Search
Close this search box.
Search
Close this search box.

‘ครูพี่แอน’ ชวนให้พูดภาษาอังกฤษตามความรู้สึก ให้คะแนนเต็ม Polite English ของพิธา

Interview / Professional
ครูพี่แอน วรินธร เอื้อวศินธร แห่งสถาบันสอนภาษา Learnovate และเจ้าของเพจ Perfect English กับครูพี่แอน

วรินธร เอื้อวศินธร หรือ ครูพี่แอน แห่งสถาบันสอนภาษา Learnovate และเจ้าของเพจ Perfect English กับครูพี่แอน ที่มีผู้ติดตามเกินล้าน ทำหน้าที่มากกว่าครูสอนภาษาอังกฤษ แต่ยังเป็นเชียร์ลีดเดอร์ถือพู่ปลุกความมั่นใจให้ลูกศิษย์ – แม้ในรายที่มีพื้นฐานภาษาอังกฤษน้อยนิดที่สุด – ให้กลายเป็นคนสปีกอิงลิช ฟุด ฟิด ฟอ ไฟแลบ

อะไรคือเคล็ดลับในการฝึกฝนภาษาอังกฤษจนใช้ได้จริง และอะไรคือข้อสังเกตการใช้ภาษาอังกฤษของคนระดับผู้นำอย่างพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 และ ศิริกัญญา ตันสกุล ว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังผู้หญิงคนแรกของเมืองไทย ครูพี่แอนชำแหละเป็นข้อๆ แถมด้วยจุดที่น่าทำตาม  

“เด็กเจอข้อสอบที่มีตัวเลือกให้ว่าต้องกาข้อไหน แต่ในชีวิตจริงไม่มีตัวเลือกว่าเวลาฝรั่งถาม เราจะตอบข้อ a, b หรือ c”

LIPS: จากประสบการณ์สอนภาษาอังกฤษ คิดว่าเพราะอะไรเด็กไทยเก่งแกรมม่า แต่พูดไม่เก่ง

ครูพี่แอน: เพราะเรียนมาแบบท่องจำ Subject + Verb ช่อง 1 แล้วรู้ไหมว่าสิ่งที่ท่องจำเอาไปใช้ตอนไหน เขาตอบไม่ได้หรอก ตอบได้แค่ตอนเจอข้อสอบที่มีตัวเลือกให้ว่าต้องกาข้อไหน แต่ในชีวิตจริงไม่มีตัวเลือกว่าเวลาฝรั่งถาม เราจะตอบข้อ a, b หรือ c ครูแอนรู้สึกว่าข้อสอบ Conversation ที่นักเรียนเจอทุกวันนี้ ในบทสนทนามีคำที่หายไป ต้องเติมคำว่าอะไร ทำให้เด็กเข้าใจว่าการสนทนาภาษาอังกฤษมีกรอบที่ชัดเจนว่าต้องตอบแบบนี้ 

แต่หากเรามาวิเคราะห์กันจริงๆ ในการคุยเป็นภาษาไทย เราไม่ต้องมานั่งเช็กลิสต์กันเลยว่า คนนี้ถามมาแบบนี้ ฉันต้องตอบว่าอะไร มันตอบได้หลากหลายตามอารมณ์ความรู้สึก ณ ตอนนั้น ครูแอนเลยคิดว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กไทยไม่กล้าพูดภาษาอังกฤษเพราะถูกตีกรอบมาจากข้อสอบแบบนี้ เชื่อไหมว่าครูแอนดูข้อสอบที่เด็กเจอ บางทีก็ตอบ 2 ข้อได้นะ ถ้าอารมณ์พึงพอใจ เราตอบข้อ a ถ้าอารมณ์ไม่พึงพอใจ เราตอบข้อ b ได้ ในข้อสอบพอเฉลย ต้องตอบในแบบพึงพอใจ อ้าว…

LIPS: ปลูกฝังให้เด็กกลัวการตอบผิดด้วยไหม เพราะคำตอบที่ถูกต้องมีหนึ่งเดียว

ครูพี่แอน: ถูกต้อง โดยเฉพาะใน Conversation สมัยครูแอนเรียนโรงเรียนที่ไทย เราจำได้ว่าต้องท่องจำเป็นประโยคเลยนะว่า ถ้าเจอฝรั่งถามแบบนี้ เราต้องตอบแบบนี้ พอเราได้ไปเรียนและใช้ชีวิตเมืองนอก สิ่งที่จำมาไม่ได้ใช้เลย เพราะในชีวิตจริง เขาถามอะไรมา คำตอบขึ้นอยู่กับอารมณ์ความรู้สึกของเรา ไม่ได้ต้องตอบตามตำราเรียน มันตอบตามความรู้สึก ซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดหายไปจากหลักสูตร หรือก็คือความรู้สึกในการใช้ภาษาอังกฤษ 

LIPS: แล้วเราต้องทำยังไง

ครูพี่แอน: ณ ตอนนี้เราผู้เป็นครูสอนภาษาอังกฤษ แต่ยังไม่มีอำนาจไปแก้ไขหลักสูตร แต่ครูแอนก็จะบอกเด็กๆว่าเวลาอ่านข้อสอบ พยายามอ่านเพื่อทำความเข้าใจว่า หนึ่ง มันแปลว่าอะไร สอง มันเอาไปใช้ตอนไหน สาม มันมีความเป็นทางการมากน้อยแค่ไหน คุณต้องเข้าใจประโยคนั้นจริงๆ พอถึงเวลาที่คุณไปคุยกับฝรั่งจริงๆ มีจังหวะที่สามารถใช้ประโยคนั้นได้ คุณจะสามารถดึงประโยคนั้นออกมาใช้ได้โดยอัตโนมัติ 

เช่น เมื่อก่อน เราเรียนแบบท่องจำว่า That’s all right. แปลว่าไม่เป็นไร เราก็จะจำแค่นี้ ถึงเวลาจริงเรานึกไม่ทันว่ามันตอบแบบอื่นได้อีกว่ายังไง แต่ถ้าเราเรียนว่า That’s all right. แปลว่า ไม่เป็นไร โอเคเลย สบายมาก มันแปลได้หลายอย่าง ใช้ได้หลายสถานการณ์ ถ้าเพื่อนขอโทษ เราตอบว่า That’s all right. หรือ It’s OK. หรือ No Worry. ก็ได้ ในเมื่อเพื่อนขอโทษมาและเราอยากบอกเพื่อนว่าไม่ต้องกังวลก็ได้ หรือ It’s no big deal. ไม่ใช่เรื่องใหญ่ หรือ Not a problem. ไม่ใช่ปัญหาเลย เห็นไหมคะว่าเราตอบได้ตั้งหลายอย่าง แต่ในปัจจุบัน ข้อสอบกลับทำให้เราต้องเลือกข้อใดข้อหนึ่งเท่านั้น จึงเป็นการประกอบสร้างวิธีการเรียนรู้ภาษาอังกฤษของเด็กว่าต้องตอบอะไร

“ฝรั่งว้าวคนไทยที่พูดได้ตั้งสองภาษา ทั้งภาษาบ้านเกิดและภาษาอังกฤษ ตัวฉันพูดได้แค่ภาษาเดียว นี่คือความคิดของฝรั่ง 99.99 เปอร์เซ็นต์”

ทุกวันนี้เด็กยังทักไลน์มาถามว่า พี่แอนคะ ถ้าฝรั่งถามมาแบบนี้ เราต้องตอบว่าอะไร เจอบ่อยมากคำถามแบบนี้ เราจะรื้อใหม่เลยว่า ไม่ต้องคิดว่าต้องตอบว่าอะไร ให้คิดก่อนว่าเรารู้สึกอย่างไร เราอยากตอบอะไร เราจะไม่บอกว่าต้องตอบอะไร พอใจ ไม่พอใจ คิดอย่างไร เราวิเคราะห์ได้ เช่น I’m not OK. ก็ตอบได้ ถ้าเรารู้สึกแบบนั้น เขาต้องเข้าใจความรู้สึกตัวเองและความหมายของคำศัพท์ด้วย ไม่อย่างนั้นก็จะเรียนแล้วนำไปใช้ไม่เป็น เชื่อมโยงศัพท์กับสถานการณ์ไม่ได้ เด็กไทยก่อนสอบเลยจะชอบนั่งท่องศัพท์ 1,000 คำ รู้ความหมายหมดเลย แต่ยังไม่สามารถนำไปใช้ได้ หรือได้ยินฝรั่งพูดคำนั้นออกมาก็ยังไม่สามารถตีความได้ว่าในบริบทนั้นแปลว่าอะไร เพราะไม่ได้ฝึกอ่านความรู้สึกและการนำไปใช้ เพราะคุณจำไปกากบาท นี่คือช่องโหว่นะ

LIPS: ยุคนี้เด็กไทยเรียนโรงเรียนนานาชาติมากขึ้นด้วย พูดภาษาอังกฤษเก่งกันตั้งแต่เด็ก

ครูพี่แอน: เราเห็นเลยนะว่า พอคุณใช้ภาษาอังกฤษได้ โอกาสในการทำงานไม่ว่าอาชีพใด จะไปได้กว้างไกลกว่าคนอื่น และปัจจุบันโรงเรียนนานาชาติ โรงเรียนสองภาษามากขึ้น เด็กที่มีโอกาส พ่อแม่ส่งได้ ก็ได้เรียน แต่ในสังคมของเราไม่ใช่ว่าเด็กทุกคนจะได้รับการศึกษาในรูปแบบนั้นทุกคน เพราะตอนนี้ยังมีเด็กนับแสนคนที่อยู่ในระบบการศึกษาแบบเดิมๆ และยังมีเด็กอีกนับพันคนที่เข้าไม่ถึงโอกาสทางการศึกษา ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของความเหลื่อมล้ำในสังคมที่เพิ่มมากขึ้น นี่คือสิ่งที่เราเป็นห่วงมาก มันคือสิ่งที่เราพยายามกำจัดมันออกไป แต่มันกลับจะยิ่งสูงขึ้น เพราะคุณมีเงิน ลูกคุณก็จะได้เรียนหลักสูตรที่ดี แต่ถ้าไม่มีล่ะ ภาษาอังกฤษกำหนดชีวิตเราได้ในระดับหนึ่งเลย ถ้าพูดกันตรงๆแบบไม่โลกสวย 

อย่างที่เราเห็นคลิปของคุณพิธา เราจะเห็นเขาไปสัมภาษณ์ช่องนั้นช่องนี้ ไปไหนก็ไม่ต้องกลัว เราสามารถคาดหวังให้คนอื่นตอบโต้กับเราเป็นภาษาอังกฤษได้ เช่น ไปเที่ยว พูดภาษาอังกฤษก็เอาตัวรอดได้ เป็นทักษะที่ทำให้คุณรอดได้ ขึ้นเครื่องบินสายการบินต่างชาติก็เจอแอร์ เราต้องพูดภาษาอังกฤษแล้ว ขอน้ำ ขอผ้าห่ม

อย่างมีข่าวดังที่ผู้โดยสารพูดผิด จะขอผ้าห่ม คือ blanket แต่พูดว่า carpet เจอแอร์ไม่น่ารักที่พูดใส่ว่าใช้ภาษาอังกฤษผิดก็ไม่ต้องเอานะ ผ้าห่ม แต่โดนไล่ออกไปละ เราเอาข่าวนี้มาแชร์กับเด็กๆด้วยว่า พูดผิดยังดีกว่าไม่พูดนะ กล้าๆพูดไปเลย 

LIPS: ฝรั่งเหยียดไหม เวลาเจอคนพูดภาษาอังกฤษผิด เท่าที่เจอมา

ครูพี่แอน: เอาส่วนตัวที่เจอมาเลยนะ ไม่เหยียด ฝรั่งเขาชื่นชมเวลาเห็นเราพยายามพูดหรือตั้งใจที่จะสื่อสารภาษาอังกฤษได้ เขาจะรู้สึกว้าว ยูเก่งจัง พูดได้ตั้งสองภาษา ทั้งภาษาบ้านเกิดและภาษาอังกฤษ ตัวฉันเองพูดได้แค่ภาษาเดียว นี่คือความคิดของฝรั่ง 99.99 เปอร์เซ็นต์ เขาชื่นชมเราค่ะ นี่ก็เริ่มมาจากคนไม่เก่งอังกฤษมาเหมือนกัน เวลาเรานึกคำไม่ออก ฝรั่งจะช่วยนะ คำนี้หรือเปล่า หรือยูหมายถึงคำนั้น เราพยายามอธิบายว่า the thing that move around. เขาก็ช่วยนึกคำ You mean automobile? แล้วเราก็จะจำได้ในสิ่งที่เขาสอน

LIPS: แล้วคนไทยบางส่วนที่จับผิดหรือเหยียดคนไทยที่ใช้ภาษาอังกฤษไม่เก่งเป็นเพราะอะไร

ครูพี่แอน: คิดว่าเป็นนิสัยบางคน คนน่ารักยังมีเยอะ คนที่ชอบเหยียดหรือกดคนอื่น หรือตัดสินว่า ต๊าย พูดแบบนี้ไม่ต้องพูดดีกว่า อาจเกิดความอิจฉาก็ได้นะ เธอจะเก่งกว่าฉันหรือ ไม่ได้ๆ ฉันต้องทำให้เธอเสียกำลังใจสักหน่อยล่ะ 

LIPS: ย้อนกลับไปที่เรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคม เธอจะมาทัดเทียมฉันไม่ได้นะ 

ครูพี่แอน: ใช่ เห็นข่าวไวรัลบ่อยๆ จะมีคนที่ชอบด่าเป็นภาษาอังกฤษ เพราะคิดว่าอีกฝ่ายจะฟังไม่ออก เอาภาษาอังกฤษมาทับถมคนอื่น มันไม่ใช่นะ มันคือทักษะสื่อสารเพื่อให้เราเข้าใจกันมากขึ้นไม่ใช่หรือ อย่าเอามาโจมตีคนอื่นเลย หรือก็จะมีบางคนที่พูดว่า พูดอังกฤษทำไม ทำไมไม่พูดไทย 

น้องนุ่น ฮะสะมะฮ้าย ลูกศิษย์ครูพี่เเอนที่เป็นไวรัลจากคลิปพูดภาอังกฤษไฟแลบใน TikTok
น้องนุ่น ฮะสะมะฮ้าย ลูกศิษย์ครูพี่เเอนที่เป็นไวรัลจากคลิปพูดภาอังกฤษไฟแลบใน TikTok

สิ่งที่ขาดหายไปจากหลักสูตร ก็คือความรู้สึกในการใช้ภาษาอังกฤษ

อย่างน้องนุ่น ลูกศิษย์คนหนึ่งที่มาเรียนกับเรา เขาทำคลิปออกมาเรื่อยๆ แรกๆจะเห็นว่าเขาจะพูดไทยคำ อังกฤษคำ เขาอยู่ในช่วงฝึกฝน มีคนติว่าเก่งจริงก็อย่าพูดไทยดิ ลูกศิษย์ก็จะทักมา แม่ยังไงดี เสียความมั่นใจ เราก็จะปลอบว่าอย่าไปฟัง คนที่ทำให้เราเสียกำลังใจคือคนที่เราไม่ควรสนใจ นางก็ทำคลิปมาเรื่อยๆ จนช่วงหลังเราสังเกตว่าเขาไม่พูดไทยคำ อังกฤษคำละ แต่จะพูดอังกฤษ 100 เปอร์เซ็นต์ ทำคลิปสัมภาษณ์ฝรั่ง กลายเป็นคนกล้าไปเลย ไม่ใช่ว่าเขาฝึกกับตัวเองแล้วจะกล้า แต่ต้องมีคนซัพพอร์ต มีคนบอกเขาว่าอะไรถูก-ผิด มีคนคอยให้กำลังใจเมื่อเขาเจอเรื่องไม่ดีเกี่ยวกับการฝึกฝนภาษาอังกฤษ นี่ก็สำคัญ อย่าเดียวดาย บางทีท้อแล้วไม่รู้จะปรึกษาใคร แต่ถ้ามีคนให้นั่งบ่นนิดๆหน่อยๆ มันสบายใจนะ  

LIPS: เมื่อสักครู่ที่ยกตัวอย่างคลิปคุณพิธา ครูแอนมีข้อสังเกตในการใช้ภาษาอังกฤษของคุณพิธาอย่างไรบ้าง  

ครูพี่แอน: เราคิดว่าต้องเกิดจากการเกลามาในระดับหนึ่ง การไปเรียนเมืองนอก ก็ต้องดูว่าเราไปใช้ชีวิตแบบไหนด้วย บางคนอาจจะไประยะสั้นๆ อยู่กับเพื่อนคนไทย ไปเรียนอะไร แต่ในเคสคุณพิธา ครูแอนมองว่าการที่เขาใช้ภาษาอังกฤษได้แบนนี้ อาจจะเพราะเขาอยู่ในแวดวงธุรกิจมาด้วย ยิ่งหากว่าอยู่ในองค์กรใหญ่ คุณต้องใช้ภาษาอังกฤษอยู่แล้วเป็นเรื่องปกติ การใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการทำงานจะมาใช้แบบงูๆ ปลาๆ เอ่อ อ่า จะให้เราไม่เป็นมืออาชีพ 

ถ้าเราไปดูประวัติของคุณพิธา เขาเป็นนักธุรกิจมาก่อนที่จะเข้ามาทำการเมือง เขาจึงได้ฝึกการใช้ภาษา ได้เจอผู้คนที่เป็นสายงานธุรกิจเหมือนกัน เรียกว่าได้ฝึกฝนมา แต่ไม่ได้หมายความว่าการที่เราไม่ทำงานในองค์กรใหญ่ เราจะไม่มีทางเก่งภาษาอังกฤษแบบนั้นนะ เราเลือกฝึกฝนได้ ทุกวันนี้สื่อที่จะช่วยให้เราฝึกภาษาอังกฤษมีเยอะมาก พอเขาอยู่กับภาษาอังกฤษมากๆ ก็ซึมซับไปเอง 

“มีคนอยากฝึกภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้นจริงๆ เขามองคุณพิธาเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจ”

พิธาให้สัมภาษณ์กับ Bloomberg

LIPS: ตอนเขาเรียนที่ Kennedy School of Government ที่ฮาร์วาร์ดก็เป็นการเรียนเพื่อเป็นนักการเมือง

ครูพี่แอน: เขาจึงได้ฝึก ครูแอนย้ำกับนักเรียนเสมอว่า ถ้าอยากเก่งอะไร ให้พาตัวเองไปอยู่กับสิ่งนั้นเยอะๆ ต้องฝึกสิ่งนั้นบ่อยๆ ไม่ใช่แค่อ่านหรือเขียน แต่ต้องฝึกพูดออกมาด้วย เมื่อคุณไม่ฝึกด้วยการเอาสิ่งที่เรียนมาออกไปใช้ คุณก็ไม่สามารถเรียนรู้ได้เต็มที่ 

LIPS: คลิปคุณพิธาพูดภาษาอังกฤษกระตุ้นให้คนไทยสนใจภาษาอังกฤษมากขึ้นหรือเปล่า เห็นมีคนคอมเมนต์ใน TikTok ของครูแอนว่า ‘ถ้ามีนายกเก่งแบบนี้ จะผลักดันให้เด็กรุ่นใหม่อยากพัฒนาตัวเองให้เก่งแบบนี้แน่นอนค่ะ’ 

ครูพี่แอน: มีคนอยากฝึกภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้นจริงๆค่ะ เขามองคุณพิธาเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจ เขาพูดภาษาอังกฤษได้กับสื่อได้ สามารถแสดงความเป็นตัวตนให้คนทั้งโลกเห็นได้ เป็นตัวแทนให้คนไทยได้ ฉันก็อยากทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่แบบนี้ได้เหมือนกัน ถ้าเราใช้ได้แต่ภาษาไทยก็จะเข้าใจกันแค่ในคนไทย แต่ถ้าคุณพูดภาษาอังกฤษ คนที่เข้าใจคุณก็จะมีมากขึ้น นั่นคือสาเหตุที่มีเด็กๆ หลายคนมาซื้อหนังสือตาม มาลงเรียนคอร์ส คุณพิธาน่าจะพาอะไรใหม่ๆ มาให้สังคมไทย เราน่าจะเตรียมตัวไว้หน่อย มีคนคิดแบบนี้ ในโซเชียลคึกคักมาก 

“คุณพิธาพูดช้า ชัด โฟกัสที่การพูดให้คนอื่นเข้าใจ เขาจึงเลือกใช้ศัพท์ง่ายๆ”

พิธาให้สัมภาษณ์กับ CNN

ในสายตาครูแอน คุณพิธาคือตัวอย่างในการพูดภาษาอังกฤษที่ดีมากๆ เลือกใช้คำได้เหมาะสม สังเกตสิเขาจะไม่ใช้คำว่า I’m like…like สเต็ปการพูดจะไม่เน้นพูดรัวเร็ว ค่อยๆพูด พูดทุกคำชัดมาก พูดชัดถ้อยชัดคำน่าฟังกว่า เพราะนักการเมืองต้องสื่อสารรู้เรื่อง ต้องอธิบายความคิดตัวเองแล้วคนอื่นเข้าใจ ฉะนั้นเขาจะไม่พูด I’m like ah…like… ถ้าเราเจอผู้นำที่พูดว่า ก็แบบ ก็แบบว่า แล้วก็แบบว่า เราก็จะหงุดหงิดนิดหนึ่งแล้วไหม ทำไมคุณไม่เรียบเรียงคำพูดในหัวก่อน คุณพิธาจึงพูดช้า ชัด ไม่พูดก็แบบ ก็แบบ เลือกศัพท์ที่เหมาะกับบริบทนั้นๆเสมอ สังเกตว่าถ้าไม่ใช้ศัพท์ทางการเมือง เขาจะไม่ค่อยใช้คำเว่อร์วังจนคนอื่นไม่เข้าใจ เขาโฟกัสที่การพูดให้คนอื่นเข้าใจ เขาจึงเลือกใช้ศัพท์ง่ายๆ 

สาม คือ Polite English ครูแอนขอชมเลย เช่น จะบอกให้นักข่าวต่างชาติรอไปสัมภาษณ์วันอื่น แทนที่จะพูดว่า Wait! เขาพูดว่า Is it possible for you to wait…? ซึ่งครูแอนจะสอนเด็กๆเสมอ Is it possible for you to แล้วตามด้วยสิ่งที่เราอยากให้คนอื่นทำ เราย้ำกับเด็กตลอด เขาได้เห็นแล้ววันนี้ว่าไม่ใช่เรื่องเวิ่นเว้อเลย เชื่อไหมคะว่าแต่ก่อนที่สอนหลักสูตร Polite English จะเจอบางคอมเมนต์ว่า ทำไมต้องเลียแข้งเลียขาฝรั่ง การเห็นคุณพิธาเป็นตัวอย่างหนึ่งที่เชื่อมโยงได้กับสิ่งที่เราสอน เราสอนมาหลายปีแล้ว เจอดราม่าแต่ก็ทำต่อ เราอยากให้คนนำไปใช้จริงๆ

“คุณศิริกัญญาเป็นนักการเมืองผู้หญิงรุ่นใหม่ไฟแรง ประสบการณ์เยอะ ให้สัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษได้อีก มีอะไรขาดตกบกพร่องอีกบ้าง”

ศิริกัญญาตอบคำถามสื่อต่างชาติเป็นภาษาอังกฤษ คลิปจากสำนักข่าวราษฎร

LIPS: คุณศิริกัญญาก็พูดภาษาอังกฤษเก่งเชียว

ครูพี่แอน: เราเห็นแหละว่านักการเมืองผู้หญิงในเมืองไทยมีน้อย พอเราเห็นว่าคุณศิริกัญญาเป็นนักการเมืองผู้หญิง แถมรุ่นใหม่ไฟแรง ประสบการณ์เยอะ ให้สัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษได้อีก มีอะไรขาดตกบกพร่องอีกบ้างนี่ การมีต้นแบบที่ดีแบบนี้ ครูแอนเชื่อว่าจะช่วยสร้างให้สังคมไทยหันมาสนใจการฝึกฝนภาษาอังกฤษอย่างจริงจัง ผู้นำเราพูดได้ เราก็ต้องพูดได้บ้างสิ เราชื่นชมที่เขาพูดอังกฤษได้ เราก็น่าจะเป็นคนที่น่าชื่นชมแบบนั้นบ้าง เห็นเยอะเลยค่ะ คอมเมนต์ในโซเชียล เช่น ต่อมภาษาอังกฤษเริ่มกระตุกแล้วสิ ต้องเรียนซะแล้ว ดีแล้วที่คนมองว่าเป็นเรื่องดีและอยากฝึกฝนตาม

LIPS: ครูแอนเคยพูดว่า แรงบันดาลใจจากภายในให้อยากฝึกฝนภาษาอังกฤษสำคัญ ทีนี้ถ้าเรามีแรงกระตุ้นภายนอกเป็นคุณพิธาหรือคุณศิริกัญญาแล้ว ขั้นต่อไปควรจะทำอย่างไร

ครูพี่แอน: เราต้องหาประกายไฟในตัวเอง เราจะได้ไม่ต้องพึ่งพาประกายจากภายนอกไปตลอด ประกายจากคนอื่นผุดมาแล้ว คนนี้เก่งมาก เราถามตัวเองว่าเราจะเก่งแบบเขา แล้วเราจะเก่งเพื่อตัวเองอย่างไรบ้าง ถ้าฉันเก่งแล้วฉันจะได้อะไรบ้าง ฉันจะทำเพื่อให้ตัวเองได้อะไรบ้าง มองหาเป้าหมายภายในด้วยค่ะ 

เช่น เราเห็นนักร้องคนนี้ไปออกรายการ พูดภาษาอังกฤษเก่งมาก ชอบมาก ไอดอลเลย ความชอบนี้อาจหายไปตามวัย ถ้าเราพึ่งพาความชอบจากภายนอกมันอาจไม่ยั่งยืน ครูแอนชื่นชมแล้ว ก็ต้องมาตั้งคำถามกับตัวเองต่อว่า ฉันจะเก่งไปเพื่อตัวเองไปทำไม เช่น จะทำให้อนาคตฉันดีขึ้น หน้าที่การงานดีขึ้น มีทางเลือกในชีวิต ได้ไปต่างประเทศ ฯลฯ

“mindset ในการฝึกภาษาอังกฤษในเมืองไทยคือ อย่าสนใจคำพูดคนที่เหยียดหรือแซวเรา”

ชารอน ชเว ล่ามแปลภาษาอังกฤษของบงจุนโฮ ผู้กำกับหนังเรื่อง Parasite

LIPS: Sharon Choi ล่ามของบงจุนโฮ ผู้กำกับ Parasite กล่าวว่า สิ่งที่จะทำให้เราใช้ภาษาอังกฤษได้ดีคือเราต้องเป็นติ่ง become a fan ของสิ่ง/คนนั้นๆ เพราะเราจะขยันอยากรู้ว่าคนที่เราชอบพูดอะไร อยากจะเข้าใจเขา  

ครูพี่แอน: ใช่ become a fan of English. แรงผลักดันภายนอกก็สำคัญ ลูกศิษย์ครูแอนหลายคนตอนแรกไม่อยากเรียนอังกฤษ แต่เจอหนุ่มฝรั่ง ชอบเขา อยากคุยกับเขาได้ พอพูดถึงเรื่องภายใน ถ้าฉันคุยกับเขาได้ ฉันจะมีความสุขนะ ถ้าคนนี้ไม่ยั่งยืน ฉันหาคนใหม่ได้ 

LIPS: ครูแอนเรียนทั้งภาษาอังกฤษและจีน การจะเป็นมนุษย์ bilingual หรือ multilingual หรือพูดได้หลายภาษา เราควรจะฝึกอย่างไร เช่น ฝึกทีละภาษา หรือฝึกพร้อมกันได้ 

ครูพี่แอน: ภาษาจีนเรียนสมัยเรียนอักษรฯ จุฬาฯ พอไม่ค่อยได้ใช้ก็ลืมๆไปบ้าง แต่ล่าสุดไปคุยธุรกิจที่จีน ฟังแป๊บเดียว เรารื้อฟื้นกลับมาพูดจีนได้จนคนจีนตกใจว่าทำไมพูดได้เยอะ เคาะแป๊บเดียวมันกลับมาหมดเลย เรื่องภาษาต้องฝึกฝน อย่างภาษาอังกฤษจะใกล้ตัวเรามากกว่าภาษาอื่น เช่น เล่นโซเชียลก็เจอเมนูภาษาอังกฤษละ ถ้าอยากพูดได้ก็ต้องฝึกพูดทุกวัน 

พูดกับตัวเองก็ได้นะ ครูแอนก็พูดกับตัวเอง เริ่มจากแบบนั้นเลย ก่อนไปเรียนเมืองนอก พูดกับตัวเองหน้ากระจกทุกวัน Hey! How are you? นั่งในรถ คิดอะไร เห็นอะไร เห็นหมาแมวก็พูด They’re so cute. I wanna go play with them. ก็จะคล้ายคนบ้านิดหนึ่ง แต่ไม่เดือดร้อนใคร แถมเก่งภาษาอังกฤษขึ้นด้วย ฉันก็จะทำ mindset ในการฝึกภาษาอังกฤษถ้าเราฝึกในเมืองไทยคือ อย่าไปสนใจคำพูดคนที่เหยียดเรา แซวเรา คนที่อยู่กับตัวเราก็คือเรา ไม่ใช่คนพวกนั้น คนที่ต้องหาเงินมาจ่ายค่าข้าว ค่าที่พัก ค่ารถก็คือตัวเรา อย่าไปสนใจคนอื่นเยอะ 

ตอนที่ครูแอนฝึกภาษาจีนก็ฝึกไปพร้อมๆกับภาษาอังกฤษ แต่อาจจะเป็นเพราะเรามีพื้นฐานภาษาอังกฤษมามากกว่าและค่อนข้างแข็งแรง แต่ถ้าฝึกภาษาใหม่ แนะนำให้ฝึกทีละภาษาดีกว่า เพราะการที่เราเริ่มต้นฝึกภาษาใหม่ก็ไม่ง่ายนะ เราอยากกลับไปทำความเข้าใจคนที่เริ่มฝึกภาษาก็เลยไปลงเรียนภาษาเกาหลี บอกตรงๆว่า บางทีเราได้ยินเงื่อนไขแปลกๆ เช่น คำนี้ต้องเพี้ยนเสียงเป็นแบบนี้แบบนั้น ก็รู้สึกว่ามันวุ่นวายนะ แต่ภาษาอังกฤษก็มีเพี้ยนเสียงเหมือนกัน ไม่เห็นรู้สึกว่ายาก เพราะเราอยู่กับมันมานาน เพี้ยนเสียงแค่นี้เอง ใครๆก็เข้าใจ แต่พอเราเริ่มเรียนภาษาใหม่ก็รู้สึกเข้าใจเด็กมากขึ้นว่ามันก็ยากนะ 

“จะฝึกภาษาอังกฤษต้องมีแรงจูงใจ ถ้าไม่ชอบ คุณก็จะมีข้ออ้างเสมอ ต่อให้ว่างแทบตาย”

แนะนำให้เรียนทีละภาษาและอย่าลืมทบทวนภาษาเก่า อย่าทิ้ง ต้องแบ่งเวลาทบทวนวันละ 10 นาที สิ่งที่ได้ยินเด็กพูดบ่อยๆคือ ‘ไม่มีเวลาฝึก’ ไม่จริงเลย ข้ออ้างคลาสสิก คุณมีเวลา แต่คุณเลือกให้เวลากับสิ่งอื่นมากกว่าเสมอ บอกไม่มีเวลาแต่นั่งดูไลฟ์ในติ๊กต่อกมา 30 นาทีละ คุณแค่เลือกใช้เวลาไปกับสิ่งที่ชอบ ถึงได้บอกว่าจะฝึกภาษาอังกฤษต้องมีแรงจูงใจ เป็น a big fan ของอะไร หาก่อน ไม่อย่างนั้นนะ ถ้าไม่ชอบ ให้ตายยังไง คุณก็ไม่ทำหรอก และคุณจะมีข้ออ้างเสมอ ต่อให้ว่างแทบตาย  

LIPS: สำเนียงต่างๆในภาษาอังกฤษจำเป็นหรือสำคัญไหม เราจำเป็นต้องมีสำเนียงหรือใช้ศัพท์แบบ native speaker หรือเปล่า 

ครูพี่แอน: ตอบเลยว่าไม่จำเป็น สำเนียงเป็นทางเลือกหรือความชอบเท่านั้น ครูแอนจะบอกว่าฝรั่งชอบภาษาอังกฤษสำเนียงไทยนะ มันฟังง่ายมาก มีเอกลักษณ์ด้วย เพื่อนฝรั่งครูแอนเลยงงว่าทำไมคนไทยชอบล้อเลียนกันเรื่องสำเนียง ความคิดที่ว่าสำเนียงไทยมันฟังดูบ้านๆ มาจากความคิดที่เราว่าเราไม่ภูมิใจในตัวเองหรือเปล่า แทนที่จะชมว่าพูดอังกฤษเก่งจังเลย จบ ยังมีข้อแม้อีก พูดอังกฤษได้นะ แต่สำเนียงบ้านมาก ฉะนั้น ถามว่าจำเป็นไหมที่เราต้องฝึกให้ได้สำเนียงบริติชหรืออเมริกันเป๊ะๆเลย ไม่จำเป็นค่ะ ถ้าชอบก็ฝึก เพราะถ้าเราได้ยินตัวเองพูดสำเนียงที่เราชอบก็ยิ่งมีแรงใจในการฝึกฝนเข้าไปอีก 

การจะให้เมืองไทยมีภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการด้วย ครูแอนเชื่อว่ามีคนอีกมากที่พื้นฐานภาษาอังกฤษน้อยมากๆ -ing อ่านว่าอะไร บางคนไม่รู้ ถ้าเราจะนึกถึงการเปลี่ยนแปลงแบบนั้น แล้วคนกลุ่มนี้จะไปอยู่ตรงไหน เขายิ่งถูกผลักออกไป ยิ่งเหลื่อมล้ำไหม ต้องแก้กันที่หลักสูตรที่เด็กๆเรียนกันให้เรียนอย่างถูกวิธีและเท่าเทียมให้มากที่สุด จะให้ 100 เปอร์เซ็นต์คงยาก แต่ขอให้มากที่สุด ฝากความหวังเรื่องนี้มากๆค่ะ 

LIPS: สุดท้าย คำให้กำลังใจพิธาจะพูดว่า over my dead body ได้ไหม มีคนฝากถาม

ครูพี่แอน: คำนี้ได้นะ ข้ามศพฉันไปก่อน! 

Words: Suphakdipa Poolsap

สถาบันสอนภาษา Learnovate

Website: learnovate.co.th
Facebook: Perfect English กับครูพี่แอน

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม