จากกระแสความร้อนแรงของ ‘PIT BABE The Series’ แก๊งนักแข่งรถสายวาย แต่ในชีวิตจริงก็มีนักแข่งรถเอฟวันชาว LGBTQ+ ที่ LIPS ชวนไปรู้จัก
‘PIT BABE The Series’ โปรเจกต์ที่สร้างจากนิยายออนไลน์ขายดีที่มีผู้อ่านกว่า 800 ล้านครั้ง ซึ่งไม่ว่าปล่อย EP ไหนออกไปก็ฟาดเปรี้ยงจนติดเทรนด์ทวิตเตอร์ (X) ทุก EP
งานนี้นอกจากเคมีร้อนแรงของ เบ๊บ นักแข่งรถตัวท็อปแห่งทีม X Hunter เจ้าของฉายาพิทเบ๊บ (รับบทโดยพาเวล-นเรศ พร้อมเผ่าพันธุ์) และชาลี (รับบทโดยพูห์-กฤติน กิจจารุวรรณกุล) หนุ่มฮอตเนิร์ด เด็กเบ๊บคนล่าสุดที่พิเศษกว่าใคร!
พล็อตเรื่องยังน่าสนใจที่เป็นการจับคู่ระหว่างพระเอกนายเอก ซึ่งเป็นการเข้าคู่กันระหว่าง ‘อัลฟ่าและอัลฟ่า’
อ่านข้อมูลอธิบายได้ที่บทความ ‘PIT BABE The Series’ เรื่องนี้ไม่มีนายเอก มีแต่พระเอกกับ ‘หลัวพระเอก’ เต้าอั้น! พร้อมด่ำดิ่งสู่จักรวาลโอเมก้าเวิร์ส ที่อัลฟ่า ฉุน ‘กลิ่นอัลฟ่า’
รวมถึงการที่นิยายและซีรีส์หยิบจับบริบทของนักแข่งรถชนเข้ากับกลิ่นอาย BL แม้จะเกิดแนวคิดเคารพความหลากหลาย ที่ไม่ว่าเพศไหนก็สามารถโดดลงสนามในสายอาชีพต่างๆ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘สนามแข่งรถ’ กับ LQBTQ+ ยังเป็นเรื่องที่หลายคนยังเอ๊ะ!? อ๋อ!?
วันนี้ LIPS จะพาไปเปิดโลกนักแข่งรถ FIA Formula One World Championship (การแข่งรถฟอร์มูล่าวัน หรือการแข่งขันรถสูตร1) ที่เป็นเกย์ และบทบาทของนักแข่งแชมป์ 4 สมัย คุณพ่อลูก 3 ที่ออกมาต่อสู้เพื่อชุมชน LGBTQ+ ในสนามแข่ง
นักแข่งฟอร์มูล่าวัน ‘เกย์’ ท่ามกลางสังคมปิตาธิปไตย
ในยุค 70s ไมค์ บิวต์เลอร์ (Mike Beuttler) เป็นนักแข่งรถฟอร์มูล่าวันคนแรกที่เปิดเผยว่าเป็นเกย์ ในช่วงที่แวดวงมอเตอร์สปอร์ตถูกสงวนภาพลักษณ์ภายใต้บริบท ‘ความเป็นชาย’
โดยเฉพาะที่นักแข่งรถอย่างเจมส์ ฮันต์ แชมป์โลกปี 1976 ผู้นำวลี ‘Sex, the Breakfast of Champions – เซ็กซ์คืออาหารเช้าของแชมป์’ ปักอยู่บนเอี๊ยมแข่งรถของเขา เช่นเดียวกับที่นักแข่งชายหลายคนมาพร้อมกับภาพลักษณ์แบบ ‘Womanizer’ หรือเสือผู้หญิง
ไมค์ลงแข่งฟอร์มูล่าวันทั้งสิ้น 3 ฤดูกาลตั้งแต่ปี 1971 ถึง 1973 เช่นเดียวกับเจมส์ เขาได้เผชิญหน้ากับแชมป์โลกคนอื่นๆ เช่น เซอร์ แจ็กกี สจ๊วต และนิกิ เลาดา ฯลฯ
เส้นทางวงการมอเตอร์สปอร์ตของไมค์เปิดกว้างขึ้น เขาประสบความสำเร็จในช่วงปลายทศวรรษ 1960 ในการแข่งรถฟอร์มูล่าทรี จากนั้นจึงย้ายไปแข่งฟอร์มูล่าทู โดยเฉพาะอย่างยิ่งชัยชนะที่ ACI Vallelunga Circuit ในกรุงโรม อิตาลี ปี 1971
ไมค์ได้รับฉายาว่า ‘Blocker’ เนื่องด้วยเป็นนักแข่งรถที่ดุดัน ไม่ชอบถูกแซง และจะเข้าสกัดใครก็ตามที่ขวางทาง เขาทำผลงานได้ดีที่สุดคืออันดับที่ 7 ในการแข่งขัน Spanish Grand Prix ในปี 1973
และแน่นอนการเป็นนักแข่งรถที่เปิดเผยว่าเป็นเกย์ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะข่าวคราวการมีซัมติงบางอย่างกับนักลงทุนแพร่สะพัด เขาจึงพยายามปรากฏกายพร้อมกับสาวๆ หุ่นเซ็กซี่เพื่อพยายามเปลี่ยนภาพลักษณ์ด้วยเช่นกัน
ดูเหมือนว่าลอสแองเจลิสและซานฟรานซิสโกจะให้อิสระกับเขามากกว่า ไมค์จึงลาจากวงการมอเตอร์สปอร์ตและย้ายไปใช้ชีวิตที่อเมริกา ก่อนจะเสียชีวิตในปี 1988 ท่ามกลางคำกล่าวที่ว่า ‘นักแข่งรถฟอร์มูล่าวันเกย์ผู้บุกเบิกและถูกลืม’
LGBTQ+ เป็นส่วนหนึ่งของการแข่งรถมาโดยตลอด
นับตั้งแต่การเสียชีวิตของไมค์ ก็มีนักแข่งมอเตอร์สปอร์ตหลายคนออกมาเปิดเผยว่าเป็นเกย์ เช่น แดนนี วัตตส์ แชมป์รายการแข่งขัน Le Mans ซึ่งเปิดตัวว่าเป็นเกย์ ในปี 2017 หลังจากเกษียณไป 1 ปี
นอกจากนี้ยังมี ริชาร์ด มอร์ริส ผู้ร่วมก่อตั้งองค์กร Racing Pride และนักแข่งของทีม Praga ในการแข่งขัน Britcar Endurance Championship ที่เปิดเผยว่าเป็นเกย์ในปี 2018 เขาเป็นหนึ่งคนที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันความหลากหลายทางเพศในสนามแข่ง
Racing Pride
Racing Pride (@racingpridehq) คือองค์กรเคลื่อนไหวเชิงนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนสิทธิ และสร้างชุมชน LGBTQ+ ในอุตสาหกรรมมอเตอร์สปอร์ต ท่ามกลางพันธมิตรทางเทคโนโลยีและเชิงพาณิชย์ต่างๆ
พร้อมกันนี้ยังแต่งตั้งเหล่านักแข่งรถหลายท่านเพื่อถ่ายทอดและสนับสนุนจุดยืนขององค์กรได้แก่ ริชาร์ด มอร์ริส, ซาราห์ มัวร์, แอบบี อีตัน, ชาร์ลี มาร์ติน, เคซีย์ ไพรซ์, เอมิลี วิลลา, แซนดารา เคนเนดี, ทราวิส ชูเมค, ทอม โอ’กอร์แมน และแซค เฮอร์ริน
คุณพ่อลูก 3 แชมป์ 4 สมัย และการตะโกนเพื่อ LGBTQ+
เมื่อปี 2021 เซบาสเตียน เวทเทล นักแข่งชาวเยอรมันคุณพ่อลูก 3 แชมป์ฟอร์มูล่าวัน 4 สมัยถูกตำหนิที่ไม่ถอดเสื้อยืดที่มีข้อความ ‘Same Love’ เพื่อส่งเสริมสิทธิ LGBTQ + ในขณะที่เพลงชาติบรรเลงในการแข่งขัน Hungarian Grand Prix เพื่อประท้วงกฎหมายต่อต้าน LGBTQ+
บนรถยนต์ของเขายังติดสติกเกอร์องค์กร Racing Pride เพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุนคอมมูนิตี้ของเหล่า LGBTQ+ อย่างชัดเจน
“ผมรู้สึกว่านักแข่งที่เป็นเกย์จะช่วยเร่งขจัดอคติและช่วยผลักดันกีฬาของเราไปในทิศทางที่ดีขึ้น ผมจึงคิดและหวังว่ากีฬาของเราจะพร้อมสำหรับใครคนนั้น” เซบาสเตียน เวทเทล กล่าว
ดูเหมือนทิศทางการเปิดกว้างในวงการสนามแข่งรถกับกลุ่มความหลากหลายทางเพศจะพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าวงการจะพยายามผลักดันให้มีความเสรีที่สุด แต่ก็ยังมีการตีกรอบด้วยกติกาหรือกฎบางอย่างในแต่ละสนามที่ใช้คำว่า ‘ไม่เคารพ’ สิทธิและความเท่าเทียมของมนุษย์
แต่ก็ยังมีขุมพลังและกลุ่มคนมากมายที่พร้อมจะยืนหยัดเพื่อผลักดันให้วงการมอเตอร์สปอร์ตเป็นกีฬาที่เรียกว่า ‘เป็นของทุกคน’ จริงๆ
Words: Varichviralya Srisai
ข้อมูลจาก: