เทรนด์มาแรงสุดของปี 2023 ในแวดวงจิวเวลรี่เห็นทีต้องยกให้ ‘เพชรห้องแล็บ’ ที่เข้ามาทดแทนเพชรตามธรรมชาติมากขึ้นทุกขณะ ซึ่งแบรนด์ดังหันมาเปิดตลาดนี้ทั้งจาก Pandora จนถึง Prada
Prada เพิ่งรุกเปิดตลาดไฟน์จิวเวลรี่ด้วยคอลเล็กชั่นแรกที่ใช้ทองรีไซเคิล ส่วนคอลเล็กชั่นที่สองยังเพิ่มเติมเพชรห้องแล็บเข้าไปอีก เป็นดั่งคำประกาศตัวว่า Prada จะทำแฟชั่นยั่งยืนและโอบรับนวัตกรรมใหม่อย่างไว (กว่าแบรนด์แฟชั่นอื่นๆ) ไปพร้อมกัน
ซอนอู ENHYPEN สวมเครื่องประดับ Eternal Gold จาก Prada
Eternal Gold เป็นคอลเล็กชั่นที่ Prada มั่นใจแน่ว่าจะเอาดีทางจิวเวลรี่ยั่งยืน โดยดึงคนดังทรงอิทธิพล เป็นเจ้าพ่อมูลค่าสื่อจากแฟชั่นวีคมาสวมเพชรห้องแล็บ ทองรีไซเคิลกันในเทศกาลแห่งการมอบของขวัญ ตั้งแต่ ฮีซึง, ซอนอูและนิกิ ENHYPEN, แจฮยอน NCT และวิน-เมธวิน โอภาสเอี่ยมขจร
เครื่องประดับของแบรนด์จดจำได้ง่ายด้วยรูปทรงสามเหลี่ยม ซึ่งมาจาก Prada Triangle โลโก้ที่สายแฟรู้จักกันดี และใช้ทองเยลโลว์โกลด์และไวท์โกลด์รีไซเคิล ส่วนเพชรที่ประดับแทรกไปกับเนื้อทองคือเพชรห้องแล็บที่ทางแบรนด์ตั้งชื่อให้ใหม่ว่า Prada Cut ที่เจียระไนเป็นรูปทรงสามเหลี่ยม ส่องประกายวิ้งวับระยับจากเหลี่ยมกะรัตหน้าสามเหลี่ยม
ก่อนหน้าที่ Prada จะรุกแรงในตลาดไฟน์จิวเวลรี่ บนถนนสาย 47 ในกรุงนิวยอร์กเรียงรายไปด้วยร้านค้าเพชรยาวสุดลูกหูลูกตา หนึ่งในนั้นคือ Pandora หนึ่งในบริษัทเพชรใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งมียอดขายกว่า 144,000 ล้านบาทกลายเป็นแนวหน้าค้าเพชรจากห้องแล็บ
ช่วงนิวยอร์กแฟชั่นวีคช่วงเดือนกันยายน Pandora จัดปาร์ตี้เฉลิมฉลองย่านใหม่ที่เรียกว่า ‘เขตเพชรห้องแล็บ’ โดยดึงเอาดาราคนดังมาถ่ายแคมเปญล่าสุดของแบรนด์อย่างเอิกเริก ตั้งแต่ พาเมลา แอนเดอร์สัน ไปจนถึงเกรซ คอดดิงตัน อดีตแฟชั่นเอดิเตอร์ในตำนานของโว้กอเมริกา
เพชรจากห้องแล็บ หรือ Lab-grown diamond ถูกพัฒนาขึ้นในยุค 1980 โดยการปล่อยความร้อนและความดันสูงเข้าไปในโลหะทรงลูกเต๋า ทำให้ก๊าซคาร์บอนบริสุทธิ์ทำปฏิกิริยาเคมีขึ้นมากลายเป็นเพชร…แท้ที่มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับเพชรที่เกิดตามธรรมชาติทุกประการ กล่าวคือมีสูตรทางเคมีเหมือนกัน ต่างกันเพียงแหล่งกำเนิดเท่านั้น — และราคาก็ด้วย เมื่อสร้อยเทนนิสประดับเพชรธรรมชาติของ Tiffany & Co. ราคา 7 แสนบาท ส่วนสร้อยแบบเดียวกันแต่ใช้เพชรห้องแล็บจากแบรนด์ Brilliant Earth ราคาแค่แสนสอง
ฮีซึง ENHYPEN สวมเครื่องประดับ Eternal Gold จาก Prada
ยอดขายเพชรห้องแล็บในปี 2022 เพิ่มขึ้น 12 เท่าจาก 36,000 ล้านบาทในปี 2016 เรียกว่าเพิ่มขึ้นจนนับเลขศูนย์กันไม่ไหว ทว่า นั่นคิดเป็น 17% เท่านั้นของยอดขายทั้งหมดในตลาดค้าเพชรทั่วโลก อย่างไรก็ตามยอดขายเพชรห้องแล็บมีแต่จะเพิ่มขึ้นทุกปี
ผลสะท้อนไปที่ยอดขายเพชรธรรมชาติ โดย De Beers แบรนด์เพชรยักษ์ใหญ่ของโลกที่เป็นเจ้าของเหมืองเองด้วยยังต้องลดกำลังการขุดเจาะเพชรลงถึง 40% เนื่องจากความต้องการเพชรธรรมชาติลดลง เพราะสำหรับคนจำนวนไม่น้อยที่มองว่า เพชรก็คือเพชร จะมีแหล่งกำเนิดอย่างไรไม่สำคัญ ขอให้มีประกายวิ้งวับแวววาว และเป็นเพชรแท้ก็จบ ตามคำสรุปของแมรี คาร์เมน กัสโก-บุยส์ซง ผู้บริหารฝ่ายการตลอดของ Pandora เคยให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ Business of Fashion
นิกิ ENHYPEN สวมเครื่องประดับ Eternal Gold จาก Prada
แต่ก่อนมีความเชื่อว่าคนที่ซื้อเพชรคือผู้ชายที่ซื้อให้กับคนรัก แต่ความคิดนั้นสุดแสนจะ 2022 (แปลว่าเก่าไปแล้ว) เมื่อปัจจุบันแบรนด์จิวเวลรีขยายฐานลูกค้าพุ่งเป้าไปที่ผู้หญิงสายแฟ ด้วยฐานความคิดที่ว่า เพชรห้องแล็บไม่ใช่คู่แข่งกับเพชรธรรมชาติ แต่เป็นส่วนเสริมเติมเต็ม ยกตัวอย่าง คุณได้แหวนหมั้นสวยถูกใจ แต่อยากได้สร้อยหรือต่างหูเข้าชุดกัน จุดนี้เองที่เพชรห้องแล็บเข้ามาเติมเต็มฝันให้คุณได้ในราคาที่เอื้อมถึงมากกว่าที่เคย
นอกจากแบรนด์เล็กๆ แบรนด์ใหญ่เจ้าตลาดก็เริ่มหันเรดาห์มาหาเพชรห้องแล็บ นอกจาก Pandora แล้วก็มี Swarovski ที่เพิ่งเปิดตัวคอลเล็กชั่นเพชรเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์กว่า 130 ปีของแบรนด์ในชื่อ Galaxy เพียงแต่ใช้ชื่อว่า ‘เพชรที่ถูกสร้างขึ้น (Created Diamonds)
แม้แต่อาณาจักรสินค้าลักชัวรีอันดับหนึ่งของโลกอย่าง LVMH ก็ให้ Fred แบรนด์เครื่องประดับในเครือประเดิมปล่อยสร้อยข้อมือรุ่นขายดีของแบรนด์ Force 10 ประดับเพชรห้องแล็บสีฟ้าสดใส ส่วน TAG Heuer Carrera Plasma Tourbillon Nanograph นาฬิการุ่นไอคอนิกก็แทรกเพชรห้องแล็บไปตามชิ้นส่วนต่างๆ และ Prada Eternal Gold การผสมผสานของเพชรห้องแล็บและทองรีไซเคิล
ในขณะที่แบรนด์แข่งขันกันในตลาดใหม่นี้ ผลดีย่อมตกแก่ผู้บริโภคที่จะได้อัญมณีที่สวยขึ้น ในราคาที่จับต้องได้มากขึ้น ไม่ต้องทะลุทะลวงโลกขุดขึ้นมา และเพชรห้องแล็บยังเข้ามาทำให้วงการจิวเวลรีเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำลง เมื่อทำให้คนหาซื้อสิ่งที่เคยกำจัดวงอยู่ในคนรวยจัดเท่านั้นที่จะครอบครองได้
Words: Suphakdipa Poolsap
ข้อมูลจาก: