เราเริ่มคุ้นชื่อ PHTAA Living Designจากงานออกแบบสถาปัตยกรรมให้กับ AUBE สถานที่จัดงานแต่งงานหน้าตาล้ำสมัย ที่เก๋จัดจนกระทั่งแบรนด์ระดับตำนานอย่าง Dior ยังเลือกจัดอีเว้นต์เปิดคอลเล็กชั่นที่นี่ และเมื่อสืบเสาะต่อไปจนค้นพบว่า ออฟฟิศออกแบบสถาปัตยกรรมนามว่า PHTAA (พี-เอช-ที-เอ-เอ) เป็นผู้อยู่เบื้องหลังงานสถาปัตยกรรมที่เราแอบปลื้มอยู่หลายแห่ง
ไม่ว่าจะเป็น H-Dining ร้านอาหารลุคเรียบง่ายสบายตาในย่านทองหล่อ หรือจะเป็น Blend Cafe คาเฟ่ย่านงามวงศ์วานที่โดดเด่นด้วยผนังครึ่งวงกลมที่ดูคล้ายพื้นผิวดวงจันทร์ และถึงขั้นเคยคว้ารางวัลดีไซน์ยอดเยี่ยมมาแล้ว
นั่นทำให้เราต้องพาลิปสเตอร์มาทำความรู้จักกับ วิทย์-พลวิทย์ รัตนธเนศวิไล, พลอย-ธนวรรธน์ ปัจฉิมะศิริ และโต๋-หฤษฎี ลีละยุวพันธ์ สถาปนิกและอินทีเรียดีไซเนอร์ผู้ก่อตั้งบริษัทออกแบบสถาปัตยกรรมสุดล้ำแห่งนี้ให้ละเอียดละออยิ่งขึ้น ผ่านผลงานออกแบบที่สะท้อนความเป็นไปของแวดวงสถาปัตยกรรมในยุคสมัยนี้
ลิปส์ : พวกคุณทั้งสามคนมารวมตัวกันเป็น PHTAA ได้อย่างไร
วิทย์ :ตอนนั้นผมทำงานอยู่ที่ Vas Lab ซึ่งเป็นบริษัทของคุณวสุ วิรัชศิลป์ครับ แล้วพอมาเป็นฟรีแลนซ์ผมได้งานมาโปรเจ็กต์หนึ่งเป็นงานโรงแรมที่เชียงใหม่ครับ ผมได้งานมาจากพี่คนหนึ่งที่เคยทำงานด้วยกันที่ Vas Lab ซึ่งต้องขอบคุณเขามากๆ เลย แต่งานมันใหญ่เกินตัว เลยคิดว่าต้องหาพาร์ทเนอร์มาช่วยทำ ผมเล่นเฟซบุ๊กแล้วก็เจอพลอยก็รู้สึกว่า น่าสนใจดี ก็เลยทักแชทชวนเขามาทำงานด้วยกัน
โต๋ : ผมเคยทำงานอยู่ทีมเดียวกับกับพี่พลอยที่ออฟฟิศ P49 เลยรู้จักกันมาก่อน พี่พลอยเขาทำงานได้สองปีแล้วเขาก็ไปเรียนต่อ ส่วนผมก็ทำงานอยู่นั่นอีกสามปี พอกลับมาพี่พลอยก็มาทำงานกับพี่วิทย์เหมือนเป็นฟรีแลนซ์ที่มาจอยงานกัน
พลอย : ต่อมาก็เริ่มมีโปรเจ็กต์เยอะขึ้นเรื่อยๆ เลยต้องหาทีมมาช่วย ตอนแรกเปิดคล้ายๆ เป็นสตูดิโอ แล้วก็เริ่มมีน้องเข้ามาทำงานด้วย แล้วพอเรารับงานเยอะๆ ก็มีเรื่องธุรกิจภาษี ก็เลยเพิ่งเริ่มจดทะเบียนเป็นบริษัทอย่างจริงจัง
ลิปส์ : ผลงานสร้างชื่อชิ้นแรกของ PHTAAน่าจะเป็นชิ้นไหน
วิทย์ :งานแรกๆ ก็จะมี Jim Thompson กับร้านสูท Keaton Tailor ที่เริ่มได้ลงในสื่อ แต่ก็มีคนรู้จักในวงที่ไม่กว้างมาก เพราะงานเราเป็นงานที่เหมือนกับจะแมสแต่ก็ไม่แมสขนาดนั้น มันก็เลยกรองลูกค้าที่มีความสนใจ และมีเซ้นส์แนวเดียวกับเราเข้ามาหา เราก็เลยทำงานทุกอย่างได้อย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ค่อยฝืนเท่าไร
ลิปส์ : มีเคสไหนที่คุณรู้สึกว่า ได้ครีเอทประสบการณ์ใหม่ที่เกิดจากสเปซที่เราสร้างขึ้นบ้าง
วิทย์ : อย่าง AUBEเนี่ย แน่นอนอยู่แล้วว่า มันให้ประสบการณ์เต็มๆ เพราะว่าฟังก์ชันทุกฟังก์ชันมันตอบโจทย์ทุก sequenceของงานแต่งงานและการหมั้นเลยก็ว่าได้ ถ้าสมมติว่าเราพูดถึงการแต่งงาน เวลาเราไปดูที่อื่นมันจะมีมู้ดของความเป็นยุโรป เราคิดว่า เราต้องสร้างอะไรบางอย่างที่อยู่ได้นาน เราไม่ได้พูดถึงความเป็นไทยผ่านลายลักษณ์อักษร หรือผ่าน symbolic ของความเป็นไทย เช่น ลายกนกอะไรพวกนี้ แต่ว่าเราใช้รากเหง้าของวัฒนธรรมน่ะ เราไปดูตั้งแต่แรกเลยว่า แห่ขันหมากสมัยโบราณเขาแห่กันตรงไหน เขาแห่ในหมู่บ้านเพื่อที่จะบอกคนในหมู่บ้านว่าเขากำลังจะแต่งงานแล้วนะ ซึ่งชาวบ้านในหมู่บ้านบางคนเขาอาจจะอยากเห็น หรือไม่อยากเห็นก็ได้ ซึ่งมันก็แสดงออกมาทางเส้นที่ผมทำเหมือนเป็นถนนเพื่อการแห่ขันหมากโดยเฉพาะ แล้ว ฮอลแต่ละฮอล ก็มีฟังก์ชันโดยเฉพาะ ห้องหมั้นก็มีเวทีสำหรับพระสงฆ์สวดมนต์ ไหนๆ สเปซนี้จะทำหน้าที่เป็นสถานที่แต่งงานแล้ว คุณก็ต้องซัพพอร์ททุกๆ ฟังก์ชันให้ดีที่สุด ไม่ได้เป็นแค่ฉากถ่ายรูปอย่างเดียว
อีกงานหนึ่งที่สัมพันธ์กับการสร้างประสบการณ์จริงๆ น่าจะงานรีโนเวทอาคารตรงสะพานควาย ให้เป็นอพาร์ทเม้นต์ ตัวอาคารผมจะเพ้นต์ลายเป็นเมืองอยู่บนผนัง แต่ว่าเป็นการเพ้นต์บนตะแกรง ทำให้มองเห็นสองด้านไม่เหมือนกัน เป็นการเล่นกับคนบนถนนที่เดินผ่านไปผ่านมาได้ด้วย ไม่ใช่เฉพาะคนใช้งานในอาคารเท่านั้น
โต๋ : Headquarter ของ Jim Thompson ที่สุรวงศ์ เหมือนเราได้สร้างประสบการณ์ใหม่ในอาคารเก่า ที่เราเข้าไปแก้ปัญหาให้เขา อย่างแรกก็เรื่องแสงธรรมชาติ และเรื่องความเชื่อมโยงระหว่างชั้น ผมไปถึงผมก็ไปทุบพื้นเขาเลย ซึ่งเขาก็ยอมรับได้ แล้วมันก็เลยเกิดเป็น experience ใหม่ว่าจริงๆ แล้วโชว์รูมที่มันซ้อนกันอยู่หกชั้น พอเราทุบพื้นแล้วให้สเปซมันเชื่อมต่อกันได้ มันก็ได้เซ้นส์ความโอ่โถง ของโชว์รูม แล้วยังได้ความต่อเนื่องของอาคารด้วย
พลอย : นิทรรศการ ชื่อ Modern Love ที่จัดขึ้นที่ Reno Hotel เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งมันจะเป็นช่วงตอนที่เรากำลังรีโนเวทโรงแรมอยู่ เราก็ทำนิทรรศการขึ้นมาอันหนึ่ง ชื่อ Modern Love ที่เราจะพูดถึงประวัติศาสตร์ของตึกโรงแรมนี้ที่มีมาตั้งแต่ยุคที่ทหารอเมริกันเข้ามาตั้งฐานทัพในไทย แล้วที่นี่ก็เป็นคล้ายๆ ม่านรูด เรานำเรื่องนี้มาผูกกับตัวโรงแรม แล้วก็จัดเป็นนิทรรศการเล็กๆ โดยนำวัสดุที่ทำขึ้นเฉพาะสำหรับโรงแรมนี้เท่านั้นมาทำเป็นส่วนประกอบสำคัญของตัวนิทรรศการ
ลิปส์ : ดูเหมือนคุณมองว่า ปัญหาที่เจอบ่อยในงานออกแบบ คือ เรื่องความคาดหวังสูงสวนทางกับ budget ที่มีจำกัดใช่ไหม
วิทย์ : ใช่ครับ แล้วสิ่งเหล่านี้มันเกี่ยวเนื่องกับเรื่องใช้ทรัพยากร เพราะพอมันมีความคาดหวังที่สูง ลูกค้าอยากมอบประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับuser เขา เราก็ต้องคิดอะไรใหม่ขึ้นมา ซึ่งในการสร้างสิ่งใหม่เราไม่ได้มี budget เยอะ ทรัพยากรประเทศเราก็ไม่ได้มีเยอะ สมมติว่า H-Dining ที่ผมนำบล็อกตัวหนอนมาใช้ ก็ใช่ว่า budget จะถูกลง แต่มันเป็นการลดการผลิตขยะของโลกเพิ่มขึ้น ช่วยลดกระบวนการสร้างอะไรบางอย่างขึ้น สามารถลดต้นเหตุของการสร้างมลพิษได้ ซึ่งผมคิดว่า มันเป็นการตอบโจทย์ธรรมชาติในรูปแบบหนึ่งครับ
” สถาปนิกสมัยก่อนก็จะมองเรื่องความยั่งยืน แต่เด็กรุ่นใหม่จะมีความรวดเร็ว แต่ว่าพอวันหนึ่งเขาแก่ขึ้น เขาจะซึมซับเรื่องพวกนั้นเข้าไปในงานของเขาเอง หลังจากที่เขาทำอะไรที่ตื่นเต้นหวือหวาไปหมดแล้ว สุดท้ายเขาจะมองกลับมาที่อะไรที่นิ่ง “
ลิปส์ : เทรนด์การออกแบบอาคารในทุกวันนี้ถูกนิยาม หรือถูกแบ่ง category จากอะไร
วิทย์ : ผมว่า แบ่งเป็นสถาปนิกที่อายุมาก กับสถาปนิกที่อายุน้อยแค่นั้นเอง นักออกแบบที่อายุมากก็จะบอกว่า ทำอะไรที่แฟชั่นไม่ดี นักออกแบบที่อายุน้อยก็จะบอกว่า ถ้าสมมติว่าไม่ทำตามแฟชั่นปุ๊บ คุณจะเป็นคนที่เชย เพราะฉะนั้น มัน subjective มากๆ ครับ
│Photography : Somkiat K., PHTAA