Search
Close this search box.
Search
Close this search box.
HOME / Culture / Dining

แกะกล่องประวัติศาสตร์ 3,000 ปี ‘ขนมไหว้พระจันทร์’ จากการไหว้เพื่อเก็บเกี่ยวสู่การล่มสลายราชวงศ์หยวน

Culture / Dining

เป็นธรรมเนียมของทุกปี ที่เข้าสู่เดือน 8 ทีไร ทั้งชาวไทย(แท้) และชาวไทยเชื้อสายจีน ต่างก็อินกับขนมไหว้พระจันทร์ และรู้หรือไม่ว่าเจ้าขนมไหว้พระจันทร์รูปร่างกลมๆ อ้วนๆ มีประวัติศาสตร์ และเรื่องเล่ายาวนานมากว่า 3,000 ปี (และเป็นเรื่องเล่าที่อ่านแล้วรู้สึกฮึกเหิมเสียด้วย !)… วันนี้เราขอแกะกล่องเกร็ดความรู้คู่ความอร่อย เพื่อเพิ่มอรรถรสในการทานขนมไหว้พระจันทร์ของคุณไปอีกหนึ่งเลเวล

ราชวงศ์โจว และจุดเริ่มต้นของขนมไหว้พระจันทร์

ชาวจีนโบราณเชื่อว่าการบูชาเทพีแห่งดวงจันทร์จะทำให้พืชผลอุดมสมบูรณ์ การเก็บเกี่ยวจะราบรื่น โดยบันทึกระบุว่าจักรพรรดิจีนถวายเครื่องบูชาให้กับดวงจันทร์ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ในสมัยราชวงศ์โจวตะวันตก

Appreciating the Moon in the Eighth Lunar Month
ภาพ Appreciating the Moon in the Eighth Lunar Month (ชื่นชมพระจันทร์ในเดือนแปด) โดยมิชชันนารีชาวอิตาลี Giuseppe Castiglione (ค.ศ. 1688–1766) ซึ่งขณะนี้อยู่ที่พระราชวังต้องห้ามปักกิ่ง

“นั่งชมจันทร์” จากพระราชวังสู่สามัญชน

การบูชาพระจันทร์ปฏิบัติสืบเนื่องมาอย่างยาวนานจนมาถึงสมัยราชวงศ์ถัง ที่เหล่าชนชั้นสูงและพ่อค้าผู้ร่ำรวย น้อมนำแนวคิดจากพระราชวัง มาจัดงานเลี้ยงร้องรำร่ำสุราในที่พักของตนเพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง และชมพระจันทร์ที่สุกสกาว ส่วนประชาชนทั่วไปก็แสดงความเคารพต่อพระจันทร์ด้วยการสวดภาวนาเพื่อให้การเก็บเกี่ยวเป็นไปอย่างราบรื่น

ภาพการเฉลิมฉลอง และการชมจันทร์ของชนชั้นสูง

ปฏิบัติต่อกันมาจนกลายเป็นประเพณี

การบูชาพระจันทร์นิยมปฏิบัติกันอย่างต่อเนื่องและแพร่หลาย จนในสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือได้สถาปนาทุกวันที่ 15 เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติ ให้กลายเป็น “เทศกาลไหว้พระจันทร์” กลายเป็นประเพณีที่ได้รับการนิยมนับตั้งแต่นั้นมา

ตำนาน“ขนมไหว้พระจันทร์” และการโค่นล้มราชวงศ์หยวน

มีเรื่องเล่าว่าในช่วงราชวงศ์หยวน ซึ่งเป็นราชวงศ์ที่ปกครองโดยชาวมองโกล เกิดการแบ่งวรรณะเป็น 4 ชนชั้นอย่างไม่เป็นธรรม ชนชั้นสูงสุดเป็นชาวมองโกลด้วยกันเอง ชวนชั้นที่ 2 เป็นพวกเซ่อมู่ ชนชั้นที่ 3 เป็นชาวฮั่น และชนชั้นสุดท้ายเป็นชนชาติอื่นๆ ทางใต้ของแม่น้ำแยงซีเกียง ซึ่งการลำดับขั้นเช่นนี้ เอื้อประโยชน์ให้ชนชั้นสูงฉ้อราษฎร์อย่างไรก็ไม่ผิด เกิดการทุจริต กดขี่ชนชั้นล่างอย่างเปิดเผย

ภาพวาดสมัยราชวงศ์หยวนสมัยศตวรรษที่ 14 แสดงให้เห็นหญิงชนชั้นสูงชาวมองโกลกำลังขี่ม้า

ประกอบทั้งขุนนางและทหารได้รับอภิสิทธิ์เหนืออื่นใด จักรพรรดิจีนแต่งตั้งให้ทหารไปประจำเป็นเจ้าเมืองปกครองดินแดนต่างๆ และส่วนหนึ่งถูกส่งไปยังครัวเรือน เพื่อจับตามองชาวจีนอย่างใกล้ชิด ซึ่งทหารก็เชี่ยวชาญเฉพาะในด้านการรบ หาได้เชี่ยวชาญในการปกครองเมืองอย่างเมตตาไม่

ภาพวาดสมเด็จพระจักรพรรดิหงอู่ หรือ “จู หยวนจาง” จักรพรรดิพระองค์แรกแห่งราชวงศ์หมิง
ภาพวาดสมเด็จพระจักรพรรดิหงอู่ หรือ “จู หยวนจาง” จักรพรรดิพระองค์แรกแห่งราชวงศ์หมิง
ภาพวาด “Liu Ji” ซึ่งเป็นภาพเหมือนของ หลิว ปั๋วเวิน ในศตวรรษที่ 17 โดยจิตรกร Gu Jianlong
ภาพวาด “Liu Ji” ซึ่งเป็นภาพเหมือนของ หลิว ปั๋วเวิน ในศตวรรษที่ 17 โดยจิตรกร Gu Jianlong

เหตุการณ์ต่างๆ นี้ สร้างความไม่พอใจให้กับชาวจีน และทำให้เกิดจลาจลมากมาย จนในที่สุดคณะปฏิวัติกลุ่มหนึ่งนำโดย Zhu Yuanzhang (จู หยวนจาง) ซึ่งต่อมาคือสมเด็จพระจักรพรรดิหงอู่ จักรพรรดิองค์แรกแห่งราชวงศ์หมิง และ Liu Bowen (หลิว ปั๋วเวิน หรือหลิว จี) นักปรัชญา และนักยุทธศาสตร์คู่หูก็เกิดอุบาย ซึ่งในขณะนั้นทุกเทศกาลไหว้พระจันทร์ ชาวจีนหลากหลายครัวเรือนนิยมซื้อขนมมาเป็นเครื่องบูชา คณะปฏิวัติชาวจีนจึงคิดค้นขนมชนิดหนึ่งโดยภายในสอดไส้ข้อความที่ระบุว่า “จงสังหารชาวมองโกลในวันที่ 15 เดือน 8 ตามจันทรคติ” โดยมอบให้กับทุกครัวเรือน และนำไปสู่ชัยชนะต่อราชวงศ์หยวน และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของราชวงศ์หมิง

ความนิยมสูงสุดในราชวงศ์หมิง และชิง

ภาพ The Qianlong Emperor Admiring The Moon (จักรพรรดิเฉียนหลงชื่นชมดวงจันทร์) โดยศิลปินนิรนามแห่งราชวงศ์ชิง
ภาพ The Qianlong Emperor Admiring The Moon (จักรพรรดิเฉียนหลงชื่นชมดวงจันทร์) โดยศิลปินนิรนามแห่งราชวงศ์ชิง

เทศกาลไหว้พระจันทร์ ได้รับความนิยมสูงสุดในสมัย ราชวงศ์หมิง และราชวงศ์ชิง ชาวจีนนิยมจัดงานเฉลิมฉลอง มีมหรสพ มีการเชิดมังกร ซึ่งกลายเป็นประเพณีได้นิยมพอๆ กับวันตรุษจีนเลยทีเดียว

Words: Varichviralya Srisai
ข้อมูลจาก:

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม