เก้าอี้ดนตรี เกมที่เล่นทีไร เรียกเสียงกรี๊ดจากคนเล่นและคนเชียร์ได้อย่างบ้าคลั่งเหมือนฮิสทีเรียขึ้น จากการมีส่วนร่วมในเกมที่ช่วยบริหารความว่องไว การเผชิญรับความผิดหวัง ไปจนถึงการตระหนักว่า ทรัพยากรไม่ได้มีพอสำหรับทุกคน
กฎกติกาของเก้าอี้ดนตรี
เก้าอี้ 12 ตัว ตั้งเป็นวงกลม ผู้เล่น 11 คน เดินวนรอบวงเก้าอี้ จนกว่าจะได้ยินเสียง ‘นั่ง!’ หรือเสียงเพลงหยุด เมื่อหมดรอบ คนที่นั่งเก้าอี้จะต้องออกจากเกมไป จากนั้นเริ่มเกมรอบใหม่อีกครั้ง ด้วยผู้เล่นที่ลดลง 1 คน กับเก้าอี้ที่หายไปอีก 1 ตัว วนซ้ำไปจนกว่าจะเหลือผู้เล่น 2 คน กับเก้าอี้ตัวเดียว
นั่นคือกฎง่ายๆของเก้าอี้ดนตรี เกมที่เล่นได้ตั้งแต่ 4 ขวบไปจนถึงอายุ 78 ก็ยังเล่นได้ไม่จำกัดวัย หรือในกรณีที่เดินเหินไม่ค่อยไหว หรือโรครุมเร้าจนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ก็อาจส่งผู้เล่นที่ว่องไวกว่าไปลงชิงเก้าอี้แทนก็ได้ แล้วถอยออกมาเชียร์อยู่ข้างหลัง
ต้นกำเนิดและผู้คิดค้นเก้าอี้ดนตรี
ไม่มีการจดจารเป็นลายลักษณ์อักษรว่าใครคิดค้นเกมเก้าอี้ดนตรี และมันเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อใด แต่ในพจนานุกรมภาษาอังกฤษของ Merriam-Webster กล่าวว่ามีหลักฐานว่ามีการเล่นเก้าอี้ดนตรีในปี 1877
ก่อนหน้าที่เกมนี้จะถูกเรียกว่า เก้าอี้ดนตรี (Musical Chairs) มันถูกเรียกว่า Trip to Jerusalem บางทฤษฎีอธิบายว่า ชื่อนี้อาจมาจากสงครามครูเสดที่ต้องสูญเสียชีวิตผู้คนมากมายระหว่างการเดินทางอันยาวไกล
บางทฤษฎีกล่าวว่าชื่อเกม Trip to Jerusalem มาจากชาวยิวพลัดถิ่นที่เดินทางสู่อิสราเอล ซึ่งเรียกการอพยพเช่นนี้ของชาวยิวว่า Aliyah (อาลียาห์)
ทว่าการเดินทางมีปัญหาใหญ่ เมื่อเรือมีพื้นที่น้อยเกินกว่าจะบรรทุกชาวยิวไปยังอิสราเอลได้หมดทุกคน เป็นที่มาของเกมเก้าอี้ดนตรี อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าสมมติฐานนี้เป็นจริง
เก้าอี้ดนตรีเวอร์ชั่นเยอรมัน
ในเยอรมัน มีเกมการละเล่นที่เรียกว่า Reise Nach Jerusalem แปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า Trip to Jerusalem ผู้คนในเยอรมันรู้จักเกมนี้กันดี และยังเป็นเกมที่เล่นกันอยู่จนถึงทุกวันนี้
ประเทศต่างๆ เรียกชื่อเกมเก้าอี้ดนตรีต่างกันไป แต่กติกาการเล่นเหมือนกัน เช่น ในสวีเดนเรียกว่า Stormy Seas ส่วนชาวโรมาเนียเรียกว่า the chick is looking for its nest ขณะที่ในอิสราเอลเรียกว่า kisaot musikaliim และเมืองไทยมีชื่อเรียกอื่นนอกจากเก้าอี้ดนตรี เช่น ค.ร.ม. เป็นต้น
‘เก้าอี้ดนตรี’ ในเชิงเปรียบเปรย
นอกจากจะเป็นชื่อเกมการละเล่นแล้ว เก้าอี้ดนตรียังมีความหมายอื่นด้วย แปลว่า ‘การกระทำที่ไร้เป้าหมายและเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์’ เช่น “this is like playing a game of musical chairs” – มัวทำอะไรอยู่เนี่ย เสียเวลาจริงๆ เป็นต้น
ความหมายแฝงในเกมเก้าอี้ดนตรี
นักการศึกษากล่าวว่า เก้าอี้ดนตรีช่วยฝึกให้เด็กๆ มีความอดทน แก้ปัญหาด้วยสันติวิธี และยอมรับกับความผิดหวังได้
ครูพละบอกว่า เก้าอี้ดนตรีปฏิกิริยา Reflex เมื่อเสียงเพลงหยุดปุ๊บ ใครที่ดีดข้อเท้าไปหาเก้าอี้ได้ไวที่สุดคือผู้ชนะ
นักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่า เก้าอี้ดนตรีคือแบบจำลองของทฤษฎีความขาดแคลน กล่าวคือไม่มีทรัพยากรมากพอสำหรับทุกคน ฉะนั้นเราถูกกระตุ้นให้แข่งขันกันเมื่อใดก็ตามที่ทรัพยากรขาดมือ
เราจะยังเฉยๆ อยู่เมื่อมีคนใหม่ๆ เข้ามาเพียงแต่นั่งดูเกม แต่เมื่อทันทีที่คนหน้าใหม่ที่ไม่เคยอยู่ในเกมมาก่อนยกมือว่า เธอๆ เราขอเล่นด้วยคนสิ ผู้เล่นเก่าจะเกิดความรู้สึกถึงความขาดแคลนขึ้นมาอย่างรุนแรง รู้สึกถึงภัยคุกคามการเป็นผู้นำ สิทธิ และการครอบครองที่มีอยู่เดิมของตน ซึ่งผลักให้ผู้เล่นเดิมยิ่งหวงแหนปกปักษ์เก้าอี้ หรือทรัพยากรของตน และภาวะมีไม่พอนี้เป็นการยืนยันว่า ต้องมีคนที่ถูกตัดออกจากเกมและออกไปแบบมือเปล่า
หากความรู้สึกขาดแคลนนั้นมากมายจะผลักดันให้ผู้เล่นเดิมหันมาจับมือกันบอกผู้เล่นใหม่ว่า เก้าอี้เป็นสิทธิที่ได้มาโดยชอบธรรมของคนที่อยู่ในเกมมาก่อน และผู้เล่นใหม่ถูกผลักให้เป็นคนวงนอก
แต่ผลที่จะตามมาก็คือ ผู้ชมจะโห่ฮา แสดงความไม่พอใจ ตั้งข้อสงสัยถึงคุณสมบัติของผู้เล่นและการไม่ทำตามกติกา
เมื่อนั้น เกมเก้าอี้ดนตรีจะก็ไม่สนุกอีกต่อไป
Words: Suphakdipa Poolsap
ข้อมูลจาก: