
สื่อกลางระหว่างศิลปินกับแฟนเพลง และจุดร่วมระหว่างแฟนเพลงด้วยกัน นอกจากจะเป็นบทเพลงแล้ว ก็ยังมีวัตถุอันหนึ่งซึ่งมีเฉพาะในวัฒนธรรมเคป๊อปเท่านั้น นั่นคือแท่งไฟ

เมื่อปี 2017 เพื่อนฉันบินจากลอนดอนกลับมาไทย เพื่อจะมาจัดตั้งกองพลไปชมคอนเสิร์ตรวมตัวกันครั้งสุดท้ายในต่างแดนของ BIGBANG ที่ฮ่องกง นางเพิ่งเป็น VIP (ชื่อแฟนด้อมของ BIGBANG) หมาดๆ จึงไฟแรงมากกับการสนับสนุนศิลปิน นางทุ่มทุนซื้อตั๋วคอนเสิร์ต จองตั๋วเครื่องบิน และเมื่อไปถึงสถานที่จัดงาน นางก็ช้อปปิ้งสนุกสนานกับผลิตภัณฑ์ต่างๆของวง หนึ่งในนั้นคืออุปกรณ์เชียร์ที่ขาดไม่ได้ในคอนเสิร์ตศิลปินเคป๊อปอย่างแท่งไฟ
มหาสมุทรในคอนเสิร์ต K-POP
คอนเสิร์ต 0 to 10 ของ BIGBANG จัดขึ้นที่ Hong Kong Kai Tak Cruise Terminal เป็นคอนเสิร์ตเอาต์ดอร์ที่จุคนได้ราวหมื่นคน ตั๋วของพวกเราอยู่บนสแตนด์เห็นสถานที่จัดงานได้รอบทิศทาง และเมื่อแสงสุดท้ายของวันลับขอบฟ้า ไฟทั้งงานก็ดับมืดลง
วินาทีที่จอขนาดยักษ์สองฝั่งข้างเวทีสว่างวาบเป็นเลขนับถอยหลัง ชาว VIP ก็พร้อมใจกันชู Big Bong แท่งไฟรูปมงกุฎสีเหลืองในมือขึ้นมา และเมื่อสมาชิกทั้งห้า (ในเวลานั้น) ปรากฏตัวบนเวที พวกเขาก็ได้เห็น ‘Ocean’ มหาสมุทรแห่งแสงไฟจากแท่งไฟนับหมื่นอันที่แฟนๆพร้อมใจกันเปิดไฟชูขึ้นเพื่อต้องการจะบอกศิลปินที่รักว่า ‘พวกเราอยู่ที่นี่เพื่อคุณ’ ซึ่งนั่นทำให้แท่งไฟไม่ได้เป็นแค่อุปกรณ์เชียร์ศิลปิน แต่เป็นเครื่องมือสื่อสารระหว่างศิลปินและแฟนๆที่ทรงพลังและเรืองรองยิ่ง ชนิดที่น่าเอาไปต่อยอดเป็นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือ ‘หนึ่งศิลปิน หนึ่งแท่งไฟ’ เนื่องจากยอดขายของแท่งไฟนั้นมหาศาล
เพื่อนฉันนี่ตาค้างไปเลยกับภาพ Ocean ตรงหน้า และนางก็ปรับตัวได้อย่างไวกับการใช้แท่งไฟเล่นเวฟ แปรอักษร หรือกระพริบไปตามจังหวะเพลงตามแฟนคลับคนอื่นๆตลอดทั้งคอนเสิร์ต นางมองแท่งไฟในมือด้วยอารมณ์ประหลาด และนำมันกลับไปตั้งโชว์ที่บ้านราวกับเป็นเครื่องสักการะหรือเครื่องรางประจำตัวของศิลปิน ผู้ช่วยให้นางฝ่าฟันอาการซึมเศร้าจากการทำวิทยาพนธ์ปริญญาเอกที่ยากเข็ญและเดียวดายมาได้
ตำนานแท่งไฟ อุปกรณ์เชียร์ศิลปิน K-POP
ไอดอล K-POP ยุคแรก หรือที่เรียกว่าเจนหนึ่งนั้น เดบิวต์ในยุค 90 จึงยังไม่มีแท่งไฟ แฟนๆในยุคนั้นริเริ่มใส่เสื้อกันฝนและลูกโป่งสีเดียวกันเพื่อบ่งบอกว่าใครเป็นด้อมใคร เช่น สีขาวคือสีตัวแทนของวง H.O.T, Shinhwa คือสีส้ม, SechsKies คือสีเหลือง และ g.o.d คือสีฟ้า เป็นต้น

แต่ลูกโป่งสมัยนั้นจะมีสีสักเท่าไรกันเชียว นำไปสู่สงครามระหว่างระหว่างแฟนต่างด้อมในยุคแรกเริ่มจากการที่ะสีลูกโป่งซ้ำกันอย่างช่วยไม่ได้ ครั้นในปี 2002 ก็เริ่มใช้แท่งเรืองแสงมาเป็นลูกเล่นในคอนเสิร์ต แต่แสงสีไม่มีเอกลักษณ์และหลากหลายมากพอจะแยกความแตกต่างของวงเคป๊อปที่เดบิวต์กันปีละ 200 วงได้อยู่ดี

ดังที่สื่อต่างๆมักให้เครดิต G-DRAGON ลีดเดอร์ของวง BIGBANG ว่าเป็นคนแรกที่ออกไอเดียสร้างแท่งไฟประจำวงขึ้นในปี 2006 ซึ่งได้ออกแบบร่วมกับแฟนๆ เปลี่ยนดีไซน์ไปมา จนมาลงเอยที่แท่งไฟรูปมงกุฎสีเหลือง เพราะชาว VIP ยกให้ BIGBANG เป็น King of K-pop และนั่นก็เป็นจุดกำเนิดของ ‘แท่งไฟเชียร์ศิลปิน’
ดีไซน์สร้างสรรค์ของแท่งไฟ
แท่งไฟกลายเป็นสินค้าขายดีที่แฟนของศิลปินอยากมีไว้ในครอบครอง ค่าที่มันคือจดหมายรักระหว่างคนบนเวทีและคนที่อยู่ข้างล่าง ซึ่งต่างก็ต้องการกำลังใจด้วยกันทั้งสองฝ่าย
ค่ายเพลงต้นสังกัดจึงให้ความสำคัญกับดีไซน์ของแท่งไฟมาก จากยุคแรกที่แค่เปิด-ปิดไฟได้เฉยๆ ก็วิวัฒน์มาให้เล่นไฟได้ 12 สีอย่างแท่งไฟ Pharynx ของ EXO, มีบลูทูธเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนและใช้เป็นอุปกรณ์พันสายเบ็ดได้แบบที่ Jin ทำกับ Army Bomb แท่งไฟของ BTS หรือมีเสียงและเป็นอาวุธได้แบบแท่งไฟทรงค้อนหัวใจ Bbyongbong ที่สี่สาว BLACKPINK ช่วยกันออกแบบ เป็นต้น



แท่งไฟอาจเป็นรูปทรงอื่นๆที่ไม่ใช่คทา เช่น เป็นหัวไชเท้าแบบ Moo-bong ของวง MAMAMOO เนื่องจากในภาษาเกาหลี moo ออกเสียงคล้ายคำว่าหัวไชเท้า ในช่วงแรกที่ยังไม่มีแท่งไฟทางการ แฟนๆอุตส่าห์ซื้อหัวไชเท้าของจริงมาแกว่งส่งกำลังใจให้ศิลปินสี่สาวด้วยซ้ำ

ส่วน DAY6 เปลี่ยนแท่งไฟเป็น Light Band ที่หน้าตาเหมือนนาฬิกาเปล่งแสงได้, ITZY เองก็มีแท่งไฟเป็นรูปวงแหวนหรือโดนัทที่เรียกว่า Light Ring, วง Cherry Bullet ออกแบบแท่งไฟเป็นรูปปืนฉีดน้ำ Cherry Gun, Golden Child ทำเป็นรูปพินโบว์ลิ่งที่ให้ชื่อว่า Runebong





วงน้องใหม่มาแรง NewJeans เพิ่งเปิดขายแท่งไฟทางการของวงไปเมื่อ 30 มีนาคมมาหมาดๆ โดย Binky Bong เป็นแท่งไฟที่มีหัวเป็นกระต่ายน่าเอ็นดู เพื่อระลึกถึงแฟนๆที่มีชื่อเรียกว่า Bunnies
เช็กแบตเตอรี ชาร์จไฟให้เต็ม เตรียมพร้อมออกไปชูแท่งไฟให้กำลังใจศิลปินในคอนหน้า! (กดบัตรให้ทันก่อนเหอะ)
Words: Suphakdipa Poolsap
ข้อมูลจาก