือเพศหญิงแต่กำเนิด
แต่นอกจากสองเพศกำเนิดที่มนุษย์เรานั้นได้รับมาตั้งแต่เกิดแล้วนั้นยังมีคำว่า ‘Intersex’ หรือ ‘เพศกำกวม’ ซึ่งเป็นสภาวะของบุคคลที่เกิดมาพร้อมกับลักษณะทางเพศ เช่น อวัยวะเพศหรือโครโมโซมไม่ตรงกับคำจำกัดความของเพศกำเนิดที่เรากล่าวไปด้านบน ทำให้บุคลากรทางการแพทย์นั้นไม่สามารถกำหนดเพศกำเนิดได้ แต่ในบางครั้งบุคลากรทางการแพท์ก็ได้เลือกเพศกำเนิดให้บุคคลเหล่านั้นโดยพิจารณาจากองค์ประกอบอื่นๆ ซึ่งเมื่อคนเหล่านั้นเติบโตไปก็อาจจะมีการแสดงออกทางเพศที่ไม่ตรงตามเพศที่ถูกระบุตั้งแต่เกิดได้เช่นกัน
และอีกหนึ่งคำที่ทุกคนควรรู้ก่อนจะไปทำความรู้จักคำศัพท์ต่างๆ เรื่องเพศนั่นก็คือคำว่า ‘Gender’ คำนี้เกิดขึ้นโดยโครงสร้างทางสังคมที่กำหนดคนตามลักษณะทางเพศของพวกเขา โดยเฉพาะในประเทศอนุรักษนิยมที่ยังเชื่อว่ามนุษย์มี 2 เพศตามระบบสืบพันธุ์ การแสดงอัตลักษณ์ทางเพศจะถูกกำหนดให้แสดงออกตรงกับเพศกำเนิดของตัวเอง เช่น เพศชายต้องมีแข็งแรง และเพศหญิงต้องเรียบร้อยอ่อนหวาน ซึ่งคำนี้สามารถต่อยอดไปยังคำศัพท์อย่าง ‘Gender Role’ หรือ ‘บทบาททางเพศ’ ได้ ยกตัวอย่างความหมายของคำว่า Gender Role ก็เช่น ผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้าออกไปทำงานหาเงินและผู้หญิงเป็นแม่บ้านอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน
Gender Identity
ถึงกระนั้นในปัจจุบันที่โลกของเรานั้นได้เปิดกว้างเรื่องความหลากหลายทางเพศมากขึ้นทำให้ ‘อัตลักษณ์ทางเพศ’ หรือ ‘Gender Identity’ นั้นสามารถแสดงออกตามมุมมอง ความรู้สึก หรือจิตสำนึกของแต่ละบุคคล โดยทาง GLAAD หรือองค์กรตรวจสอบสื่อนอกภาครัฐของอเมริกาเพื่อความเท่าเทียมทางเพศได้อธิบายความหมายของคำว่าอัตลักษณ์ทางเพศ (Gender Identity) ไว้ว่า “ความรู้สึกนึกคิดภายในของบุคคลที่มีต่อเพศของตนเอง” ซึ่งอัตลักษณ์ทางเพศอาจจะเหมือนหรือแตกต่างจากเพศกำเนิด (Assigned Sex) ของคุณก็ได้
ทำให้นิยามของอัตลักษณ์ทางเพศและคำศัพท์เกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศในปัจจุบันนั้นมีความหลากหลายมากขึ้นดังคำนิยามต่อไปนี้
1. ‘Cisgender’ หรือบุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศสอดคล้องกับเพศกำเนิด
2. ’Transgender’ คนข้ามเพศหรือบุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศแตกต่างจากเพศกำเนิด ซึ่ง Transgender ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศ แต่แค่รู้สึกว่าเพศที่แท้จริงของตัวเองตรงข้ามกับเพศกำเนิดของตัวเองก็เข้าข่ายคำนี้แล้ว
3. ‘Transsexual’ คำที่ใช้นิยามคนข้ามเพศหรือ Transgender ที่เข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศแล้ว
4. ’Trans’ คำสั้นๆ ที่ครอบคลุมสำหรับอัตลักษณ์ทางเพศต่างๆ ในชุมชนคนข้ามเพศ (Transgender Community) หรือเป็นคำย่อของคำว่า Transgender
5. ‘Binary’ หรือ ‘Gender Binary’ แนวคิดของการแบ่งเพศออกเป็นสองประเภทอย่างชัดเจน เช่น เพศชายและเพศหญิง
6. ’Non-Binary’ บุคคลที่อยู่นอกเหนือกรอบความเป็นเพศชายและเพศหญิง (Gender Binary) หรือกล่าวได้ว่าเป็นคนที่ไม่ระบุตัวตนว่าเป็นหญิงหรือชายอย่างเฉพาะเจาะจง
7. ‘Androgyne’ คนที่มีอัตลักษณ์ทางเพศที่แสดงลักษณะความเป็นชายและหญิงผสมกัน
8. ‘Bigender’ คนที่มีอัตลักษณ์ทางเพศที่แสดงออกทั้งเพศชายและหญิงพร้อมๆ กันหรือสลับกันไป
9. ‘Agender’ บุคคลที่ไม่ได้ระบุว่าตัวเองเป็นเพศใดโดยเฉพาะ
10. ‘Gender Fluid’ คนที่มีอัตลักษณ์ทางเพศหรือการแสดงออกทางเพศลื่นไหลไปตามความต้องการของตัวเอง
11. ‘Genderqueer’ บุคคลผู้ปฏิเสธแนวคิดแบบ Binary และเป็นบุคคลที่ยอมรับความคิดที่ลื่นไหลของเพศ (คำนี้มีความหมายคล้ายกับคำว่า Non-Binary)
12. ‘Questioning’ บุคคลที่ไม่ได้กำหนดอัตลักษณ์ทางเพศหรือรสนิยมทางเพศของตัวเองอย่างชัดเจน ราวกับว่าอยู่ในช่วงค้นหาตัวเองว่าตัวเองเป็นแบบไหน
Sexual Orientation
จบหมวดคำศัพท์เกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศกันไปแล้วเราก็มาต่อกับอีกกับหมวด ’Sexual Orientation’ หรือ ‘รสนิยมทางเพศ’ ซึ่งสามารถอธิบายคำคำนี้ได้ว่าการดึงดูดทางร่างกายและอารมณ์ของบุคคลหนึ่งต่อผู้อื่น ซึ่งหลายๆ คนอาจจะเข้าใจคำนี้ในภาษาไทยว่า ‘เพศวิถี’ ก็ได้
ด้วยคำศัพท์อันมากมายทำให้หลายๆ คนอาจจะสับสนระหว่างศัพท์ในหมวดของรสนิยมทางเพศ (Sexual Orientation) กับอัตลักษณ์ทางเพศ (Gender Identity) ได้ แต่เราขอขยายความให้หลายๆ คนหายงงสั้นๆ ได้ดังนี้ อัตลักษณ์ทางเพศคือการแสดงออกทางเพศของเราแต่รสนิยมทางเพศคือความรักและชื่นชอบในเพศต่างๆ เช่น นาย A เป็นเพศชายโดยกำเนิดและมีอัตลักษณ์ทางเพศเป็น Cisgender และมีรสนิยมทางเพศเป็น Heterosexual หรือรู้สึกชอบหรือรักเพศตรงข้าม หมายความว่านาย A เป็นผู้ชายที่ชอบผู้หญิง
อีกหนึ่งตัวอย่างให้เห็นภาพชัด เช่น นาย B เป็นเพศชายโดยกำเนิดและมีอัตลักษณ์ทางเพศเป็น Cisgender แต่รสนิยมทางเพศเป็น Homosexual หรือรู้สึกชอบหรือรักเพศเดียวกัน หมายความว่านาย B เป็นผู้ชายที่ชอบผู้ชายนั่นเอง ซึ่งรสนิยมทางเพศในปัจจุบันมีมากมากมายดังต่อไปนี้
1. ‘Heterosexual’ หรือ ’Straight’ หมายถึงคนที่รู้สึกดึงดูดกับเพศตรงข้าม
2. ‘Homosexual’ หมายถึงคนที่มีแรงดึงดูดกับเพศเดียวกันสามารถแบ่งได้เป็น Gay กับ Lesbian
3. ‘Gay’ หมายถึงผู้ชายที่ดึงดูดหรือชอบผู้ชายด้วยกัน และมีอีกความหมายที่ใช้อธิบายคนที่ชอบเพศเดียวกันไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง
4. ‘Lesbian’ หรือผู้หญิงที่ดึงดูดหรือชอบใจกับผู้หญิงด้วยกัน
5. ‘Bisexual’ หรือผู้ที่ดึงดูดหรือชื่นชอบทั้งผู้ชายและผู้หญิง
6. ‘Pansexual’ หมายความว่าบุคคลที่สามารถชอบพอหรือดึงดูดใครก็ได้ โดยไม่คำนึงถึงอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเอง กล่าวได้ว่าคนกลุ่มนี้ก้าวผ่านกรอบทางเพศไปแล้ว
7. ‘Asexual’ หมายถึงคนที่ไม่ได้สนใจในการร่วมเพศหรือการมีเพศสัมพันธ์ แต่ยังมีความรู้สึกรักและชอบพอกับคนอื่นได้ เพียงแค่ไม่ได้มีอารมณ์ทางเพศหรือแรงขับเคลื่อนทางเพศเข้ามาเกี่ยวข้อง
8. ‘Aromantic’ หมายถึงผู้ที่ไม่ได้รู้สึกตกหลุมรักหรือมีความรู้สึกเชิงโรแมนติกกับผู้อื่น
9. ‘Queer’ หมายถึงคนที่มีอัตลักษณ์ทางเพศและรสนิยมทางเพศไม่เป็นไปตามขนบของสังคมดั้งเดิมหรือ Heterosexual แต่ก็ไม่ได้จำกัดว่าตัวเองจะมีรสนิยมทางเพศแบบไหนหรือหมายความได้ว่าเป็นคนที่เปิดกว้างโดยไม่ต้องมีคำใดๆ มาจำกัดความเพศของตัวเอง
คำศัพท์เกี่ยวกับ LGBTQ+ ที่เรารวบรวมมาเรียกว่าเพียงพอต่อการเข้าใจในชุมชนของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศแล้ว แต่ให้พึงนึกเสมอว่าเรื่องเพศนั้นเป็นเรื่องที่สามารถลื่นไหลได้และยังมีนิยามอีกมากมายที่เกิดขึ้นมาใหม่และกำลังจะเกิดขึ้นเพื่อรองรับความหลากหลายของเพศของมนุษย์เรา ดังนั้นเราขอให้ทุกคนโปรดทำความเข้าใจใน เห็นอกเห็นใจ และโอบรับกับความหลากหลายทางเพศนี้ เพื่อสังคมที่ปราศจากการเลือกปฏิบัติและเกลียดชังผู้อื่น