Makkha Design Studio ครีเอทีฟสเปซของสองหนุ่มดีไซเนอร์กับการล้มลุกคลุกคลานกว่าจะสร้างงานคราฟต์ผสมนวัตกรรมสุดน่าทึ่งได้
พี – พริษฐ์ นิรุตติศาสน์ กับ นิว – โสภณัฐ สมรัตนกุล อดีตเด็กเดคแห่งรั้วศิลปากรที่หวนกลับมาแท็กทีมกันเพื่อสร้างสรรค์ผลงานส่งเข้าประกวด จนคว้ารางวัลชนะเลิศผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมเชิงสร้างสรรค์ครั้งที่ 8 Innovative Craft Award ของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ ปี 2019
รางวัลนี้เป็นโอกาสให้ทั้งคู่ตัดสินใจก่อตั้งแบรนด์ Makkha เป็นการเริ่มต้นการทำธุรกิจด้วยกัน โดยปักธงพาแบรนด์เข้าสู่วงการคราฟต์ ซึ่งเป็นตลาดที่บูมต่อเนื่องมานานนับสิบปี เรียกได้ว่าเป็นยุคทองของงานคราฟต์ก็ว่าได้
จากที่เคยเป็นนักออกแบบมาตลอด เมื่อต้องสวมหมวกอีกใบในฐานะนักธุรกิจ ยังขาดทั้งประสบการณ์และชั้นเชิงทางธุรกิจ ทั้งสองไม่รู้เลยว่า ณ ตอนนั้น ตลาดคราฟต์เริ่มเข้าสู่ช่วงขาลงแล้ว ซ้ำยังต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ที่โถมทับอุปสรรคเข้ามาอีกระลอกใหญ่ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวไม่มี ลูกค้าชาวต่างชาติไม่มา งานของพวกเขาเป็น Unique Piece ที่เป็นส่วนผสมของงานดีไซน์กับงานอาร์ตสุดคราฟต์ แต่กลับไม่มีออเดอร์เข้ามาให้อุ่นใจ ไม่ว่าจะตระเวนออกบูธตลาดงานดีไซน์ไหนๆ ก็ตาม
ทั้งคู่ไม่เพียงประคองตัวผ่านพ้นอุปสรรคนั้นมาได้ แต่ยังค้นพบทางออกที่เป็นทั้งทางรอดและดูเหมือนจะเป็นทางด่วนที่จะพาแบรนด์ไปสู่จุดหมายอย่างที่วาดหวังไว้อีกด้วย
LIPS: ย้อนกลับไปรางวัลจากการประกวดสักหน่อย
นิว : พอรู้ว่าต้องทำชิ้นงานสเกล 2 เมตร ภายใน 1 เดือนเพื่อให้ทันส่งเข้าประกวด ก็รู้ว่าทำคนเดียวไม่น่ารอดแน่ๆ ต้องหาเพื่อนร่วมทีมมาช่วย เลยโทร.หาพี
พี : ความที่เราเคยทำงานร่วมกันค่อนข้างบ่อยในหลายโปรเจกต์สมัยเรียน เพราะใช้วัสดุคล้ายกัน ทำงานประเภทเดียวกัน เลยอยู่สตูดิโอเดียวกัน เราสนิทกันอยู่แล้ว แม้เรียนจบจะแยกย้ายกันไปแต่ก็ยังติดต่อกันอยู่ นิวโทร.ช่วงที่ผมว่างเพราะเพิ่งออกจากงานพอดี เลยตกลงไปช่วยกันทำ
LIPS: ตั้งความหวังแค่ไหนกับผลงานนั้น
พี : เอาจริงตอนทำก็ไม่ทันคิดหรอกครับ (หัวเราะ)
นิว : ขอแค่ทำให้เสร็จ ให้มีส่งก่อน ขอแค่ให้งานเราได้ไปโชว์ติด 1 ใน 5 ก็แฮปปี้แล้ว ไม่คิดว่าจะชนะหรอก เพราะคนที่ส่งประกวดก็เก่งๆ ทั้งนั้น แต่จะว่าโชคดีก็ได้ เพราะโจทย์ Surreal Hospitality เข้าทางเราพอดี เพราะทำงาน Functional Art อยู่แล้ว เราตีโจทย์แล้วทำงานออกมา ทำให้เข้าใจง่ายขึ้นประมาณนึงเลย ผลเลยกลายเป็นว่าเราตีโจทย์ได้ใกล้เคียงที่สุด
LIPS: รางวัลชนะเลิศนอกจากเกินความคาดหวังแล้ว ยังเป็นจุดเริ่มต้นให้ทำธุรกิจด้วย
นิว : ไม่ได้เป็นจุดเปลี่ยนใหญ่โต แต่เป็นก้าวเล็กๆ ในการทำธุรกิจที่เราเตาะแตะกันสองคน เพราะทำธุรกิจไม่เป็น ช่วงแรกเราพยายามต่อยอดจากงานประกวดว่าจะทำยังไงได้อีกบ้าง ทำให้ยังใช้งานยากไปหน่อย เราทำงานอาร์ตมา จะคุ้นชินใน process ของงานอาร์ตมากกว่า แล้วก็ค่อยๆ ขยับไปทำงานคราฟต์ จนพีเสนอขึ้นมาว่ามีเทคนิคหนึ่งที่น่าสนใจที่มีมานานแล้ว
พี : เรียกว่าเป็นเทคนิคที่ตายไปแล้วก็ได้ เพราะไม่มีคนใช้ ไม่มีจุดพัฒนาแล้ว เรานำมาทำตัวโคมไฟใบไม้ โดยใช้การขึ้นรูปโลหะด้วยเคมีแทนการหล่อหรือเคาะดุน จุดเด่นของ process นี้คือมีน้ำหนักเบา เพราะไม่ต้องขึ้นโลหะมาจนหนาเหมือนการหล่อหรือการรีดโลหะ ที่สำคัญยังสร้างเทกซ์เจอร์และพื้นผิวที่งานโลหะแบบอื่นไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ง่ายๆ แต่ก็ขึ้นอยู่กับเนื้อวัสดุตั้งต้นที่เอามาใช้ก่อนที่จะผ่านกระบวนการเคมีโลหะด้วย เรานำความคิดเชิงการออกแบบเข้าไปช่วยในการจัดสรรให้เทคนิคนี้ได้ทำงาน ได้แสดงตัวตนที่ดีที่สุดในแบบของมัน
LIPS: กลายเป็นเทคนิคการผลิตชิ้นงานของ Makkha
นิว : สตูดิโอเราจะทำทุกอย่างภายใต้ 3 pillars คือ Design Craft และ Innovation ซึ่งโคมไฟใบไม้มีการดีไซน์อยู่แล้ว มีความเป็นคราฟต์ผสมอยู่บ้างเหมือนกัน เพราะของตั้งต้นคือมีการนำใบไม้ใบเล็กๆ มาต่อกันเพื่อขึ้นรูปทรงที่ต้องการ ไม่งั้นจะเป็นการทำงานแบบ 1:1 เช่น เอาดอกไม้ไปผ่านกระบวนการนี้ขึ้นมาก็เป็นดอกไม้โลหะ แล้วยังไง มันไม่เกิดการต่อยอดเท่าไร เราเลยมองว่า ลองมาครีเอตสิ่งนี้โดยการ process โลหะ ก็เรียกว่าเป็นนวัตกรรม แต่เราต้องต่อยอดออกไปอีก ตอนนั้นพีเสนอขึ้นมาว่า อยากให้นำสิ่งที่จะใส่ไปในน้ำยานั้นมาจัดการสักหน่อยในรูปแบบที่ใหม่ขึ้น จนออกมาเป็น Modular System ทำให้มีลักษณะรูปทรงซ้ำๆ แล้วเอามาต่อกันได้
พี : เทคนิคนี้ใช้ต้นทุนสูง เพราะโลหะที่นำมาใช้ต้อง pure เท่านั้น ความบริสุทธิ์ในที่นี้ต้องบริสุทธิ์ในชนิดตามตารางธาตุเท่านั้นด้วย จะต้องไม่ใช่อัลลอยด์ หรือโลหะที่ผสมแร่ธาตุหลายชนิดเข้าด้วยกัน ธาตุบริสุทธิ์คือพวกที่อยู่ในตารางธาตุ ซึ่งใน process ของเราใช้ทองแดงที่แม้จะราคาถูกที่สุดของโลหะ แต่ก็ถือว่าเป็นวัสดุที่แพงแล้ว ถ้าขยับขึ้นไปก็จะเป็นเงิน ทอง ทองคำขาว
นิว : เป็น process ที่เหมาะกับธุรกิจจิวเวลรีและงานตกแต่งมากกว่า เพราะไม่ต้องถูกนำไปใช้ในฟังก์ชันที่ไม่เหมาะกับคุณสมบัติของมัน แต่ถามว่าทำเป็นธุรกิจได้ไหม ทำได้ คือเราต้องจัดการของต้นทางก่อนที่จะไปลงน้ำยาเท่านั้นเอง อันนั้นคือจุดหลักที่เราต้องมาสร้างขึ้นมา ถึงเกิดเป็นธุรกิจได้
LIPS: ถามถึง DNA การออกแบบของแต่ละคนเป็นยังไง
นิว : บังเอิญมาก เราเพิ่งคุยเรื่องนี้กันไม่นานนี้เอง ธรรมดาเราทำงานแบบดูโอตลอด ไม่เคยแยกกันออกแบบ 100% ต่อให้มีใครเป็นเมนอันไหน ก็จะมีอีกคนเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบเสมอ เหมือนถ่วงดุลกันอยู่ เพราะวิธีคิดเราไม่เหมือนกัน เหมือนจะอยู่บนไลน์เดียวกัน แต่ก็ไม่อยู่บนไลน์เดียวกัน (หัวเราะ) เพราะผมจะชอบแตกข้อมูลออกมาให้เยอะที่สุด ทำทุกอย่างออกมา แล้วหาจุดเชื่อมโยงของสิ่งที่ซับซ้อนแล้วพัฒนาต่อ
พี : ส่วนผมศึกษามาเหมือนกัน แต่จะไม่ค่อยต่อยอดจากสิ่งนั้นมากนนัก จะรวบสิ่งที่ศึกษาให้ง่ายขึ้นมากกว่า ถ้าดูงานของ Makkha ทั้งรูปแบบและคอนเซปต์เลยเหมือนมีสองเลเยอร์ที่ซ้อนกันอยู่พอดี เป็นเลเยอร์ที่เป็นภาพองค์รวมที่เราตบกันจนได้ออกมาหน้าตาแบบนี้ มู้ดแบบนี้ แต่ในเลเยอร์นี้ก็จะมีอีกคอนเซปต์ซ่อนอยู่ อารมณ์เหมือนใส่แว่นสามมิติ ข้างนึงสีแดง ข้างนึงสีน้ำเงิน แต่พอใส่ซ้อนกันแล้ว ภาพที่นิ่งๆ อยู่ก็จะค่อยๆ นูนออกมา (หัวเราะ)
LIPS: ยกตัวอย่างสักชิ้นงานให้เห็นภาพการทำงานของทั้งคู่หน่อย
นิว : ชุดสีมาที่ collab กับ qurvfurniture บริษัททำไฟเบอร์กลาส วัสดุโจทย์คือไฟเบอร์กลาสผิวหิน เราคุยกันแค่ว่า น่าจะต้องออกแบบอะไรที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกหินแต่ไม่หินเสียทีเดียว เพราะไม่งั้นจะดูซ้ำซากเกินไป แล้วก็แยกย้ายกันไปหาข้อมูล อ้อ…เรามีจุดเชื่อมอย่างหนึ่งคือการชอบงานที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมและปรัชญามากๆ ตลกมากว่าเรามักเจอข้อมูลเดียวกัน อย่างครั้งนี้เราเจอว่าใบเสมาที่เป็นแผ่นหินที่ล้อมรอบอุโบสถ เราเจอแบบนี้บ่อยๆ หรือไม่ก็โยนไอเดียกันสัก 2-3 ไอเดีย เดี๋ยวก็ชนกันแล้ว แม้วิธีการเราจะต่างกันแต่จุดมุ่งหมายเราอันเดียวกัน เราก็จะมุ่งไปที่จุดมุ่งหมายนั้น
พี : พอมีจุดมุ่งหมาย ก็หาคอนเซปต์ หาแนวคิด วัฒนธรรมที่สอดคล้องกับเป้าหมายนี้มาคุยกัน นิวจะสำรวจไปเรื่อย ‘เรามีหินนี้ เอาหินนี้ไหม’ หรือเราเป็นเสานี้ไหม เป็นสวนหินแบบเซนไหม
นิว : ผมไปแตกมาว่าเราสามารถเล่าเรื่องอะไรเกี่ยวกับเสมาได้อีก นอกจาก execution การดำเนินการของเสมา แล้วก็มาคุยกัน แล้วเราก็เลือกเรื่องที่ชอบเหมือนกันทั้งคู่ อย่างเรื่องของเสมาอันนึงที่เราชอบและเห็นตรงกันโดยไม่ต้องนัดเลย เพราะน่าสนใจจริงๆ คือ เสมาล้อมพื้นที่ที่ทำให้เกิดพื้นที่ข้างในที่เรียกว่า สีมา หรือพื้นที่สมมติซึ่งสงฆ์ใช้ทำพิธีกรรม (สังฆกรรม) ระหว่างที่สงฆ์ทำสังฆกรรมอยู่นั้น ถ้ามีสงฆ์จากที่อื่นเข้ามา ก็ต้องเข้าร่วม ไม่งั้นพิธีที่ทำอยู่จะเป็นโมฆะ ต้องเริ่มต้นใหม่ หรือไม่ก็แยกย้ายไปเลย เรารู้สึกว่าเป็นแนวคิดที่โมเดิร์นมาก เพราะสมัยนี้ถ้าเรานั่งกินข้าวกินกาแฟอยู่กับเพื่อน ถ้ามีคนนอกมา ก็ต้องเลือกแล้วว่าจะมาจอยไหม ถ้าไม่ วงก็แตก แยกย้ายกันไปดีกว่า
พี : เราเลยนำสิ่งนี้มาเป็นคอนเซปต์การออกแบบว่า เก้าอี้ควรจะต้องล้อมต่อกันได้ในทุกด้าน สามารถเรียงต่อกัน วางเป็นกลุ่มได้ เป็นการสร้างพื้นที่เพิ่มสำหรับคนอื่นๆ ได้ โดยที่ลวดลายต่อกันได้ทุกด้าน ทุกชิ้น เพื่อแสดงถึงการเชื่อมถึงกันเป็นกลุ่มก้อน แม้ว่าแต่ละตัวจะมีความยูนีกก็ตาม
LIPS: ถ้าครั้งไหนคิดเห็นไม่ตรงกันล่ะ
พี : เป็นธรรมดาของการทำงานอยู่แล้ว ช่วงแรกเรายังจูนกันไม่เข้าที่ ส่วนหนึ่งเพราะผมเป็นคนชอบประนีประนอมอยู่แล้วด้วย ถ้าไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนจริง ก็จะปล่อยให้เวลาจัดการปัญหาและอุปสรรคต่างๆ เอง ผมมองว่าบางเรื่องถ้าไปเร่งก็ไม่น่าจะไปถึงเป้าหมายที่เราต้องการได้ เราเริ่มสิ่งนี้มาด้วยกัน ก็ต้องไปด้วยกัน และความที่ผมทำงานแบรนด์จิเวลรีของแต่งบ้านไฮเอนด์ เป็นแบรนด์ที่ commercial เน้นผลิตเพื่อขายจริงๆ เจ้าของมีวิชั่นในการมองตลาด ในการทำมาร์เก็ตติ้งมาก ผมทำงานออกแบบของที่ precious คือทำน้อยได้มากตามฟังก์ชันของจิเวลรี
ยกตัวอย่าง ที่รองแก้วใช้ทองเหลืองมากกว่ากำไล แต่ราคาขายอาจจะพอๆ กัน เพราะมูลค่ากำไลทองเหลืองมากกว่าที่รองแก้วเยอะมาก เป็นมูลค่าที่คนซื้อรู้สึกและให้คุณค่า แต่ผมพูดไม่ได้เต็มปากว่าสิ่งที่คิดถูกต้องที่สุด ถ้าตอนนั้นบอกว่า ‘ทำอย่างนี้ยังไงก็ขายไม่ได้หรอก’ ป่านนี้ก็คงไม่มี Makkha ที่อยู่มาได้ 4 ปีแล้วหรอกครับ
นิว : ยอมรับว่าผมปรับตัวตามความเปลี่ยนแปลงของตลาดไม่ทัน ยังไม่เห็นภาพ ยังอยากทำสิ่งที่อยากทำก่อน ตอนนั้นก็ยังเด็กมาก อีโก้แหละ (หัวเราะ) แล้วอีกประเด็นที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น คือไม่รู้จะถามใคร ไม่รู้ว่าจะถามอะไร เพราะเรารู้น้อยจริงๆ ตอนนั้น ต่อให้เรารู้จักคนที่จะปรึกษาได้ ก็ไม่รู้ว่าควรเริ่มต้นจากตรงไหน ควรปรึกษาอะไร อุปสรรคเยอะไปหมด พีใจเย็นมากที่จัดการกับสถานการณ์ตรงนั้นมาตลอด อย่างมากพีจะพูดอ้อมๆ
ช่วงนั้นผมเองเจอปัญหาความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ไม่ค่อยดีเท่าไรด้วย แล้วก็เลิกราแยกย้ายกันไป ทำให้ได้กลับมาทบทวนตัวเองทุกเรื่องเลยว่า จริงๆ เราก็ไม่ใช่คนไม่ดี เขาก็ไม่ใช่คนไม่ดี งานที่เราทำก็ไม่ใช่งานไม่ดี แล้วอะไรคือปัญหากันแน่ ก็พบว่า ตัวเองเป็นคนอีโก้อยู่แล้ว จะทำอะไรก็จะใช้ข้อมูลที่เราหามาเยอะมาซัพพอร์ตสิ่งที่พูด ทำให้เรามั่นใจเกินไป จนได้เรียนรู้ว่าบางครั้งข้อมูลที่ดีก็ต้องมาให้ถูกเวลาด้วย อยู่ในบริบทที่ใช่ด้วย ก็ค่อยๆ เริ่มต้นใหม่
LIPS: เป็นยุคเรอเนซองซ์ของ Makkha
พี : เราเบรกกัน 3-4 เดือน เป็นช่วงปิดเทอมของสตูดิโอ เพราะอยู่ในช่วงโควิด ผมไปทำเกษตร ไปศึกษาการปลูกผัก ปลูกต้นไม้ เลี้ยงสัตว์ ไปเรียนรู้ตามแหล่งเรียนรู้ เอาจริงๆ ความเปลี่ยนแปลงของนิว ผมเห็นตั้งแต่เราเริ่มทำงานชุดอนิจจัง นิวได้กลับไปคิด แล้วรีฟอร์มตัวเองมาใหม่
เขาจะพูดทำนองว่า ‘ลองดูไหม คราวที่แล้วมันเหมือนของผมหมดเลยเนอะ คราวนี้เรามาร่วมมือกันไหม’ เลยเป็นวิธีทำงานที่เราใช้จนทุกวันนี้ จะคุยกันคนละครึ่งทาง ของผมเท่านี้ คุณเท่านี้ วิธีคิดของคุณตรงนี้ ผมแย้งเลย เพราะคุณเปลี่ยนไปแล้ว เพราะช่วงแรกผมต้องเรียนรู้ก่อนว่านิวทำงานยังไง ผมสามารถแทรกได้หรือเปล่า ไปปรับตรงไหนได้บ้างไหม
LIPS: ดูเหมือนบรรยากาศการทำงานเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น แต่ไม่ทันไร อุปสรรคใหญ่ก็เข้ามา
นิว : เราเหลือเงินก้อนสุดท้ายสำหรับทำงานชุดหนึ่งที่ลึกๆ ผมคิดในใจว่า ถ้าคราวนี้ไม่รอดคงต้องวงแตกแล้วล่ะ เราไม่เคยออกงานที่ต้องเสียเงินมาก่อน แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจไปออกบูธงาน Mango Art Festival 2021 เป็นงานแรกและถ้ามันจบก็จะเป็นงานสุดท้ายที่ต้องวัดใจกันเลย แต่ปรากฏว่าผลตอบรับดีกว่าที่คิดไว้มาก เราไม่เคยคิดเลยว่าที่ผ่านมาไปผิดตลาดมาตลอด เราไปในที่ที่ไม่ใช่ที่ยืนของเรามาตลอดเลย
พี : เอาจริงๆ ตอนชนะประกวดแล้วมาสร้างแบรนด์ยังไม่ใช่จุดเปลี่ยนหรอกครับ จุดเปลี่ยนจริงๆ คือการไปออกงานครั้งนี้ต่างหาก (หัวเราะ) หลายสิ่งหลายอย่างเกิดที่งานนี้เยอะมาก ต้องขอบคุณพี่รัก – สุวรรณ คงขุนเทียน เป็นพี่รุ่นใหญ่ระดับบิ๊ก เจ้าของแบรนด์โยธกา (นักออกแบบเจ้าของรางวัลศิลปาธรกิตติคุณ สาขาออกแบบเชิงสร้างสรรค์ ปี 2551) และพี่ป๋อง – อมรเทพ คัชชานนท์ (นักออกแบบเจ้าของแบรนด์ AmoArte) ที่เข้ามาคุยกับพวกผมที่เป็นเด็กน้อยไปออกงานตอนนั้นแบบงงๆ พี่เขาอยากให้เราไปเข้าร่วมสมาคมผู้ผลิตผลิตภัณฑ์แนวดีไซน์ด้วยกัน อาจเป็นความเอ็นดูเราด้วยก็ได้ (หัวเราะ) ต้องขอบคุณพี่ๆ สองคนนี้มากๆ ที่เห็นศักยภาพเรา แต่เรายังไม่ได้เข้าร่วมทันทีนะ เพราะคิดว่าเรายังตัวเล็กเกินไป ยังไม่พร้อมไปอยู่จุดเดียวกับเขาขนาดนั้น
นิว : ความที่สมาคมฯ เต็มไปด้วยแบรนด์ที่มีแต่ดีไซเนอร์เก่งๆ ทุกคนมีเครดิตที่ดี เวลาออกงานจะไปกันทั้งทีมเลย เป็นโอกาสที่ดึงความสนใจจากกลุ่มลูกค้าที่เป็นเป้าหมายให้มาชมงานมากขึ้น อันนี้ชัดเจนที่สุดเลย แล้วเขาก็มีโครงการอะไรก็จะชวนกันทำร่วมกัน การได้ทำงานกับคนเก่งๆ เราจะได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ ตลอด แต่ ณ ตอนนั้น พอจบงาน Mango เราต้องกลับไปจัดการตัวเองก่อน เพราะยังไม่ได้เป็นบริษัทด้วยตอนนั้น ถ้าจำไม่ผิดจะเป็นสมาชิกสมาคมฯ ได้ต้องเป็นบริษัทก่อน เราก็ค่อยๆ กลับมาจัดการตัวเอง
LIPS: จาก Makkha Craft ทรานส์ฟอร์มมาเป็น Makkha Design Studio
พี : ถามว่า Makkha Design Studio ว่ามาไกลมากไหม ผมไม่กล้าพูดหรอกว่าเราเป็นที่สุด ดีเลิศ แต่ในฐานะดีไซเนอร์ เราพัฒนาในจุดที่ให้ธุรกิจไปได้ อาจจะยังไม่ได้โปรมาก แต่เพียงพอที่เราจะผลิตผลงานดีๆ ออกมาได้มากขึ้น มีคนเห็นเรามากขึ้น เป็นที่รู้จักมากขึ้น มีที่ปรึกษา มีคนที่เราคุยกับเขาได้มากขึ้น จากที่เราเริ่มต้นด้วยความไม่รู้และอยากจะมีแบรนด์เป็นของตัวเอง
นิว : ถ้ามองย้อนกลับไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว สิ่งที่ชัดเจนคือไดเรกชั่น พอเรามาจัดการตัวเองกันใหม่ เริ่มรู้ว่าอยากให้แบรนด์นี้ สตูดิโอนี้โตไปแบบไหน แล้วเราจะทำอะไรได้บ้าง เริ่มมีภาพชัดเจนมากขึ้น เริ่มเห็นภาพแล้วว่า ควรทำหรือไม่ควรทำอะไรมากกว่าเดิม อาจจะไม่ถึงกับรู้ทุกอย่าง แต่เรารู้มากกว่าเดิม ว่าอะไรควรคิดถึงก่อนหรือหลัง เมื่อก่อนเราพยายามทำงาน price over value พยายามทำของที่แมตช์กันมากขึ้น แต่ต้องยอมรับว่ายังเป็นของราคาสูงสำหรับตลาดไทยอยู่ ด้วย material เอง ราคาลงไปกว่านี้ไม่ได้ เราก็มีปัญหานี้เหมือนยุคปีแรกๆ ที่ตั้งแบรนด์
LIPS: แต่ครั้งนี้มีกูรูให้ปรึกษาแล้ว
นิว : ถ้าเป็นเมื่อปีแรกจะไม่แปลกใจถ้าเขาบอกว่า ‘คุณทำของที่มูลค่าเกินการใช้งาน’ แต่มาปัจจุบัน เราปรึกษาเขาว่าควรทำให้ถูกลงไหม เพื่อเข้าถึงตลาดให้มากขึ้น ผมมองว่าดีไซเนอร์ไม่ใช่แค่ออกแบบเก่ง แต่ต้องเรียนรู้ให้เข้าใจตลาดด้วย แต่คำตอบจากพี่รักที่บอกเราว่า ‘คุณไม่ต้องทำให้ถูกลงหรอก เดี๋ยวจะมีงานที่ฝรั่งเศส คุณไปดูกับผมไหม จะได้รู้ว่า ถ้าจะไปออกบูธ จะต้องทำอะไร’
เราตีความคำตอบจากพี่รักได้ว่า เรากำลังอยู่ผิดตลาด ต้องทำความเข้าใจตลาดก่อน แผนต่อไปเป็นรูปธรรมมากกว่าแค่ความอยากหรือความฝัน พี่รักบอกเราว่า ‘คุณดูใกล้เคียงที่มีศักยภาพจะถึงตลาดนั้นแล้ว’ สิ่งที่เราต้องทำคือพาตัวเองไปอยู่ตรงนั้นให้ได้ เท่านั้นเอง ผมถือโอกาสนี้ส่งเมสเสจให้ใครที่พยายามตั้งแบรนด์ละกัน ว่าอย่าไปล้มแบบเดียวกับเราเลย
พี : การทำโปรดักต์เพื่อไปตลาดโลกเป็นเป้าอยู่แล้ว ในแง่ธุรกิจเราก็ต้องการหล่อเลี้ยงบริษัทเหมือนกัน แต่ถ้าถามว่าจริงๆ แล้วอยากทำอะไร ถ้าย้อนกลับไปตั้งแต่ตั้งต้นเลย อยากสร้างสรรค์งานที่ได้ช่วยเหลือคนอื่นบ้าง เคยคิดจะทำงานกับชุมชน ช่วยให้ชุมชนได้ทำงาน ไปช่วยพัฒนา เอาสิ่งที่ตัวเองมี ข้อดีที่ตัวเองมีไปช่วยเขา เป้าประสงค์ของผมคือถ้าแบรนด์เราแข็งแรงดี คงได้ช่วยเหลือคนอื่นได้มากกว่านี้ สักแง่นึงแง่ไหนก็ยังดี และฝันสูงสุดคืออยากเปิดสถาบันเป็นของตัวเอง
LIPS: ความเป็น innovation ของเราส่งเสริมการผลิตที่เป็น commercial ด้วยไหม
พี : เดิมทีคราฟต์ไม่ซัพพอร์ต commercial เพราะจำนวนจำกัด กำลังการผลิตจำกัด เหตุผลหนึ่งที่เรานำ innovation เข้ามาผนวก ก็เพื่อแก้ปัญหานี้ด้วย เพราะเรามองว่าไม่จำเป็นต้องคราฟต์ 100% ก็ได้ อย่างแทนที่เราจะดุนโคมไฟให้มีลายใบไม้ เราก็ใช้โลหะเคมีแทน ซึ่งยังมีความคราฟต์อยู่ เพราะยังต้องใช้คนต่อใบไม้ แต่ก็ลดความหนักของงาน และลดความ specific ของงานไปเยอะมาก ไม่งั้นจะกลายเป็นสเกลระดับช่างจิวเวลรีในตำนานเท่านั้นถึงจะทำได้
เราสามารถจ่ายงานให้แม่บ้าน ส่งงานให้ชุมชนต่างๆ หรือว่าคนว่างงานอื่นๆ กระทั่งสตาฟในร้านกาแฟก็ได้ innovation ทำให้เราเพิ่มจำนวนการผลิตได้ จากที่ต้องมานั่งดุนโลหะ งานขนาดเท่าโคมไฟถ้าเอาละเอียดขนาดนี้ ไม่รู้ทำได้หรือเปล่า ทำนานหลักปีจะเสร็จไหม แต่วิธีนี้ทำได้เร็วกว่ามาก
นิว : อย่างเสมาเราก็มีเทคนิคปิดทองตรงเส้นสีทอง เราก็ไม่ทิ้งความคราฟต์ พอลดงานปิดทองที่ต้องเยอะๆ หรือเป็นลายที่ยาก แต่เป็นลายที่เราเดินเส้นไว้ให้แล้ว ลงน้ำยาปิดทองตามเส้นได้เลย ก็ทำให้ทำงานเร็วขึ้นมาก การมองในแง่นวัตกรรมไม่ได้แค่ต้องเป็นเทคโนโลยีอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องนวัตกรรมในการใช้เทคนิคเดิมๆ ก็ได้เหมือนกัน
พี : ผมมองว่าคราฟต์กับเทคเป็นเรื่องเดียวกัน กระด้ง สุ่ม กระต่ายขูดมะพร้าว อาจจะเป็นเทคในสมัยก่อน ‘มันล้ำมากเลยนะ คิดกระต่ายขูดมะพร้าวมาได้ยังไง’ ต้องบอกว่า คราฟต์เป็นเทคแบบ old-school พอเรามีไฟฟ้าใช้ เทคก็เริ่มเป็นอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ใช้มือน้อยลง อุตสาหกรรมเติบโต นวัตกรรมมากขึ้น โรงงานก็ผลิตได้ เลยกลายเป็นว่าภาพการผลิตแบบ manufacturer กับการผลิตแบบคราฟต์เลยดู old way มาก เก่าแก่ ต้องใช้มือ วัสดุต้องธรรมชาติ แต่ถ้าโดยฟังก์ชันแล้วมันเหมือนกัน แค่อยู่กันคนละช่วงเวลาแค่นั้น
ก่อนจบการสนทนา นิวบอกถึงความหมายของ Makkha มาจากคำว่า มรรคา ที่แปลว่า ทาง และยืนยันถึงปณิธานอันมั่นคงของทั้งคู่ในฐานะนักออกแบบที่พร้อมจะเป็น ‘เส้นทาง’ นำพาอะไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นงานคราฟต์ งานดีไซน์ ไอเดีย วัฒนธรรม หรือความเชื่อให้มาเจอกันแล้วไปด้วยกันในเส้นทางนั้น ผ่านการออกแบบงานศิลปะอย่างสร้างสรรค์จากพวกเขา
เราเอาใจช่วยให้วันหนึ่งในเร็ววันนี้ เส้นทางของ Makkha กับความสำเร็จจะได้อยู่บนทางเดียวกันด้วยเช่นกัน
Words: Rattikarn Hana
Photos: Somkiat Kangsdalwirun