Search
Close this search box.
Search
Close this search box.
HOME / Tech / Gadget

“โมโนซุคุริ” (Monozukuri) การทำซ้ำที่ดีขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นของดีมีคุณภาพสไตล์ Made in Japan

Gadget / Tech

ตอนแรกของซีรีส์ ‘วิวัฒนาการเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีของญี่ปุ่น’ ว่าด้วยญี่ปุ่นทำอย่างไรให้ผู้บริโภคทั่วโลกเชื่อมั่นในแบรนด์สินค้า Made in Japan

เมื่อพลิกป้ายไปเห็นคำว่า ‘Made in Japan’ ก็คล้ายเป็นคำสะกดจิตให้คิดไปว่า ของชิ้นนี้ต้องทำขึ้นด้วยศาสตร์และศิลป์ขั้นสูงสุดวิจิตร หรืออย่างน้อยก็พอให้ใจชื้นได้ว่า ของมันต้องดี อะไรทำให้ ‘Made in Japan’ มีค่าเท่ากับ ‘คุณภาพดี’ จุดนี้ต้องย้อนไปถึงสิ่งที่เรียกว่า ‘โมโนซุคิริ’ (monozukuri) คำญี่ปุ่นที่หมายถึง ‘ศิลปะการทำสิ่งของ’

Made in Japan คือของคุณภาพต่ำ

ในยุค 1950 ญี่ปุ่นผลิตสินค้าหลักจำพวกผ้าไหมและของเล่นโลหะที่มีกลไกง่ายๆ และก็เป็นเช่นนั้นเรื่อยมาอีกสองทศวรรษ ตอกย้ำภาพให้สินค้าที่พะป้าย ‘Made in Japan’ ว่าเป็นของราคาถูก เทคโนโลยีต่ำ

ผ้าไหมงานทอและปักมือที่ผลิตในญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นซึ่งในเวลานั้นเป็นผู้แพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่มีสินค้าส่งออกที่ทำรายได้มากนัก ซ้ำยังมีภาพจำในสายตาผู้บริโภคทั่วโลกอีกว่าทำของถูก

กระทรวงเศรษฐกิจ หรือปัจจุบันเรียกว่า ‘กระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม’ (Ministry of Economy, Trade and Industry – METI) จึงต้องปรับเปลี่ยนนโยบายขนานใหญ่

ยุค 1960 METI หันไปส่งเสริมอุตสาหกรรมหนักหรือมีเทคโนโลยีที่สูงขึ้น ซึ่งจะนำรายได้เข้าประเทศได้มากกว่าของเล่นและผ้าทอ เช่น การผลิตเหล็กกล้า การต่อเรือ เคมีภัณฑ์และการแปรรูป อย่างโรงฟอกกลั่น ผลิตภัณฑ์ยาง เซรามิก เภสัชภัณฑ์ รวมถึงเครื่องจักรกลไฟฟ้าขนาดใหญ่ เช่น เครื่องกังหัน เครื่องปั่นไฟ โรงไฟฟ้า

อนิจจา…อุตสาหกรรมใหม่ๆเหล่านี้ล้วนพึ่งพาน้ำมันเชื้อเพลิง ดังนั้นเมื่อกลุ่มโอเปก – กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่เป็นประเทศในกลุ่มตะวันออกกลางและแอฟริกา พยายามผูกขาดราคาน้ำมันในปี 1973 และ 1979 ส่งผลให้เกิดวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันไปทั่วโลก ช่วงปี 1972 ถึง 1981 ราคาน้ำมันพุ่งจาก 3.40 เป็น 31.80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเลยทีเดียว

ต้นทุนที่งอกขึ้นมา 10 เท่านี้ ทำให้ญี่ปุ่นกระอักอีกรอบ จนต้องหันไปทำอุตสาหกรรมใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ลดการใช้พลังงานและลดการสร้างมลพิษ ได้แก่ การผลิตรถยนต์ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องจักรที่มีความแม่นยำสูง ซึ่งก็ได้ถีบญี่ปุ่นให้ผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลกได้

Toyota Corolla เจน 1 ‘รถยนต์สำหรับมวลชน’
Photo: @ToyotaMotorCorp

ญี่ปุ่นมีทรัพยากรธรรมชาติจำกัดจำเขี่ยมาก วงจรการผลิตจะเริ่มจากนำเข้าพลังงานและวัตถุดิบมาจากต่างประเทศ มาผลิตเป็นสินค้าส่งออกที่เพิ่มมูลค่า เพื่อนำรายได้ไปซื้อหรือขอสิทธิ์ใช้เทคโนโลยีตะวันตก ซึ่งบางครั้งก็ลอกเลียนเทคโนโลยีต่างชาติเอาดื้อๆเลยก็มีเหมือนกัน การจะเอาตัวเองออกจากวงจรแห่งความเสื่อมนี้ ญี่ปุ่นต้องสร้างวงจรการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้นเรื่อยๆขึ้นเองให้ได้

Photo: Shutterstock

จุดเปลี่ยนอยู่ตรงนี้ และทำให้ญี่ปุ่นแหวกฝูงขึ้นมายิ่งใหญ่ เพราะในแต่ละรอบการผลิต บริษัทญี่ปุ่นจะเรียนรู้และปรับปรุงคุณภาพได้อย่างไว จนที่สุดแล้วก็สามารถพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ที่ช่วยให้ผลิตของได้มากขึ้น มีเทคโนโลยีซับซ้อนขึ้น ซึ่งเพิ่มมูลค่าสินค้า Made in Japan ได้สูงขึ้นไปอีก

โมโนซุคุริ – ศิลปะการทำสิ่งของ

โมโนซุคุริ (monozukuri) หรือ ‘ศิลปะการทำสิ่งของ’ คือการผลิตสินค้าคุณภาพสูง-อย่างประณีต-ผันแปรต่ำ-แม้ผลิตปริมาณมาก ได้กลายเป็นกระบวนการสำคัญในอุตสาหกรรมหลักของญี่ปุ่น ซึ่งดูเผินๆเหมือนเป็นเรื่องยากที่ผลิตของเยอะๆยังไงให้ประณีตคุณภาพดี

ระบบการผลิตของโตโยต้าเปลี่ยนวิธีการผลิตสินค้าของโลก

แต่พนักงานชาวญี่ปุ่นโอบรับแนวทางการผลิตใหม่นี้ได้อย่างง่ายดาย เพราะมันช่างเข้ากับค่านิยมหลายอย่างในวัฒนธรรมแบบเข้มงวดของญี่ปุ่น เช่น ความชมชอบกระบวนการอันถูกต้องเหมาะสม การไม่ยอมรับสิ่งที่ผิดแผกไปจากปกติ รวมถึง ยาริกาตะ (yarikata วิถีทางในการทำสิ่งต่างๆ) หรือพูดง่ายๆว่าคนญี่ปุ่นชอบทำอะไรให้เป๊ะอยู่แล้ว ดังนั้น โมโนซุคุริที่เป็นกระบวนการผลิตสินค้าให้ดียิ่งๆขึ้นไป จึงถูกจริตคนทำงานชาวญี่ปุ่นอย่างแรง

Toyota – แบบอย่างโมโนซุคุริที่โลกทำตาม

บริษัทญี่ปุ่นที่ทำโมโนซุคุริจนกลายเป็นแบบอย่างที่บริษัทต่างชาติหลายแห่งขอทำตามบ้าง ก็คือ ‘ระบบการผลิตแบบโตโยต้า’ หรือ The Toyota Production System (TPS)

ในยุค 1960 โตโยต้ายังเป็นบริษัทเล็กๆที่มีทุกอย่างจำกัดจำเขี่ยไปหมด ตั้งแต่เงินไปจนถึงพื้นที่ว่างในโรงงาน จึงต้องจ้างซัพพลายเออร์ให้ผลิตชิ้นส่วนให้ แต่ในทางกลับกันก็ทำให้โตโยต้าพัฒนาระบบบริหารจัดการซัพพลายเออร์และระบบการผลิตอันไหลลื่นและแม่นยำ ทำให้การผลิต ส่งชิ้นส่วน ประกอบ และจัดส่งสินค้าสอดประสานกันทันเวลาเป๊ะๆ

กระบวนการผลิตแบบทันเวลา (Just-in-Time Method) ของโตโยต้า

นั่นทำให้หลังจากวิกฤตราคาน้ำมันที่กระฉูดขึ้น 10 เท่า ผู้ซื้อรถชาวอเมริกันจึงปันใจไปรักรถญี่ปุ่นซึ่งกะทัดรัด ประหยัดน้ำมัน ทนทาน และค่าบำรุงรักษาต่ำกว่ารถแบรนด์อเมริกันคันใหญ่จอมสูบน้ำมัน

ไม่เพียงแต่โตโยต้าเท่านั้น ผู้บริโภคทั่วโลกยังโอบรับเครื่องใช้ไฟฟ้า Made in Japan ตั้งแต่เครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องส่งแฟ็กซ์ กล้องถ่ายรูป โทรทัศน์ ไปจนถึงเครื่องเสียงระบบสเตอริโอ โดยเฉพาะคนอเมริกันที่นิยมใช้ของ Made in Japan มากจนแบรนด์ Made in USA ถึงกับเจ๊งไปหลายราย

ญี่ปุ่นครองใจตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคมาหลายทศวรรษด้วยหลักการผลิตแบบโมโนซุคุริ จนกระทั่งปี 2011 แผ่นดินไหวและสึนามิได้ถาโถมเข้าใส่ญี่ปุ่น นำไปสู่การระเบิดสุดหายนะที่โรงไฟฟ้าเคลียร์ฟูกุชิมะ ทำให้รัฐบาลสั่งปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งประเทศญี่ปุ่น 52 แห่ง และเข้าสู่ยุคที่ต้องนำพลังงานอย่างมหาศาลอีกครั้ง

ญี่ปุ่นฝ่าวิกฤตใหญ่รอบนี้ได้อย่างไร ตามอ่านได้ในตอนต่อไปของซีรีส์ ‘วิวัฒนาการเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีของญี่ปุ่น’

Words: Suphakdipa Poolsap

ข้อมูลจาก:

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม