Search
Close this search box.
Search
Close this search box.
HOME / Fashion / Trends

จาก ‘นวราตรี’ สู่ ‘ดิวาลี’ เมื่อ ‘สีสันของส่าหรี’ จุดประทีป ‘ความหวัง’ สู่ทวยเทพ

Fashion / Trends

ปกรณัมกรีกเล่าขานถึงตำนาน ‘กล่องแพนดอรา’ และการชิงชังของเทพเจ้า เมื่อ ‘แพนดอรา’ มนุษย์เพศหญิงคนแรกของโลกเปิดหีบที่บรรจุสารพัดสิ่งเลวร้ายด้วยความอยากรู้อยากเห็น และแน่นอนภัยพิบัติ โรคร้าย กิเลส ความชั่ว ความลุ่มหลง และความพยาบาท ฯลฯ ต่างถาโถมเข้าปกคลุมสร้างความเจ็บปวดให้กับมนุษย์สืบชั่วกัลปาวสาน นับว่าโชคยังเข้าข้าง เธอดึงสติปิดหีบทันคงเหลือเพียง ‘ความสิ้นหวัง’ สิ่งสุดท้ายที่ถูกกักไม่ให้มาทำร้ายมนุษย์

และใช่! ท่ามกลางความชั่วร้าย มนุษย์ยังคงมี ‘ความหวัง!’ เสมอ

สตรีกับส่าหรีสีขาวและสีครีมปักเลื่อมในงานแห่ประเพณีเนื่องในวันวิชัยทัสมิของวัดแขก สีลม

บรรยากาศในงานนวราตรี 2566 งานแห่ประเพณีเนื่องในวันวิชัยทัสมิของวัดพระศรีมหาอุมาเทวี หรือวัดแขก สีลม

‘ส่าหรี’ ที่ใส่ไปแห่ ‘นวราตรี’

จากความมืดมนในปกรณัมกรีกสู่ ‘แสงสว่างแห่งทวยเทพฮินดู’ มนุษย์ยืนอยู่ท่ามกลางเมฆหมอกด้วยสายตาที่ฝ้าฟาง มีเพียง ‘ศรัทธา’ เท่านั้นที่สว่างไสวเนื่องด้วยอาศัย ‘ความหวัง’ เป็นน้ำมันเชื้อเพลิง 

นี่เป็นครั้งแรกที่เราสัมผัสกับ ‘งานนวราตรี’ เทศกาลในศาสนาฮินดูที่เหล่าผู้ศรัทธาทั่วโลกร่วมเทิดพระเกียรติ ‘พระแม่ศรีมหาอุมาเทวี’ ที่ทรงต่อสู้กับอสูรควาย ‘มหิงสาสูร’ เป็นเวลาถึง 9 วัน 9 คืน (Navaratri – นวราตรี แปลว่า ‘เก้าคืน’ มาจากภาษาสันสกฤต คำว่า ‘นว’ แปลว่าเก้า และ ‘ราตรี’ แปลว่าค่ำคืน) พระองค์ทรงได้รับชัยชนะในวันที่ 10 ที่เรียกว่า ‘วิชัยทัสมิ’ โดยวันนี้เหล่าผู้ศรัทธาจะรวมตัวกันเพื่อแห่เฉลิมฉลอง

คลื่นพลังศรัทธาภายใต้เครื่องนุ่งห่มสีแดง
คลื่นพลังศรัทธาภายใต้เครื่องนุ่งห่มสีแดง
เครื่องแต่งกายสีชมพู สีแดง และสีสันต่างๆ ถูกทำมาใช้เป็นสัญญะแห่งการเฉลิมฉลอง
เครื่องแต่งกายสีชมพู สีแดง และสีสันต่างๆ ถูกทำมาใช้เป็นสัญญะแห่งการเฉลิมฉลอง
สตรีในชุดพื้นเมืองของอินเดียสีเขียวมุ่งมั่นไปสักการะขบวนราชรถองค์เทพ
สตรีในชุดพื้นเมืองของอินเดียสีเขียวมุ่งมั่นไปสักการะขบวนราชรถองค์เทพ

และในประเทศไทย งานแห่ประเพณีเนื่องในวันวิชัยทัสมิของวัดพระศรีมหาอุมาเทวี หรือวัดแขก สีลม นั้นนับว่ายิ่งใหญ่ที่สุด สมกับเป็นวันที่เฉลิมฉลองชัยชนะขององค์พระแม่ ซึ่งลำดับการแห่จะแตกต่างจากที่อินเดียและที่อื่นๆ เล็กน้อย โดยเริ่มต้นด้วยขบวนคนทรง 3 ขบวน ได้แก่ ขบวนคนทรงองค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวี, ขบวนคนทรงองค์พระขันธกุมาร, ขบวนคนทรงพระแม่กาลี และตามมาด้วยขบวนราชรถขององค์เทพอีก 5 ขบวน ได้แก่ ขบวนราชรถองค์พระพิฆเนศ, ขบวนราชรถองค์พระขันธกุมาร, ขบวนราชรถองค์พระกฤษณะ, ขบวนราชรถองค์พระกัตตวรายัน และปิดท้ายด้วยขบวนบุษบกขององค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวี พระแม่มหาลักษมี และพระแม่มหาสรัสวตี รวมทั้งหมด 8 ขบวนด้วยกัน

ภาพคนทรงองค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวีที่ทูนหม้อกลาฮัม จากเฟซบุ๊กเพจ Hindu Meeting (Fan Page)
คนทรงองค์พระขันธกุมารที่ใช้เหล็กแหลมปลายที่มีผลมะนาวแทงทะลุแก้ม พร้อมแบกกาวาดีที่ทําจากโครงเหล็กประดับหางนกยูง ภาพจากเฟซบุ๊กเพจ Hindu Meeting (Fan Page)
คนทรงพระแม่กาลีผู้ใช้เหล็กแหลมแทงทะลุปลายลิ้น
คนทรงพระแม่กาลีผู้ใช้เหล็กแหลมแทงทะลุปลายลิ้น
คนทรงพระแม่กาลีที่มือข้างหนึ่งถือภาชนะลักษณะคล้ายกะลามีไฟลุกโชติช่วง
คนทรงพระแม่กาลีกำลังโปรยผงกุมกุม ให้พรแก่เหล่าผู้ศรัทธา
มวลผงกุมกุมสีชาดที่ฟุ้งกลางอากาศ ราวกับพรแห่งการเอาชนะอุปสรรค

การแสดงเฉลิมฉลองและเสียงดนตรีพื้นเมืองของอินเดีย ‘Nadaswaram-นาดาสวารัม’ บรรเลงดังกึกก้องสอดรับเสียงสวดแซ่ซ้องอื้ออึงของผู้คนที่เฝ้าอยู่สองข้างทาง ในระยะประชิดก็ดี หรือจัดตั้งซุ้มปะรำพิธีของตนเองก็ดี เมื่อแต่ละขบวนเสด็จผ่าน เครื่องถาดบูชาอันประกอบไปด้วยมาลัยดอกไม้, กล้วย, มะพร้าว, พลู, หมากแห้ง, ผลไม้อื่นๆ รวมไปถึง ‘การอารตีไฟ’ บนมะพร้าวผ่าครึ่งที่จุดไฟเผาการบูร ถูกนำขึ้นถวายอย่างต่อเนื่อง 

นักดนตรีกำลังบรรเลงกลองพื้นเมืองของอินเดีย
นักดนตรีกำลังบรรเลงกลองพื้นเมืองของอินเดีย
เสียงเครื่องเป่าพื้นเมืองอินเดียใต้ ‘นาดาสวารัม’ ดังก้องทั่วงาน
เสียงเครื่องเป่าพื้นเมืองอินเดียใต้ ‘นาดาสวารัม’ ดังก้องทั่วงาน
อีกหนึ่งภาพของนักดนตรีที่กำลังเป่านาดาสวารัม
วงปี่กลองพื้นเมืองอินเดียบรรเลงขับขานตั้งแต่เริ่มยันจบพิธี
วงปี่กลองพื้นเมืองอินเดียบรรเลงขับขานตั้งแต่เริ่มยันจบพิธี
กลองอินเดียพื้นเมืองร่วมบรรเลงเพลงเฉลิมฉลอง
คณะนักดนตรีปี่กลองอินเดียใต้ที่มาสร้างสีสันให้กับเหล่าผู้ศรัทธา

กลีบดาวเรืองและกุหลาบโปรยปรายประหนึ่งว่า ‘สีสัน’ เป็นสัญญะแห่งการเฉลิมฉลอง เราสังเกตเห็นว่า ‘ส่าหรี’ เครื่องแต่งกายพื้นเมืองของอินเดียถูกบรรจงตกแต่งทั่วสรรพางค์กายของผู้ศรัทธาราวกับว่าเป็นอ้อมกอดแห่งทวยเทพที่มนุษย์สัมผัสได้ และ ‘ส่าหรีสีแดง’ ช่างโดดเด่นเป็นสง่า!

เหล่าผู้ศรัทธาในเครื่องแต่งกายสีชาดกำลังเตรียมถวายเครื่องถาดบูชา
การอารตีไฟด้วยมะพร้าวผ่าครึ่งที่จุดไฟเผาการบูร
อีกหนึ่งภาพของการอารตีไฟที่ลุกโชติช่วงบนมะพร้าวการบูร
แม้ว่าส่าหรีสีแดงถูกบรรจงตกแต่งร่างกายเป็นอย่างดี แต่สตรีผู้นี้เปลือยเท้าอย่างนอบน้อมขณะขบวนทวยเทพเสด็จผ่าน
กลีบดอกกุหลาบและดาวเรืองโปรยปรายทั่วสารทิศ

ส่าหรีสีแดง’ และการโอบกอดแห่งทวยเทพ

ส่าหรีนั้นมาจากคำในภาษาสันสกฤติว่า ‘शाटिका หรือ Satika’ ซึ่งหมายถึงเครื่องแต่งกายของผู้หญิงที่ประกอบผ้า 3 ส่วน ได้แก่ Antariya (อันทริยะ) – ชุดท่อนล่าง, Uttariya (อุตตริยะ) – ผ้าคลุมไหล่หรือศีรษะ และ Stanapatta (สตานาปัตตะ) – ผ้าคาดหน้าอก โดยส่าหรีนั้นเป็นผ้าที่อาศัยการจับจีบและไม่ผ่านการเย็บใดๆ เพราะคติของฮินดูที่เชื่อว่าเสื้อผ้าที่ผ่านการตัดเย็บนั้นไม่บริสุทธิ์

และในพิธีแห่นวราตรีของทางวัดแขกเราพบเห็นส่าหรีสีแดงเป็นส่วนใหญ่ สืบเนื่องมาจากความเชื่อที่ว่าผู้เข้าร่วมพิธีควรสวมชุดสีสันสดใสเพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง ไม่ควรเป็นสีดำหรือสีอึมครึม 

สตรีในชุดส่าหรีสีแดงเฉลิมฉลองหน้าวงดนตรีปี่กลองพื้นเมือง
ลีลาเปี่ยมสุขของผู้ศรัทธา ที่ร่ายรำเฉลิมฉลองต่อหน้าวงดนตรี
สตรีในชุดพื้นเมืองอินเดียสีแดง เตรียมถวายเครื่องถาดบูชา

โดยสีแดงมีความสำคัญอย่างมากในวัฒนธรรมอินเดียและเป็นสัญลักษณ์แห่งการเฉลิมฉลอง ความรัก และความอุดมสมบูรณ์ นิยมใช้สวมใส่ในงานมงคลโดยเฉพาะงานแต่งงานที่เจ้าสาวมักสวมส่าหรีสีแดงสดแสดงถึงความเป็นเกียรติเป็นศรี และเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางครั้งใหม่ ในบางภูมิภาคของอินเดียอย่างรัฐเบงกอล สีแดงยังถือเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจและความแข็งแกร่งอีกด้วย

