Search
Close this search box.
Search
Close this search box.
HOME / Interview

Modernizing & Upcycling – วิชชุกร โชคดีทวีอนันต์

จากผ้าไทยเหลือใช้ในโรงงานเฟอร์นิเจอร์สู่แบรนด์ผลิตภัณฑ์จากผ้าไทยแสนเก๋ HOME Studio Shop
Interview

นับเป็นเรื่องเซอร์ไพรส์ไม่น้อยที่เราสไลด์หน้าจออินสตาแกรมไปเพลินๆ แล้วบังเอิญไปเจอเข้ากับแบรนด์เสื้อผ้าไทยดีไซน์เรียบแต่เก๋ชื่อว่า HOME Studio Shop แล้วก็รู้สึกถูกชะตาจนต้องไปเสาะหาว่า ใครกันเป็นผู้อยู่เบื้องหลังแบรนด์ที่ให้ลุคสบายตาแบบธรรมชาติ แต่ดูเก๋แบบสาวคนเมืองด้วยลวดลายทอกราฟิกที่มีความเป็นไทยแบบร่วมสมัยแบบนี้ จนกระทั่งได้รับรู้ว่าแบรนด์ HOME Studio Shop เป็นแบรนด์ที่เกิดขึ้นในระหว่างช่วงพักเบรกจากงานประจำในฐานะครีเอทีฟไดเร็กเตอร์แห่งแบรนด์ Greyhound Original ที่วิชชุกร ดีทวีอนันต์ ทำมาเกือบ 20 ปี

     จังหวะชีวิตที่ช้าลง และความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตทำให้เธอได้ค้นพบงานอดิเรกแก้เหงาที่ทำไปทำมาก็กลับจริงจังมากขึ้นทุกวัน นั่นก็คือ การปั้นแบรนด์ที่เกิดจากการนำผ้าเหลือใช้จากโรงงานเฟอร์นิเจอร์ในจังหวัดของแก่นที่คุณแม่ของเธอทิ้งไว้ให้เป็นมรดกทางภูมิปัญญา มาปรับโฉมใหม่ให้ร่วมสมัย และสวมใส่ได้ทุกวันอย่างไม่ขัดเขิน

ลิปส์ : ก่อนอื่นอยากให้คุณเล่าถึงจุดเปลี่ยนในชีวิตหลังจากตัดสินใจพักจากงานประจำที่ทำมานาน รู้สึกว่า โปรเจ็กต์สุดท้ายที่คุณทำร่วมกับ Greyhound Original ก็คือคอลเล็กชั่นที่ทำร่วมกับ IKEA ใช่หรือเปล่า
วิชชุกร : วิทำงานอยู่ที่ Greyhoundมาเกือบ 20ปี อยู่มาตั้งแต่เรียนจบครั้งแรก เรียนจบครั้งที่สอง แล้วก็กลับมาทำงานที่ Greyhoundอีกครั้ง จนกระทั่งเพิ่งออกมาตอนปีค.ศ. 2018 ค่ะ หลังจากจบโปรเจ็กต์ IKEA ที่ลากยาวมาตั้งแต่ปลายปีค.ศ. 2016 เพราะมีหลายขั้นตอนในการทำงานออกแบบผลิตภัณฑ์ ต้องไปดูกันว่า อันไหนได้จริง คำนวณเรื่องจำนวน ไปดูโรงงาน supplier ต่างๆ ขั้นตอนมากกว่าตอนที่เราทำแฟชั่น เพราะ IKEAเขาผลิตเป็นแสนชิ้น แต่ละชิ้นต้องถอดประกอบได้ และต้องคำนึงถึงเรื่องของ eco-sustainable  
     หลังจบงาน prototype ของ IKEAวิก็คุยกับคุณภาณุ (ภาณุ อิงคะวัต) แล้วว่า คุณแม่วิไม่สบายหนักมาก ซึ่งคุณภาณุก็เข้าใจ ทำให้ปีสุดท้าย วิได้อยู่กับคุณแม่เต็มที่ ก็รู้สึกดีใจที่ตัดสินใจออกมา เพราะเราก็คงต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งวิคิดว่า วิตัดสินใจถูก แล้วพอดีกับที่แฟนวิเขาเริ่มโปรเจ็กต์โครงการหมู่บ้าน The Bound House ที่นครปฐม วิก็มาช่วยเขาดูเรื่องอิมเมจของแบรนด์ ตัววิเองก็มีพื้นฐานด้าน Interior มาอยู่แล้วด้วย เลยพอจะช่วยเขาดูได้แล้วระหว่างนั้นก็คุยกับน้องชายที่มาช่วยดูแลงานต่อจากคุณแม่ ก่อนหน้านี้คุณแม่วิมีโรงงานทอผ้าที่ขอนแก่นเพิ่งขายไปไม่นาน แต่ว่ายังมีคนงานที่เรายังส่งงานให้เขาบ้าง วิเลยมานั่งคิดว่า เราจะทำอย่างไรดีเพื่อให้เรามีงานเลี้ยงคนงานได้ตลอด แล้วก็เอาสต็อกที่มีอยู่มากมายมหาศาลมาทำให้เกิดประโยชน์ได้

ลิปส์ : วัสดุที่ค้นพบในโรงงานของคุณแม่เป็นผ้าไทยใช่หรือเปล่า คุณนำวัสดุที่พบมาทำอะไรบ้าง
วิชชุกร : ใช่ค่ะ ซึ่งวิว่า มันก็แปลกดีนะ ไม่ใช่ผ้าไทยแบบที่ชาวบ้านเขาทอกันธรรมดา แล้วโทนสีก็ดูไม่จัดจ้านมาก เนื่องจากเป็นผ้าที่ใช้ในงานเฟอร์นิเจอร์ โทนสีเลยจะคุมโทนประมาณหนึ่ง
     ตอนแรกก็ไม่ได้คิดจะทำแบรนด์หรอกค่ะ  กะจะทำเป็นของขวัญให้ผู้ใหญ่ก่อน ปรากฎว่า เขาชอบกัน ก็เลยลองตัดเสื้อให้ตัวเองใส่ แล้วมีคนอยากได้บ้าง เลยลองมาคุยกับน้องว่า หรือเราลองเปิดแบรนด์เล็กๆ กันดูไหม ลองขายในอินสตาแกรมดู เราก็เลยลองเปิด Home Studio Shop ขึ้นมา เนื่องจากน้องชายเขามี Home Stay เล็กๆ ชื่อ 12/14 HOME Studio อยู่ วิก็เลยบอกว่า ถ้าอย่างนั้นก็ใช้ชื่อ HOME Studio Shop ก็แล้วกัน สตูดิโอเล็กๆ ของเราอยู่ที่สุขุมวิท 101/1 ค่ะ เดิมเป็นโรงเย็บเล็กๆ ของคุณแม่อยู่แล้ว เมื่อก่อนก็จะเป็นพวกเย็บหมอนต่างๆ หมอนไทย หมอนประดิษฐ์ หมอนสามเหลี่ยม ซึ่งคนงานที่ทำงานให้เราก็อยู่กันมานานเหมือนครอบครัว แล้วก็มีฝีมือด้วยค่ะ เราให้เขาลองทำเทคนิคเสื้อผ้าต่างๆ ซึ่งเขาก็ทำได้ แล้วก็ค่อยๆ พัฒนาโปรดักต์เรื่อยมา

ลิปส์ : โปรดักต์ของ HOME Studio ประกอบไปด้วยอะไรบ้างและมีช่องทางจำหน่ายทางไหนบ้าง
วิชชุกร : จริงๆ แล้วแบรนด์เราไม่ได้มีสินค้าเยอะ เวลาเราทำโปรดักต์ชิ้นไหนขึ้นมา เราจะลองใส่เองก่อน เพราะผ้าไหมมีข้อจำกัด มันไม่ยืดเลย เราจะต้องระวังเรื่องตะเข็บ จะพอดีตัวมากไม่ได้เดี๋ยวซิปแตก แล้วเราก็เป็นคนที่ชอบใส่เสื้อผ้าสบายๆ ถึงแม้เป็นจะเป็นผ้าไทย เราก็อยากทำให้ใส่แล้วมันดูเป็น everyday look ได้ จากเดิมที่เราเคยชินว่า ผ้าไทยจะต้องใส่ไปงานเท่านั้น แต่จริงๆ แล้ว วิคิดว่า เดี๋ยวนี้คนชอบไปเที่ยว แล้วเวลาคนไปเที่ยวก็อยากจะแต่งตัวสวยด้วย สบายด้วย ไม่ได้อยากดู elegant มาก แต่ยังดูมีสไตล์  ถ้าอย่างนั้นเราลองเอาผ้าไหมมาตัดเป็นกางเกงเลไหม แล้วก็ปรับแพตเทิร์นให้ดูไม่เหมือนกางเกงเลธรรมดา เพราะเราอยากได้กางเกงเลที่ใส่ไปออฟฟิศได้ 
     แล้วด้วยเมื่อก่อนตอนวิอยู่ Greyhound ซึ่งเป็นแบรนด์สตรีท เสื้อผ้าทุกอย่างก็จะใส่ได้จริง เดินถนนได้ ซึ่งตัวผ้าไหมเองก็ดูสวยอยู่แล้ว แต่เราจะทำอย่างไรให้คนเข้าใจมันง่ายขึ้น พอทำมาเรื่อยๆ ก็โชคดีที่ใครรู้จักเราก็ชวนไป ไปขายตรงนั้นไหม ตรงนี้ไหม ก็เลยมีวางบ้างบางที่  ที่หลักๆ ก็จะอยู่ที่ ไอคอนสยาม โซนไอคอนคราฟท์ค่ะ

ลิปส์ : คุณมีวิธีการเลือกแพตเทิร์นให้เหมาะกับเนื้อผ้าอย่างไรบ้าง
วิชชุกร : เวลาเราออกแบบมาสักแบบหนึ่ง วิต้องดูว่า ผ้าไหมมันแตกได้ เนื่องจากว่ามันเป็นผ้าทอมือ ไม่อย่างนั้นเราต้องทำซับใน หรือว่าอัดกาวทั้งตัว ทำให้ทรงออกมาเป็นกางๆ แข็งๆ เป็นโวลูมใหญ่ๆ แต่ถ้าเราอยากให้มันดูสบายหน่อย วิจะทำแค่ฟิกซ์เฉพาะช่วงตะเข็บให้แน่น อาจจะต้องเลือกแบบที่ไม่พอดีตัวมาก เพราะถ้าพอดีตัวมาก คนใส่บิดทีหนึ่งอาจจะซิปแตกได้ เราก็จะต้องลองเทสต์กับสินค้าดูก่อน ก็เลยจะออกมาเป็นทรงหลวมๆ โคร่งๆ ใส่สบายๆ มันเป็นสิ่งที่จะทำให้ผ้าไหมมันเหมาะกับฟังก์ชั่นการใช้งานของเรา

ลิปส์ :  ขั้นตอนในการดัดแปลงวัสดุที่มีอยู่เดิมให้ใช้งานในแบบที่ต้องการได้มีแนวคิดอย่างไร
วิชชุกร : ด้วยความที่วิมีไอเดียกันว่า ไม่อยากทอใหม่ เพราะการทอใหม่ก็คือ การย้อมใหม่ แล้วผ้าที่วิมี เป็นผ้ามัดหมี่ ซึ่งผ้ามัดหมี่สมัยนี้ เวลาเขาเอามาทำเขาจะเรียกว่า “ผ้าแต้มหมี่” กรรมวิธีการทำลวดลายคล้ายๆ กับการเพ้นต์ แต่เขาจะเอาสีมาแต้มแทนการทอ แต่ผ้าที่วิใช้เขามัดมาตั้งแต่สมัยนั้นแล้วเขาค่อยๆ มาทอ เทคนิคการทำยากกว่าเยอะ ถ้ามาทำตอนนี้ต้นทุนจะสูงมากด้วย

“ไอเดียของเรา คือ อยากนำวัสดุที่ไม่มีใครใช้มาทำให้เกิดประโยชน์ เพราะฉะนั้น วิจะพยายามใช้ของเก่าก่อนในการออกไอเดียแล้วให้ดีไซน์เป็นไปตามวัสดุที่มี บางทีลูกค้ามักจะมาถามว่า “หมดแล้วทำไมไม่ทำเพิ่มอีก” ซึ่งเราก็จะค่อยๆ หาผ้าที่เรามีมาประดิษฐ์ไปเรื่อย ๆ หรือแม้แต่ถ้าวิจะทำอะไรใหม่ วิก็จะคุยกับโรงงานว่า วิขอใช้เศษวัสดุในโรงงานนะ ไม่อยากให้เขาต้องย้อมใหม่ เขามีสต็อกอันไหน เขาส่งมาให้วิเลือก แล้วเขาก็ไปให้ชาวบ้านทอต่อให้  เราไม่ต้องการผลิตอะไรใหม่เยอะ เพราะว่าในโลกนี้มันมีของให้เราใช้เยอะอยู่แล้ว”

ลิปส์ : สิ่งที่ทางแบรนด์กำลังทำอยู่เรียกว่า “Upcycling” ได้ไหม
วิชชุกร : ได้ค่ะเพราะ Upcycling  คือ การนำของที่ไม่มีประโยชน์มาทำให้มันมี value ขึ้น  เกิดดีไซน์ใหม่ขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้ว คุณน้าวิที่ขอนแก่นเขามีโรงงานทอพรม ซึ่งเขาก็เป็นคนมาดูแลในส่วนของโรงงานทอของคุณแม่วิใหม่ให้ด้วย เขานำวัสดุที่ทำจากพลาสติกที่เก็บมาจากในทะเลมาทำเป็นพรมส่งเมืองนอกเป็นโปรดักต์ตัวใหม่ที่เขาเพิ่งทำขึ้นมา อาจจะเป็นเพราะเทรนด์คนเริ่มสนใจในเรื่องของสิ่งแวดล้อม แล้วพอวิมาเห็นวัสดุตัวนี้ วิก็ชอบเลย อยากได้เอามาลองทำเป็นผลิตภัณฑ์ของเรา เราก็เลยดีไซน์ให้เขาว่า ช่วยทอลายแบบนี้มาได้ไหมแล้วเราก็เอามาประดิษฐ์เป็นกระเป๋า ผ้าพันคอ เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เอง 
     ซึ่งวัสดุจำพวกนี้เป็นงานทอมือ จึงมีข้อจำกัดเรื่องเวลาในการผลิตที่ทำได้ช้า เนื่องจากว่า เขาเอาพลาสติกซึ่งเป็นขยะในทะเลจำนวนมหาศาลมาฉีดใหม่ แล้วเราก็ทยอยเลือก ทยอยทำไป เราไม่ได้ทำมาทีละล็อตใหญ่ๆ แต่ปรากฏว่า เส้นใยมันนิ่มกว่าธรรมชาติอีก แล้วข้อดี คือ ไม่ค่อยเป็นขุย เนื่องจากว่ามันคือการฉีดพลาสติกขึ้นมาใหม่ มันคือการหลอมพลาสติกเป็นเส้นด้าย แล้วก็ฉีดขึ้นมาใหม่ อันนี้ก็เป็นอีกวงโคจรของพลาสติก

ลิปส์ : คุณคิดว่า ความสนใจเรื่องผ้าไทยเกี่ยวข้องกับวัยที่เริ่มเติบโตขึ้นไหม เพราะแต่ไหนแต่ไรมาเรามักจะมองว่าผ้าไทยเป็นเรื่องของผู้ใหญ่
วิชชุกร : จริงๆ ก็คิดเหมือนกันว่า หรือเราเริ่มอายุมากขึ้นหรือเปล่า ช่วงนี้เราจึงเริ่มใส่ผ้าไหมได้ วิคิดอย่างนั้นเหมือนกันค่ะ แต่อาจจะเป็นเพราะว่า มันเป็นเทรนด์ในตอนนี้มากกว่า แต่คนไทยสมัยนี้อย่างลูกค้าเรา ซึ่งเป็นลูกค้าสาวสวยเขาเข้าใจในผ้าไทย และมองเห็นคุณค่าของมัน ไม่อย่างนั้น IKEA เขาไม่เลือกมาเมืองไทยหรอก เพราะว่าเทรนด์โลกมันมาทางงานคราฟท์ งานแฮนด์เมด งานประดิดประดอย 

ลิปส์ : ส่วนตัวคุณคิดว่า ถ้าเราอยากให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจงานคราฟต์ไทยมากขึ้นน่าจะต้องทำอย่างไร หรือคิดว่า คนสนใจเรื่องนี้กันอยู่แล้ว
วิชชุกร : ตอนนี้ด้วยโซเชียลมีเดีย หรืออะไรก็ตาม วิว่าคนจะเริ่มเห็นข้อดีของตัวเองมากขึ้นนะคะ พอเขาเห็นอะไรได้เยอะๆ  แล้วอย่างที่บอกว่า  ทำไมไม่รู้แต่ว่า เทรนด์ไทยมันมาสักพักหนึ่งแล้วแหละ แล้วมันก็จะมาต่อไปอีก แล้วในภูมิปัญญาไทยมันมีเรื่องธรรมชาติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันคืออนาคต 
     หรือแม้แต่ตอนที่วิทำงานคอลเล็กชั่น Greyhound Original x IKEA จริงๆ แล้ว คอนเซ็ปต์ของ IKEA  ในตอนแรกตั้งชื่อว่า “สบาย สบาย”  เพราะนิสัยคนไทยชอบทำอะไรง่ายๆ  ฉันอยู่แบบง่ายๆ นอนบนพื้น กินข้าวด้วยกันหลายๆ  คน เป็นคนกันเอง จริง ๆ ตรงนั้นมันก็เป็นความมีเสน่ห์ ที่บางทีเราไม่รู้หรอก แต่มันแทรกอยู่ในทุกอย่าง จริงๆ เทรนด์ฝรั่ง เทรนด์ยุโรป เขามาทางนี้นะ  อยู่แบบเข้าใจธรรมชาติมากขึ้น ขณะที่ประเทศไทยมีทุกอย่างตรงนี้แล้ว มีทั้งทะเล ทั้งป่า ทั้งวัฒนธรรม งานคราฟต์  งานประดิษฐ์ต่างๆ เมื่อทั้งโลกเขาหันมาสนใจ วิคิดว่า คนไทยก็เร็วพอที่จะสนใจอยู่แล้วค่ะ

“เทรนด์ในภายภาคหน้าคนเราน่าจะคิดถึงโลกใบนี้มากขึ้น คิดว่า เราจะอยู่ยาวๆ บนโลกนี้ได้อย่างไร แล้วคงเป็นเพราะความมีเอกลักษณ์ด้วย จริง ๆ คนเราอาจจะใส่อะไรง่ายๆ สบายๆ แต่บางวันเราอาจจะอยากมีชิ้นพิเศษชิ้นหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกพิเศษ ก็อาจจะเป็นงานฝีมือที่ไปอยู่บนตัวคนได้” 

     วิอยากทำให้ผ้าแต่ละผืนที่หยิบขึ้นมาเป็นชิ้นที่มีค่า ใส่ได้นานๆ ไม่อยากให้มันพังง่าย พยายามคิดถึงเรื่องของขั้นตอนการทำงาน ในการตัดเย็บด้วย เพราะอยากอีกห้าปีหยิบมาใส่มันก็ยังสวยอยู่ 

┃Photography : Somkiat K.

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม