“ขอแค่ไม่ขาดทุน ให้ทำธุรกิจไปต่อได้ก็พอ แพมทำเพราะรู้สึกว่าโลกเรากำลังจะเปลี่ยนไป”
ผลกระทบจากวิกฤตโรคโควิด-19 ทำให้หลายธุรกิจในเมืองไทยที่เปิดแล้ว เปิดอยู่ และดิ้นรนทุกวิถีทางที่จะเปิดต่อไป แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดที่กินเวลานานอย่างไร้ปลายทาง ส่งผลให้ธุรกิจจำนวนไม่น้อยมีอันต้องล้มเลิกปิดกิจการไป
ทว่า ในช่วงเดียวกันนั้น คุณแพม – เปรมมิกา ศรีชวาลา กลับสวนกระแสด้วยการผุดธุรกิจใหม่
อะไรทำให้เธอกล้าที่จะเสี่ยงทำธุรกิจในสถานการณ์ช่วงนั้น ไม่เพียงเท่านั้น ธุรกิจที่ว่าคือการสร้างคอมมูนิตี้ Plant-based กลางเอกมัย ย่านที่รู้กันว่าเป็นหนึ่งในทำเลทองของกรุงเทพฯ ทำไมทายาทนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เช่นเธอจึงตัดสินใจเช่นนี้ ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่า ธุรกิจนี้ไม่มีทางทำกำไรได้อย่างคอนโดหรือเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์เป็นแน่
เรื่องราวทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังกว่าจะมาเป็น EKM6 จะเป็นอย่างไร คุณแพมพร้อมเล่าให้ฟังแล้ว
LIPS: เข้าสู่วงการ Plant-based ได้อย่างไร
แพม: ตอนลูกคนโตอายุได้ 4-5 ขวบ เขาอยากกินไอศกรีมแม็กนัม ซึ่งเราให้เขากินไม่ได้ เพราะลูกแพมแพ้นมและไข่แบบแอบแฝง ก่อนหน้านี้เขามักจะหูอักเสบบ่อยครั้งโดยไม่รู้สาเหตุ จนสังเกตว่า ถ้าลูกงดกินนมหรือชีส ช่วงนั้นจะไม่มีอาการนี้ ส่วนลูกคนเล็กก็แพ้นมเหมือนพี่ แต่กินแล้วผื่นขึ้นให้เห็นเลย
ทำให้แพมคิดอยากทำขนมที่ลูกเรากินได้ เริ่มจากหัดทำไอศกรีมเมื่อ 5 ปีที่แล้ว พยายามทำให้คล้ายแม็กนัมที่ลูกอยากกินที่สุด เขากินแล้วบอกว่าอร่อยมาก และเชียร์ว่า ‘หม่าม้าทำขายสิ’ แพมคิดในใจว่า เราใช้วัตถุดิบดีที่สุดทุกอย่าง ใช้เมเปิลแทนน้ำตาล ไม่มีกลูเตน ปราศจากนม ราคาน่าจะแพงกว่าไอศกรีมทั่วไป คงขายไม่ได้มั้ง แต่ก็ลองทำไปให้เพื่อนๆ ลูกชิม ทุกคนชอบหมด เลยคิดว่าถ้าจะขายก็น่าจะพอเป็นไปได้ จึงศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม กว่าจะได้ขายจริงก็อีก 7-8 เดือนเลย
LIPS: เลยผันตัวมาเป็นแม่ค้าขายไอศกรีมจริงจัง
แพม: แพมทำทุกอย่างเอง ตั้งแต่ออกแบบแพ็กเกจจิ้ง ตั้งชื่อแบรนด์ Beyond Pops และขายเอง จะไปออกบูธตามงานอีเวนต์ ครั้งแรกใช้ตู้แช่นมที่ปั๊มตอนเลี้ยงลูก เอามาแปะแบรนด์แล้วใส่ไอศกรีมไปขาย เพราะยังไม่อยากลงทุนเยอะ ไม่แน่ใจว่าจะขายได้หรือเปล่า พอลูกค้ากินก็ถามว่า ‘นี่ใช่ไอศกรีมวีแกนจริงเหรอ’ หลังจากนั้นอาศัยการบอกปากต่อปาก ก็เริ่มมีคนมาตามหาไอศกรีมเราแล้วพูดว่า ‘ได้ข่าวว่าอร่อยมาก’ ออกอีเวนต์ได้ 2-3 งาน บอกได้เลยว่า 80% ของคนที่มาซื้อไม่ได้เป็นวีแกนเลย แต่อยากลองกินว่ารสชาติเป็นยังไง เหตุการณ์นี้จุดประกายให้แพมคิดอยากมีสถานที่ที่เปิดพื้นที่ให้คนได้มาลองและรู้จักวีแกนมากขึ้น
LIPS: จากไอศกรีมจนคิดการใหญ่เปิดเป็นคอมมูนิตี้เลย
แพม: ตอนนั้นสามีกำลังดีลที่ดินผืนนี้อยู่ แต่เจ้าของไม่อยากให้มีตึกสูงอยู่ข้างๆ แพมแชร์ไอเดียให้สามีฟังแล้วขอเขาลองคุยกับเจ้าของที่ดินว่า แพมอยากทำคอมมูนิตี้เล็กๆ เกี่ยวกับ Plant-based โดยเก็บสวนไว้เหมือนเดิม เขาสนใจมากและเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อสังคม เลยเกิดโปรเจกต์นี้ขึ้นมา
LIPS: ตั้งโจทย์ไว้อย่างไรบ้าง
แพม: แพมไม่ได้คิดในฐานะคนทำธุรกิจเลย แต่ใช้ความรู้สึกคนขายไอศกรีมมากกว่าว่า ถ้ามีใครมาซัพพอร์ตผู้ประกอบการรายเล็กๆ คงดีมาก เพราะเราเองยังรู้สึกดีมากเลย เราเริ่มโปรเจกต์ตอนปี 2020 เป็นช่วงที่โควิดกำลังหนักเลยคิดจะทำ Outdoor Market ในสวน เพื่อให้คนกล้ามา เพราะต้องรักษาระยะห่างและเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่แออัด
LIPS: เราเห็นความตั้งใจในฐานะผู้ประกอบการแล้ว และโอกาสทางธุรกิจในฐานะเจ้าของโปรเจกต์ล่ะ
แพม: แพมโตมากับครอบครัวที่ทำอสังหาฯ ถามว่ารู้ไหมว่าสิ่งที่ลงทุนไปกับโปรเจกต์นี้ ผลตอบแทนที่จะได้กลับมาไม่คุ้มกันเลย เพราะไม่ได้เป็นธุรกิจที่จะทำกำไรมากมาย แต่แพมรู้สึกว่า ถ้าไม่ได้ทำ อีก 5 ปี 10 ปีจะเสียใจ ไม่ได้มองว่าต้องได้เงินกลับมาเท่านั้นเท่านี้ ขอแค่ไม่ขาดทุน ให้ทำธุรกิจไปต่อได้ก็พอ แพมทำเพราะรู้สึกว่าโลกเรากำลังจะเปลี่ยนไป และยุคนี้คนก็หันมากิน Plant-based มากขึ้น อยากให้ที่นี่เป็นสถานที่ที่ได้มาเรียนรู้ ลองชิมอาหาร และพักผ่อนหย่อนใจได้ เรามีคลาสให้เรียน มี Grocery Store และมีพื้นที่ให้ผู้ประกอบการรายอื่น แพมรู้สึกว่าเรามีพลังมากขึ้นถ้าเราอยู่ร่วมกัน
LIPS: สามีมีฟีดแบ็กกับโปรเจกต์ภรรยาออย่างไรบ้าง
แพม: เขาเป็นสายธุรกิจ ก็มองว่าแพมเป็นสายแพสชั่น ตอนแพมทำไอศกรีม เขาเห็นว่าเราจริงจังแต่สนุกและมีความสุขไปด้วย จริงๆ โปรเจกต์นี้แพมมีผู้เช่าเต็มหมดแล้วสำหรับพื้นที่ชั้นสอง แต่ความที่สถานการณ์โควิดยาวแบบไม่มีกำหนด ผู้เช่าก็ค่อยๆ หายไปทีละเจ้าสองเจ้า เลยคุยกับสามีว่าคงไม่ได้ไปต่อแล้ว แพมเองแม้จะตั้งใจแค่ไหนแต่ก็แอบมีโหมดท้อบ้างเหมือนกัน แต่สามีบอกเลยว่า ‘ยูไม่ต้องคิดอะไร ทำแบบที่ตั้งใจไว้ต่อไป’ เพราะเขารู้และเห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของแพม เขาเป็นกำลังใจที่ดีมาก และยังช่วยแนะนำในแง่ธุรกิจว่าแพมต้องทำอะไรยังไงบ้าง
LIPS: ในฐานะนักลงทุน คุณผ่านอุปสรรคช่วงโควิดมาอย่างไร
แพม: โปรเจกต์นี้สามีมีเงินทุนส่วนหนึ่งเตรียมไว้ให้ และแพมก็กู้แบงก์ด้วย ช่วงที่เราออกแบบโครงสร้างเสร็จ โควิดก็ยังอยู่ แบงก์เลยไม่ปล่อยกู้ เอาที่ดินไปวางกี่แปลงก็ไม่ปล่อย และเงินที่มีก็ต้องเอามาหมุนเป็นค่าใช้จ่าย ส่วนนักลงทุนที่อยู่ต่างประเทศก็เจอผลกระทบจากโควิดด้วยเหมือนกัน เป็นแบบนั้นอยู่ประมาณ 6 เดือนที่เราพร้อมก่อสร้าง แต่ไม่มีเงินทุน จนเมื่อสถานการณ์เริ่มดีขึ้น เงินลงทุนเข้ามา แต่ก็ยังต้องประคับประคอง เพราะเรามีแต่รายจ่ายที่รออยู่ แต่รายรับยังไม่ชัดเจน เพราะผู้เช่ายังไม่เต็ม แต่ที่สุดเราก็ผ่านทุกอย่างมาได้ ถึงตอนนี้มีคนตื่นเต้นกับสิ่งที่เราทำ ผู้เช่าเข้ามา ตอนเช้ามีคนเข้ามานั่งปิกนิกในสวน แค่นี้แพมก็รู้สึกดีมากเลย
LIPS: นิยาม Green Space ของที่นี่ลงลึกกว่าแค่การมีต้นไม้ร่มรื่นหรือเปล่า
แพม: ต้องบอกตรงๆ ว่า ณ ปัจจุบันสิ่งที่เราตั้งใจไว้กับสิ่งที่ออกมายังไม่เหมือนกันสักทีเดียว เพราะแพมอยากได้อะไรที่ยั่งยืนกว่านี้เยอะมาก แต่โควิดทำให้หลายอย่างติดขัด แต่สิ่งที่ได้อย่างใจเลยคือทิศทางลม เราอยู่ทิศเหนือใต้ที่รับลมธรรมชาติเต็มๆ เลยออกแบบให้โปร่งโล่ง โดยเฉพาะส่วนกลางในอาคารที่ได้ทั้งลมและแสงธรรมชาติ ส่วนคาเฟ่สไตล์เรือนกระจกชั้นบนกับแบ็กยาร์ดเป็นมุมที่แสงสวย ได้ทั้งสายลมและแสงแดด แพมคิดว่าเรามีทั้งส่วนที่มองแล้วสบายตาคือสวนหย่อมที่ให้คนเมืองได้ใกล้ชิดกับพื้นที่สีเขียว กับส่วนที่มองแล้วอิ่มเอมใจ เพราะมีงานอาร์ตให้ดู และที่นี่เป็นมิตรกับสัตว์เลี้ยงด้วย
LIPS: ความยั่งยืนที่ว่ามีอะไรบ้าง
แพม : ตอนนี้เรามีจุดแยกขยะ มีการรีไซเคิลกระดาษ พลาสติก มีจุดให้นำกระติกมาเติมน้ำได้ โดยขอความร่วมมือจากคาเฟ่ เราใช้กระดาษ สบู่ล้างมือสูตรรักษ์โลก แต่เรายังทำได้อีก ฉะนั้น จะปรับปรุงไปเรื่อยๆ ส่วนที่อยากแต่ยังทำไม่ได้ คือการทำปุ๋ยหมักเอง เพราะยังกังวลเรื่องความสะอาด แมลง และกลิ่น และอยากปลูกผักเองซึ่งตอนนี้ได้ปลูกบ้างแล้ว และอยากมีจุดรับบริจาคของเหลือใช้ทุกเดือน แล้วนำมาแลกเปลี่ยนกัน เป็นสิ่งที่แพมอยากทำมากๆ
LIPS: ขยายความแนวคิดการเป็น Plant-based, Health Lead แห่งแรกของไทยสักนิด
แพม: หลายคนอาจยังสับสนกับ 3 คำนี้ ได้แก่ มังสวิรัติ (Vegetarian) วีแกน (Vegan) และอาหารจากพืช (Plant-based) อธิบายง่ายๆ ให้เห็นความต่าง มังสวิรัติเน้นการกินพืช ไม่กินเนื้อสัตว์ แต่กินผลิตภัณฑ์จากสัตว์ได้ ส่วนวีแกน กินเหมือนมังสวิรัติ แต่ไม่กินผลิตภัณฑ์จากสัตว์ และไม่บริโภคสิ่งที่มีกระบวนการผลิตเกี่ยวข้องกับสัตว์ด้วย สำหรับ Plant-based คือ อาหารที่ทำจากพืช 100% เท่านั้น ไม่มีส่วนผสมจากผลิตภัณฑ์จากสัตว์เลย
ฉะนั้น ที่ถามกันว่า Plant-based นี่ Healthy ไหม สำหรับ Plant-based ที่นี่ เราเลือกสรรวัตถุดิบและคัดผู้ประกอบการที่จะมาอยู่กับเรา โดยมีเงื่อนไขว่า เราไม่รับวัตถุกันเสีย ไม่รับน้ำมันปาล์ม ไม่รับสารกันบูด ที่นี่เป็น The Wholesome Living ที่ให้ความรู้สึก Good Vibes ได้พลังงานดีๆ กลับไป
LIPS: มีเกณฑ์คัดเลือกผู้ประกอบการอย่างไร
แพม: ส่วนตัวมองว่า Plant-based หลักๆ คืออาหาร อย่างคาเฟ่ Kynd Kulture ที่เปิดพื้นที่ให้เขาเช่า ความที่อยู่ใกล้กัน เรารู้ว่าเขาใช้วัตถุดิบคุณภาพ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่นี่ เราเคยออกอีเวนต์ด้วยกันมาหลายครั้งแล้ว แพมรู้จักและมั่นใจแล้วถึงชวนเขามา นอกจากนี้ แพมระบุชัดในสัญญาเลยว่า เรามีข้อกำหนดอะไรบ้าง ถ้าเขาจะเปลี่ยนแปลงอะไรต้องแจ้งและอัพเดตเราด้วย เพราะอาจมีผู้ที่แพ้อาหาร ส่วนผู้ที่เป็นวีแกน เราอยากให้เขามั่นใจว่ามาที่นี่ กินอาหารได้อย่างสบายใจ เพราะไม่อยากให้ลูกค้าเข้าใจผิดหรือผิดหวังว่าจะมีการใช้นม ไข่ เนย หรือน้ำผึ้ง แพมเลยจะลงลึกและทำความรู้จักกับผู้ประกอบการทุกคน
LIPS: คุณแพมเป็นคนคัดสินค้าที่วางขายในซูเปอร์เองด้วย
แพม: บางคนมาตั้งแต่วันแรกที่เราเปิดเมื่อตอนมีนาคม เขาก็บอกว่า ‘เดี๋ยวนะ เดือนที่แล้วมา ของยังไม่เยอะขนาดนี้เลย’ แต่แพมรู้สึกว่าของยังไม่เยอะพอ (หัวเราะ) เราเริ่มจากขายออนไลน์ก่อน ทำในห้องเล็กๆ สองห้อง พอน้องเห็นแพมมาก็จะพูดว่า ‘คุณแพมมา มีของใหม่มาอีกละ’ แพมจะเสาะหาของมาเติมเรื่อยๆ
ตอนช่วงโควิดมีน้องที่ทำงานไปติดอยู่ที่เกาะพะงัน เลยได้กินชีสเจ้าหนึ่ง เขามาบอกแพมว่าเจ้านี้อร่อยมากนะ พอได้กิน อร่อยจริงๆ แพมสั่งชีสและช็อกโกแลตวีแกนโฮมเมดจากเกาะพะงันมาขาย แล้วก็มีเนื้อเทียมจากสมุย เป็นเจ้าเดียวที่ไม่ใส่สารกันบูด ใช้วิธีหมัก กินแล้วย่อยได้ดีขึ้น ทำออกมาได้รสชาติดีมาก หรือน้ำพริกเผาเจที่เราขาย เป็นเจ้าที่ไม่ใส่สารกันบูด ไม่มีน้ำมันปาล์ม รสชาติกลมกล่อมมาก
นอกจากอาหาร เรายังมีสินค้าอีกหลายอย่าง เช่น The Good Stuff สินค้าแฟชั่นที่ทำจากผ้ารีไซเคิลโดยชุมชนท้องถิ่น Rewildverse ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ศาสตร์การบำบัดด้วยกลิ่น Moringa Project สกินแคร์สายวีแกนสกัดจากมะรุมที่ปลูกในฟาร์มอินทรีย์ที่หัวหิน Child Finds Freedom เสื้อผ้าทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่รักษ์โลก
“เคยคิดว่าถ้าไม่กินไข่ ไม่กินเนื้อสัตว์ จะไม่มีแรง แต่กลายเป็นว่ายกเวตได้ดีกว่าเดิม จนเทรนเนอร์ยังแปลกใจว่าไปเอาแรงมาจากไหน”
LIPS: นึกไม่ถึงว่าเมืองไทยมีวัตถุดิบอาหารวีแกนมากขนาดนี้
แพม: ใช่ รู้ตัวอีกทีกลายเป็นว่าเราเดินสายหาของโลคัลเข้าซูเปอร์ โดย 90% เป็นของในเมืองไทย อีก 10% เป็นของคนรู้จักที่มาฝากขาย ความที่เราเป็นแม่ จะคัดของที่มาขายเหมือนกับที่เลือกให้ลูก ขนมทุกอย่างที่นี่ ลูกเรากินได้หมด เราแฮปปี้ว่าไม่มีผงชูรส ไม่มีสารกันบูด ไม่มีน้ำมันปาล์ม เวลาลูกค้าเข้ามาหาซื้อของ พอได้เห็นชอยส์สินค้าที่เราแนะนำก็แฮปปี้ อย่างพาสตาที่เราขายจะไม่มีแป้ง ส่วนผสมหลักเป็นถั่วเลนทิล ให้โปรตีนสูงขึ้นด้วย ในเวลาเดียวกัน เราก็รับฝากขายสินค้าจากท้องถิ่นต่างๆ ด้วย
LIPS: คนมักรู้สึกว่า อาหารสุขภาพมักราคาสูง
แพม: ชีสวีแกนของเราราคาพอๆ กับอาร์ทิซานชีสทั่วไป อาจจะถูกกว่าด้วยซ้ำ คนนมองว่า นี่ไม่ใช่ชีสจริง แต่ลืมไปว่า กระบวนการผลิตใช้เวลาบ่มหมักเหมือนกัน บางเจ้าใช้อัลมอนด์ บางเจ้าใช้เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ซึ่งแพงกว่านมวัวอีก หรือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของเรา ราคาเริ่มต้นที่ 30 กว่าบาท แต่ไม่มีส่วนผสมของแป้ง ไม่ผ่านการทอด ไม่มีน้ำมันปาล์ม ไม่มีวัตถุกันเสีย
อยากให้ดูว่าราคานี้ เราได้อะไร เพราะนี่ไม่ได้เป็นราคาแบรนด์ แต่เป็นราคาวัตถุดิบที่ใช้ ถ้าลูกค้ามาแล้วเจอแพม เข้ามาบอกเลยว่ามองหาอะไรอยุ่ เคยมีลูกค้าอยากลองกินชีส เราบอกได้ว่า อันนี้ใช้ทาขนมปังนะ อันนี้ใช้ใส่สลัดนะ แล้วให้ลูกค้าเลือกเอง ขอแค่เปิดใจ มีหลายคนติดใจกลับมาซื้อซ้ำ ดูจากคนใกล้ตัวแพมเลย คุณพ่อพอได้กินครัวซองต์จากคาเฟ่ของที่นี่ ได้ฟังแพมอธิบายว่าเขาใช้วัตถุดิบแบบนี้ๆ นะ ก็พูดเลยว่า ‘ขายถูกไปหรือเปล่า’ ทั้งที่เจ้าตัวทุกวันนี้ยังนั่งชั้นประหยัดเวลาไปต่างประเทศอยู่เลย
LIPS: ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ Plant-based มีอะไรบ้าง
แพม: เคยคิดว่าถ้าไม่กินไข่ ไม่กินเนื้อสัตว์ จะไม่มีแรง แต่กลายเป็นว่า ตัวเองกลับยกเวตได้ดีกว่าเดิม จนเทรนเนอร์ยังแปลกใจว่าไปเอาแรงมาจากไหน และการฟื้นตัวจากการออกกำลังกายก็ดีขึ้นด้วย จริงๆ แล้ว Plant-based มีโปรตีนเยอะ อย่างลูกแพมที่แพ้ผลิตภัณฑ์จากนมวัว เราค่อนข้างจำกัดการกินอาหารพวกนี้ แต่พอเขาเริ่มโตก็ชักไม่ยอมแม่แล้ว และเราก็ไม่อยากบังคับลูกด้วย ถ้ากินเยอะก็จะหูอักเสบ เป็นหวัด ภูมิต้านทานน้อยลง ลูกไม่แฮปปี้ที่ต้องขาดเรียนและขาดซ้อม เพราะเขาเป็นนักกีฬาด้วย เขาเลยนานๆ กินที แพมให้ลูกลองกิน Plant-based เพราะเขาไม่กินเนื้อสัตว์ ซึ่งเขาก็มีน้ำหนักและส่วนสูงตามเกณฑ์ แสดงว่า Plant-based ที่ให้โปรตีนจากพืชไม่กระทบกับการเจริญเติบโตของร่างกาย
LIPS: ความตื่นตัวของสังคมไทยกับการบริโภค Plant-based เป็นอย่างไรบ้าง
แพม: 80% เลยนะ โดยเฉพาะในกทม.ที่รู้ว่า Plant-based แปลว่าอะไร เหมือนหรือต่างจากวีแกนไหม แต่อยู่ที่ตัวเขาว่าอยากจะลองกินหรือเปล่า และก็อยู่ที่เจเนอเรชั่นด้วย ถ้าอายุต่ำกว่า 30-35 ปี กลุ่มนี้จะกล้าลอง หลายคนมาที่นี่ แล้วบอกเราว่า มื้อกลางวันเขาเป็น Plant-based นะ หรือวันธรรมดาเป็น Plant-based แต่เสาร์อาทิตย์ไปกินกับครอบครัวก็กินปกติ นี่คือสิ่งที่แพมได้ยินและเห็นมา
แต่ไม่ว่าคุณจะเป็นวีแกนไหม แพมคิดว่าเราทุกคนควรกินผักผลไม้ให้มากขึ้น และควรลดการกินเนื้อสัตว์ให้น้อยลง เพราะร่างกายใช้เวลาย่อยนาน ส่วนตัวคิดว่ากระแส Plant-based และวีแกนจะไม่หายไป แต่จะมาอีก และมาเรื่อยๆ แต่ไม่ใช่แค่ Plant-based นะ จะเป็น Healthy Plant-based นั่นคือสิ่งที่เรากำลังทำอยู่
“ไม่ว่าคุณจะเป็นวีแกนไหม แพมคิดว่าเราทุกคนควรกินผักผลไม้ให้มากขึ้น และควรลดการกินเนื้อสัตว์ให้น้อยลง เพราะร่างกายใช้เวลาย่อยนาน”
LIPS: คิดว่าตัวเองได้รับอะไรจากโปรเจกต์นี้
แพม: คุณพ่อคุณแม่เล่าให้ฟังว่า ท่านเป็นเจเนอเรชั่นที่ครอบครัวย้ายจากอินเดียมาอยู่เมืองไทย คุณแม่มาตั้งแต่อายุได้ไม่กี่เดือน ส่วนคุณพ่อมาตอนสองขวบ ครอบครัวเราทำมาหากินอยู่ที่นี่ ท่านทำงานหนักเพื่อสร้างตัวขึ้นมา สิ่งที่แพมเห็นมาตั้งแต่เด็ก นอกจากความขยันทำงานแล้ว สิ่งที่ท่านให้ความสำคัญมากในการทำธุรกิจคือความซื่อสัตย์ คุณพ่อจะไม่ขายสัญญาเปล่าให้คนมาจองห้อง แต่จะรอให้คอนโดเสร็จพร้อมขายเสียก่อน ส่วนเตียงในแต่ละห้องก็ต้องขนาด 5-6 ฟุต ทั้งที่เป็นห้องเล็ก ‘ต้องคิดว่าถ้าเขามีครอบครัว ต้องอยู่ได้’ ห้องน้ำก็ต้องลองใช้เองก่อนว่าสะดวกไหม คือไม่ใช่สวยแค่รูป แต่ฟังก์ชันใช้งานต้องมีประสิทธิภาพด้วย
แพมโตมากับการทำงานแบบนี้ เห็นมาตลอดว่าคุณพ่อคุณแม่ทำงานยังไง พอทำธุรกิจของตัวเอง แพมตั้งใจทำให้ดีที่สุดด้วยความซื่อสัตย์ เพราะเรามีแบบอย่างที่ดีในครอบครัว นั่นคือบทบาทในฐานะลูกที่อยากทำให้ท่านภูมิใจ สำหรับตัวเองคิดว่าได้ความสุขใจที่ได้ทำให้พื้นที่นี้เพื่อสร้างประโยชน์กลับคืนสังคม ใครรู้สึกเบื่อๆ อยากชวนมานั่งเล่นที่นี่ เรามีอินเทอร์เน็ต มีร้านกาแฟน่ารัก บรรยากาศดี อยากให้ทุกคนที่มาได้รับความรู้สึกดีๆ กลับไป
Words: Rattikarn Hana
Portraits: Somkiat Kangsdalwirun
Still Life: @ekm6_bkk, @plentigrocer, @kyndkulture