เป็นเวลา 6 ปีมาแล้วที่นินเทนโด สวิตช์ เครื่องเกมคอนโซลตัวท๊อปของนินเทนโดวางจำหน่าย แต่ด้วยราคาและฟังก์ชั่นผสมผสานระหว่างการเป็นเครื่องเกมพกพากับคอนโซลหน้าทีวี ทำให้สวิตช์ยังคงแจ๋วขึ้นเรื่อยๆ ห่างไกลกับคำว่าเครื่องเกมตกรุ่น
จริงอยู่ที่สวิตช์ไม่ใช่เครื่องเกมที่ทรงพลังอะไรเลย เมื่อเทียบกับเครื่องเกมเรือธงจากค่ายอื่นๆแล้ว เพลย์สเตชั่น 5 หรือ Xbox X/S มาพร้อมกับกราฟิกระดับ 4K และสเป๊กจัดหนักที่เย้ายวนใจสำหรับสายเทคโนโลยี แต่สวิตช์ไม่ได้เป็นแบบนั้น แต่สวิตช์มีความเอนกประสงค์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว พร้อมทั้งเกมเพลย์แบบฉบับของสวิตช์ที่หาไม่ได้จากเครื่องเกมอื่น
จุดขายหลักของสวิตช์คือ ดีไซน์เฉพาะตัวที่สามารถเป็นได้ทั้งเครื่องเกมพกพาและเครื่อมเกมประจำบ้าน ด้วยหน้าจอขนาด 6 นิ้ว Joy-con คอนโทรลเลอร์แบบถอดได้ และแท่นเชื่อมต่อ HDMI สวิทช์ให้คุณได้เล่นเกมได้ถึง 3 วิธี ทั้งเชื่อมต่อกับทีวี ใช้หน้าจอบนตัวเครื่องเป็นมอนิเตอร์ขนาดจิ๋ว(โหมดตั้งโต๊ะ) หรือถือเล่นแบบเกมพกพา
ด้วย 3 โหมดที่แตกต่างกันนี้ เราสามารถเล่นโดยต่อกับทีวีเป็นหลัก ผ่านแท่นเชื่อมต่อ HDMI สนุกไปกับภาพความละเอียด 1080p ซึ่งเป็นความละเอียดสูงสุดที่เครื่องซัพพอร์ต
ขณะเดียวกันเมื่อใช้งานโหมดตั้งโต๊ะ คุณสามารถใช้หน้าจอที่ติดตั้งมากับเครื่องและขาตั้งด้านหลังวางบนโต๊ะ แล้วเล่นกับคอนโทรลเลอร์ไร้สายที่ถอดออกมาจากด้านข้างตัวเครื่อง โหมดนี้อาจจะใช้ยากที่สุดในสามโหมด ด้วยกราฟิกที่คุณภาพไม่สูงนัก และขาตั้งด้านหลังที่ไม่ค่อยจะมั่งคงเท่าไร
แต่สำหรับโหมดเครื่องเกมพกพา เมื่อหน้าจอ built-in ประกอบกับ Joy-con 2 ข้าง นั้นคือที่สุดสำหรับคนสายตาสั้นอย่างฉันที่มักจะปวดตากับการจ้องทีวีที่อยู่อีกฝากของห้อง โหมดเครื่อมพกพาช่วยให้ฉันถือเครื่องเกมในระยะใกล้ และสนุกไปกับภาพบนหน้าจอ ที่ถึงแม้ความละเอียดจะเพียง 720 p แต่ด้วยระยะที่สมเหตุสมผล ทำให้เป็นมิตรกับสายตามากกว่าทีวีจอยักษ์เสียอีก
ในฐานะเครื่องเกมพกพา ไม่มีอะไรเทียบสวิตช์ได้ ด้วยรูปร่างสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกะทัดรัด สะดวกยัดลงกระเป๋าถือขนาดกลางถึงใหญ่ จะพกไปทำงานทุกวันก็ไม่ลำบากเกินไป หยิบขึ้นมาเล่นช่วงพักเที่ยง คลายเครียดผ่อนคลายสมองเล็กน้อย ออกจะสะดวกกว่าเล่นเกมในแท็บเล็ตเป็นไหนๆ แม้ขนาดแบตเตอรีจะเป็นอุปสรรคอยู่บ้าง แต่ด้วยระยะเวลาใช้งาน 4 -7 ชั่วโมงตามความกินไฟของเกมที่เล่น ก็สะดวกง่ายดายกับการเล่นระหว่างเดินทางทั้งรถทัวร์และเครื่องบิน
นินเทนโด สวิตช์มาพร้อมคอนโทรลเลอร์ตัวเล็กสองสีที่เรียกว่า Joy-con วิธีการใช้ Joy-con ก็มีหลากหลายสไตล์เช่นเดียวกับตัวเครื่อง
แบบที่เต็มศักยภาพที่สุดคือ ติด Joy-con ทั้งสองอันกับตัวเครื่องซ้ายขวา ในโหมดแบบพกพา หรือใส่เข้ากับ Joy-Con grip เพื่อประสาน Joy-con ทั้ง 2 อันเป็นคอนโทรลเลอร์ไร้สายอันเดียวในโหมดแบบต่อทีวี
แม้จะเล่นได้เหมือนกัน แต่การใช้ Joy-con แบบไม่ใส่ Joy-Con grip จะให้ความรู้สึกที่ทุลักทุเลพอสมควร ด้วยความที่ Joy-con เดียวๆแต่ละอันมีขนาดเล็ก ประกอบกับเมื่อไม่มีตัวเชื่อมตรงกลางแล้ว มือทั้งสองข้างของเราพาลจะสะเปะสะปะขณะเล่น เหมือนกำลังฝึกวิชาสองมือขัดแย้ง ขวาไปทางซ้ายไปทาง ส่วนฟังก์ชั่นที่ใช้ Joy-con แต่ละอันมาพลิกด้านข้าง เพื่อเล่นสองคน ถึงจะสะดวกในการเล่นกับเพื่อน แต่การบังคับก็มีข้อจำกัด และไม่ถนัดมือเอาเสียเลย
Joy-con มีฟังก์ชั่นของ motion control ที่มีประโยชน์มาก เมื่อใช้ในการเล็งเป้าในเกมเพลย์ส่วนของการยิงธนู ใน Zelda: Breath of the Wild และการยิงปืน เล็งเป้าอื่นๆใน Splatoon และ Metroid Prime Remastered ทำให้เล็งได้แม่นยำและเร็วขึ้น ตอบสนองกับศัตรูที่โถมเข้ามาอย่างทันท่วงที โดยเฉพาะจังหวะที่คนเล่นแนวป้าขี้ตกใจอย่างฉันกำลังลนลาน
เมื่อเทียบกับเครื่องเกมคอนโซลระบบอื่น สวิตช์มี Library เกมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว คนเล่นสวิตช์จะไม่ได้เล่นเกมยอดนิยมชายแท้ทั้งหลายอย่าง Call of Duty หรือ Assassin’s Creed ที่เครื่องเกมยักษ์ใหญ่โปรโมตกันโครมๆ แต่ในทางกลับกัน สวิตช์ก็มีเกม exclusive ที่โดดเด่นด้านเกมเพลย์ที่หาไม่ได้จากเครื่องเกมอื่นๆ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน (และอาจในอนาคต) ไม่ว่าจะเป็น RPG open world อย่าง The Legend of Zelda: Breath of the Wild เกมแนวแพลตฟอร์มอย่าง Super Mario Odyssey เกมแนวต่อสู้อย่าง Super Smash Bros. Ultimate และแนว life sims อย่าง Animal Crossing: New Horizons
ไม่ว่าจะแนวไหน สวิตช์มีเกมที่ออกแบบมาให้เป็นที่สุดของแนวนั้นเสมอ และที่สำคัญเกมเรือธงของสวิตช์ทุกเกมมาในมู้ดแอนด์โทนที่เป็นมิตรกับเพื่อนสาวทั้งหลายเป็นพิเศษ
แม้จะผ่านไป 6 ปีแล้ว นินเทนโดก็ยังเลือกลงเกมยอดนิยมภาคต่อในสวิตช์ต่อไป โดยเฉพาะ The Legend of Zelda: Tears of the Kingdom ที่เพิ่งออกช่วงกลางปีที่ผ่านมา อัปเกรดความสนุกจากภาคแรกได้อย่างดีเยี่ยม และยังคงรักษาบัลลังก์เกม Open World RPG ที่ดีที่สุดให้กับซีรีส์ Zelda ได้อย่างไม่มีข้อโต้แย้ง เมื่อเปรียบเทียบกับ RPG แนวหน้าในฝั่ง Play Station อย่าง Final Fantasy (ภาค 15 ใน PS4 และ ภาค 16 ใน PS5) ที่ถึงแม้จะสวยงามอัปเกรดกราฟิกข้ามรุ่นเครื่อง แต่เกมเพลย์เกมก็ยังคงได้แค่สนุกเสมอตัว และก้ำกึ่งในความรู้สึกของแฟนๆ
ข้อดีอีกอย่างหนึ่งของการซื้อเครื่องเกมที่ออกมานานแล้วอย่างสวิตช์ตอนนี้ก็คือ เครื่องที่วางขายอยู่ในท้องตลาดจะมีรุ่นอัปเกรดที่ผ่านการลองผิดลองถูกมาอย่างดีแล้ว เช่น รุ่นหน้าจอ OLED ที่ขนาดหน้าจอจาก 6.2 นิ้ว เป็น 7 นิ้ว เปลี่ยนพาเนลจาก IPS LCD เป็น OLED ในเชิงเทคนิคแล้วจะแสดงผลได้สวยสดมากกว่า เพราะไม่ต้องอาศัยชั้นฟิลเตอร์ในการกำเนิดสี และมีตัวดีไซน์พิเศษแบบ Limited ที่ออกมาพร้อมกับตัวเกมตัวท็อปโดยเฉพาะ Nintendo Switch – OLED Model The Legend of Zelda™: Tears of the Kingdom Edition ที่ออกมาในเดือนเมษายน ที่งามหรูหราดั่งหยาดน้ำตาแห่งอาณาจักรสมชื่อ
อย่างไรก็ดีเราก็ต้องยอมรับว่า เทคโนโลยีด้านภาพของสวิตช์ก็เป็นข้อเสียที่ปฎิสเธไม่ได้ ความละเอียดสูงสุด 1080p นั้น ด้อยกว่า 4K ที่กำลังกลายเป็นมาตรฐานความละเอียดทั่วไปอยู่มาก เทคโนโลยีที่ตามหลัง ทำให้หลายเกมของสวิตช์อาจมีปัญหาเรื่องความช้าในการโหลดและการกระตุกเมื่อเล่นแบบออนไลน์
ด้วยตัวเครื่องที่เล็กทำให้มีความจุเครื่องที่น้อยเพียง 32 GB ในรุ่นปกติ และ 64 GB รุ่น OLED ต้องอาศัย Micro SD การ์ดช่วยซึ่งสามารถซัพพอร์ตได้ถึง 2TB ในส่วนของการเป็นอุปกรณ์บันเทิงหน้าจอทีวีก็มีข้อด้อยตรงที่ไม่สามารถเล่นแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง อย่าง Netflix, Amazon Prime หรือ Disney Plusได้
ถ้าคุณมองหาอุปกรณ์ความบันเทิงครบวงจรที่ใช้เชื่อมต่อกับโทรทัศน์ และอยากเมามันกับเกมกราฟิก A+ในมู้ดแอนด์โทนแบบชายแท้ เครื่องเกมอย่าง Play Station 5 น่าจะตอบโจทย์กว่า แต่สำหรับคนที่เพลิดเพลินกับเกมดีๆ ที่เน้นรูปแบบการเล่นเฉพาะตัว ใช้สมองและฝึกฝนทักษะแปลกใหม่ สวิตช์มอบรูปแบบการเล่นใหม่ให้เสมอ แม้ว่าจะออกมา 6 ปีแล้วก็ตาม
Words: Roongtawan Kaweesilp
ข้อมูลจาก: www.businessinsider.com