“ไปโดนตัวไหนมาลู้ก..ก?”
คำถามนี้ผุดขึ้นในหัว เมื่อเราได้รับเทียบเชิญให้ร่วมสำรวจเฟสใหม่ของชีวิต ‘น้องตัวกลม’ ตัวการ์ตูนชื่อดังผู้เป็นไอคอนแห่งความสุขสดใสไร้เดียงสา หลังหนูน้อยฉายเดี่ยวออกเดินทางสู่การผจญภัยครั้งยิ่งใหญ่ กระทั่งได้สัมผัสกับมิติแห่งอารมณ์ ‘เหงา – เศร้า – โดดเดี่ยว – จากลา’ จนมีเรื่องเล่ากลับมาเต็มกระบุงและพร้อมถ่ายทอดสารทุกข์สุกดิบผ่านศิลปะในหมู่เมฆ On Cloud Nine นิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกโดย อู๋ – พศุตม์ วุฒิกรสมบัติกุล นักออกแบบคาแรกเตอร์ ผู้อยู่เบื้องหลังพลังบวกของน้องตัวกลมตั้งแต่แรกตัดสายสะดือ
เมื่อกลางปี 2022 อู๋ – พศุตม์ มีโอกาสพาน้องตัวกลมมาชิมลางบนผืนผ้าใบเป็นครั้งแรกที่ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก กับคอนเซ็ปต์สุดอบอุ่น A Little Happiness Discovered in Summer ภายใต้นิทรรศการกลุ่ม Shall I Compare Thee to a Summer’s Day? ในฐานะที่เขาเป็น 1 ใน 8 ศิลปินนักวาดภาพรุ่นใหม่ขวัญใจมหาชน
การกลับมาของอู๋ – พศุตม์ ครั้งนี้ เขาไม่เพียงถ่ายทอด happiness footprint ระหว่างการเดินทางของน้องตัวกลมลงบนผืนผ้าใบถึง 18 ภาพ หากแต่ยังก่อมวลความสุขปนซึ้งผ่านโมเดล 3 มิติสุดคิวต์ ภาพอนิเมชันที่เป็นจุดไคลแม็กซ์ของนิทรรศการ รวมไปถึงบทเพลงบรรเลงเปียโนที่ ‘โต๋ – ศักดิ์สิทธิ์ เวชสุภาพร’ ประพันธ์ขึ้นเพื่องานนี้โดยเฉพาะ
ใครเป็นแฟนตัวยงของน้องตัวกลมมาโดยตลอด การเข้าชมนิทรรศการ On Cloud Nine ครั้งนี้อาจทำให้คุณใจหวิวคล้ายนั่งรถไฟเหาะ นั่นก็เพราะศิลปินจะพาคุณไปดำดิ่งและดื่มด่ำกับทุกห้วงอารมณ์แห่งความเป็นมนุษย์ ก่อนจะได้ลิ้มรสกับสิ่งที่เรียกว่า ‘ความสุขที่แท้จริง’
LIPS: คุณชอบแหงนหน้าดูท้องฟ้าไหม ปกติมองก้อนเมฆด้วยความรู้สึกใด
อู๋: ผมเป็นคนที่เล่นกีฬากลางแจ้งอย่างฟุตบอล เราชอบมองท้องฟ้าเพื่อดูว่าเมฆวันนี้เป็นยังไง ฝนจะตกไหม ผมชอบก้อนเมฆที่อยู่เดี่ยวๆ แบบแยกกันนิดนึงพอน่ารักๆ ถ้าเมฆเยอะมันเหมือนมรสุมจะมา ดูแล้วหดหู่ หรือบางทีก็ลุ้นมากถ้าจะต้องออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน สิ่งเหล่านี้นำพาอารมณ์ผม หรือแม้กระทั่งนำพาให้คนเราจินตนาการเมฆเป็นรูปร่างต่างๆ ไม่ว่าจากความสุขหรือจากความเศร้า
‘On Cloud Nine’ เป็นสำนวนภาษาอังกฤษที่แปลว่าความสุขสุดๆ เป็นความสุขที่มาจากก้นบึ้งในจิตใจของ ‘ตัวกลม’ ผมอยากนำเอาทุกความสุขมาใส่ไว้ในก้อนเมฆ แล้วเล่าเรื่องราวออกมา นี่คือที่มาว่าทำไมก้อนเมฆถึงเป็นคีย์หลักของงานนิทรรศการเดี่ยวครั้งนี้
LIPS: ชื่อนิทรรศการสื่อถึงความสุขมากๆ บวกกับการมองโลกในแง่ดีซึ่งเป็นภาพจำของตัวกลม แต่แอบช็อตฟีลตรงที่มีความเหงา – เศร้า – โดดเดี่ยว – จากลา น้องตัวกลมหรือคุณอู๋ผ่านเรื่องราวใดมาจึงอยากนำเสนอมิติเหล่านี้
อู๋: เพราะผมว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกชีวิตบนโลกใบนี้ต้องเจอครับ ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ อยู่ที่ว่าเราจะมองแบบไหน นำเสนอแนวทางของชีวิตตัวเองอย่างไร เช่นเดียวกับก้อนเมฆที่มีหลายรูปทรง ทำให้แต่ละคนมองเห็นแตกต่างกันออกไป และด้วยพื้นฐานตัวละครของตัวกลม น้องได้นำความผิดหวัง การสูญเสีย หรือแม้กระทั่งการมีความสุขในชีวิต มานำเสนอในมิติที่ในความเศร้าอาจจะมีความสุข มีความใจฟู หรือเป็นการจากลาที่มีความรู้สึกดีๆ อยู่ในนั้น
ผมสร้างตัวละครน้องตัวกลมมาตั้งแต่ปี 2012 ถือว่าเป็นเส้นทางที่ยาวนานครับ ระหว่างทางก็ใช้งานน้องหนักเหมือนกัน (หัวเราะร่วน) เราได้ร่วมงานกันหลายๆ อย่าง ผ่านอะไรมาเยอะมาก เขาอยู่ในทุกช่วงเวลาของชีวิต มีทั้งผิดหวัง สมหวัง สลับกันไป
“On Cloud Nine’ แปลว่าความสุขสุดๆ เป็นความสุขที่มาจากก้นบึ้งในจิตใจของ ‘ตัวกลม’”
LIPS: แล้วการมองโลกในแง่ดี๊ดียังจำเป็นอยู่ไหม ในเมื่อตัวกลมได้เรียนรู้แล้วว่าโลกใบนี้ก็มีโทนหม่น ไม่ได้มีแค่สีขาวนะ
อู๋: จำเป็นครับ พื้นฐานของน้องยังเหมือนเดิม เพียงแต่เติบโตขึ้น เจอเรื่องราวเยอะขึ้นจากเมื่อก่อน ผมว่าต่อจากนี้น้องตัวกลมจะเป็นเด็กผู้ชายที่น่าสนใจมากขึ้นในอนาคต
LIPS: เกิดการเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ในชีวิตจริงด้วยใช่ไหม
อู๋: ใช่ครับ ยกตัวอย่างกระบวนการวาดภาพ มันเป็นความแปลกใหม่สำหรับผมเลยที่ต้องวาดรูปตัวกลมในคอนเซ็ปต์ที่ไม่ได้มีแต่ความสุขแล้ว ระหว่างการทำงานเลยมีอารมณ์ต่างๆ เข้ามากระแทกจิตใจเหมือนกัน มันคิดอยู่ในตัวเอง คิดในหัวตลอดเวลา เป็นความรู้สึกใหม่ที่เราจะต้องเจอและเรียนรู้วิธีคิดที่จะปรับตัว แล้วก็รับฟังความเห็นใหม่ๆ ของคนอื่นเพื่อพัฒนางานของเรา
LIPS: รอบนี้น้องมากับมวลหมู่เมฆเลยได้ตัดชุดใหม่ที่น่ารักมากๆ
อู๋: ใช่ครับ เป็นชุดกันฝนสีเหลืองที่ผมทำเพื่อนิทรรศการนี้โดยเฉพาะเลยครับ มีใส่ฮู้ดบ้าง ไม่ใส่บ้าง มีหลายแบบอยู่ เพราะน้องผ่านเรื่องราวต่างๆ มาในชีวิต
LIPS: อย่างโทนสีที่ใช้มีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง รวมถึงการออกแบบแสงในงานนิทรรศการ
อู๋: ผมเสียสีไปเยอะมากเพราะเป็นสิ่งใหม่ ปกติเราจะใช้โทนสีเหลืองกับสีฟ้าในการวาดภาพน้องตัวกลม แต่สำหรับนิทรรศการ On Cloud Nine ผมใช้สีที่หลากหลายขึ้น รวมถึงสีที่ไม่เคยใช้มาก่อน เช่น สีม่วง ทำให้ได้ประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ท้าทายตัวเอง ผมออกแบบการวาดภาพทุกภาพให้ดึงดูดคนดูมากขึ้นในเวลาที่แสงส่องลงตรงกลางภาพ ในก้อนเมฆก็มีแสงไฟเพื่อให้เป็นเมฆที่สว่าง
LIPS: ต้องใช้ความกล้าหาญไหมในการออกจากเซฟโซนในรอบ 10 กว่าปี
อู๋: หูว…ต้องใช้ทั้งความกล้าหาญ ทั้งการต่อสู้กับตัวเอง เพราะตอนทำงานมันจะมีอารมณ์พวกนี้เข้ามาตลอด เช่น คิดว่าเราอาจจะทำไม่ได้ คิดว่าไม่ใช่งานของเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา ฯลฯ แต่อย่างที่เล่าไปว่าเราต้องเปิดใจ ต้องลองเสพเรื่องราวอีกแง่มุมหนึ่งซึ่งเราอาจไม่เคยได้สื่อออกมา ไปพูดคุยและรับฟังหลายๆ คนที่เปิดใจว่าเขาเจออะไรมาบ้างในชีวิต เหมือนเป็นการทำรีเสิร์ชอย่างหนึ่ง โดยที่เราไปรับความรู้สึกต่างๆ ของผู้คน แล้วก็เอามาขัดเกลาผ่านการวาดรูปของเรา
LIPS: นอกจากภาพวาดอะคริลิกแล้ว คุณยังนำเสนอ vibe ของน้องตัวกลมผ่านงานศิลปะแขนงอื่นๆ
อู๋: ใช่ครับ เป็นครั้งแรกเลยที่ผมทำโมเดลน้องขึ้นมาให้จับต้องได้ ตื่นเต้นครับ เพราะอยากมีมานานแล้ว ผมออกแบบให้ช่างปั้นไปพิมพ์ตัวต้นแบบ แล้วก็เอาไปหล่อเรซินจนเป็นตัวน้องขึ้นมา
ส่วนพาร์ตดนตรี เวลาวาดรูปผมจะมีอารมณ์อิมโพรไวซ์ แล้วอยู่ๆ จุดหนึ่งผมก็นึกถึงบรรยากาศของงานนิทรรศการว่าน่าจะต้องมีเสียงเปียโนบรรเลง ผมคิดว่าเป็นใครไปไม่ได้เลยนอกจากพี่โต๋-ศักดิ์สิทธิ์ เพราะเมโลดีของเขาเหมาะกับตัวการ์ตูน เหมาะกับงานและเรื่องราวแนวอิโมชันนัลที่ผมอยากเล่า
ผมลองติดต่อพี่โต๋ไปและเล่าคอนเซ็ปต์ให้ฟังว่า กว่าจะมีนิทรรศการนี้ได้ ผมต้องผ่านความล้มเหลว ความผิดหวัง การโดนวิจารณ์ต่างๆ ฯลฯ และห้องสุดท้ายของนิทรรศการจะสื่อว่าเราผ่านอะไรมาหมดแล้ว เราอยู่กับตัวเองได้ โอบกอดก้อนเมฆของตัวเองได้
ผมบอกกับพี่โต๋ว่ารูปสุดท้ายของห้องจะเป็นภาพ The Best Version of Myself ผมสเก็ตช์ภาพให้พี่โต๋ และเขาก็แต่งเพลง I am on cloud nine จากรูปนี้ เพื่อบ่งบอกทุกอารมณ์ในนิทรรศการนี้
“สุดท้ายแล้วเมฆของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ผมอยากให้ทุกคนได้ไปค้นหากันเอง”
LIPS: งานอนิเมชันในนิทรรศการถือเป็นประสบการณ์ครั้งแรกด้วยไหม
อู๋: ครั้งที่ 2 – 3 แล้วครับ ปกติผมทำเล่นๆ เป็นสต็อปโมชันสั้นๆ อยู่แล้ว ครั้งนี้ก็สั้น แต่จะเป็นตัวเฉลยว่าก้อนเมฆที่เราเล่ามาทั้งหมดในนิทรรศการคือ #&^%*@+^$ (หลบสปอยล์) สุดท้ายแล้วเมฆของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ผมอยากให้ทุกคนได้ไปค้นหากันเองครับ เดินดูทีละรูป ฟังเพลงไปช้าๆ ซึมซับชั้นบรรยากาศของท้องฟ้าภายในงานด้วยกัน
LIPS: ได้นำทักษะการถ่ายภาพที่เป็นงานอดิเรกมาใช้ในนิทรรศการนี้ด้วยหรือไม่
อู๋: ใช้ในลักษณะของการนำเสนอมุมมองที่เป็นภาพเพอร์สเปกทีฟมากกว่าครับ อาจจะไม่ใช่มุมมองที่แปลกมาก เหมือนเป็นการมองเข้าไปผ่านวิวไฟน์เดอร์ตรงๆ ผมพยายามให้ตัวละครเชื่อมโยงกับฉาก วิว และบรรยากาศ ไม่ได้เน้นแค่ตัวละครอย่างเดียว เพราะผมรู้สึกว่าความรู้สึกของตัวละครน่าจะถ่ายทอดได้มากกว่าการแสดงออกผ่านสีหน้าท่าทาง บรรยากาศโดยรอบจะช่วยให้คนดูรู้สึกร่วมมากขึ้น
อย่างรูปที่ตัวกลมนอนอยู่ท่ามกลางหิมะตกก็เป็นเรื่องราวที่น้องได้ออกเดินทางคนเดียวเป็นครั้งแรก น้องได้เจอกับเรื่องราวที่แปลกใหม่ ความรู้สึกใหม่ๆ ที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน อากาศหนาวแต่ตัวกลมกลับไม่รู้สึกอะไร เพราะ #&^%*@+^$ (เชิญหาคำตอบในงาน)
LIPS: ขอย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้น คุณได้แรงบันดาลใจมาจากไหน น้องตัวกลมถึงได้เป็นเด็กที่มีพลังบวกขนาดนี้
อู๋: เราเป็นคนธรรมดาคนหนึ่งที่ไม่สามารถมีอิทธิพลเชิงบวกกับใครได้ เลยใช้น้องตัวกลมเป็นตัวแทนในการพูดคุย แลกเปลี่ยน หรือนำเสนอเรื่องราวที่เป็น ‘ด้านดี’ ของอะไรก็ตามแต่ ด้านคอเมดีก็มี ผมไม่ได้อยากเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้นะ แค่อยากทำให้บางคนหรือคนกลุ่มหนึ่งรู้สึกดีขึ้น รู้สึกแฮปปี้ได้
ผมโพสต์รูปตัวกลมในแฟนเพจทุกวัน หลายคนอินบ็อกซ์มาเล่าว่าวันนี้เขาต้องเจออะไร โดนทำอะไรมาบ้าง แต่น้องช่วยฮีลใจเขาไว้ สิ่งเหล่านี้ทำให้ผมมีแรงบันดาลใจที่จะวาดรูปน้องต่อไป ถึงจะเคยมีความรู้สึกอิ่มตัวเมื่อวาดมาได้สักระยะ
LIPS: ศิลปินจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะนำเสนอภาพความจริงตามที่ตนคิดหรือมองเห็น แต่คุณเลือกที่จะกลั่นกรองและนำเสนอเฉพาะด้านบวกออกมา
อู๋: อะไรที่ลบๆ หรือหนักๆ ก็สกรีนหน่อย ทำให้เห็นว่ามองอีกแบบได้นะ หรือถ้าโลกใบนี้มันเครียดมาก ตัวกลมก็สร้างยานแล้วบินออกนอกโลกไปเลย น้องจะคิดแบบนี้
“แม่บอกว่าผมเป็นเด็กที่เรียนเก่งแต่ไม่ค่อยตั้งใจ เอาแต่เล่นแต่กีฬา มีอย่างเดียวที่หยุดผมได้ก็คือการวาดรูป”
LIPS: คุณมีวิธีเผชิญเหตุอย่างไรเมื่อเจอคำวิจารณ์หนักๆ หรือเรื่องลบๆ
อู๋: ผมปล่อยเลย ไม่สนใจ แต่ตอนติดหล่มอะ…เหมือนตัวกลมจะคอยกระซิบว่าอย่าโมโหนะ…อย่าโมโหนะ ไม่ต้องยุ่งกับเขา เราออกไปหาอะไรกินดีกว่า (ยิ้ม) เมื่อก่อนผมอาจจะรับมาคิดบ้าง แต่พอมันกระทบหลายๆ อย่างทั้งจิตใจ ทั้งการทำงาน เลยปล่อยผ่านดีกว่า เพราะแต่ละคนมีความคิดเห็นต่างกัน เหมือนเมฆแต่ละก้อนที่มีหลายรูปแบบ
LIPS: จุดแรกที่รู้สึกว่าชอบงานด้านนี้เกิดจากอะไร
อู๋: แม่บอกว่าผมเป็นเด็กที่เรียนเก่งแต่ไม่ค่อยตั้งใจ เอาแต่เล่นแต่กีฬา มีอย่างเดียวที่หยุดผมได้ก็คือการวาดรูป ตอนนั้นยังไม่ได้ชอบวาดรูปมาก แต่พี่สาวผมวาดรูปเก่ง เขาเอาหนังสือสัตว์มานั่งวาด มียีราฟอะไรแบบนี้ ผมเห็นก็ทำตาม เราวาดได้โดยไม่รู้ตัวเลยรู้สึกสนุก อยากวาดตัวอื่นๆ ต่อ นี่คือจุดเริ่มต้นของการวาดรูปเลย ส่วนวี่แววที่เริ่มชอบคาแรกเตอร์น่าจะมาจากการที่ผมเล่นกีฬา ชอบดูรูปนักกีฬาเท่ๆ แอ็กชันเท่ๆ มูฟเมนต์ของเขา
“เราเป็นคนธรรมดาคนหนึ่งที่ไม่สามารถมีอิทธิพลเชิงบวกกับใครได้ เลยใช้น้องตัวกลมเป็นตัวแทนในการนำเสนอเรื่องราวที่เป็น ‘ด้านดี’”
LIPS: จุดเปลี่ยนจาก ‘อินทีเรียดีไซเนอร์’ สู่ ‘คาแรกเตอร์ดีไซเนอร์’
อู๋: คงเป็นเพราะผมชอบความอิสระในการทำงานมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการคิดหรือการสร้างสรรค์อะไรขึ้นมา ผมไม่อยากสร้างงานเพื่อทำตามไอเดียของคนอื่น และบางทีเราโดนกดในสิ่งที่จะสื่อสารออกไป อันนี้เป็นประสบการณ์ส่วนตัวของผมคนเดียวนะ มันละเอียดอ่อนสำหรับการทำงาน การคิดงานน่ะครับ เลยตัดสินใจว่าในเมื่อเราชอบวาดรูปการ์ตูนอยู่แล้วก็ลองลงมือทำของตัวเองเลยดีกว่า เริ่มจากอะไรที่วาดง่ายๆ ดีไซน์ง่ายๆ ใช้รูปวงกลม สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม สุดท้ายก็ได้วงกลมนุ่มๆ คลีนๆ เพื่อให้คนเข้าถึงง่าย แต่ก็พยายามให้มีดีเทลซ่อนอยู่ ไม่ว่าในคาแรกเตอร์หรือในภาพ
LIPS: คาแรกเตอร์ชุดแรกที่ออกแบบเป็นมนุษย์ สัตว์ เทพ เทวดา ฯลฯ ?
อู๋: เป็นน้องตัวกลมนี่ละครับ! แต่น่าเกลียดมากเมื่อก่อน (หัวเราะ) ผมไม่มีรูปแล้ว ถ้าเห็นรูปจะฮาเลย หัวน้องกลมมาก ตัวลีบๆ หน่อย เหมือนเป็นน้องหัวกลมมากกว่าน้องตัวกลม
LIPS: แล้ววิวัฒนาการของน้องเกิดจากคำวิจารณ์หรือเราค่อยๆ ปรับเอง
อู๋: ผมว่าน่าจะเป็นเพราะเวลา แล้วก็การกลับไปดูงานตัวเอง ดูงานคนอื่นๆ ทำให้เราเห็นจุดด้อยของตัวเอง เราเปิดใจดูแล้วก็รับฟังคนข้างๆ เอามาปรับว่าตัวละครควรเป็นอย่างนี้นะ หรือมันจะไปต่อยังไง ถือว่าช่วยได้เยอะ เลยปรับมาจนถึงทุกวันนี้ อย่างปีที่แล้วน้องตัวกลมก็ตัวกุดกว่านี้ครับ ตอนนี้เราเพิ่มขาให้เขา จริงๆ ก็เพิ่มมาเพื่อนิทรรศการนี้เลย เพื่อให้น้องดูโตขึ้น ไม่เป็นการ์ตูนเด็กจนเกินไป
LIPS: น้องมีการไมเนอร์เชนจ์ตลอดเวลาแบบนี้ก็สนุกเลย คุณถึงมีไฟไปเรื่อยๆ
อู๋: ใช่ครับ เราปรับเปลี่ยนจนหาจุดที่ทำให้ตัวการ์ตูนไปต่อได้
LIPS: ตอนที่วาดน้องตัวกลมเวอร์ชัน ‘13 หมูป่า’ และกลายเป็นภาพที่ได้รับการส่งต่ออย่างมาก ช่วงนั้นถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งหนึ่งในชีวิตเลยไหม
อู๋: เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่เลยละครับ พูดได้เลยว่าเป็นจุดเปลี่ยนทางอาชีพของผมเลยก็ได้ ตอนนั้นเราไม่รู้หรอกว่าต่อไปเรื่องราวจะเป็นยังไง? จะเจอเด็กๆ ทั้ง 13 ไหม? ช่องทางที่เจอเป็นแบบไหน? แต่ด้วยการมองโลกในสไตล์ของตัวกลม ผมเลยวาดไปว่าทีมช่วยเหลือที่โรยตัวจากบนเขาได้เจอเด็กๆ แล้ว แต่ความจริงยังไม่เจอ ผมวาดอยู่อย่างนี้ 3 – 4 วัน จนรูปสุดท้ายผมวาดภาพที่ดำน้ำพาเด็กๆ ออกจากถ้ำ ไม่รู้อะไรดลใจเหมือนกันว่าต้องวาดภาพนั้น
LIPS: ตัวกลมผู้มาก่อนกาล
อู๋: (หัวเราะ) ใช่ พอเป็นไวรัลก็มีการลงสื่อต่างๆ ต้องขอบคุณสื่อด้วยครับที่นำเสนอภาพวาดของผม ทำให้บริษัท Adobe ติดต่อมา เขากำลังหาตัวแทนคนไทยไปร่วมงานประชุมใหญ่ที่อเมริกา ผมเลยได้ไปในฐานะอินฟลูเอนเซอร์หรือพาร์ตเนอร์ของ Adobe นี่เป็นจุดเปลี่ยนเลย ผมดีใจมาก จากปกติที่เป็นคนไม่ค่อยคว้าโอกาสไว้เท่าไร แต่ครั้งนั้นผมรีบรับไว้ ไม่ปฏิเสธเลย จากนั้นก็ได้ร่วมงานกับ Adobe จนถึงตอนนี้ เป็นพาร์ตเนอร์กันยาวเลย ช่วงนั้นบริษัท Apple ก็เชิญไปบรรยาย ไปวาดรูป แล้วแบรนด์ต่างๆ ก็ติดต่อมาร่วมงานด้วย จุดเริ่มต้นน่าจะมาจากตรงนั้น ด้วยความที่เราสื่อสารเชิงบวกมาโดยตลอด
LIPS: พอจะแชร์ได้ไหมว่าทำไมถึงไม่ค่อยเปิดรับโอกาส
อู๋: กลัวครับ กลัวความเปลี่ยนแปลง กลัวอะไรที่เราไม่เคยทำ กลัวจะทำได้ไม่ดี เมื่อก่อนผมเป็นคนที่กลัวเสียงวิจารณ์เหมือนกัน
LIPS: บอกตัวเองอย่างไรว่าให้ทำเถอะ…อย่าไปกลัว หรือมีใครที่ช่วยผลักดัน
อู๋: เราน่าจะสร้างความกล้าด้วยตัวเองนี่แหละครับ อีกส่วนหนึ่งก็คือแฟนที่คอยบอกให้เราลองออกมามองตัวเองด้วยมุมมองของคนอื่นดูบ้าง ผมว่าวิธีนี้ช่วยได้เยอะ โอกาสที่เราปัดทิ้งอาจจะเป็นโอกาสที่สำคัญมากของชีวิตก็ได้ ถ้าไม่คว้าไว้ก็พลาดเลย
LIPS: นิทรรศการนี้ก็เป็นหนึ่งในผลลัพธ์ที่งดงามของการก้าวข้ามความกลัว
อู๋: ใช่ จริงๆ ตอนแรกกลัวนะ แค่ทางริเวอร์ ซิตี้ ถามว่าอยากทำอะไรในนิทรรศการครั้งนี้ ผมก็อึกอักแล้ว คือผมอยากมีนิทรรศการเดี่ยวมาก แต่ก็ไม่มั่นใจว่าเราจะทำได้ไหม เราจะทำเรื่องอะไร คนจะชอบไหม เป็นแนวคิดเยอะไปก่อน แต่ท้ายที่สุด เราก็ค่อยๆ พัฒนาผลงานตัวเอง ถ้ารู้สึกว่าไม่ค่อยสวยก็ทิ้งไปแล้ววาดใหม่ จะไม่ยึดติดหรือพยายามแก้ไขอันที่ไม่ได้ให้มันสวย
LIPS: แสดงว่าปล่อยวางได้เร็ว
อู๋: ครับ ตอนนี้เร็วแล้ว การปล่อยวางช่วยได้นะ แรกๆ ก็เครียดว่าจะทำทันมั้ย เยอะไปหรือเปล่า รูปไหนดีกว่า ต้องทำอะไรก่อน-หลัง ฯลฯ การปล่อยวางของผมคือค่อยๆ ทำไปทีละรูป เดี๋ยวก็เสร็จตามกำหนด อันไหนรู้สึกว่าไม่เวิร์ก ทำแล้วเสียเวลา ตัดปัญหาเลยคือลบแล้ววาดใหม่ เอาจริงๆ มันก็ไม่ง่ายเลยสำหรับเมื่อก่อน ผมติดตรงนี้เยอะเหมือนกัน แต่อย่างที่เล่าไปว่า ผมผ่านอะไรมาเยอะ จนตอนนี้และเวลานี้เป็นเหมือนสิ่งที่สื่อไว้ในนิทรรศการห้องสุดท้ายเลย
LIPS: หวังว่าคนที่ได้ไปชมนิทรรศการจะได้รับพลังหรือแรงบันดาลใจบางอย่าง
อู๋: ได้ใจฟู อย่างน้อยก็น่าจะฮีลอะไรบางอย่างในจิตใจของเขาได้ ผมเชื่อมาก แล้วก็คิดว่าทุกคนน่าจะรู้สึกได้ถึงสิ่งที่ผมสื่อไว้ในงาน
LIPS: น้องตัวกลมเป็นใครสำหรับคุณ…เป็นเพื่อนสนิท เป็นลูกชายในอุดมคติ เป็นตัวเองในวัยเด็ก ฯลฯ ?
อู๋: เป็นตัวผมเองนี่แหละ เขาคือสิ่งต่างๆ ในใจที่ผมอยากสื่อออกมา แต่ด้วยความที่เราไม่ได้เป็นคนที่ใครๆ รู้จัก ไม่สามารถไปพูดหรือทำอะไรให้คนทั่วไปรู้สึกดีหรือทำให้คนยิ้มได้ ผมก็เลยสร้างตัวละครที่ชื่อ ‘ตัวกลม’ ขึ้นมาเพื่อใช้เป็นตัวแทนในการสื่อสิ่งต่างๆ ออกไป น้องหมา ‘บิงซู’ ที่อยู่กับตัวกลมก็เป็นการระลึกถึงน้องหมาที่ผมเคยเลี้ยงไว้เหมือนกัน
นิทรรศการ On Cloud Nine เปิดให้เข้าชมฟรีที่ชั้น 2 ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันนี้ถึง 21 มกราคม 2567
Words: Sasi Akkomee
Photos: Somkiat Kangsdalwirun