Search
Close this search box.
Search
Close this search box.

อนวัช เพชรอุดมสินสุข ช่างภาพที่ใช้ ‘อาหาร’ แฉคุณภาพชีวิต สังคมและอัตตาของคน

“คนชอบบอกงานผมไทยมาก เป็นไทยแบบ weird ที่คนต่างชาติเห็นแล้วตะลึง
Interview / Professional

เขาหันหลังให้งานสถาปนิก บ่ายหน้าเป็นช่างภาพอาหาร แต่คับข้องใจเมื่อเจอโจทย์ที่ว่า ‘จงถ่ายอาหารให้สวยเกินจริง น่ากินเกินงาม’ โอม – อนวัช เพชรอุดมสินสุข จึงเอาหมูไปปิ้งบนตะแกรงท่อระบายน้ำ สัญลักษณ์ของเมืองกรุงเทพฯ ไปขอใบเสร็จและแพ็กเกจจิ้งอาหารจากถังขยะของผู้คน เพราะนั่นคือตัวบ่งบอกรายได้ อัตตาและคุณภาพชีวิตของปัจเจกบุคคล กระทั่งขี้หมูขี้หมาเขาก็จับมาจัดไฟเซตถ่ายรูปในแบบกลับขั้วจากความสวยเกินเบอร์ไปเป็นแย่เกินไป นั่นเพราะอาหารสำหรับเขา – คือเครื่องมือสื่อสาร – ของศิลปะ

ท่ามกลางภาพถ่ายสลิ่มในขวดนมเด็ก ปูใส่หน้ากากอนามัย ปลาที่มีแท่งตรวจเอทีเคจ่อคอหอย คือเนื้อตัวร่างกายของผู้จัดวางองค์ประกอบและบันทึกภาพเหล่านี้ เรามองทุกภาพอย่างถ้วนถี่เช่นเดียวกับผู้มาเยี่ยมเยือนงานนิทรรศการแรกของเขาแล้วถึงกับต้องถามออกไปว่า…

โอม อนวัช เพชรอุดมสินสุข

LIPS: คุณเป็นคนแบบไหนกัน ทำไมจึงมองโลกแบบนี้

โอม: รูปพวกนี้คืองานส่วนตัว สไตล์ภาพจะตรงข้ามกับงานจ้างจากลูกค้าที่ต้องสวยเพอร์เฟกต์เกินจริง เราเอาความอัดอั้นมาระบายออกมาเป็นงานส่วนตัว จะเห็นว่าส่วนใหญ่แล้วสิ่งที่เป็นมีมจะไม่ได้สวยงาม แถมยังตั้งใจทำให้ดูแย่กว่าความเป็นจริงไปอีก เราจึงมีทั้งฝั่งที่สวยเกินจริง อีกฝั่งก็แย่เกินจริง แต่ผมชอบอย่างหลัง เลยคิดต่อว่าอาหารในความคิดคนส่วนใหญ่ต้องดูดีน่ากิน แต่ผมจะใช้อาหารมาเป็นเครื่องมือในการแสดงออก โดยไม่ได้คิดว่าอาหารต้องสวยงามดูน่ากินหรือเปล่า

LIPS: ซึ่งก็สะท้อนสังคมไปด้วย

โอม: บางภาพก็ตั้งใจสะท้อน เช่น รูปปิ้งหมูบนตะแกรงระบายน้ำบนถนน แต่รูปอื่นๆมาจากโปรเจกต์ 365 ที่ผมไม่ได้ต้องการให้ดูน่ากิน แต่อยากได้ความแซะ ในโปรเจกต์ 365 เราใช้วิธีการถ่ายรูปวันละ 1 รูปเป็นเวลา 365 วัน วิธีการนี้บังคับให้เราต้องคิดงานวันละรูป เลยทำให้เราใส่ความเป็นตัวเองโดยรู้ตัว เช่น ความเป็นชนชั้นกลาง ความไทยไทย คนชอบบอกงานผมไทยมาก แต่ไม่ใช่ไทยลายกนกสีทองนะ เป็นไทยแบบ weird ที่คนต่างชาติเห็นแล้วตะลึง มีแบบนี้ด้วยหรือ เช่น สายไฟฟ้าระเกะระกะ ฟุตบาทที่ไม่เรียบ เราอยู่กับสิ่งเหล่านี้จนชิน จนกระทั่งเราฉายสปอตไลต์ส่องมัน ถึงได้เห็นว่ามันประหลาด เป็นสิ่งเหล่านี้ที่แทรกเข้ามาในรูปโดยไม่ตั้งใจ

Project 365 Photographer; Ohm Anawat
Project 365 Photographer; Ohm Anawat

LIPS: มีวินัยมาก ทำงานวันละชิ้น 365 วันต่อเนื่องกัน ประสงค์อยากจะดัดนิสัยตัวเองหรือต้องการสิ่งใด

โอม: นั่นก็ด้วย ผมรู้สึกว่าเราไม่เคยทำอะไรต่อเนื่องให้สำเร็จก็เลยอยากลองทำให้ได้ อย่างนักวาดรูปจะมีชาเลนจ์วาดรูป 30 วันติดต่อกัน วันนี้วาดตา อีกวันวาดมือ วันต่อไปวาดของที่อยู่ข้างขวา ฯลฯ มีโจทย์ที่จะวาดในแต่ละวัน เราอยากทำงานให้ได้ทุกวันแบบเขา และรู้สึกว่าระยะเวลาเดือนเดียวสั้นไป เลยขอทำไปเลย 365 วัน

เวลามองคนนั้นคนนี้ที่ทำอะไรสำเร็จ เราจะรู้สึกว่าทำไมเราไม่มีเลย ก็มีบ้างแหละที่เราทำได้แต่ไม่ได้รู้สึกว่ามันใหญ่โตหรือมากมายอะไร…เป็นเพราะเราเล่นโซเชียลครับ ไม่ว่าจะแพลตฟอร์มไหนก็ตาม มันทำให้เราไม่ได้รับรู้กระบวนการกว่าที่เขาจะทำสำเร็จได้ เขาต้องผ่านอะไรมาบ้าง เรารับรู้แค่ผลลัพธ์ที่เขาทำสำเร็จแล้ว และมีแต่ผลลัพธ์ความสำเร็จเต็มฟีดไปหมด ในใจรู้นะว่าเขาก็ต้องผ่านกระบวนการมาเยอะแยะ แต่อีกใจก็มองเห็นแต่ผลลัพธ์สุดท้ายของเขาที่สำเร็จแล้ว ซึ่งเป็นความรู้สึกร่วมของคนรุ่นผม ผมมั่นใจ คนรุ่นผมอยากประสบความสำเร็จในทางของตัวเอง

LIPS: แล้วคุณต้องทำกระบวนการอะไรให้ประสบความสำเร็จได้ล่ะ

โอม: ต้องทำพอร์ตโฟลิโอ มีคนบอกว่าถ้าอยากให้มีคนจ้างเราไปทำงานที่มากกว่านี้ในทุกแง่มุม ทั้งงบ ผลลัพธ์และทุกๆอย่าง เราต้องสร้างงานขึ้นมาให้คนได้เห็นกันก่อน ถ้าเรารอให้ลูกค้าโยนงานเจ๋งๆมาให้ก่อน มันยากมาก ช่างภาพเก่งๆมีเยอะแยะไป คำถามที่ผมถามตัวเองคือทำไมคนนั้นจึงได้รับการจ้างงาน แล้วทำไมผมไม่ได้ งานแบบนี้ผมก็ทำได้นะ ซึ่งก็ตอบยาก คนนั้นที่ได้งานอาจจะผ่านกระบวนการสร้างงานให้ลูกค้าเห็นก่อนก็ได้ แต่เราไม่รู้ เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่เราทำโปรเจกต์ 365 ด้วย อยากทำให้ได้ทุกวันก่อน คุณภาพงานบางวันอาจจะดร็อปไปบ้าง แต่ขอให้ทำทุกวัน

LIPS: ระหว่างทางเกิดอะไรขึ้นบ้าง

โอม: ก่อนเริ่มโปรเจกต์เป็นช่วงโควิด เราเคว้งคว้างมาก งานน้อย เห็นเพื่อนช่างภาพคนนั้นคนนี้มีงาน ทำไมเรานอนอยู่บ้าน รู้สึกโหวงๆว่าจะทำอย่างไรให้อยู่รอดได้ พอเริ่มทำโปรเจกต์ก็รู้สึกเหมือนเดิมว่าเราไม่มีงานนะ แต่เรารู้ว่าเราอยู่ในกระบวนการ เรารู้ว่าเรามาถูกทางละ เรื่องเลิกทำกลางคันน่ะไม่เลิกแน่ แต่ยากตรงที่เราต้องประคับประคองทำงานให้ได้ทุกวัน ซึ่งแปลว่าทุกๆวันเรามีค่าใช้จ่ายเรื่องอุปกรณ์ตั้งแต่หลักสิบจนถึงหลักพัน เราต้องจ่ายทุกวันโดยที่เราไม่มีงาน เราต้องวางแผนในหลายๆด้าน ต้องหาของที่ไม่แพงหรือมีอยู่แล้วจะได้ทำงานได้ง่ายที่สุดและทำได้ทุกวัน พยายามทำให้เรามีข้ออ้างที่จะไม่ทำให้น้อยที่สุด นี่คือหนึ่งในเหตุผลว่าในงานของผมจึงมีของบ้านๆเยอะมาก เพราะไม่มีเงินซื้อพร็อพแพงๆ

LIPS: พอวันที่ 366 จบโปรเจกต์ 365 แล้วรู้สึกอย่างไร

โอม: เคว้ง เพราะเราทำมาทุกวัน แต่เราต้องไปต่อ มีโปรเจกต์อื่นๆให้เราได้ทำ สิ่งที่ได้คือได้รู้ทางของตัวเอง เราและคนอื่นเห็นว่างานเราไทยมาก มันกวนตีนมากเลย ไม่มีใครทำแบบนี้ มันมีคีย์เวิร์ดเหล่านี้เกิดขึ้น ไม่เชิงว่าเป็นลายเซ็นชัดเจน แต่เริ่มรู้ว่าเราแตกต่างจากคนอื่นอย่างไร ได้รู้ว่าเราเป็นคนชอบด่าผ่านรูปครับ พิมพ์ด่าไม่เก่ง ด่าไม่เจ็บ แต่ถ้าด่าผ่านรูปจะด่าเก่งและเจ็บมาก (หัวเราะ)

Project 365 Photographer; Ohm Anawat
Project 365 Photographer; Ohm Anawat

LIPS: กระบวนการสร้างสรรค์ของศิลปินมักถูกมองว่าเป็นกระบวนการโรแมนติกศิลปินได้ให้กำเนิดผลงาน แต่กระบวนการสร้างสรรค์มันโหดร้าย มันยาก มันเป็นการทำลายตัวเราเองด้วยซ้ำ

โอม: จริงครับ พอเราเริ่มโตขึ้น กว่าที่คนเราจะได้อะไรมา ไม่ใช่ความโชคดีหรอก เป็นเรื่องของการลงมือทำไปเรื่อยๆ ถ้ามองย้อนกลับไป เราจะเห็นเลยว่าเป็นเพราะเราทำสิ่งนั้น เราจึงได้สิ่งนี้ในวันนี้ คนที่ไปถึงระดับที่ประสบความสำเร็จมากๆ เพราะเขาทำอะไรมาเยอะและทำมาเรื่อยๆ และจุดหนึ่งเขาต้องทุกข์ทรมานมาก ไม่ใช่นอนๆอยู่แล้วทุกอย่างจะเกิดขึ้นมาเอง

อย่างผมในตอนนี้สิ่งที่ต้องเสียสละคือผมเลือกงาน บางงานถ้างบไม่ถึงหรือลักษณะงานไม่ใช่แบบที่ผมอยากทำ ผมก็จะไม่รับงานนั้น แต่ก่อนงานถูกแค่ไหนก็รับหมด คิดว่าดีกว่านอนอยู่บ้านเฉยๆ แต่ตอนนี้ไม่ได้ละ เราจะลดคุณค่าตัวเองไม่ได้ ถ้าไม่ได้เงินช็อตมากขนาดนั้นก็จะไม่รับ (หัวเราะ) เพราะในระยะยาวมันจะลดทอนคุณค่าของเรา มันเสียแบรนด์ ในงานคอมเมอร์เชียลน่าจะยากที่เราจะทำงานแบบนี้ได้ เพราะแบรนด์ก็มีภาพลักษณ์ของเขา แต่ก็คนมีจ้างผมจริงๆนะ คือปก a day ที่ให้อิสระผมมากๆ แต่หลังจากนี้ก็ไม่รู้จะมีลูกค้าแบบนี้เข้ามาอีกไหม

LIPS: งานอะไรที่ทำแล้วลดทอนคุณค่าตัวเอง ทำให้เสียแบรนด์

โอม: สำหรับผมคืองานที่ถ่ายอาหารสวยๆ แบบที่ช่างภาพคนไหนถ่ายก็ได้ มันลดทอนคุณค่าเรา ผมว่าเป็นที่ประเทศเราด้วย มีรุ่นพี่บอกว่าในไทยมันยากที่ลูกค้าจะเจาะจงว่าต้องเป็นช่างภาพคนนี้ถ่ายเท่านั้น เพราะถ้าค่าตัวแพงมาก เขาก็ไปหาคนอื่นที่ราคาและคุณภาพน้อยกว่านี้ได้ เขาไม่สนว่าลายเซ็นช่างภาพต้องชัดเจน แต่ผมว่าไม่ได้เป็นทุกประเทศหรอกที่เจาะจงช่างภาพ มันคือระบบทุนนิยมต่างหาก

LIPS: ช่างภาพเมืองนอกที่คุณมองว่าทำงานเจ๋งๆ คุณกับเขาต่างกันตรงไหน

โอม: เวลาผมดูงานช่างภาพตัวท็อป เขามีทุกอย่างที่ผมไม่มี เรามาดูตอนที่เขาสำเร็จแล้วเลยเปรียบเทียบอะไรไม่ได้ ไม่ได้รู้กระบวนการของเขาว่ากว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ เขาต้องผ่านอะไรมา แต่ผมชอบดูเครดิตทีมงาน เราจะเห็นรายชื่อคนจำนวนหนึ่งในตำแหน่งต่างๆที่เป็นเฮด ซึ่งฝีมือก็เป็นระดับท็อปเหมือนกัน คนเหล่านี้มีประสบการณ์ ความรู้หรือความคิดบางอย่างที่มากกว่าเรา ไม่นับอุปกรณ์หรืองบนะ ผมคิดว่าประสบการณ์ทำให้ผลงานออกมาต่างกัน เหมือนเป็นการสะสมชั่วโมงบิน บางรูปของช่างภาพตัวท็อปที่ผมชอบ มันง่ายมาก ฉากเรียบๆ ไม่ได้ใช้โปรดักชันอลังการอะไรเลย แต่ให้เราไปถ่ายเหมือนเขา เราก็ทำไม่ได้เหมือนเขาหรอก เพราะเราคิดเหมือนเขาไม่ได้ พอทำโปรเจกต์ 365 ผมคิดว่ากระบวนการเป็นสิ่งสำคัญ มันต้องใช้เวลาสั่งสมไปเรื่อยๆ จะมาลัดข้ามขั้นตอนมาไม่ได้ ความสำเร็จต้องเป็นสิ่งที่ต้องทำเพื่อให้ได้มาเท่านั้นเลย

LIPS: อยากทำโปรเจกต์ใหม่ๆอีกไหม

โอม: ตอนนี้ผมถ่ายขยะอยู่ครับ ผมจะไปขอขยะจากคนที่ผมคิดว่าน่าสนใจและส่งวิธีการเก็บขยะไปให้ เช่น ไม่เอาสารคัดหลั่งใดๆ เน้นของแห้ง ไม่เอาของเน่าเฟะ อย่างมีพี่คนหนึ่ง ผมขอขี้หมาจากเขามาถ่ายรูป ที่อยากได้มากคือแพ็กเกจจิ้งสินค้าต่างๆและใบเสร็จเวลาซื้อของ ไอเดียเริ่มจากนั่งดูหนังแนวสืบสวนสอบสวน แล้วตัวละครพูดว่าถ้าอยากรู้ว่าคนๆนั้นเป็นคนอย่างไร ให้ดูขยะที่เขาทิ้ง คือในหนังมีคนหาย ทีนี้ตัวละครก็ไปสืบจากขยะของคนที่หายไปว่าทิ้งร่องรอยอะไรไว้บ้าง ก็จะเห็นใบเสร็จ เห็นซองใส่อาหาร ถุงใส่ของต่างๆ ถ้าของยังไม่เน่า ก็แสดงว่าหายตัวไปไม่นาน อะไรแบบนี้ เราดูหนังแล้วเลยปิ๊งไอเดีย

อีกเหตุผลคือผมไม่ชอบถ่ายคนแต่ชอบรูปพอร์เทรต ผมสื่อสารกับคนไม่เก่ง โปรเจกต์ถ่ายขยะก็คือการถ่ายพอร์เทรตที่ใช้ขยะแสดงตัวตนของคนๆนั้น ผมจะขอให้คนรวบรวมขยะที่ตัวเองทิ้งสัก 3-5 วันแล้วส่งมาให้ผม ทีนี้เขาจะก็เริ่มคัดเลือกขยะเพราะรู้ว่าต้องโดนถ่ายรูป ผมว่าขั้นตอนเหล่านี้เหมือนการเล่นโซเชียลมีเดีย เราเลือกว่าอยากให้คนอื่นเห็นเราอย่างไร ขยะที่ได้มาก็มีคนที่ตั้งใจอวดเลยนะครับว่าฉันใช้ของแบรนด์เนม แล้วพอผมได้ขยะมาก็จะคัดเลือกอีกที จัดไฟอย่างดีให้ขยะดูสวยงามที่สุด เราจะทำให้มันเพอร์เฟกต์มากๆ และนำเสนอตัวตนของเจ้าของขยะไปด้วย โปรเจกต์นี้กินระยะเวลานานแน่นอน อาจจะทำไปจนอายุ 50 ก็ได้ ไม่ได้ทำทุกวัน จะทำเฉพาะเมื่อเจอคนที่เราอยากถ่ายขยะของเขา เพราะผมเลือกคนให้หลากหลาย ตั้งแต่ขยะคนรวยไปจนถึงขยะของคนไร้บ้าน

ผมมองว่าขยะเหล่านี้ก็เหมือนการเล่นโซเชียล ซึ่งในโซเชียลมีแต่ขยะทั้งนั้น แม้แต่ขยะทางความคิดก็ด้วย เสพไปก็ toxic ทั้งนั้น และอยากพูดถึงวงการคอมเมอร์เชียลด้วยที่ทุกคนใช้ทักษะความสามารถที่มีสูงมากๆไปกับการสร้างขยะ เหมือนเอาความสามารถไปทิ้ง ผมไม่ได้บอกว่าความสามารถคือขยะ ผมเคารพทุกคน แต่มันคือความอัดอั้นสมัยที่เราทำงานคอมเมอร์เชียล

LIPS: ทัศนคติกับตัวเองเปลี่ยนไปไหมหลังจากทำอะไรบางอย่างสำเร็จได้แล้ว ทำโปรเจกต์สำเร็จ มีงานนิทรรศการ

โอม: มองว่าเราทำบางอย่างสำเร็จแล้ว แต่ด้วยวัยแล้ว ผมไม่เคยพอ ต้องไปต่อ อยากไปให้รู้ อยากไปอยู่ในจุดที่คนรวยชอบพูดว่าเงินไม่ใช่สิ่งสำคัญ ผมเองก็อยากพูดได้ว่าชื่อเสียงไม่สำคัญ ผมบอกเลยว่าแรงบันดาลใจของผมคือเงิน ถ้าจะสังเกตว่าพร็อพต่างๆในรูปที่ผมถ่ายสื่อถึงความเป็นชนชั้นกลางของตัวเอง เราเห็นชีวิตเพื่อนบางคน ทำไมชีวิตเขาดูง่ายจัง อยากได้อะไรก็ขอพ่อแม่ แต่เราไม่เคยได้ ไม่ใช่ว่าพ่อแม่ไม่ให้ แต่เขาให้ไม่ได้ ไม่มีจะให้จริงๆ เงินสำคัญมาก นี่คือความคิดในใจเรามาตลอด ข้าวของที่เราใช้ก็เป็นของที่ชนชั้นกลางใช้

LIPS: พอเห็นรูปเหล่านี้ก็เหมือนมองเห็นพอร์เทรตของตัวคุณเอง มีช่วงเวลาที่ไม่ชอบตัวเองบ้างไหม

โอม: โชคดีที่ผมไม่ได้เป็นโรคทางจิตเวชเลย แต่ก็เอ๊ะ หรือว่าเป็น ทุกวันนี้ผมมองจิตเวชว่าปกติเหมือนไข้หวัด คนรอบตัวผมหาหมอทุกคน บางคนดิ่งหนักมาก ถ้าผมเป็น – ก็เป็นในระดับอ่อนมากๆ แต่เพื่อนผมหนักระดับที่กินยาเป็นกำหรือไม่ก็หายไปเลย ความเศร้านี้ที่คนรุ่นผมประสบอยู่จะเป็นอีกโปรเจกต์ของผมในระยะยาว เป็นการที่เราไปเห็นบางอย่างมาเองหรือเห็นบางคนประสบเหตุการณ์บางอย่างแล้วนำมาแปลงเป็นภาพ หรืออาจเป็นความเศร้าปกติประจำวัน นี่จะเป็นการพัฒนาพอร์ตโฟลิโอของผมอีกเช่นกัน

Words: Suphakdipa Poolsap
Photos: Somkiat Kangsdalwirun

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม