เมื่อเพื่อนรักสองคน เกรซ – ฐิติรัตน์ ตั้งปณิธานสุข และ เกศ – ณัชยา โสคติยานุรักษ์ ผสานสองแพสชั่นในกระเป๋าลักชัวรีกับผ้าไทยเข้าด้วยกัน ก่อเกิดเป็นเซอร์ไพรส์ใหม่เมื่อเปิดกระเป๋าแบรนด์เนม ระดับโลกที่เจ้าของกระเป๋าเลือกใช้ BAG INSERT ทำจากผ้าไหมไทยในนาม MERANDI
กระเป๋าลักชัวรี + ผ้าไทย = Bag Insert
“เราชื่นชอบในของลักชัวรีอยู่แล้ว ส่วนเกศชื่นชอบและสะสมผ้าไหม เลยนำความชอบของสองคนมาเจอกัน” เกรซเล่าถึงที่มาของ ‘ที่จัดระเบียบกระเป๋า’ สีแดงก่ำไวน์ในมือ ซึ่งพวกเธอให้ชื่อว่า ‘บอร์โดซ์’ ตามเมืองผู้ผลิตไวน์ชื่อดังของโลกในฝรั่งเศส “เราถามตัวเองว่าถ้าเอาผ้าไทยมาทำกล่องทิชชู เราสามารถตื่นมาทุกวันและมั่นใจได้หรือเปล่าว่าจะมีมาซื้อ เกรซจึงได้พูดถึง Bag Insert ขึ้นมา เราคิดว่ามันน่าจะเวิร์ก แต่เราเป็นคนที่จะมีข้อสงสัยเสมอว่า โปรดักส์ที่คนไม่ทำกัน แสดงว่าต้องมีเหตุผลที่คนไม่ทำ เช่น ทำยากหรือทำไม่ได้ แต่เราก็พิสูจน์แล้วว่าด้วยการค้นคว้าที่เพียงพอ เราก็ทำออกมาได้ ผ้าไหมไทยเลยออกมาเป็น Bag Insert และเกิดเป็นแบรนด์ MERANDI” เกศเล่าเสริม
กระเป๋าในกระเป๋าอีกที
Bag Insert มี 3 ฟังก์ชั่น หนึ่งคือจัดระเบียบของในกระเป๋า เพราะช่องภายในกระเป๋าลักชัวรีบางแบรนด์ เช่น Hermès ที่ช่องใส่ของค่อนข้างบาง ใส่ของไม่ได้ง่ายนัก สอง ช่วยรักษาทรงกระเป๋าซึ่งอาจจะเสียทรงหรือย้วยบ้างไปตามการใช้งาน สุดท้ายคือป้องกันด้านในกระเป๋าไม่ให้เลอะ ป้องกันรอยขีดข่วน และช่วยยืดอายุการใช้งานของกระเป๋าให้ใช้ได้ยาวนานขึ้น
“Bag Insert ของเราไม่ได้มีแต่ฟังก์ชั่นการใช้งาน แต่ยังสร้างสีสันเปลี่ยนลุคให้กระเป๋าดูไม่ซ้ำเดิม คำว่า Bag Insert ยังเป็นโอกาสให้ผู้ใช้ได้ insert ความเป็นตัวเองเข้าไปในกระเป๋าด้วย เราอาจมีกระเป๋าใบเดิมมานานแล้ว อยากจะรู้สึกดีและสนุกกับกระเป๋าอีกครั้งจะทำอย่างไร หรือกระเป๋าเราเหมือนของเพื่อนเลย อยากจะรู้สึกแตกต่างต้องทำอย่างไร Bag Insert ก็คือการแต่งตัวให้กระเป๋าในลุคใหม่” เกศกล่าว
“เดิมทีเราไม่เคยคิดจะใช้ที่จัดระเบียบกระเป๋าเลย เรามีภาพจำว่าทำไมต้องใช้ ในเมื่อกระเป๋ามีไว้เก็บของอยู่แล้ว ทำไมต้องมีของมีจัดระเบียบอีกให้ยุ่งยาก แต่เราใช้กระเป๋าสีขาวและไม่ได้ใช้ Bag Insert เราก็มานั่งเสียใจภายหลังว่าทำไมเราไม่ใช้โปรดักส์นี้แต่แรก ข้างในกระเป๋าเราเลยเลอะ นี่คือจุดเปลี่ยนว่าหรือเราจะเริ่มใช้ Bag Insert และเรามองเห็นโอกาสทางธุรกิจ ต่อยอดจากการที่เราเป็นผู้ใช้ไปเป็นผู้ผลิต น่าจะยั่งยืน เพราะเราใช้เองด้วย” เกรซเล่าวพร้อมมีตัวอย่างประกอบเป็น Hermès ที่ยังสะอาดสะอ้านทั้งภายในและภายนอก
จุดเด่นผ้าไหมไทย
ผ้าไหมไทย แตกต่างจากผ้าไหมของประเทศอื่น เช่น ผ้าไหมฝรั่งเศสหรือผ้าไหมอิตาลีในเรื่องผิวสัมผัสและคุณลักษณะของผ้า ดังที่เกศผู้หลงเสน่ห์ผ้าไทยพูดถึงสิ่งที่รักอย่างหลงใหลว่า “ผ้าไหมไทยสิ่งที่เห็นได้ชัดคือจะมีความวาวและความเหลือบมากกว่าผ้าไหมที่อื่น มีเส้นใยหนาและเหนียวกว่าผ้าไหมที่อื่น ทำให้เมื่อนำไปทอจะได้ผ้าไหมเนื้อสากกว่าเล็กน้อย แต่ได้ผ้าไหมที่มีความคงทนแข็งแรงกว่า อย่างเวลาตัดเย็บ เราไม่สามารถใช้นิ้วดึงเส้นใยไหมได้ ต้องใช้กรรไกรตัดเท่านั้น เพราะเส้นไหมไทยเหนียวมาก เราเคยพยายามดึงแล้วแต่โดนบาดแทน”
“ด้วยคุณลักษณะเฉพาะตัวนี้ของผ้าไหมไทยทำให้ในการตัดเย็บโปรดักส์แต่ละชิ้น จะต้องใช้ช่างคนเดียวทำในทุกขั้นตอน เพราะช่างจะรู้เรื่องของการลงน้ำหนัก การดึงผ้า ฝีเข็มต่างๆ และเราจะเน้นผ้าไหมที่ได้รับรางวัล มีทั้งไปเสาะหาตามชุมชน ไปศูนย์ศิลปาชีพ และไปงานมอบรางวัลผ้าไหม เราจะได้ไปถึงต้นน้ำของแหล่งผ้าไหมเลย ผ้าไหมที่เราใช้มาจากหลายชุมชน ทั้งจากสุรินทร์ อุบลราชธานี จนถึงนครราชสีมา ในเว็บไซต์ https://merandiworld.com/ เราใส่แหล่งที่มาของผ้าไหมแต่ละสีไว้ด้วยว่ามาจากที่ไหน เช่น อยุธยา เชียงใหม่ เป็นคุณค่าที่เพิ่มขึ้นมา เพราะแต่ละแห่งจะมีความแตกต่างกัน เป็นการให้เครดิตช่างทอผ้าด้วย
“เรื่องลาย เราจะเลือกลายที่ดูโมเดิร์นและอินเตอร์เนชั่นแนล จะไม่ใช่ลายดั้งเดิม เพราะวัสดุเราใช้ผ้าไหมไทยแล้ว เรื่องแบรนดิ้งเราก็อยากให้มันเข้าถึงคนได้ในวงกว้างทั่วโลก ถ้าเป็นลายดั้งเดิมมากๆ คนอาจมองว่าดู exotic เกินไป สิ่งที่สำคัญมากในการทำโปรดักส์ที่จะไปถึงระดับที่เป็นสินค้าลักชัวรีที่ขายได้ทั่วโลกก็คือความพอดี นี่คือกุญแจสำคัญ ความเหลือบในผ้าไหมและลายที่เรียบง่ายเป็นตัวชูโรงอยู่แล้ว เราไม่ต้องพยายามยัดเยียดลวดลายมากมายให้มันดูเยอะเกินไป” เกศแจกแจงทุกแง่มุมของผ้าไหมไทยให้ฟัง
แฟชั่น + ชุมชน + ยั่งยืน
“การที่เราใช้ผ้าไหมไทยยังเป็นการสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนของจังหวัดต่างๆ ผ้าทุกผืนจึงอยู่ในซีรีส์ที่มีจำนวนจำกัด เพราะมันคืองานแฮนด์เมดที่ไม่สามารถย้อมให้ได้สีเหมือนเดิมเป๊ะๆ ฉะนั้น Bag Insert ทุกชิ้นที่ลูกค้าได้ไปก็คือ limited edition ในหนึ่งซีรีส์ก็จะทำโปรดักส์ออกมาได้เท่ากับความยาวของผ้าแต่ละพับเท่านั้น มันคือเสน่ห์ของผ้าแต่ละพับ” เกรซกล่าว “เราใช้ผ้าที่ทอเฉพาะรอบนั้นๆ ถ้าผ้าหมด เราจะไม่สามารถสั่งผ้าสีเดิมเป๊ะๆได้ Bag Insert บางชิ้นของเราจะใช้วิธีการย้อมด้วยสีธรรมชาติ ซึ่งไม่สามารถมีสูตรตายตัวว่าต้องได้สีเหมือนเดิมทุกการย้อม เราจึงทำโปรดักส์ตามสีเป็นอิดิชั่น ถ้าสีไหนหมด เราจะไม่ทำเพิ่ม เพราะว่าในทางเทคนิคแล้วทำไม่ได้ด้วย”
ส่วน ‘เศษผ้าที่เหลือ’ โดยมากแล้วจะกลายเป็น ‘ขยะแฟชั่น’ จำนวนมหาศาล ทั้งที่ผลิตจากวัตถุดิบสูงค่าราคาแพง ทั้งเกศและเกรซจึงชุบชีวิตขยะแฟชั่นที่แท้จริงมันคือผ้าไหมไทยทอมือที่หมดแล้วหมดเลย แรร์ขั้นสุด
“ปกติจะมีเศษผ้าจากการตัดทำโปรดักส์ เรานำมาทำเป็น ‘ซองกันชื้น’ สำหรับใส่กระเป๋าที่เก็บไว้ในตู้ เราพยายามจะไม่มีขยะแฟชั่นในกระบวนการทำงาน เราคำนึงถึงการใช้งานจริงของลูกค้าด้วย เราอยากมอบสิ่งที่เขาได้ใช้งานจริงและทำจากวัสดุที่ไม่สิ้นเปลือง และก็เป็นวัสดุที่มีคุณค่า ซองกันชื้นยังทำจากผ้าไหม ล่าสุดเราไปทำเวิร์กชอปก็ใช้ผ้าออฟคัตของผ้าไหมมาทำเป็น ‘พวงกุญแจ’ ได้ฟีดแบ็กดีมากและได้ของใช้ที่น่ารักด้วย ไม่มีของเหลือทิ้งเลย ส่วนแพ็กเกจจิ้งของเราก็นำไปรีไซเคิลได้” เกศเล่า
กระเป๋าที่ไม่มีใครเห็นในราคาครึ่งหมื่น
“เราเข้ามาเติมช่วงราคาที่เหมาะสมของ Bag Insert สำหรับกระเป๋า Hermès ในตลาดนี้มีตั้งแต่ของที่ทำจากผ้าสักหลาดราคาหลักพันไปจนถึงหลักหมื่นต้นๆ ถึง 20,000 ไปเลยก็มี เราเริ่มต้นที่ 4-5,000 บาท เป็นราคาที่เหมาะสมและสมน้ำสมเนื้อสำหรับกระเป๋า Hermès ถ้าไม่อยากได้ของโหลหรือของที่ทำจากวัสดุราคาถูกเกินไปก็มาใช้ผ้าไหมดีกว่า มันมีคุณค่าในตัวเอง ราคานี้จึงไม่ได้แพงเกินไป แต่ก็มีคนที่ไม่เข้าใจว่าทำไม Bag Insert ราคาเหมือนไปซื้อกระเป๋าหนังแท้ได้อีกใบเลย แต่ถ้าคนที่เคยสัมผัสคุณภาพของผ้า คัตติ้งและแบรนด์ของเราแล้วจะกลับมาซื้อซ้ำ 4-5 ใบ บางคนซื้อสีเดียวกันหมดก็มี” เกศชี้ไปที่ Bag Insert หลากสีหลายไซซ์ของ MERANDI
MERANDI ชื่อที่ทุกคนกล้าออกเสียงได้ไม่กลัวผิด
เกศย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นเพื่อจะส่งบทสรุปของ MERANDI ให้ฟังว่า “ตั้งแต่ก่อตั้งแบรนด์เราตั้งเป้าหมายว่าจะไประดับโลก เพราะโปรดักส์เราทำจากผ้าไหมไทยที่เป็นที่รู้จักในสากลอยู่แล้ว และ Bag Insert เป็นโปรดักส์ที่คนใช้กระเป๋า Hermès ใช้อยู่แล้วเป็นประจำมากกว่าคนที่ใช้กระเป๋าแบรนด์อื่นๆอย่างมาก ดังนั้นภาพที่ออกมาจึงเป็นภาพของกระเป๋าแบรนด์เนมที่เป็นที่รู้จักระดับโลก และเปิดมาข้างในคือ Bag Insert ที่เป็นงานผ้าไหมไทยโดยแบรนด์ไทย”
“ชื่อ MERANDI แปลว่าอะไร…เราไม่ได้ตั้งชื่อแบรนด์ให้มีความหมาย เราแค่อยากได้ชื่อที่ไม่ได้ฟังดูมาสคิวลีนหรือเฟมินีนเกินไป เป็นชื่อที่คนชาติอะไร พูดภาษาอะไรก็กล้าอ่านออกเสียง และเราเลือกจะใช้คำว่า Bag Insert แทนคำว่า Bag Organizer เพราะเราไม่อยากให้คนมีภาพจำว่าเป็นแค่โปรดักส์จัดระเบียบ เราอยากให้ MERANDI เป็นมากกว่านั้น ตอนเริ่มต้นเราเป็น Luxury Bag Insert Brand แต่ตอนนี้เราขยับไปเป็น Luxury Bag Insert & Accessories เป็นวันสตอปของคนที่อยากสนุกและดูแลกระเป๋า” ไม่พูดเปล่า แต่มือยังหยิบ Bag Insert มารูดซิปที่เรียบลื่นคล่องมือ “เราคิดทุกจุด เพื่อจะมอบประสบการณ์ที่สมูธและไม่มีอะไรติดขัดให้กับคนรักกระเป๋า”
สมดุลระหว่างลักชัวรีกับความสนุก
“ไม่ง่ายเลยกว่าเราจะทำโปรดักส์ออกมาได้แบบนี้ กระเป๋า Hermès มีเป็นสิบรุ่น เราต้องทดลองกว่าจะมั่นใจว่าคนซื้อ Bag Insert ชิ้นนี้ไปแล้วต้องรักษาทรงกระเป๋าของเขาได้และไม่มีขอบโผล่แหลมออกมา เพราะเราจะไม่ไปเปลี่ยนดีไซน์ภายนอกของกระเป๋า โปรดักส์ของเราจะแค่เปลี่ยนภายใน ดังนั้นงานของเราต้องอยู่มิดชิด แต่ขณะเดียวกันก็เป็นโจทย์ที่ยาก เพราะกระเป๋าแต่ละรุ่นจะมีเส้นสายหรือองศาความโค้งมนต่างกันไป” เกศเล่าถึงความท้าทายระดับมิลลิเมตร
เกรซขุดบทเรียนในอดีตมาเล่าต่อว่า “Bag Insert ยุคแรกๆที่เราทำหน้าตาไม่ได้สวยมาก แต่ใช้งานดี เข้ามุมเป๊ะ เพราะตอนนั้นเราคิดแค่ว่าต้องการให้มันมีฟังก์ชั่นที่ดี ไม่ได้คำนึงถึงรูปลักษณ์ แต่มันไม่เวิร์กหรอก เราต้องบาลานซ์ฟังก์ชั่นกับรูปลักษณ์ เราจึงต้องทำกระเป๋าต้นแบบเยอะมาก เสียผ้าไปมหาศาล แต่เราก็ไม่ได้ทิ้งรุ่นต้นแบบนะ ยังเก็บไว้อยู่ ผ้าแบบไหนที่เอามาทำใบใหม่ไม่พอ เราจะผสมกับผ้าสีอื่น พยายามหาทางให้เสียผ้าน้อยที่สุด”
เกศซึ่งเรียนมาทางสายเศรษฐศาสตร์โดยตรงพูดถึงสุนทรียะท่ามกลางตัวเลขว่า “เรื่องแบรนดิ้งไม่ได้เกี่ยวกับตัวโปรดักส์เท่านั้น มันเป็นเรื่องที่อยู่รอบๆโปรดักส์นั้นด้วยว่าเราจะนำเสนอเรื่องราวให้ออกมาอย่างไร อย่างเรื่องสีก็ไม่ใช่อยู่ที่การเลือกสีอะไร แต่สีนั้นถูกจับคู่ไปอยู่ในคอลเล็กชั่นอะไร อยู่ที่วิธีการพรีเซนต์ และต้องไม่แย่งซีนกันเอง ใจลูกค้าอยู่ที่ Hermès ฉะนั้นโปรดักส์ของเราต้องมีคุณภาพและสนุก แต่ต้องไม่สนุกเกินไป มีบาลานซ์เยอะที่เราต้องคิด
“คนอาจไม่รู้ว่ากว่าจะออกมาเป็นแบรนด์ได้ ต้องผ่านการตัดสินใจที่ถูกต้องมากมายจนกว่าคุณจะทำผิด คนจึงจะเห็นว่าตรงนี้หลุดธีม แต่ถ้าเราคิดถูกตลอดก็จะเกิดเป็นแบรนด์ที่สตรอง”
Words: Suphakdipa Poolsap
Photos: Somkiat Kangsdalwirun, Instagram @merandiworld