MADE IN THAILAND คือหนึ่งในเครื่องหมายสำคัญของสินค้าไทย ที่สร้างความภูมิใจในหลากหลายรูปแบบ แต่ในวันนี้เราจะพาทุกคนไปอ่านวิธีคิดของนักสร้างนวัตกรรมแฟชั่น Made in Thailand ที่บ้างก็ทลายปัญหาแล้วสร้างเป็นโอกาส เปลี่ยนตัวเองก่อนที่จะถูกแปลง และมองเห็นคุณของสิ่งที่คนอื่นไม่เห็นค่า
THAIS: World’s First 100% Recycled Leather
ธันยวัฒน์ ทั่งตระกูล หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง THAIS – ธาอีส แบรนด์แอ็คเซสเซอรีส์สัญชาติไทยหนึ่งเดียวที่ชนะโอลิมปิกด้านนวัตกรรมรักษ์โลกจากยูเอ็น ทั้งยังเป็นแบรนด์แรกของโลกที่ใช้หนังรีไซเคิลเต็มร้อย
“ผมชอบเครื่องหนังมาก ชอบซื้อวัสดุมาทำของแจกคนรู้จัก ทำไปทำมาเศษหนังเต็มบ้าน เลยเริ่มตั้งคำถามว่าเศษหนังพวกนี้จะเอาไปทิ้งที่ไหนหรือเอาไปทำอะไรได้บ้าง พอหาข้อมูลลึกลงไปเรื่อยๆผมได้รู้ว่าเศษหนังตามโรงงานต่างๆ สุดท้ายเขาเอาไปทิ้ง มีเศษหนังแค่ 1% ที่ถูกนำกลับหมุนเวียนใช้ในท้องตลาด และไม่ว่าจะเป็นประเทศไหนในโลกจะใช้วิธีกำจัดเศษหนังอยู่ 2 แบบ หนึ่ง เผา สอง ฝังกลบ ซึ่งล้วนแต่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่อากาศ”
“เราเลยเริ่มทดลองในแล็บจนได้เป็นนวัตกรรมผลิตหนังรีไซเคิลที่เราให้ชื่อว่า ‘Regenesis Process’ ซึ่งไปได้รางวัลระดับนานาชาติจาก UNIDO – องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ ทั้งหมดเริ่มจากการที่เราต้องเข้าใจห่วงโซ่ของการกระทำของคนก่อน เราเลยพุ่งไปที่ People ส่งงานให้กลุ่มอุตสาหกรรมระดับชุมชนที่ระยอง ชลบุรีและจังหวัดอื่นๆเป็นคนทำชิ้นงานบางกลุ่มเป็นงานสาน งานตอกหมุดทำกล่อง หรือ งานทำมือต่างๆ ต่อมาคือ Planet ซึ่งเรานำเศษหนังเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล เราจึงช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 60 ตัน
จริงๆ ถ้ามองในมุมของคนที่คิดจะทำแบรนด์ที่ออกแบบเองก็คงไม่เสียเวลามานั่งคิดค้นนวัตกรรม เพราะเป่าพลาสติก 1 ชั่วโมงก็ได้ของเป็นแสนเป็นล้านชิ้นแล้ว แต่ของเรากว่าจะทำงานได้ต้องผ่านกระบวนการมากมาย คำว่าจึงกรีนไม่ได้ถูกๆ ซึ่งเราก็ทำไปตามปณิธานที่ตั้งไว้ ผมเชื่อว่าวิธีนี้จะเป็นแนวทางที่ยั่งยืน เพราะถ้าผลิตขายในรูปแบบเดิมๆ ปัญหาก็วนลูปต่อไป และกระบวนการทำสินค้ารักษ์โลก ทั้งในแง่นวัตกรรม วัสดุ ดีไซน์ ผมมองว่ามีหลายแง่มุมมากยิ่งกว่าเหลี่ยมมุมเพชรเสียอีก”
One More Thing: Self-disrupt to Renew Itself
จากโรงงานทอผ้าที่รื้อสร้างตัวเองใหม่เป็นแบรนด์ที่ขอเป็นโปรดักส์ ‘อีกสักชิ้น’ ในมหาสมุทรแห่งสินค้า ณรงค์ศักดิ์ ทองวัฒนาวณิช นักปฏิวัติตัวเองเล่าถึงเรื่องราว ‘การเดินทางยาก’ ของแบรนด์ผ้าทอนอกคอก One More Thing
“เราคิดว่าธุรกิจเราจะโดน disrupt เรามีโรงงานทอผ้าอยู่แล้วก็เลยเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจจากรับจ้างผลิตมาสร้างแบรนด์ของตัวเอง เรามองว่าในจักรวาลของผ้าทอ จุดแข็งของเราคือทอได้ละเอียดยิบและทอได้หลายถึง 12 สี ผ้าแจ็กการ์ดของเราทอละเอียดมากระดับเห็นลายเซ็นของศิลปิน ลายที่เราทำเลยออกมาเป็นในแนวแพทเทิร์นซึ่งรวมๆ แล้วมีพันกว่าลาย ส่วนหนึ่งจากนักออกแบบแบรนด์ของเราเอง อีกส่วนคือลายเอ็กซ์คลูซีพจากการร่วมงานกับศิลปินต่างๆ ”
“เราแบ่งสินค้าเป็น 4 กลุ่ม 1. ผ้าผืน 2. สินค้าแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ 3. โฮมเดคอร์ 4. ผ้าตกแต่งภายใน เป้าหมายที่เรากำลังทำอยู่คือบุกยุโรปให้มากขึ้น หวังว่าสักวันหนึ่งเราจะเป็น Little Prada หรือ Little Gucci ได้ แบรนด์เราไม่ค่อยได้ขายในเมืองไทยเพราะคนไทยไม่ค่อยให้ค่างานเราเท่าไร แต่ฝรั่งดูแล้วบอกว่าเจ๋ง บ้านเรามีความเหลื่อมล้ำสูง เรียกได้ว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างเลยละ เราจึงรู้สึกว่าเราอยากเติบโตในพื้นที่ใหม่ๆ ให้ความสำคัญกับนวัตกรรม เพราะมันเป็นตัวสร้างความแตกต่างให้กับแบรนด์ด้วย หากว่าสินค้าเหมือนๆกันมันก็ดีตรงที่ทำให้เกิดเสรีภาพในการบริโภค แต่นวัตกรรมคือสิ่งที่ขับเคลื่อนโลกไปข้างหน้า”
GEMIO: Healthy Feet for A Healthier Earth
ทายาทรุ่นสองของธุรกิจทำรองเท้าอายุครึ่งศตวรรษ อภิกษณา เตชะวีรภัทร หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง GEMIO แบรนด์รองเท้าที่ทำในเมืองไทย ใช้วัสดุของไทยซึ่งสามารถจดสิทธิบัตรนวัตกรรมยางที่ดีต่อใจ ดีต่อสุขภาพและดีต่อโลก
“ครอบครัวของเราทำรองเท้ามากว่า 50 ปี กระทั่งเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว เราอยากให้ธุรกิจมีความยั่งยืนมากขึ้น เพราะในการผลิตรองเท้าหลังจากขึ้นแพทเทิร์นและตัดออกมาเป็นรองเท้าจะมีเศษผ้าที่ถูกตัดทิ้งเยอะมาก เลยลองผสมเศษผ้าในกระบวนการผลิตพื้นยางด้านในรองเท้าบางรุ่น พอเริ่มทำแบรนด์ Gemio เราอยากจะให้ยั่งยืนมากขึ้นไปอีก เราเลยใช้ยางอีโคในรองเท้าทุกรุ่นและใช้ผ้าไทยของชุมชนต่างๆมาทำรองเท้าด้วย”
“เรามีเครื่องจักรเองเลยลองเอาเศษผ้ามาตัดซอยเป็นชิ้นเล็กๆแล้วผสมลงในยาง เป็นภูมิปัญญาที่เราทำในโรงงาน เราพลิกแพลงลวดลายไปได้เรื่อยๆ และไม่มีขยะเหลือทิ้งในกระบวนการผลิต แบรนด์เราจึงเป็น Bio-Circular-Green Economy (BCG) จากการใช้วิธี Upcycling นำของที่ไม่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่และสามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติส่วนนวัตกรรมใหม่ที่เราทำขึ้นมาชื่อว่ายาง Eco2 Surface ซึ่งเราจดสิทธิบัตรเป็นเจ้าแรกและเจ้าเดียวในโลกอีกด้วย ในขณะเดียวกันเราก็เป็นธุรกิจเอสเอ็มอีที่ไม่ได้มีห้องวิจัย ไม่สามารถปรับกระบวนการผลิตได้รวดเร็ว ไม่มีทีมนักออกแบบอย่างแบรนด์ใหญ่ ไม่ได้นำเข้าวัสดุหรือเทคโนโลยี เรามีเพียงพลังและใจที่อยากทดลอง ซึ่งแต่ก่อนถ้าบอกว่าเป็นวัสดุอัพไซเคิล คนจะเบ้หน้าเลย มองว่าเอาขยะมาขาย แต่ยุคนี้คนเข้าใจมากขึ้นและอยากทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น ยิ่งเราใช้เศษวัสดุมาอัพไซเคิลก็ยิ่งช่วยสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจมากขึ้น”
Text: สุภักดิภา พูลทรัพย์