ดังนั้นหากลูกหลาน (ผู้ศรัทธา) จะเฉลิมฉลองชัยชนะให้กับมารดา (พระศรีมหาอุมาเทวี) ‘ส่าหรีสีแดง’ จึงเป็นเครื่องแต่งกายที่แสดงออกถึงปีติชื่นมื่นได้ดีที่สุด

อีกภาพของสตรีในชุดส่าหรีสีแดงที่แสดงออกถึงความปีติอย่างที่สุด
ผ้าสีแดงที่ถูกผันรอบเอว และสีหน้าของผู้ศรัทธาที่บ่งบอกถึงความสุข

จากส่าหรีในงาน ‘นวราตรี’ สู่ส่าหรีที่แพงที่สุดทำจาก ‘นวรัตน์’  

ส่าหรีผ้าไหมที่แพงที่สุดในโลกและได้รับการบันทึกลงกินเนสส์ เวิลด์ เรกคอร์ดนั้น ถูกต้อง! เป็นส่าหรีสีแดง! โดยมีชื่อว่า ‘วิวาห์ ปาตู’ สนนราคาอยู่ที่ 40 ล้านรูปี หรือประมาณ 17 ล้านบาท ความพิเศษคือส่าหรีผืนนี้ถูกถักทอด้วย Navratna – นวรัตน์ (นพรัตน์) หรือรัตนชาติทั้งเก้า ได้แก่เพชร มรกต ทับทิม แซฟไฟร์สีเหลือง ไพลิน บุษราคัม ไข่มุก ไพฑูรย์ และหินปะการัง พร้อมเสริมด้วยงานปักจากทองคำ แพลทินัมและเงิน รังสรรค์เป็นรูปผลงานภาพวาดทั้ง 11 ชิ้นของ ‘ราชา รวี วาร์มา’ ศิลปินไอคอนิกของอินเดีย

ส่าหรีที่แพงที่สุดในโลก คือส่าหรีผ้าไหมสีแดง ที่ทำมาจากนพรัตน์ 9 ชนิด ทองคำ เงิน และแพลทินัม
ส่าหรีที่แพงที่สุดในโลกสนนราคา 40 ล้านรูปี หรือประมาณ 17 ล้านบาท

ในงานแห่วันวิชัยทัสมิของวัดพระศรีมหาอุมาเทวี เครื่องแต่งกายและ ‘ส่าหรีสีชมพู’ ยังได้รับความนิยมไม่แพ้กัน เนื่องด้วยแฝงสัญญะแห่งความผูกพันธ์ที่มนุษย์มีต่อองค์ทวยเทพอย่างอ่อนน้อม

‘นวราตรี’ สู่ ‘ดิวาลี’ และส่าหรีสีชมพู

“โอม ศักติ โอม” เมื่อขบวนราชรถคันใหญ่ คันสุดท้ายที่ประกอบไปด้วยองค์พระแม่ศรีอุมาเทวี พระแม่ลักษมี และพระแม่สรัสวตีผ่านมาถึง ทั้ง 3 พระองค์ทรงเครื่องทรงในแบบของกษัตริย์สีชมพูสง่างาม ที่ประดับประดาด้วยเครื่องประดับสมพระเกียรติ ผู้คนต่างสวดแซ่ซ้องกึกก้องพร้อมเบิกทางให้ด้วยพิธี ‘ทุบมะพร้าว’ เหล่าผู้ศรัทธาจะปามะพร้าวลงบนพื้น โดยมะพร้าวเปรียบเสมือนผลไม้บริสุทธิ์ตามคติฮินดูที่เชื่อว่าการทุบต่อพระพักตร์ของเทวรูปเสมือนละทิ้งอัตตาเพื่อน้อมกายถวายตนแด่องค์เทพ

ภาพขบวนราชรถขององค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวี พระแม่มหาลักษมี และพระแม่มหาสรัสวตีในงานแห่ประเพณีเนื่องใน ‘วันวิชัยทัสมิ’ ของ ‘วัดพระศรีมหาอุมาเทวี’ หรือ ‘วัดแขก สีลม’ ปี 2566

