ประสบความสำเร็จและได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีสำหรับการประกวดออกแบบเครื่องแต่งกายไทยใส่สบาย ที่สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรมจัดขึ้นภายใต้โครงการพัฒนาการออกแบบเครื่องแต่งกายผ้าไทยร่วมสมัยในปีที่ผ่าน มาและแน่นอนว่าพันธกิจในการต่อยอดผ้าไทยจากชุมชนให้มีความทันสมัยและเป็นส่วนหนึ่งของโลกยุคใหม่ยังคงดำเนินต่อเนื่องมาถึงปีนี้
ก่อนจะบอกเล่าถึงการดำเนินโครงการฯ ในปัจจุบัน ดร.วิมลลักษณ์ ชูชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ได้ย้อนภาพการทำงานจากปี พ.ศ.2563 ที่สะท้อนให้เห็นถึงพลังของคนรุ่นใหม่
“เราเปิดโอกาสให้นักออกแบบรุ่นใหม่นำผ้าไทยจากทุกภูมิภาคมาเป็นวัตถุดิบในการตัดเย็บเสื้อผ้ามากกว่า 200 ผลงาน ซึ่งเกินคาดจากที่ตั้งเป้าไว้ และได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากดีไซเนอร์ที่มีชื่อเสียงของประเทศในการเป็นคณะกรรมการคัดเลือกและตัดสินผลงาน หลายชุดที่ได้จากการประกวดถูกยืมไปแสดงในงานต่างๆ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของคนรุ่นใหม่และได้รับเสียงชื่นชมเป็นอย่างมาก”
ส่วนในปีพ.ศ. 2564 สศร. มุ่งเน้นในการมอบความรู้ให้กับสมาชิกของแต่ละชุมชน โดยได้รับความร่วมมือจากกลุ่มดีไซเนอร์ระดับประเทศที่สร้างสรรค์เวิร์กชอป เพื่อถ่ายทอดการทำแพตเทิร์นซึ่งถือเป็นพื้นฐานสำคัญในการออกแบบเสื้อผ้า
“จากสถานการณ์โควิด-19 ในปีที่ผ่านมา เราได้รับเสียงสะท้อนจากชุมชนผู้ผลิตผ้าและเครือข่ายดีไซเนอร์ว่า ผู้ผลิตผ้าพื้นถิ่นมีผ้าค้างในสต็อกเป็นจำนวนมาก บวกกับไม่มีช่างที่สามารถทำแพตเทิร์นและตัดเย็บได้ จึงมีแนวคิดว่าน่าจะชวนชุมชนมาเรียนรู้การตัดเย็บเสื้อผ้า เพื่อเป็นอีกทางเลือกในการแปรรูปผ้าและเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคด้วย เราจึงมีการหารือกับดีไซเนอร์ในการจัดเวิร์กช็อปเพื่อให้สามารถวัดตัวได้อย่างถูกต้อง เรียนรู้การวางผ้า วางลายให้มีความน่าสนใจและตัดเย็บเพื่อสวมใส่ได้จริง”
อีกหนึ่งความพิเศษของโครงการในปีนี้คือการเปิดโอกาสให้ทุกภาคได้แสดงถึงอัตลักษณ์ของชุมชนที่สะท้อนผ่านผืนผ้าอันทรงคุณค่า ซึ่งเป็นที่มาของการลงพื้นที่ทำงานใน 4 จังหวัดของ 4 ภาค โดย 4 ดีไซเนอร์
“เรากำหนดให้ดีไซเนอร์ทั้ง 4 ท่านเลือกจังหวัดและชุมชนที่อยากจะทำงานด้วยแตกต่างกันไป โดยแต่ละท่านได้ทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนและนำผ้ามาต่อยอดเป็นคอลเล็กชั่นเสื้อผ้า ซึ่งประกอบด้วย คุณธีระ ฉันทสวัสดิ์ เลือกภาคใต้ จังหวัดปัตตานี ซึ่งนำเอาผ้าบาติกจากชุมชนมาสร้างสรรค์ผลงานที่มีสีสันสดใส อ่อนหวาน มีลวดลายแปลกใหม่ร่วมสมัยที่เกิดจากการทำผ้าบาติกที่มีความแตกต่างจากรูปแบบดั้งเดิมที่คุ้นเคยกันมา
…ด้านคุณเอก ทองประเสริฐ เลือกจังหวัดนครราชสีมา เป็นตัวแทนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยนำเอาผ้าไหมมาผสมกับผ้าทอจากภาคอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ผลงานเพื่อให้เลือกสวมใส่และดูแลรักษาได้ง่ายขึ้น
…สำหรับคุณทวีศักดิ์ สมานมิตร เลือกจังหวัดราชบุรี เป็นตัวแทนภาคกลาง ได้นำเอาผ้าขาวม้า ซึ่งเป็นผ้าสารพัดประโยชน์ของคนไทยมาสร้างสรรค์เป็นผลงานที่มีสีสันและความสนุกสนาน
…ส่วนคุณหิรัญกฤษฏิ์ ภัทรบริบูรณ์กุล เลือกภาคเหนือ จังหวัดแม่ฮ่องสอนซึ่งได้นำผ้าจากกลุ่มชาติพันธ์ุต่างๆ มาเติมลูกเล่นให้นำไปสวมใส่ในหลากหลายโอกาสมากขึ้น โดยจะเห็นได้ว่า ผลงานการออกแบบของดีไซเนอร์ทุกท่านสะท้อนถึงอัตลักษณ์ของพื้นถิ่น และทำให้ผ้าไทยในแต่ละพื้นที่สามารถสวมใส่ได้ง่ายขึ้นในหลายๆ โอกาส”
จากการทำงานร่วมกันของทั้ง สศร. ดีไซเนอร์และสมาชิกชุมชนที่มีเป้าหมายร่วมกันอย่างชัดเจนย่อมก่อให้เกิดความรับรู้ว่า ผ้าไทยคือแฟชั่นสำหรับคนทุกรุ่นและเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตประจำวันได้
“ความมุ่งหวังของเราคือต้องการให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้ถึงคุณค่าของผ้าไทยที่ควรค่ากับการอนุรักษ์ ควบคู่ไปกับมุมมองที่ว่าการสวมใส่ผ้าไทยในชีวิตประจำวันนั้นไม่ล้าสมัย และด้วยยุคสมัยนี้ผ้าไทยมีหลากหลายดีไซน์ สามารถปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัย สวมใส่ได้หลากหลายโอกาส อยากให้ทุกคนลองเปิดใจในการสวมใส่ผ้าไทยร่วมสมัยให้มากขึ้น”
ถึงแม้จะมีความท้าทายจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 แต่ทุกภาคส่วนของโครงการฯ ยังคงเดินหน้าและปรับเปลี่ยนการทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้
“ด้วยสถานการณ์ในปัจจุบัน ทุกคน ทุกอาชีพต้องปรับตัว ปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต รวมไปถึงการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องกับทุกธุรกิจ ทุกภาคส่วน การที่ผู้คนในสังคมไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ต้องหลีกเลี่ยงการพบปะโดยตรงกับบุคคลอื่นๆ ไม่เดินทางไปในสถานที่ที่ผู้คนพลุกพล่าน ทำให้บรรยากาศการค้า การลงทุน การจับจ่ายใช้สอยถดถอย
…แต่อย่างไรก็ตามยุคนี้เป็นยุคดิจิทัล การค้าขาย การสร้างรายได้สามารถเกิดขึ้นจากการขายในตลาดออนไลน์ ซึ่งสามารถเป็นตัวกระตุ้นรายได้ที่สำคัญให้กับผู้ประกอบการและชุมชน ซึ่ง สศร.เองก็ได้ลงพื้นที่ไปสอน รวมถึงทำคลิปเพื่อเผยแพร่ผ่านทางช่องทางออนไลน์เพื่อให้ได้ทดลองทำกัน เป็นอีกช่องทางที่จะแปรรูปของที่มีอยู่ในบ้านให้เกิดเป็นรายได้”
ดร.วิมลลักษณ์ยังได้เผยปิดท้ายถึงความรู้สึกที่ได้เป็นหนึ่งในเบื้องหลังของการเผยแพร่อัตลักษณ์ไทยผ่านผ้าไทยร่วมสมัยตลอดหลายปีที่ผ่านมา
“รู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมคุณค่าของภูมิปัญญาไทย ได้มีโอกาสช่วยรักษาและต่อยอดผ้าไทยให้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ช่วยสร้างงาน เพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการ พร้อมที่จะนำเสนอสู่สายตาชาวต่างชาติที่เดินทางมาเที่ยวเมืองไทยหรือได้เห็นผ้าไทยผ่านสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมีส่วนสำคัญที่จะทำให้คนทั่วโลกได้เริ่มรู้จักและหลงใหลในผ้าไทย”
…ในปัจจุบันทาง สศร. ได้มีการส่งเสริมคนรุ่นใหม่ให้หันมาใช้ผ้าไทยอย่างจริงจัง โดยนำผ้าไทยมาตัดเย็บให้เข้ากับเสื้อผ้ายุคใหม่ในทุกรูปแบบ ตัดเย็บด้วยความคิดสร้างสรรค์ ทำให้เสื้อผ้าดูมีเอกลักษณ์และดัดแปลงให้ดูทันสมัย สามารถมิกซ์แอนด์แมตช์ด้วยเครื่องประดับในรูปแบบต่างๆ เพื่อแสดงออกถึงสไตล์ในแบบฉบับของแต่ละบุคคล ในขณะเดียวกันหลายชุมชนที่สศร. ได้เข้าไปมีส่วนในการพัฒนา เขาสามารถสร้างรายได้จากผลงานของตนเอง นั่นคือสิ่งที่ภาคภูมิใจว่าเราได้จุดประกายให้และชุมชนนำไปสานต่อให้เกิดความยั่งยืนต่อไปได้”
Text : Prim S.
Photography : Somkiat K.