ทบทวน 10 ปีของ ‘ภูวินทร์ ตั้งศักดิ์ยืน’ ที่เริ่มต้นจาก ‘เด็กแคสต์’ จนทุกวันนี้ยังคงเป็น ‘ซุป’ตาร์สายแคสต์’ ที่พาตัวเองไปหางานแสดงที่รัก งานเพลงที่เลิฟ และงานแฟชั่นที่ไลก์…อยู่เสมอ
ภูวินทร์ ไม่ใช่คนอื่นคนไกลกับวงการบันเทิงไทย ในวัยเพียง 21 เขาโลดแล่นเล่นมิวสิคัล หนัง ละคร ซีรีส์มาตั้งแต่อายุ 11 ขวบ “สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนไปก็คือผมยังวิ่งแคสต์งานเหมือนเดิม” ส่วนงานดนตรีแม้เพิ่งมีซิงเกิลแรก หากเขาเล่นเปียโนจริงจังมานาน การันตีด้วย Advanced Grade 8 ระดับสูงสุดของการสอบเกรดจาก Trinity College London “ผมอยากทำเพลงที่ 2 3 4 5 6 7 8 9 10…ออกมาให้ทุกคนเห็น” ด้านแฟชั่น จักรวาลใหม่สำหรับภูวินทร์ ทว่าในปีแรกที่ได้เป็นฟรอนต์โรว์ที่ปารีสและนิวยอร์กแฟชั่นวีค เขาทำมูลค่าสื่อรวมกันได้กว่า 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ “ผมว้าวกับทุกอย่างที่เจอในวงการแฟชั่น”
LIPS จับเข่าคุยกับเจ้าของแอกเคานต์ @phuwintang ที่เขียนโปรไฟล์ว่าเป็น ‘Artist’ ที่ใช้ ‘music to convey, act to portray’ ถึงหลายแง่มุมของ ‘ภูวินทร์’ ทั้งความเป็นคนช่างเถียง ที่มาของการเรียบเรียงความคิดสละสลวย การย้อนอดีตไปคุยกับเด็กชายภูวินทร์วัย 13 และข้ามเวลาไปหานายภูวินทร์วัย 30 “แต่ก่อนคิดว่าพออายุ 30 อยากมีครอบครัว แต่พอได้มาทำงานในวงการ ผมรู้สึกว่า…”
Man Makes Himself – ความเป็นภูวินทร์ที่ควรใคร่รู้
“ผมเป็นคน ‘คิดจนงง’ บางครั้งก็เหมือนจะคิดเยอะ บางครั้งก็ไม่คิดอะไรเลย”
LIPS: ภูวินทร์มีชื่อเล่นหรือเปล่า
PHUWIN: ก็คือ ‘ภูวิน’ นี่ละครับ แค่สะกดต่างจากชื่อจริงแต่ไม่มี ‘ทร์’ เกิดจากพ่อแม่ผมทำงานบริษัทฝรั่ง ซึ่งฝรั่งจะมีชื่อเล่นและชื่อจริงเหมือนกัน หรือไม่ก็ชื่อเล่นจะมาจากชื่อจริง เช่น Michael ชื่อเล่น Mike พ่อแม่เลยคิดว่าให้ชื่อจริงกับชื่อเล่นผมเหมือนกันดีกว่า ฝรั่งเรียกง่ายและคงความเป็นคนไทยที่ต้องมีชื่อเล่นและชื่อจริงไว้ด้วย แต่จะงงๆ หน่อยเวลาไปออกงานหรือให้สัมภาษณ์
LIPS: แฟนๆ เลยเรียกว่า ‘พุพุ’ สินะ แล้วที่บอกว่าชอบเข้าฟิตเนส แต่ไม่ชอบขยับตัว ไม่ชอบเหงื่อออกนี่มันยังไงกัน คือชอบออกกำลังกายหรือคิดว่าเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลตัวเองให้ทำงานตรงนี้ไปได้นานๆ
PHUWIN: (หัวเราะ) ทั้งคู่ครับ ผมไม่ชอบกีฬาที่ต้องขยับตัวเยอะเพราะขยับตัวมาเยอะแล้ว คือแต่ก่อนผมเป็นนักกีฬาว่ายน้ำและวิ่งครับ มันคือกีฬาคาร์ดิโอล้วนๆ เลย พอโตมาเรารู้สึกว่าพอแล้วกับการคาร์ดิโอ เราติดการออกกำลังกาย มาตั้งแต่เด็ก พอโตขึ้นเลยหันมาเล่นเวตดีกว่า อยู่ในห้องแอร์สบายๆ เข้าง่ายออกง่าย ไม่วุ่นวาย ไม่เหมือนการวิ่งที่ต้องไปเปลี่ยนชุด หรือถ้าว่ายน้ำเสร็จก็ต้องไปอาบน้ำอีก
จริงๆ แล้วผมอยากเปลี่ยนร่างกายตัวเองครับ อยากเป็นคนสุขภาพแข็งแกร่งกว่านี้ ผมค่อนข้างร่างกายอ่อนแออยู่แล้ว ภูมิคุ้มกันต่ำ เป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่พ่อแม่ให้เล่นกีฬามาตั้งแต่เด็ก ผมจะเป็นหวัดบ่อย ตอนนี้ก็เป็นหวัดอยู่ อากาศเปลี่ยนนิดหน่อยก็ป่วย ผมอยากเปลี่ยนร่างกายตัวเองจะตาย แต่เป็นสิ่งที่ใช้ความพยายามแค่ไหนก็ไม่พอ
LIPS: ภูวินทร์เคยบอกว่าเป็นคนไม่ค่อยคิดถึงอดีต เป็นเพราะอะไร เพราะมันแก้ไขอะไรไม่ได้ เลยป่วยการที่จะคิดหรือว่าอย่างไร
PHUWIN: ใช่ครับ คำนั้นเลย มันเกิดแล้ว มันแก้อะไรไม่ได้ เราแค่ต้องทำให้มันไม่เกิดขึ้นซ้ำอีก ถ้าผิดพลาดอะไรให้จำและแก้ไขในครั้งต่อไป
LIPS: แต่ถ้าย้อนไปพูดกับเด็กชายภูวินทร์วัย 13 สมัยที่แสดงมิวสิคัลเรื่องแรก The Sound of Music จะพูดกับเขาว่า?
PHUWIN: ‘ตั้งใจซ้อมซะ’ (หัวเราะ) ผมหนีซ้อมสุดฤทธิ์ เราเด็กด้วยในตอนนั้น เราไม่เข้าใจหรอกว่าจะซ้อมไปทำไม เราอยากเล่นกับเพื่อนมากกว่า
LIPS: แล้วถ้าเด็กชายภูวินทร์วัย 13 เถียงกลับภูวินทร์วัย 21 ว่า ‘แล้วจะตั้งใจซ้อมไปทำไมอ่ะ’
PHUWIN: ผมจำตัวเองได้ว่าผมเถียงกับพ่อแม่แบบนี้เลย ผมบอกว่าผมตั้งใจแล้ว แต่สำหรับผู้ใหญ่ในวัย 21 กลับไปมองตัวเองวัย 13 มันไม่พอครับ มันอาจจะตั้งใจแล้วสำหรับเด็กวัย 13 แต่มันไม่พอ ผมรู้สึกว่าตัวเองในอดีตก็ยังถูก เพียงแต่เขาตั้งใจไม่พอในมุมของผู้ใหญ่รอบข้างในวันนั้น รวมถึงพ่อแม่ผมด้วย
LIPS: (รับบทภูวินทร์วัย 13) ไม่พอสำหรับอะไร
PHUWIN: (อธิบายอย่างใจเย็น) สำหรับโลกแห่งความเป็นจริง และมาตรฐานของการแสดงแบบมืออาชีพ เพราะมิวสิคัลเรื่องนี้และผลงานที่เราออกไปต้องเป็นมืออาชีพมากกว่านี้ ถ้าเป็นละครโรงเรียนแล้วตั้งใจน้อยกว่านั้นก็อาจจะไม่เป็นไร แต่นี่เป็นมิวสิคัลที่เล่นให้คนทั่วประเทศดู เราในวัย 13 จึงตั้งใจแล้วแต่ว่าไม่พอ
LIPS: เดี๋ยวนะ ภูวินทร์เดบิวต์งานมิวสิคัลที่รัชดาลัยเหรอ
PHUWIN: ใช่ครับ (เสียงแห้ง) ก็เลยบอกว่าตั้งใจแต่ยังไม่พอ
LIPS: เป็นการเดบิวต์ที่โหดมากสำหรับคนอายุเท่านั้น แล้ว MBTI ของภูวินทร์ยังเหมือนเดิมไหมที่เป็น ENTJ เป็นผู้บัญชาการ เป็นนักคิดที่ฉลาดหลักแหลม และนักจัดการที่ยอดเยี่ยม
PHUWIN: ผมลองทำ 2-3 ครั้งก็ยังได้ ENTJ เหมือนเดิมครับ แต่ผมมีความ introvert และ extrovert ที่ใกล้กันมากแบบ 40 กว่าๆ กับ 50 กว่าๆ ไม่ได้ต่างจากกันสักเท่าไร
LIPS: MBTI คือ Myers-Briggs Type Indicator แล้วถ้าเป็น PTTI: Phuwin Tangsakyuen Type Indicator จะอธิบายความเป็นตัวตนของภูวินอย่างไรบ้าง ขอคำนิยาม 3 คำ
PHUWIN: ‘คิดจนงง’ บางครั้งก็เหมือนจะคิดเยอะ บางครั้งก็ไม่คิดอะไรเลย (หัวเราะ) แล้วแต่เรื่องครับ หลายๆ เรื่องผมจะใช้ชีวิตโดยสัญชาตญาณสุดๆ แต่บางเรื่องที่สำคัญ ผมจะคิดเยอะมากเป็นคนคิดเยอะจนงง บางเรื่องก็ไม่คิดเลยจนงงเหมือนกัน
LIPS: มักจะหาคำตอบด้วยตัวเองหรือไปปรึกษาคนอื่น
PHUWIN: ผมจะหาคำตอบด้วยตัวเองเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกสอนมาครับ แต่ก่อนผมเป็นคนที่มีอะไรจะชอบถามคนอื่นก่อน เราทำแบบนั้นบ่อยจนพ่อแม่เริ่มรู้สึกว่าผมควรต้องพึ่งตัวเองบ้าง เลยโดนสอนมาว่าให้ลองคิดเองก่อนแล้วค่อยถามคนอื่น ซึ่งเราเปลี่ยนตัวเองให้เป็นแบบนี้จนติดเป็นนิสัย
LIPS: เท่าที่อ่านและฟังบทสัมภาษณ์ของภูวินทร์ แม้แต่ตอนนี้ที่คุยกันอยู่นี่ ภูวินทร์เป็นคนเรียบเรียงความคิดและความรู้สึกออกมาเป็นคำพูดได้ดีมากเลยนะ เพราะชอบอ่านหนังสือ ชอบเขียนหรือเป็นเพราะอะไร
PHUWIN: จริงๆ เริ่มจากการเป็นคนที่ไม่คิดครับ เราเคยไม่คิดแล้วทำเลย พูดเลย พ่อแม่เลยจะสอนมาตลอดว่าก่อนพูดหรือทำอะไรให้คิดก่อน พอโตมาเราเริ่มเข้าใจว่าการที่เราสื่อสารบางอย่างออกไปไม่ได้แปลว่าทุกคนจะเข้าใจ ดังนั้น เราต้องเรียบเรียงให้ชัดเจนให้คนอื่นเข้าใจให้ได้ และผมคิดว่าการที่ผมอ่านหนังสือเยอะ ก็ช่วยได้เยอะมากๆ
อีกเหตุผลหนึ่งที่อาจจะดูแปลกๆ หน่อยคือ ผมเป็นคนแถเก่งครับ (หัวเราะเขิน) ตอนเรียนถ้ามีงานรีเสิร์ช ผมจะบอกเพื่อนเสมอว่า ‘ทำไปเลย แล้วเขียนสรุปมาให้ เดี๋ยวออกไปพรีเซนต์เอง’ ผมไม่ค่อยกลัวในการแถอยู่แล้ว พอเราได้โอกาสแถหน้าห้องบ่อยๆ ก็ทำให้เราเรียบเรียงความคิดได้เร็ว ขอให้มีคีย์เวิร์ดเถอะ เดี๋ยวขยายความได้ (หัวเราะ) เริ่มมาอาจจะไม่ค่อยดี แต่มันส่งผลดีต่อชีวิตในภายหลัง ผมชอบอ่านหนังสือด้วยครับ ผมอ่านหลากหลายแนว แต่หลักๆ แล้วผมชอบอ่านนวนิยาย ชอบเสพสตอรี ไม่ชอบอ่านหนังสือเรียนลย ผมเป็นคนตรรกะสูง เราเอนจอยกับการอ่านนิยายแล้วไปเรียนวิศวะมากกว่า
LIPS: ภูวินทร์ใช้สมองซีกซ้ายขวาเท่าๆ กันเลยนะ เป็นคนมีตรรกะที่ชอบดนตรี ชอบอ่านนิยาย
PHUWIN: รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ดีเหมือนกัน ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคนด้วย ไม่มีถูกผิด โดยพื้นฐานผมเป็นคนตรรกะสูงที่ค่อยมาเรียนรู้เรื่องความรู้สึกเอาตอนหลัง
LIPS: น่าจะเป็นคนเถียงเก่งเอาเรื่องเลยใช่ไหมนี่
PHUWIN: โอ้! เรื่องนี้ ไปถามพ่อแม่ผมได้ครับ (หัวเราะ)
Act to Portray – หลงใหลศาสตร์การแสดง
“การแคสต์เป็นบทพิสูจน์ในตัวแล้วว่าเราเหมาะกับบทนี้ แทนที่คนจะมาตั้งคำถามว่าเราเหมาะหรือเปล่า”
LIPS: ผลงานใหม่นอกจาก ‘มีสติหน่อยคุณธีร์’ ที่ได้กลับมาเจอกับ ปอนด์-ณราวิชญ์ เลิศรัตน์โกสุมภ์อีกครั้ง มีซีรีส์ฟอร์มใหญ่ ‘TASTE เด็กเจนแซ่บ’ จากผู้สร้างซีรีส์ ‘ฮอร์โมนวัยว้าวุ่น’ และ Scarlet Heart Thailand ได้ทันดูฮอร์โมนฯ ตอนออนแอร์หรือเปล่า
PHUWIN: ตอนนั้นฮอร์โมนฯ ดังมาก ผมทันยุคนั้น แต่ไม่ได้ดู จริงๆ แล้วพี่ปันปัน (สุทัตตา อุดมศิลป์) เป็นรุ่นพี่ที่โรงเรียนด้วย แต่ผมไม่ได้เป็นกลุ่มคนที่ดู ยุคนั้นผมเป็นเด็กติดเกมติดเพื่อนครับ (หัวเราะ) ไม่ใช่แนวดูซีรีส์ ไม่ได้สนใจว่าโลกภายนอกเป็นยังไง
LIPS: พอจะเล่าได้ไหมว่าตัวละคร ‘ดีเซล’ ที่ภูวินทร์รับบทเป็นยังไง
PHUWIN: ก่อนอื่นต้องบอกว่า ‘TASTE เด็กเจนแซ่บ’ ไม่ใช่การรีเมกฮอร์โมนฯ แต่คอนเซ็ปต์เดิม คือถ่ายทอดและสะท้อนชีวิตเด็กมัธยมในปี 2024-25 ซึ่งเป็นคอนเซ็ปต์เดียวกับฮอร์โมนฯ ที่สะท้อนชีวิตเด็กมัธยมในปี 2015 แต่ละตัวละครคือตัวแทนของคนแต่ละกลุ่ม ซึ่งผมเป็นหนึ่งในตัวละครที่เป็นตัวแทนคนกลุ่มหนึ่งของเด็กเจนใหม่ที่มีทั้งนิสัยที่ดีและไม่ดี ผมรู้สึกว่าไม่มีตัวละครไหนที่ดีหรือไม่ดี ไม่ใช่ทุกคนที่เป็นคนดีจะเป็นคนดีจ๋าที่ไม่มีแง่ร้ายเลย และไม่ใช่ทุกคนที่ไม่ดีจะหาความดีไม่ได้ ตัวละครเหล่านี้ก็เช่นกัน เป็นบทที่ท้าทายมาก ณ ตอนที่บทสัมภาษณ์นี้ออกไปก็ปิดกล้องแล้วครับ
LIPS: แสดงว่าตอนนี้ภูวินทร์ใช้ชีวิตเป็นตัวละครดีเซลอยู่ล่ะสิ
PHUWIN: ใช่ครับ ณ ตอนที่คุยกันอยู่นี่ ผมเหลืออีกคิวเดียวเอง แต่! (รีบเบรก) ไม่ได้ดูเร็วๆ นี้หรอกครับ งานโพสต์-โพรดักชันยังอีกยาวไกล คือถ้า TASTE ยิ่งไม่ใกล้ Scarlet Heart Thailand ยิ่งไม่ใกล้เข้าไปใหญ่ เรื่องหลังนี้รออีกเป็นปีเลยครับ ต้องพูดดักไว้ก่อน คนจะได้ไม่คาดหวังว่าจะได้เร็วๆ นี้ บทยังไม่เสร็จเลยครับ
LIPS: Scarlet Heart Thailand ฉีกไปจากบทที่ภูวินทร์เคยเล่นมา คือเป็นซีรีส์ย้อนยุค
PHUWIN: ใช่ครับ นักแสดงแต่ละคนในเรื่องต้องฝึกสกิลต่างๆ เยอะเลยใช้เวลาพรีโพรดักชันค่อนข้างนาน
LIPS: ต้องกลับไปดูเวอร์ชันจีนกับเกาหลีมั้ย
PHUWIN: ผมไม่ได้ดูครับ ทาง GMMTV ซื้อลิขสิทธิ์มาจากนวนิยายจีนที่เป็นออริจินัล แล้วค่อยมาปรับให้เข้ากับบริบทซีรีส์ไทย แต่ละเวอร์ชันทั้งของจีนและเกาหลีแม้มาจากรากฐานเดียวกันแต่ตีความออกมาไม่เหมือนกัน ฉะนั้น เวอร์ชันไทยเลยต่างออกไป คนจะได้ไม่คาดหวังด้วยว่า เอ๊ะ ทำไมไม่เหมือนของจีน ไม่เหมือนของเกาหลี
LIPS: แต่ละบทดูแตกต่างกันคนละขั้วเลย มีเกณฑ์ในการรับงานอย่างไร
PHUWIN: หนึ่ง ต้องไม่ซ้ำ สอง เราต้องสนุก ผมพยายามเลือกงานที่ไม่ซ้ำกับสิ่งที่คนเคยเห็นแล้ว หรือถ้าคล้ายๆ เดิมก็อาจต้องทิ้งระยะสักนิดหนึ่ง
LIPS: แต่งานแสดงก็ยากตรงที่ว่าเราอยากได้บทแบบไหน บทนั้นอาจจะไม่ได้มาหาเราก็ได้
PHUWIN: ฉะนั้น เราเลยต้องวิ่งหาโอกาสครับ ผมยังวิ่งแคสต์งานอยู่ เป็นสิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนไปสำหรับผมตั้งแต่ก่อนมาอยู่ GMMTV จนถึงทุกวันนี้ ผมยังเป็นเด็กแคสต์เหมือนเดิมที่วิ่งแคสต์งานนั้นงานนี้
LIPS: แม้จะเป็นตัวเมนแล้วก็ยังแคสต์งานหรือ
PHUWIN: ใช่ครับ เป็นความต้องการของผมเองด้วย ผมรู้สึกว่าการแคสต์มันแฟร์ที่สุด และบางครั้งคนอาจจะไม่ได้นึกว่าเราเหมาะกับบางบทจนกว่าเราจะไปแสดงให้เขาดู เป็นการเปิดโอกาสให้ตัวเองด้วย เพียงแต่เราแค่ไปแสดงให้ดู เราไม่ใช่คนตัดสินใจอยู่แล้ว
LIPS: การแคสต์งานเป็นโมเมนต์ที่นักแสดงไม่ว่าประเทศไหนๆ รู้สึกมวนท้องที่สุด
PHUWIN: ตื่นเต้นที่สุดแล้วครับ ยากที่สุดด้วย
LIPS: ทำไมไม่หลีกเลี่ยงสถานการณ์นี้ล่ะ
PHUWIN: ผมรู้สึกว่ายิ่งถ้าเราได้บทจากการแคสต์ มันเป็นบทพิสูจน์ในตัวแล้วว่าเราเหมาะกับบทนี้ แทนที่คนจะมาตั้งคำถามว่าเราจะทำได้หรือเปล่า เหมาะหรือเปล่า ให้ทุกคนได้รู้ไปเลยว่าเหมาะไม่เหมาะไม่รู้ ผมได้แคสต์แล้วและเขาเลือกผม
LIPS: จากการทำงานเป็นศิลปิน ได้เจออะไรในตัวเองที่ไม่เคยเจอมาก่อนบ้าง
PHUWIN: เจอเยอะเลยครับ หนึ่งในสิ่งที่เจอคือเรื่องความรู้สึกของตัวเอง ด้วยความที่เดิมผมเป็นคนตรรกะสูง เลยจะไม่ค่อยนึกถึงความรู้สึกของตัวเองสักเท่าไร จนกระทั่งได้มาทำงานแสดงมากเข้า ซึ่งเป็นงานที่แตะกับความรู้สึกของตัวละครและได้เข้าไปเรียนรู้ความเป็นตัวเองมากๆ จนเราได้ค้นพบว่าบางกิริยาหรือพฤติกรรมที่เราทำอาจไม่ได้มีเหตุผลรองรับหรอก มันเป็นเรื่องของความรู้สึก
Music to Convey – แชร์เพลงที่แต่งเอง ฟังเอง ให้คนอื่นได้ฟังด้วย
“งานแสดงเราสวมบทบาทเป็นคนอื่น แต่งานเพลงที่เราแต่งเอง ร้องเองคือตัวตนเรา 100%”
LIPS: ภูวินทร์เล่นเปียโนและเล่นมิวสิคัลมาตั้งแต่เด็ก สังเกตว่าคนเล่นเปียโนหรือเรียนดนตรีคลาสสิกจะมีคนที่ไปแนวเล่นพีซที่เป็นตำนาน ฉันจะเล่นให้ได้เหมือน Chopin กับอีกสายที่แต่งพีซใหม่ขึ้นมาเองเลย ทำไมภูวินเป็นแบบหลัง
PHUWIN: ถ้าพูดตรงๆ คือเราเล่นไม่ได้ มันยากเกิน (หัวเราะ) ส่วนอะไรที่ง่ายๆ ในเลเวลเรา เราดันไม่ชอบ ก็เลยต้องหาอะไรที่เราเล่นได้และเราชอบด้วย ฟีลเหมือนไปร้องคาราโอเกะแล้วเราร้องได้ไม่ดีเท่านักร้องต้นฉบับ เสียงหลง เสียงหายบ้าง เลยเกิดความคิดขึ้นมาว่า ถ้าเราร้องไม่ได้ เราก็ทำเพลงใหม่เองอย่างที่เราร้องได้สิ นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับเปียโน ทำให้เราได้เริ่มแต่งเพลงเอง
LIPS: พออยากทำเพลงขึ้นมา ก็แต่งเอง (ซิงเกิลแรก ‘วันเกิดเธอ’) ไปเสนอ RISER MUSIC เองเลย
PHUWIN: ต้องใช้คำว่าเริ่มด้วยการเป็น ‘นักแต่งเพลง’ มากกว่า เราชอบดนตรี ชอบการร้องเพลง ตอนแรก ไม่ได้รู้สึกว่าอยากเป็นศิลปิน หนึ่งในสิ่งที่ทำตั้งแต่ตอนเด็กๆ คือแต่งเพลงเปียโนที่เรียกว่า piece เป็นดนตรีเปล่าๆ ผมทำแบบนี้มาอยู่แล้ว ก่อนหน้านี้ผมเล่นวงดนตรีกับเพื่อนด้วยสมัย ม.ปลาย เป็นนักร้องของวง จริงๆ เรามีแพสชันด้านนี้ พอทบทวนตัวเอง เราได้เห็นว่าผลงานที่ตัวเองทำก็เข้าข่ายการเป็นนักร้อง/นักแต่งเพลงนี่แหละ ก็เริ่มจากตรงนี้ เอาสิ่งที่ตัวเองทำเอง ฟังเอง ไปให้คนอื่นฟังบ้าง เลยได้มีเพลงของตัวเองเป็นชิ้นเป็นอันครับ
LIPS: รู้สึกอย่างไร ตอนที่ยื่นผลงานที่เราทำเองให้คนอื่นฟัง เพราะงานเพลงที่เราแต่งมาจากตัวตน มันเลยเหมือนการพาตัวเองไปให้คนอื่นตัดสิน
PHUWIN: กลัวมากๆ เลยครับ มันเป็นสิ่งที่เราชอบ แต่เราก็ตอบตัวเองไม่ได้ว่าถ้าคนอื่นไม่ชอบ แล้วเราจะรู้สึกยังไง และเป็นสิ่งที่เป็นตัวเราด้วย ผมว่างานเพลงค่อนข้างต่างจากงานแสดงตรงที่งานแสดงเราสวมบทบาทเป็นคนอื่น แต่งานเพลงที่ยิ่งเราแต่งเอง ร้องเองด้วย มันคือผลงานและตัวตนเรา 100%
LIPS: ทั้งที่งานแสดง ภูวินทร์ได้รับการยอมรับแล้วในระดับหนึ่ง แต่ยังออกไปท้าทายตัวเอง กลับไปเป็นมือใหม่อีกครั้ง
PHUWIN: (หัวเราะ) ผมว่าแอบติดลบด้วยซ้ำครับ คำว่า ‘นักแสดงที่ร้องเพลง’ ไม่ได้เป็นคำที่ถูกมองในด้านดีสักเท่าไร แต่ท้าทายดีครับ ไม่เป็นไร ถ้าเราอยากพิสูจน์ให้คนอื่นเห็นว่าเราทำได้ เราก็ต้องพยายามข้ามผ่านเรื่องนี้ไปให้ได้
LIPS: พองานเพลงแรกเสร็จสิ้นออกมา เห็นชื่อตัวเองบนปกซิงเกิลแรกในชีวิต รู้สึกยังไงบ้าง
PHUWIN: ตั้งแต่ก่อนที่งานเพลงจะปล่อยออกมา ผมจำได้เลยว่าวันนั้นเพิ่งเลิกกองถ่าย Summer Night (ความลับในคืนฤดูร้อน) พี่ที่ Riser Music ส่งตัวมาสเตอร์มาให้ บอกว่าเสร็จแล้วนะ ผมก็เปิดฟังในรถตอนขับกลับบ้าน ดีใจมาก…ดีใจจนขับไปน้ำตาไหลไป พอเพลงจบแล้วจับหน้าตัวเอง ฮะ? เราร้องไห้เหรอ ผมรู้สึกว่าเราทำมันเสร็จแล้วเป็นชิ้นเป็นอัน จากที่ก่อนหน้านี้เรารู้สึกว่าเราเป็นมือสมัครเล่นมาตลอด
Crafting a Moment – มีปีทองแบบไม่รู้ตัว
“การรับปริญญาน่าจดจำที่สุด มันคือการเข้าสู่โลกแห่งการทำงานอย่างแท้จริง”
LIPS: ยังท้าทายตัวเองไปอีกขั้นด้วยการไปขึ้นเวทีเทศกาลดนตรี Cat Expo เห็นคลิปก่อนที่ภูวินทร์จะขึ้นเวที เหมือนยืนทำสมาธิอยู่ แต่ก็แอบดูกังวลเล็กๆ นะ
PHUWIN: โอ้! ไม่เล็กเลยครับ กลัวมาก กลัวว่าจะทำได้ไม่ดี ตื่นเต้นด้วย ก่อนหน้านั้นเวลาเราไปโชว์ที่ไหน คนที่มาดูเราคือแฟนคลับเรา ความแตกต่างของเทศกาลดนตรีคือคนในงานไม่ใช่เป็นคนที่มาดูเราเสมอไป อาจเป็นคนที่ไม่รู้จักเราเลยก็ได้ ดังนั้นความประทับใจแรกค่อนข้างสำคัญ ถ้าเราพลาดก็อาจตราตรึงจิตใจใครบางคนได้ ก็เลยมีความกลัวตรงนั้นอยู่ พอขึ้นเวทีแล้ว…ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก มีผิดพลาดบ้าง แต่ไม่เป็นไร ถ้ามีโอกาสครั้งต่อไปก็จะปรับปรุงให้ดีขึ้นครับ
LIPS: ปี 2024 เป็นปีที่มีอะไรเกิดขึ้นมากมาย ภูวินทร์ได้เป็นฟรอนต์โรว์ที่ปารีสและนิวยอร์กแฟชั่นวีค มีซีรีส์ที่ออนแอร์แล้ว 2 เรื่อง ถ่ายทำและรอฉายอยู่อีก 3 เรื่อง รับปริญญา และเดบิวต์เป็นศิลปินเพลง
PHUWIN: (คิดนาน) ผมไม่เคยคิดเรื่องนี้เลย จนกระทั่งพี่ไล่ลิสต์ให้ฟังนี่ละ (หัวเราะ) มันก็เยอะเหมือนกันนี่นา ผมไม่ได้มองว่าเป็นปีที่ดีหรือว่าช่วงไหนดี ผมรู้สึกว่าผมทำงานมาเรื่อยๆ โฟกัสกับสิ่งที่ทำอยู่ไปทีละโปรเจกต์ ผมตั้งเป้าอย่างเดียวคือขอให้มีพอกิน คือขอให้ท้ายปี ดูบัญชีแล้วมีเงินพอรองรับการกินของเรา เป็นคนกินเยอะมากครับ
LIPS: ประสบการณ์ที่ได้ร่วมงานกับไฮแบรนด์เป็นอย่างไรบ้าง
PHUWIN: งานแฟชั่นเป็นประสบการณ์ใหม่มากๆ ผมไม่ได้เก่งเรื่องแต่งตัวมากขนาดนั้น ตอนแรกที่เข้ามาทำงานแฟชั่น ผมเลยว้าวกับทุกอย่างมากๆ เราไม่เคยได้มาอยู่ฝั่งนี้ของวงการเลย พอได้มาเจองานแฟชั่นจริงๆ ก็ตื่นเต้น และท้าทายมาก ทุกวันนี้ก็ยังเรียนรู้อยู่
LIPS: เป็นคนแต่งตัวมินิมัล แต่แอบมีแอ็กเซสเซอรีส์เหมือนกันนะ ชิ้นที่ใส่ติดตัวภูวินทร์คือ…
PHUWIN: นาฬิกาครับ เป็นสิ่งที่เข้ามือและเป็นตัวเองที่สุด มีความผสมผสานระหว่างแฟชั่นกับเครื่องกล
LIPS: แล้วดูเวลาจากที่ไหน
PHUWIN: ดูจากโทรศัพท์ครับ (หัวเราะลั่น)
LIPS: เครื่องประดับชิ้นที่มีความหมายหรือความทรงจำสำหรับภูวินทร์ล่ะ
PHUWIN: ก็คือนาฬิกาครับ จริงๆ แล้วเป็นนาฬิกา Cartier นี่ละครับ เป็นนาฬิกา บัลลง เบลอ เดอ คาร์เทียร์ (Ballon Bleu de Cartier) ที่คุณแม่ซื้อให้คุณพ่อ แล้วคุณพ่อส่งต่อให้ผมตอนเริ่มโต เป็นนาฬิกาที่ใส่อยู่จนทุกวันนี้ ณ ขณะที่ให้สัมภาษณ์ ผมก็ใส่นาฬิกาเรือนนี้อยู่ เป็นเรือนเก่าน่าจะ 20-30 ปีแล้ว แต่ยังคลาสสิกอยู่เลย
LIPS: แต่ละคอลเลกชันของ Cartier ให้คุณค่าเรื่องความเป็นเลิศในทุกด้าน ทั้ง Craftmanship, Design และ Gem อะไรคือสิ่งที่ภูวินทร์ให้คุณค่าสำคัญสูงสุด
PHUWIN: ผมให้คุณค่ากับ Craftmanship มันเป็นสิ่งที่อาศัยฝีมือสูงมาก ด้วยความที่เป็นวิศวกรเองด้วย ผมเลยให้ค่ากับงานฝีมือ เรารู้ว่ามันยากกว่าจะทำสำเร็จ
LIPS: จากที่ประมวลความสำเร็จในปีนี้ให้ฟังตอนต้น เรื่องไหนคือประสบการณ์ที่น่าจดจำที่สุด
PHUWIN: การเรียนจบรับปริญญาครับ (ภูวินทร์สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับ 2 คณะวิศวกรรมศาสตร์ วิศวกรรมสารสนเทศและการสื่อสาร หลักสูตรนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) มันคือแพลนแรกของผมอยู่แล้วว่าจะเรียนจบวิศวะและทำงานสายวิศวะ ผมเลยไม่รู้สึกว่ามันเหนื่อย มันล้า เพราะมันคือสิ่งที่ต้องทำมาแต่แรกอยู่แล้ว ผมเพิ่งจะมาคิดว่างานในวงการบันเทิงทำเป็นงานหลักได้เมื่อไม่นานมานี้เอง
ฉะนั้น ถึงแม้โปรเจกต์อื่นจะมีความแกรนด์หรือมีความเป็นส่วนตัวมากแค่ไหน แต่การรับปริญญาผมคิดว่าน่าจดจำที่สุดเพราะปริญญาตรีคือปริญญาใบแรกของเรา มันคือการเริ่มเข้าสู่โลกแห่งการทำงานอย่างแท้จริงและเป็นการอำลาเพื่อนมัธยม เพื่อนมหา’ลัย รวมถึงทุกๆ อย่างที่เราได้อยู่ในความปลอดภัยของรั้วการศึกษา มันคือโมเมนต์สุดท้ายแล้ว ซึ่งในทางหนึ่งผมรู้สึกโล่งมากครับที่ตอนนี้ทำงานอย่างเดียว ก่อนหน้านี้เรียนไปด้วยทำงานไปด้วยหนักมาก หนักทีมงานด้วยที่ต้องทำให้ได้ตามตารางเรียนของผม
LIPS: ในปี 2025 อยากพาตัวเองไป explore, upskill หรือ reskill ในเรื่องใดบ้าง
PHUWIN: ตอนนี้รู้สึกว่าโปรเจกต์งานแสดงเรามีพอสมควรและเราทำเต็มที่กับงานนี้ซึ่งเป็นสิ่งที่เรา upskill อยู่แล้ว ผมอยาก explore เรื่องเพลง อยากทำเพลง 2 3 4 5 6 7 8 9 10…ไปเรื่อยๆ ออกมาให้ทุกคนเห็น
LIPS: เห็นภาพภูวินทร์ในวัย 30 ว่าเป็นคนอย่างไร ทำอาชีพอะไรอยู่ และเขาเป็นคนในแบบที่ภูวินทร์อยากจะเป็นหรือเปล่า
PHUWIN: ถ้าก่อนที่จะมาทำงานตรงนี้ก็จะบอกว่า ตัวเองในวัย 30 อยากจะมีครอบครัว ทุกวันนี้ก็ยังคิดอยู่ เพราะเพื่อนผมมีพ่อแม่ที่อายุเยอะ หลายบ้านเลยที่มีลูกตอนอายุ 40 กว่า ทำให้เพื่อนร่วมรุ่นเรามีพ่อแม่อายุ 60 กว่า จะ 70 ก็มีหลายคน เราเลยคิดว่าไม่อยากเป็นพ่อแม่ที่มีเวลาอยู่กับลูกแค่ช่วงที่เขาเรียนอยู่ แต่เราอยากอยู่จนเห็นเขาทำงานด้วย ก็เลยจะตอบว่าพออายุ 30 ผมอยากมีครอบครัวครับ
แต่พอได้มาทำงานในวงการ ผมรู้สึกว่าแพสชันในการทำงานตรงนี้ของเรามีเยอะ ฉะนั้น ถ้าถามตอนนี้ผมตอบไม่ได้เลยครับว่าถึงตอนนั้นจะเป็นยังไง แต่อยากจะทำงานตรงนี้ให้นานที่สุด แต่งานในวงการไม่ได้เสถียรอยู่แล้ว เลยตอบแน่นอนไม่ได้ว่าจะยังมีงานให้เราทำอยู่หรือเปล่า
LIPS: พูดด้วยความเข้าใจธรรมชาติของวงการบันเทิงหรือว่ากลัวกับความไม่แน่นอน
PHUWIN: ไม่ได้กลัวครับ ผมรู้สึกว่าก่อนจะทำอะไร เราต้องเริ่มด้วยการอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงเสียก่อน ซึ่งความเป็นจริงของอาชีพศิลปินก็คือมันไม่แน่นอน คนจะเกิดใหม่หรือจะดับเมื่อไรก็ได้ อาชีพอื่นๆ ที่เคยถูกบอกว่ามั่นคง ตอนนี้ก็ไม่ค่อยเสถียรแล้วเหมือนกัน โลกเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ถ้าเราอยู่และเข้าใจโลกแห่งความเป็นจริง เราจะรับมือและวางแผนกับมันได้ง่าย ดีกว่าไม่ยอมรับและไม่คิดเรื่องนี้เลย แล้วไปตายเอาดาบหน้า
LIPS: ณ ตอนนี้ เวลากรอกอาชีพในพาสปอร์ต ภูวินทร์เขียนว่าอะไร
PHUWIN: โอ้! ยังไม่เคยได้กรอกเองเลยครับ ไม่รู้เหมือนกันว่าบริษัทเขียนให้ว่าอะไร ถ้ากรอกเองคงเขียนว่า ‘Artist’ ผมเป็นศิลปินครับ
Words: Sritala Supapong