คลิปบรรยากาศขณะขบวนราชรถขององค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวี พระแม่มหาลักษมี และพระแม่มหาสรัสวตี เคลื่อนผ่าน

พระแม่ทั้งสามพระองค์ในเครื่องทรงแบบกษัตริย์สีชมพู ภาพจากเฟซบุ๊กเพจ Hindu Meeting (Fan Page)
มะพร้าวที่เตรียมไว้สำหรับพิธี ‘ทุบมะพร้าว’
น้ำมะพร้าวโปรยปรายราวกับสายฝนหน้าขบวนราชรถที่ประกอบไปด้วยองค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวี พระแม่มหาลักษมี และพระแม่มหาสรัสวตี
ผู้ศรัทธาในเครื่องแต่งกายแบบต่างๆ มุ่งมั่นทำพิธีทุบมะพร้าว
ผู้คนหลากหลายเพศ หลากหลายวัยแสดงถึงศรัทธาอย่างกล้าแกร่ง
งานแห่ประเพณีเนื่องในวันวิชัยทัสมิของวัดแขก สีลม ศูนย์รวมใจของผู้ศรัทธาทั่วสารทิศ

เทศกาลดีปาวลี หรือดิวาลี

หากกล่าวถึง ‘แสงศรัทธา’ คงไม่มีอะไรสื่อได้ตรงตัวเท่ากับเทศกาลดีปาวลี หรือดิวาลี เทศกาลอันสำคัญยิ่งของศาสนาฮินดู โดยเป็นการเฉลิมฉลองในคัมภีร์รามายณะ เมื่อพระราม (ร่างอวตารของพระวิษณุ) มีชัยต่อราวณะ (อีกชื่อหนึ่งของทศกัณฐ์) และเหล่าอสูร จึงได้เสด็จกลับอโยธยาพร้อมกับนางสีดา (ร่างอวตารของพระแม่มหาลักษมี) จากนั้นปวงประชาจึงได้มีการเฉลิมฉลองด้วยการจุดไฟกันทั้งเมือง และสถาปนาวันที่พระรามกลับมานี้ว่า ‘ดีปาวลี’

ภาพองค์พระแม่มหาลักษมีในเครื่องทรงสีชมพูบานเย็น ในพิธีจุดประทีปบูชา วันดีปาวลี ปี 2563 ณ วัดแขก Photo: FB: Hindu Meeting (Fan Page)

ตลอดทั้ง 5 วันของเทศกาลนี้ โดยชาวฮินดูจะทำการสักการะพระแม่มหาลักษมีด้วยการจุดประทีปไฟ พร้อมจุดพลุหรือดอกไม้ไฟเพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง รวมถึงทำการปัดกวาดบ้านใหม่ ทำธุรกรรมทางการเงินใหม่ๆ เช่นเปิดสมุดบัญชี ถวายธนบัตรใหม่ รวมถึงสวมเสื้อผ้าใหม่ๆ ที่เน้นสีสันสดใส ที่ไม่ใช่สีขาวหรือสีอึมครึม

ภาพพิธีบูชาองค์พระแม่มหาลักษมี และพิธีจุดประทีปบูชา เนื่องในวันดีปาวลีปี 2563  ณ วัดแขก สีลม Photo: FB: Hindu Meeting (Fan Page)

นอกจากพระแม่มหาลักษมีทรงประทานพรด้านความมั่งคั่งและโชคลาภแล้ว พระแม่ผู้มีรูปโฉมงดงามและเป็นชายาพระองค์เดียวของพระวิษณุ (หรือพระนารายณ์) จึงเชื่อว่าพระองค์ประทานพรในเรื่องของความสมหวังในความรักอย่างที่บังเกิดแฮชแท็ก #itoldพระแม่ลักษมี สนั่นโซเชียลฯ

สตรีในชุดส่าหรีสีชมพู สื่อถึงความอ่อนหวานและสง่างาม
สตรีในชุดส่าหรีสีชมพูแสดงถึงความปีติชื่นมื่นในวันแห่
ส่าหรีสีชมพูงดงามท่ามกลางการอารตีไฟ
ผู้คนในเครื่องแต่งกายสีชมพูแบบต่างๆ โห่ร้องสรรเสริญ แสดงความยินดี
ผู้คนในเครื่องแต่งกายสีชมพูแบบต่างๆ โห่ร้องสรรเสริญ แสดงความยินดี

ศิษยานุศิษย์ชาวไทยเชื่อว่าการแต่งกายเพื่อไปสักการะพระแม่มหาลักษมีนั้นควรเลือกสีสันสดใสอย่างสีแดง สีเหลือง สีส้ม และเชื่อว่าสีชมพูเป็นหนึ่งในสีโปรดของพระแม่ และเป็นสีของดอกบัวอันเป็นสัญลักษณ์ประจำพระองค์

ซึ่ง ‘ส่าหรีสีชมพู’ เป็นสัญญะของความเป็นผู้หญิง ความสง่างามและเสน่ห์ มักเกี่ยวข้องกับความรักและความโรแมนติก ในบางภูมิภาคของอินเดียอย่างรัฐราชสถาน สีชมพูถือเป็นสีแห่งการต้อนรับและสวมใส่เพื่อแสดงความยินดีให้กับแขกอีกด้วย

หนึ่งภาพแทนอารมณ์ กับสตรีในชุดส่าหรีสีบานเย็นสวดวิงวอนต่อทวยเทพ
เด็กหญิงกับชุดพื้นเมืองอินเดียสีชมพูบานเย็นราวกับเป็นศรัทธาครั้งแรกในชีวิต!

‘ส่าหรีสีขาว’ แห่งปัญญา

ผู้ศรัทธาหลายคนต่างสวมเครื่องแต่งกายสีขาวที่สื่อถึงความบริสุทธิ์ตามบริบทแบบไทยที่มักใส่ในงานบุญ 

“โอม กาลี โอม” เสียงบทสวดเมื่อขบวนคนทรงพระแม่กาลีเคลื่อนผ่าน ผงกุมกุม (ผงเจิมเทวรูป) สีชาดถูกโปรยประทั่วร่างประทับลงบนเสื้อสีขาวราวกับสัญลักษณ์แห่งชัยชนะที่มีต่ออุปสรรค และดูเหมือนว่าเป็นความยินยอมพร้อมตั้งใจ เพราะไม่ว่าจะซักอย่างไรผงกุมกุมบนเสื้อสีขาวก็ไม่มีทางจางหาย

คนทรงพระแม่กาลีประทานพรให้กับเหล่าศิษยานุศิษย์ทั้งสองข้างทาง 
ผงกุมกุมอันศักดิ์สิทธิ์โปรยปรายทั่วทั้งงาน
ภาพผงกุมกุมปกคลุมเสื้อผ้าสีขาวของศิษยานุศิษย์
ภาพเหล่าผู้ศรัทธาในชุดสีขาวสวดภาวนารับพรอย่างตั้งใจ

ส่าหรีสีขาวนั้นหมายถึงความบริสุทธิ์ ความไร้เดียงสา และจิตวิญญาณ นิยมสวมใส่ในพิธีทางศาสนาและพิธีไว้ทุกข์ ให้ความรู้สึกสงบหยุดนิ่ง ในบางภูมิภาคสตรีม่ายจะสวมส่าหรีสีขาวเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการจากลาและการละทิ้ง

ศิษยานุศิษย์ตกแต่งร่างกายในลักษณะของพระแม่กาลี ยืนท่ามกลางผู้ศรัทธาในเครื่องแต่งกายสีขาว
ภาพโคลสอัปของผู้ศรัทธาในรูปลักษณ์ของพระแม่กาลี ราวกับอาภรณ์เป็นการโอบกอดแห่งทวยเทพ
ภาพโคลสอัปของผู้ศรัทธาในรูปลักษณ์ของพระแม่กาลี ราวกับอาภรณ์เป็นการโอบกอดแห่งทวยเทพ

เฉกเช่นเครื่องทรงของ ‘พระแม่มหาสรัสวตี’ เทพีแห่งสติปัญญา ศิลปะ วิทยาการ จินตนาการ และสมาธิ พระองค์มักปรากฏด้วยภาพที่ปราศจากการทรงอาวุธใดๆ มีเพียงเครื่องดนตรี ‘สรัสวตีวีณา’ หรือจะเข้อินเดีย อีกพระหัตถ์ถือลูกประคำและคัมภีร์ พร้อมเครื่องทรงสีขาวบริสุทธ์ผุดผ่อง

ผลงานภาพ 'Goddess Saraswati-พระแม่มหาสรัสวตี' ในเครื่องทรงสีขาว ของ 'ราชา รวี วาร์มา’ ศิลปินไอคอนิกของอินเดีย
ผลงานภาพ ‘Goddess Saraswati-พระแม่มหาสรัสวตี’ ในเครื่องทรงสีขาว ของ ‘ราชา รวี วาร์มา’ ศิลปินไอคอนิกของอินเดีย
สตรีในชุดส่าหรีสีขาวและสีครีมที่ปักเลื่อมแวววาวงดงาม
สตรีในชุดส่าหรีสีขาวพร้อมดีเทลเครื่องประดับอลังการ เผยให้เห็นด้านหลังเคสโทรศัพท์ที่มีภาพองค์ทวยเทพ

เหตุที่พระองค์ทรงปฏิเสธเครื่องทรงสีสันฉูดฉาดนั้นเป็นเพราะว่าสีทุกสีมีความเกี่ยวเนื่องกับคุณค่าบางอย่าง สีแดงและสีชมพูสะท้อนให้เห็นกิจการทางโลกของเทพีแห่งอำนาจ และเทพีผู้ประทานความมั่งคั่งและความรัก แต่สีขาวสื่อถึงความสงบและไม่แยแส อย่างที่หงส์ซึ่งเป็นพาหนะของพระองค์จะไม่ยอมให้วัตถุใดๆ มาพันธนาการตัว เช่นเดียวกันพระแม่มหาสรัสวตีผู้เผยแพร่ปรัชญาก็ปลดเปลื้องพันธนาการทางโลกสมกับเป็นพระแม่แห่งปัญญา

‘ส่าหรีสีเหลือง’ และมาลัยดาวเรือง

นอกจากสีสันสดใสของเครื่องแต่งกายแล้ว ดอกไม้ในพิธีจะเน้นเป็นดอกไม้สีแดงหรือสีเหลืองสด ซึ่งในขบวนราชรถองค์พระพิฆเนศนั้น จัดว่าเป็นหนึ่งขบวนที่ผู้คนเฝ้ารอกันเนืองแน่น ศิษยานุศิษย์มากมายต่างถวายพวงมาลัยดอกดาวเรืองสีเหลืองอร่ามจนเกือบท่วมเทวรูป แสดงถึงศรัทธาอย่างล้มหลามที่มีต่อพระองค์

บรรยากาศขบวนราชรถองค์พระพิฆเนศ ในงานแห่ประเพณีเนื่องในวันวิชัยทัสมิของวัดแขก สีลม ปี 2566

ขบวนราชรถองค์พระพิฆเนศที่เหล่าผู้ศรัทธาเนืองแน่นมหาศาล
ขบวนราชรถองค์พระพิฆเนศที่เหล่าผู้ศรัทธาเนืองแน่นมหาศาล
พวงมาลัยดาวเรืองที่ผู้ศรัทธานำมาถวายกองสูงรอบองค์เทวรูป
พวงมาลัยดาวเรืองที่ผู้ศรัทธานำมาถวายกองสูงรอบองค์เทวรูป
พลังงานศรัทธาที่แสดงออกผ่านพวงมาลัยดอกดาวเรือง
เหล่าผู้ศรัทธากับการอารตีไฟ ณ ขบวนราชรถองค์พระพิฆเนศ

เฉกเช่น ‘ส่าหรีสีเหลือง’ ที่บ่งบอกถึงความคิดในแง่บวก ความสุข และเป็นสีตัวแทนของดวงอาทิตย์ สัญลักษณ์ของแสงสว่างและชีวิต ส่าหรีสีเหลืองมักสวมใส่ในพิธีทางศาสนา แสดงถึงความจงรักภักดีและการเริ่มต้นที่เป็นมงคล ในบางพื้นที่ของอินเดีย สีเหลืองเกี่ยวข้องกับความรู้ จึงใช้สำหรับประกอบกิจกรรมทางวิชาการและพิธีการต่างๆ

ส่าหรีสีแดงและสีเหลืองที่เหล่าผู้ศรัทธาบรรจงห่มคลุมอย่างพิถีพิถัน
เหล่าผู้ศรัทธาในชุดส่าหรีสีแดง สีดำ-ทอง และสีครีม
เหล่าผู้ศรัทธาในชุดส่าหรีสีแดง สีดำ-ทอง และสีครีม

ส่าหรีที่ยาวนับอนันต์

ขบวนราชรถองค์พระกฤษณะประดับประดาอย่างสมพระเกียรติ บรรดาผู้ศรัทธาสวมเครื่องแต่งกายสีสันสดใสต่างถือพวงมาลัยมาสักการะไม่ขาดสาย หวนให้นึกถึงเรื่องราว ‘ส่าหรีที่ยาวนับอนันต์’ ของ ‘พระนางเทราปตี’ (ทะ-เรา-ปะ-ตี) แห่งมหากาพย์มหาภารตะ หลังยุธิษฐิระ ผู้เป็นสามี (นางมีสามีทีเดียว 5 คน คือ 5 พี่น้องปาณฑพ ได้แก่ ยุธิษฐิระ ภีมะ อรชุน นกุล และสหเทพ) และพี่คนโตแห่งเจ้าชายปาณฑพใช้พระนางเป็นเครื่องเดิมพันและได้แพ้พนัน พระนางจึงถูก ทุหศาสัน’ กระทำการหมิ่นเกียรติเปลื้องผ้าส่าหรีกลางสภา พระนางจึงได้วิงวอนต่อองค์พระกฤษณะให้ประทานความเมตตาหวังหลุดพ้นบ่วงแห่งความอับอายครั้งนี้ จากนั้นจึงบังเกิดส่าหรียาวสุดลูกหูลูกตา ที่ไม่ว่าทุหศาสันจะปลดเปลื้องเท่าไหร่ก็ไม่จบไม่สิ้น

ขบวนราชรถองค์พระกฤษณะที่ประดับประดาอย่างสมพระเกียรติ
ภาพการอารตีไฟเบื้องหน้าเทวรูปพระกฤษณะ
ทุหศาสันทำการเปลืองผ้าพระนางเทราปตี และพระกฤษณะที่ทรงประทานส่าหรียาวสุดลูกหูลูกตา
ภาพส่าหรีที่ยาวนับอนันต์ของพระนางเทราปตี

และนี่เป็นหนึ่งในการแสดงความเมตตาขององค์เทพปรากฏผ่านบริบทของสตรีโดยเลือก ‘ผ้าส่าหรี’ เป็นตัวบอกเล่า และไม่ว่าวันนี้สองข้างทางจะขมุกขมัวและหัวใจมืดบอดเพียงใด หากแต่ว่ามนุษย์จุดเทียนแห่ง ‘ศรัทธา’ ความหวังจะบังเกิด! อย่างน้อยก็ให้ ‘ส่าหรี’ เป็นตัวแทนที่จับต้องได้ โอบล้อมทั่วสรรพางกายราวกับเป็นการโอบกอดแห่งทวยเทพ 

‘ส่าหรีสีสันสดใส…ศรัทธาสว่างไสว…จากหัวใจที่มืดมิด’

Words: Varichviralya Srisai
Photos: Somkiat Kangsdalwirun 
ข้อมูลจาก:

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม