แหล่งกำเนิดไฟและแสงสีสารพัดรูปแบบถูกจัดวางอย่างสร้างสรรค์ ทว่าเป็นระเบียบเนี้ยบกริบภายในออฟฟิศ SATURATE DESIGNS ของ ภีม พูลผล โพรดักชันดีไซเนอร์หนุ่มที่มีชื่อชั้นเป็น ‘นักออกแบบแสง’ ในธุรกิจคอนเสิร์ต มหกรรมดนตรี และอีเวนท์ ที่เนื้อหอมที่สุดในเวลานี้ เขาเป็นคน ‘รุ่นใหม่’ ที่ราวกับเป็นนักจัดไฟ ‘รุ่นเดอะ’ ด้วยเหตุที่ทางบ้านจับงานโพรดักชันคอนเสิร์ตให้ทั้งศิลปินไทยและอินเตอร์มานักต่อนัก ไม่ว่าจะเป็นการแสดงของ Michael Jackson เมื่อครั้งมาเยือนไทย รวมไปถึง 7 สีคอนเสิร์ต รายการดนตรีที่ดังที่สุดในยุค Y2K
ภีมติดสอยห้อยตามพ่อแม่ไปทำงานตั้งแต่ 2-3 ขวบ กระทั่งได้ลงสนามจริงเมื่อวัยประถมในฐานะ ‘ผู้ช่วยพ่อ’ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดไฟ ครั้นขึ้นมัธยมปลายเขาเริ่มได้รับงานจากบริษัทในออสเตรเลีย และยังไม่ทันเรียนจบมหาวิทยาลัย ก็ได้จัดไฟให้วง Scrubb ในเทศกาลดนตรี Big Mountain ตามมาด้วยศิลปินเบอร์ต้นๆ ในเวลาต่อมา อาทิ Potato และ Polycat ภีมยินดีกับพื้นที่นอกคอมฟอร์ตโซนอยู่เสมอ ประตูโอกาสของเขาจึงไม่เคยปิดกั้นสำหรับโจทย์ใหม่สุดท้าทาย
LIPS: จำได้ไหมว่าระบบนิเวศในการพัฒนาตัวเองตั้งแต่เป็นนักจัดไฟวัยกระเตาะนั้นมีที่มาอย่างไร
ภีม: ผมชอบดูคอนเสิร์ต มันสด เสียงดัง แล้วก็น่าตื่นเต้น! จำได้ว่าทุกเย็นวันศุกร์จะต้องรีบไปดูรอบซ้อม 7 สีคอนเสิร์ต ถ้าพ่อแม่ไม่พาไปเองก็ให้พี่ที่ออฟฟิศมารับที่โรงเรียนครับ พอช่วงใกล้ๆ 10 ขวบ พ่อเริ่มให้ช่วยกดปุ่มไฟง่ายๆ กดปุ่มนี้ได้แสงสีเขียว อีกปุ่มได้แสงสีแดง มันสนุกนะครับ เริ่มเห็นภาพว่าการใช้แสงมีส่วนช่วยในคอนเสิร์ตอย่างมาก กดปุ่มนี้คนกรี๊ด อีกปุ่มเวลาทำซึ้ง พ่อให้พี่ๆ พาผมไปเดินดูระบบไฟด้วย อยากรู้อะไรก็ถามหมด ผมจะจดไว้แล้วไปหาข้อมูลเพิ่มเอง หลังเลิกเรียนเพื่อนๆ อยู่เล่นกันต่อ แต่ผมจะรีบกลับบ้านไปเปิดเว็บ ดูอุปกรณ์ไฟ ดูโปรแกรมไลติ้ง ประกอบกับที่โรงเรียนรุ่งอรุณของผมมีกิจกรรมละครเวที เลยรับหน้าที่ทำไฟ เพราะที่บ้านมีอุปกรณ์อยู่แล้ว ก็เริ่มเอาไฟแต่ละแบบมาทดลอง จนต่อมาได้เงินก้อนแรกในชีวิต 5,000 – 8,000 บาท จากการรับจ้างจัดไฟให้ละครเวทีของรุ่นพี่
LIPS: เหตุผลของการตัดสินใจไปเรียนต่อเฉพาะทางตั้งแต่ขึ้น ม.ปลาย คืออะไร
ภีม: พอจบ ม.3 ผมคิดว่าน่าจะไม่ได้ใช้ความรู้ ม.ปลายในไทย เลยตัดสินใจไปเรียนต่อไฮสคูลที่ออสเตรเลียซึ่งจัดละครเวทีทุกๆ 3 เดือน เราแทบจะเป็นเอเชียคนเดียวในนั้น จึงเริ่มจากการเป็นผู้เรียนรู้ ดูว่าเขาทำงานกันยังไง มีอะไรแตกต่างจากที่เราเคยรู้มาหรือเปล่า ประเดิมด้วยตำแหน่งแบ็กสเตจเรื่อง CATS อยู่ไปสักพักก็เริ่มเล่าให้เพื่อนให้รุ่นพี่ฟังว่าเรามีพื้นฐานนี้มา อ้อ..ผมเอาไฟไปจากไทยด้วยครับ ก็เอาไปโรงเรียนบ้าง ครูคงเห็นว่าเด็กคนนี้มาแปลก (หัวเราะ) เลยให้ลองจัดไฟให้นิทรรศการของรุ่นพี่ ผมก็เริ่มขนไฟจากเมืองไทยไปเพิ่ม ตัวคอนโทรลด้วย ขึ้น Year 11 เลยได้ทำไฟทั้งหมดในละครเวที และเริ่มได้งานจากบริษัทอีเวนท์แถวโรงเรียน ค่าตัวตีเป็นเงินไทยวันละ 8,000 – 9,000 บาท พอ Year 12 ปีสุดท้าย กลายเป็นที่ปรึกษาของโรงเรียนจนถึงทุกวันนี้ ก็ภูมิใจครับที่หลายอย่างในโรงเรียนเป็นสิ่งที่เราริเริ่มไว้
LIPS: การเรียนด้าน THEATRE AND STAGE MANAGEMENT ในมหาวิทยาลัยตอบโจทย์หรือไม่ เหตุใดจึงไม่เรียนการจัดแสงเพื่ออุตสาหกรรมดนตรีโดยตรง
ภีม: การจัดแสงเพื่อ Live Music ใช้เวลาเรียนแค่ 8 – 12 เดือนครับ ซึ่งผมมองว่าน้อยเกินไป บวกกับอยากเรียนอะไรที่เน้นไลติ้ง แต่ก็ครอบคลุมงานส่วนอื่นด้วย เพราะการทำงานจริงต้องอาศัยกับผู้คนเยอะมาก ถ้าไม่เข้าใจเนื้องานของผู้ที่เกี่ยวข้องก็จะไม่รู้ว่าต้องดีลกับเขายังไง ประกอบกับ ‘ศิลปะโรงละคร’ เป็นจุดเริ่มต้นของศาสตร์การจัดแสง ซึ่งผมยังไม่เคยเรียน และคิดว่าน่าจะได้นำความรู้กลับมาใช้ ผู้บรรยายรับเชิญก็น่าสนใจหลายคนครับ อย่างดีไซเนอร์ของ SYDNEY THEATRE COMPANY ก็มีวิธีการให้แสงแบบคอนเทมโพรารีที่มีสีสันเฉพาะตัวมากๆ เป็นการจุดประกายว่างานออกแบบแสงก็สามารถสร้างลายเซ็นให้คนจดจำได้ นอกจากนี้ยังได้เรียนทั้งการปีนป่าย การทำงานบนที่สูง ความปลอดภัย กฎหมายต่างๆ เช่น ทำงาน 4 ชั่วโมง ต้องได้พัก 30 นาที ซึ่งช่วยให้ประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้นจริง รวมถึงการทำเอกสาร การจดรายงานประขุม ฯลฯ เขาสอนทุกอย่างจนทุกวันนี้ได้นำมาใช้เยอะมาก
LIPS: ก้าวแรกของ SATURATE DESIGNS และการเติบใหญ่นอกร่มเงาธุรกิจครอบครัวเป็นอย่างไร
ภีม: SATURATE DESIGNS คือความสดใหม่ น้องๆ ที่ทำงานกับเราจะรู้ดีว่างานที่นี่ไม่ใช่ ‘เข้า 10 เลิก 6’ ที่นี่คือความเหนื่อย ทุกงานต้องว้าวและแปลกใหม่ ทำยังไงก็ได้ให้งานเราไม่เหมือนใคร ผมเริ่มต้น SATURATE DESIGNS ตั้งแต่เรียนมหา’ลัย ด้วยเหตุที่เพื่อนชวนทำคอนเสิร์ตให้ศิลปินไทยที่ไปแสดงในออสเตรเลีย (ซิดนีย์ เมลเบิร์น เพิร์ธ และบริสเบน) เช่น MODERNDOG, Slot Machine, Klear, The Toys ฯลฯ ตอนนั้นเราเป็นทีมงานเล็กๆ ที่มีกันอยู่ 3 คน ทำกราฟฟิก ทำไลติ้งกันเอง เหตุผลหนึ่งที่ตัดสินใจเปิดบริษัทใหม่ ไม่ได้ทำกับที่บ้านเพราะคุณพ่อคุณแม่จะเน้นงานโพรดักชัน แต่ผมอยากโฟกัสงานดีไซน์เป็นหลัก ทั้งแสงสี กราฟิก และการออกแบบเวที ปัจจุบัน งานที่ออสเตรเลียจะดูแลโดย Dave McMahon เพื่อนสนิทคนแรกที่จัดไฟมาด้วยกันตั้งแต่สมัยไฮสคูล เราได้ทำให้วงดังๆ หลายวงครับ รวมถึงยังคงทำงานให้ศิลปินไทยที่ไปแสดงที่นั่นอย่างต่อเนื่อง เช่น คอนเสิร์ตของ ‘นนท์ ธนนท์’ ที่จัดที่ซิดนีย์ครับ
LIPS: การทำงานโดยสังเขปของนักออกแบบแสงในคอนเสิร์ตมีกระบวนการอย่างไรบ้าง
ภีม: การออกแบบแสงในคอนเสิร์ต คืองานที่เกิดขึ้นเพื่อซัพพอร์ตศิลปินครับ เราต้องงัดออกมาให้ได้ว่าสิ่งที่จะทำให้ศิลปินมั่นใจขณะอยู่บนเวทีคืออะไร ต้องทราบวัตถุประสงค์ของการจัดงาน พร้อมนำเพลงทุกเพลงที่ศิลปินจะเล่น มาวางแผนว่าควรจะเล่าเรื่องแบบใด เมื่อได้หน้าตาของเวที ฉากหลัง รูปแบบของแสงสี ฯลฯ ก็นำแต่ละเพลงมาคีย์ใส่โปรแกรมจำลองภาพ 3 มิติ เพื่อให้ศิลปินได้เห็นภาพมากที่สุด
การออกแบบภาพการแสดงของเพลงหนึ่งเพลง ก็เหมือนกับการบอกเล่าเรื่องราวที่ร้อยเรียงด้วยฉากต่างๆ ซึ่งในแต่ละฉากนั้นจะประกอบไปด้วยแสงสี กราฟิก และไดนามิก ที่จะสร้างอารมณ์ร่วมให้กับคนดู และถึงแม้ว่าทุกองค์ประกอบจะถูกจับใส่โปรแกรมคอมพ์ไว้หมดแล้ว แต่ผมก็ยังคงชอบที่จะไปนั่งกดไฟเองแบบสดๆ นะครับ เพราะทดลองแล้วว่าให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า อย่างเวลาศิลปินยื่นไมค์ขอเสียงหน่อย..ย แต่เราดันไม่เปิดไฟช่วย แบบนี้เรียก ‘ปล่อยอึน’ บรรยากาศที่ได้จะแตกต่างเลย คอนเสิร์ตแต่ละรอบ ผมกดไฟไม่เหมือนกัน เพราะดูหน้างานเป็นหลัก บางรอบผู้ชมตื่นเต้นเมื่อศิลปินเล่นถึงท่อนนี้ แต่บางรอบกลับนิ่งเงียบ เราก็ต้องช่วยปรับบรรยากาศให้คนดูได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุด
LIPS: มาสเตอร์พีซแห่งปีและผลงานที่ฟินที่สุดเป็นการส่วนตัวในปี 2022 คืองานใด
ภีม: ที่สุดแห่งปี ผมยกให้ TATTOO COLOUR กาลครั้ง 4 HAPPY BIRTHDAY CONCERT ครับ ไม่ใช่แค่เพราะเป็นคอนเสิร์ตใหญ่ แต่ทางศิลปินยังเปิดโอกาสให้เราได้ดีไซน์โพรดักชันทั้งหมด ภายใต้คอนเซปต์ปาร์ตี้วันเกิดในวาระครบรอบ 16 ปี เป็นวงที่ทำงานด้วยแล้วสนุกสุดๆ เขาให้พื้นที่ในการสร้างสรรค์เยอะมาก เราได้นำเสนอสิ่งที่อยากทดลองมานาน ได้ใช้เทคนิคบางอย่างที่ไม่เคยทำ เช่น การออกแบบกล่องของขวัญไซส์ยักษ์บนเวที ได้นำฝ้าเบ้อเริ่มขนาด 20 เมตรมาใช้ เกือบ 30 เพลงที่เล่น มีความวาไรตี้มาก กล่องวิเศษนี้จึงเนรมิตได้สารพัดนึก ตั้งแต่คณะเชิดสิงโต ไปจนถึงบาร์เหล้า
ฟินที่สุดคือ THE VERY NORMAL OF MODERNDOG งานนี้เรียกความทรงจำสมัยเรียนของผมกลับมาอีกครั้ง เพราะเป็นการจัดคอนเสิร์ตในโรงละคร ที่สำคัญเพลงของ MODERNDOG บอกเล่าเรื่องราวของชีวิต ประสบการณ์ การก้าวผ่านแต่ละช่วงวัย ฯลฯ อย่างพอดิบพอดี จนเราแทบไม่ต้องปรุงแต่งอะไร ถือเป็นคอนเสิร์ตที่เต็มอิ่มแบบไม่น้อยเกินไปและไม่ล้นเกินพอดี ไม่ต้องประโคมไฟร้อยดวงเพื่อเรียกเสียงกรี๊ด ในทางกลับกันไฟดวงเดียวในจังหวะหนึ่งก็ทำให้บรรยากาศคอมพลีตจนบางคนกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่
LIPS: ฟีดแบ็กจากคนดูหรือจากศิลปินผู้จ้างงานที่ยังอยู่ในความทรงจำของคุณคืออะไรบ้าง
ภีม: โชคดีที่ยุคนี้มีโซเชียลมีเดีย ผมจึงได้เห็นฟีดแบ็กที่น่าสนใจ ตั้งแต่คนดูที่เอาตัวเลขบนเวทีไปซื้อหวย (ยิ้ม) ไปจนถึงคอมเมนต์ที่ไม่ชื่นชมเรา ซึ่งก็ได้นำมาขบคิดกันต่อ เช่น เหตุผลที่เขาไม่ชอบเป็นเพราะเราทำให้เข้าใจยากเกินไปรึเปล่า ส่วนฟีดแบ็กด้านดีที่น่าตื่นเต้นก็คือ หลายคนอยากรู้ว่าใครอยู่เบื้องหลังโพรดักชันหรือแสงสีในงานนั้นๆ เขาอยากรู้จักและพยายามสืบค้นว่าเราคือใคร
ในฝั่งของศิลปินที่ขึ้นแสดงบนเวที คำว่า ‘มั่นใจ’ เป็นเสียงตอบรับที่ผมได้ยินมากที่สุด หลายคนบอกว่าไม่เคยรู้สึกมั่นใจในการเล่นคอนเสิร์ตเท่าครั้งนี้มาก่อน อาจเป็นเพราะทุกจังหวะเป็นไปตามอารมณ์เพลงที่ศิลปินต้องการถ่ายทอด ทุกองค์ประกอบมันพอดีกับสิ่งที่ศิลปินต้องการแสดงออก ไฟดี วิชวลดี ทำให้ศิลปินมีความมั่นใจมากขึ้น และมั่นใจได้อีก คอนเสิร์ตถือเป็นโอกาสน้อยครั้งที่สำคัญมากของศิลปินแต่ละคน เพราะเป็นทั้งพื้นที่ในการแสดงความรู้สึกและบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ผ่านบทเพลง หน้าที่ของเราคือการดีไซน์รูปแบบการส่งสารไปยังคนดูให้ตรงกับความปรารถนาของศิลปินมากที่สุด
LIPS: เล่าให้เราฟังสักหน่อยถึงงานโหดหินหรือปัญหาเฉพาะหน้าที่ผ่านมาได้อย่างฉิวเฉียด
ภีม: น่าจะเป็นข้อจำกัดเรื่องเวลาครับ อย่างล่าสุดกับคอนเสิร์ตของ 4EVE ที่เรามีเวลาเซตอัปน้อยมากเนื่องด้วยเหตุจำเป็นของสถานที่ คอนเสิร์ตจัดเย็นวันเสาร์ แต่เราเพิ่งได้เข้าหน้างานเย็นวันศุกร์ ต่างจากปกติที่ต้องเซตอัปตั้งแต่วันพุธกลางคืน หรือเช้าวันพฤหัสเป็นอย่างช้า นอกจากนี้การแสดงของศิลปินยังต่างจากคอนเสิร์ตที่เราคุ้นเคย เพราะมีทั้งไลน์เต้น บล็อกกิ้ง ลิฟต์ไฮโดรลิก การกระโดดปีนป่าย ฯลฯ ซึ่งเราต้องจำองค์ประกอบเหล่านี้ให้ได้ ส่วนปัญหาเฉพาะหน้าโหดๆ ก็เช่น ศิลปินเปลี่ยนเพลงระหว่างโชว์บ้าง แขกรับเชิญมาไม่ทันบ้าง ศิลปินเล่นเพลงที่ไม่มีในลิสต์ หรือบางครั้งบรรยากาศเริ่มน่าเบื่อ เราก็ต้องปรับเปลี่ยนให้ทัน ถือเป็นงานยากเพราะต้อง ‘ด้นสด’ กับสิ่งที่เราไม่รู้ล่วงหน้า
LIPS: Collaboration ในฝัน และศิลปินที่อยากร่วมงานด้วยมีใครบ้าง
ภีม: THE 1975 ครับ ผมชอบเพลงของวงนี้มานานมาก แถมยังเป็นเอฟซีของ Tobias Rylander ผู้ออกแบบแสง เวที และภาพรวมให้กับ THE 1975 ตั้งแต่อัลบั้มแรกในปี 2013 มาจนถึงปัจจุบัน งานของโทเบียสโคตรยูนีคครับ เอกลักษณ์คือกรอบรูปที่เรืองแสงเหมือนหลอดไฟ..มีแค่นี้เลย แต่รู้ทันทีว่าฝีมือเขา โทเบียสพัฒนากรอบรูปนี้มาเรื่อยๆ และนำมาหยอดไว้ในโชว์เสมอ มันเจ๋งมากที่สามารถพัฒนา conceptual design มาตลอดสิบปี โดยที่ยังคงรักษาคอนเซปต์หลักได้อย่างดี
ส่วนทีมที่ผมอยากร่วมงานด้วยก็เช่น TOURLITE DESIGN ที่ลอนดอน บริษัทนี้ออกแบบไฟให้วง OH WONDER ที่ผมชอบ บริษัท COLOR BLIND ที่เมลเบิร์น ซึ่งในอนาคตผมอาจชวนทำโปรเจ็คต์อะไรสักอย่าง อีกแห่งคือ VOYAGE PRODUCTIONS ที่โคโลราโด ซึ่งทำไลติ้งให้กับ ODESZA วงแนวเวิลด์มิวสิกหน่อยๆ ทีมนี้จะใส่ลูกเล่นเล็กๆ น้อยๆ ที่คาดไม่ถึงเสมอ เป็นความน่าตื่นเต้นที่หาดูได้ยาก
ส่วนใหญ่เพลงที่ผมชอบหรือศิลปินที่อยากร่วมงานด้วยจะมีความชัดเจนในตัวเองสูง เวลาฟังเพลงผมก็จะนึกถึงการออกแบบแสงโดยอัตโนมัติ เช่น วง PHOENIX ที่เพลงมีไดนามิกมาก GLASS ANIMALS วงที่ทำดนตรีได้น่าทำไฟสุดๆ ส่วนศิลปินไทยที่ผมชอบมากและยังไม่มีโอกาสได้ร่วมงานด้วยก็คือ GREASY CAFE เพลงของเขาเหมือนภาพยนตร์คุณภาพ ซึ่งไม่มีจุดใดเลยที่ปราศจากความน่าตื่นเต้น
LIPS: เราจะทดสอบความสนใจและความสามารถของตัวเองอย่างไร หากต้องการเข้าสู่วงการนักจัดแสง
ภีม: ออกไปดูคอนเสิร์ตเยอะๆ ครับ งานดีหรือไม่ดีต้องวัดกันที่ประสบการณ์จริง ไม่ใช่แค่ดูผ่านคลิปออนไลน์ซึ่งมีมุมกล้องเข้าช่วย ในส่วนของโปรแกรม คุณสามารถโหลดซอฟต์แวร์ ‘MA for PC’ ไว้ฝึกฝนการจัดไฟในคอมพ์ก่อน และผมแนะนำให้ลองฝึกงานกับบริษัทชั้นนำอย่าง PM CENTRE ผู้ให้เช่าอุปกรณ์มัลติมีเดียรายใหญ่ LIGHT SOURCE บริษัทไฟที่ใหญ่ที่สุดซึ่งจัดอุปกรณ์ให้คอนเสิร์ตอินเตอร์ในไทยด้วย เช่น BLACKPINK และ MAROON 5 จะได้รู้จักอุปกรณ์ทั้งหมดและเรียนรู้ตั้งแต่การต่อสายไฟ
LIPS: คุณมีวิธีหาแรงบันดาลใจในการทำงานอย่างไร
ภีม: ผมใช้วิธีตระเวนดูคอนเสิร์ตเช่นกันครับ โดยเฉพาะถ้ามีที่จัดในประเทศใกล้ๆ อย่างญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย แต่ก่อนอื่นเราต้องเปิดใจให้มาก อย่างเทศกาล Summer Sonic มีหลายวงที่ผมไม่รู้จัก ไม่เคยฟังเพลงเขา แต่ดูแล้วจุดประกาย ได้แรงบันดาลใจกลับมาเยอะ เช่น การแสดงของวง Cornelius
LIPS: ในโลกของวงการออกแบบแสงสีมีเทรนด์ที่ต้องจับตาหรือไม่
ภีม: ใช่เลยครับ ไลติ้งมีเทรนด์ และไฟคือฟาสต์แฟชั่น มันมียุค มีช่วงเวลาที่อยู่ในความนิยม นี่จึงเป็นอีกเหตุผลที่ผมไม่สามารถใช้ไฟจากรุ่นพ่อแม่ได้ ยกตัวอย่างยุคหนึ่งไฟม่านนี่ต้องมีทุกคอนเสิร์ต สักพักไฟบีมที่เป็นลำแสงเข้ามาแทนที่ ต่อมาคนชอบไฟฟุ้งๆ กัน แล้วก็เปลี่ยนแปลงอีก อย่างไฟ LED จากที่ต่อกันตรงๆ ก็เริ่มเห็นทรงโค้งบ้าง ห้าเหลี่ยมบ้าง มีการพัฒนาเรื่อยๆ เพราะคนดูไม่ชอบเสพอะไรที่เคยเห็นแล้ว ไฟที่ SATURATE DESIGNS เลยมาเร็วไปเร็ว เราลองสิ่งใหม่เสมอเพื่อประสบการณ์ที่ไม่ซ้ำใคร ในปี 2023 นี้ มีหลายอย่างที่ผมกำลังโฟกัสอยู่ เช่น การนำแสงเลเซอร์มาใช้ในคอนเสิร์ตที่ไม่ใช่แนว EDM ให้มากขึ้น เลเซอร์น่าจะทำให้หน้าตาของงานเกิดความแตกต่าง ซึ่งได้ทดลองที่คอนเสิร์ต DUAY RAK LAE ABDEE ของสแตมป์เมื่อปลายปีที่แล้ว งานออกมาว้าวมากและเซอร์ไพรส์คนดูได้จริงๆ
LIPS: ถ้าอยากเสพศิลปะการจัดแสงเจ๋งๆ บนโลกใบนี้ งานไหนไม่ควรพลาด
ภีม: DARK MATTER BERLIN โลกแห่งแสงสีและสื่อผสมที่เหมาะมากครับสำหรับคนที่ชื่นชอบแนวคีเนติกไลท์ อีกงานคือ DARK MOFO เทศกาลศิลปะที่โคตรอาร์ตและดิบสุดๆ ในแทสเมเนีย ส่วนใครอยากศึกษาการจัดแสงบนเวทีแบบจริงจัง ผมแนะนำให้ดูคอนเสิร์ตของศิลปินแต่ละวงโดยตรง แต่สำหรับมิวสิคเฟสติวัลอย่าง COACHELLA คุณจะได้เห็นรูปแบบของการจัดไฟสำหรับศิลปินแต่ละวงที่ต้องการแสงสีคนละแบบบนเวทีเดียวกัน และในเดือนมีนาคม ประเทศไทยกำลังจะมีเทศกาลดนตรี PELUPO ที่พัทยา ซึ่งผมว่าโปรดักชั่นน่าสนใจ ไม่ใช่แค่ไลน์อัพอย่าง PHOENIX และ KINGS OF CONVENIENCE
LIPS: ช่วงโควิดที่ผ่านมา ธุรกิจที่เกี่ยวกับ LIVE PERFORMANCE ได้รับผลกระทบ คุณปรับตัวอย่างไรบ้าง
ภีม: ถือเป็นช่วงที่น่าสนใจสำหรับการทำธุรกิจมากครับ เราได้ใช้สกิลเซตใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงโควิดเยอะมาก จากเดิมที่หนักไปทางงานคอนเสิร์ตกว่า 80% เราก็ได้รับโอกาสให้จัดแสงในกองถ่ายโฆษณา รวมถึงหนังของ GDH (เช่น เรื่อง HUNGER) ซึ่งถือได้ว่าเป็นโลกใบใหม่เลย เพราะการจัดไฟเพื่อให้กล้องบันทึกภาพ กับการจัดไฟเพื่อสายตาของผู้ชมจริงๆ ไม่เหมือนกัน คอนเสิร์ตปกติก็ปรับเป็นไลฟ์สดทางยูทูบ เราได้ทำให้ YOUNGOHM, TILLY BIRDS, ฯลฯ หรืออย่าง BOMB AT TRACK ที่เซ็ตเวทีที่โรงสีข้าว ทำให้ต้องขึ้นลิฟต์กระเช้า 40 เมตร เพื่อเอาไฟไปติด สนุกมากครับ ประสบการณ์แบบนี้หาไม่ได้บ่อยๆ
LIPS: หากมีโอกาสได้จัดนิทรรศการแสงของตัวเอง หน้าตาของงานแรกจะเป็นรูปแบบไหน
ภีม: ผมทำงานกับดนตรีมาโดยตลอด เลยอาจจะเริ่มจาก installation Art ที่เชื่อมโยงกับศิลปินที่เราเคยทำโปรดักชั่นให้ ผมอยากนำความทรงจำและรวบรวมองค์ประกอบที่คนดูได้เห็นในคอนเสิร์ตนั้นๆ มาจัดแสดงให้เห็นว่าเบื้องหลังของแต่ละฉากแต่ละเพลงมีวิธีคิดยังไง ยกตัวอย่าง เพลงบุษบา ของ MODERNDOG ที่มีลายดอกไม้บนผนัง มันเกิดจากเทคนิคการจัดไฟประมาณ 10 ดวง และถ้าให้เจ๋งหน่อย ผมก็อยากจัดนิทรรศการส่วนตัวที่โรงละครสักครั้งครับ
Words: Sasi Akkomee
Photographs: Somkiat Kangsdalwirun