ปริมมี่-วิพาวีร์ พัทธ์ณศิริ เป็นนางแบบในวัย 14 เป็นผู้กำกับในวัย 26 และเป็นนักแสดงนำซีรีส์ Netflix ในวัย 27
เป็นมนุษย์ 3 in 1 ที่หาไม่ได้ง่ายๆ ปริมมี่ติด Top 50 ในการประกวด Thai Supermodel เป็นจุดเริ่มต้นอาชีพนางแบบที่ยังทำมาถึงปัจจุบัน
เธอรับงานแสดงครั้งแรกในซีรีส์ มาลี เพื่อนรัก..พลังพิสดาร (2015) จากนั้นบินไปเรียน Fine Art Photography ที่อังกฤษ ทำหนังสั้น ถ่ายภาพ ทำงานศิลปะ ซึ่งยังทำจนทุกวันนี้ แถมได้รางวัลด้วย
ปริมมี่เป็นที่รู้จักมากขึ้นจากบทผู้ดูแลโรงเรียนสอน Sport Stacking หรือการเรียงแก้วเป็นรูปทรงพีระมิดในหนังแอ็กชั่น (สไตล์เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์) เรื่อง Fast & Feel Love (2022) ซึ่งยังหาชมได้ทางเน็ตฟลิกซ์
เธอก้าวมาอยู่หน้ากล้องในฐานะนักแสดงนำครั้งแรกกับบท ‘บุ้ง’ ลูกสาวร้านเช่าวิดีโอยุคปี 1999 ที่มีเหตุจูงใจให้ไปรวมตัวเป็นแก๊งครอบครัวตัวปลอมไปหลอกครอบครัวตัวจริง ที่ตามมาด้วยเรื่องชวนยิ้มอุ่น หัวเราะร่า น้ำตาริน ใน Analog Squad ทีมรักนักหลอก ซีรีส์ออริจินัลเรื่องใหม่ ซึ่งรับชมได้แล้ววันนี้ทางเน็ตฟลิกซ์
“ความยากคือเราต้องเล่นเป็นทอมยุค 90 ที่ไม่เหมือนกับทอมยุคนี้”
LIPS: ทีมนักแสดง ปีเตอร์ นพชัย, น้ำฝน กุลณัฐ และเจเจ กฤษณภูมิ จะมาเป็นครอบครัวปลอมๆของเรา และพี่ต้น-นิธิวัฒน์ ธราธร (หนัง Season Change, หนีตามกาลิเลโอ, คิดถึงวิทยา) เป็นผู้กำกับ นี่หรือเปล่าที่ทำให้ปริมมี่เซย์เยส
ปริมมี่: ซีรีส์ Analog Squad เข้ามาตอนที่ปริมเพิ่งถ่ายหนังพี่เต๋อเรื่อง Fast & Feel Love จบไป มีคนชวนไปแคสต์ซีรีส์เรื่องนี้ บอกว่าบทเป็นทอมยุค 90 ได้ยินแค่นั้นก็ชอบเลย น่าสนใจดี
LIPS: อ่า…อ้าว
ปริมมี่: (หัวเราะ) จริงๆแล้วปริมกลัวทุกคนในกองเลย รวมทั้งเจเจด้วย เพราะเรารู้สึกว่าตัวเองใหม่ เราแอบกดดันตัวเองด้วยว่าจะทำได้ดีหรือเปล่า จะตามคนอื่นทันไหม แต่ก็ดีใจที่ได้เจอและได้ทำงานกับพี่ๆหลายคน รวมทั้งเจเจ
LIPS: ซึ่งเจเจเมาธ์ว่าปริมมี่นอยด์มากในกองถ่าย
ปริมมี่: ปริมอาจจะยังงงๆ ในการถ่ายทำจะมีกล้องหลายตัว เรื่องบล็อกกิง ปริมอาจจะไม่ได้คมเท่าคนอื่น แต่เวลาโดนติ เราไม่ได้โดนจากคนเดียว เราจะโดนจากหลายคน (หัวเราะ) จนมีคนสงสาร เดินตามไปปลอบในห้องน้ำ ‘ไม่เป็นไรนะ’ ปริมไม่ได้ร้องไห้ แค่เดินไปคิดเงียบๆคนเดียวว่าทำไมเราทำพลาด แต่เราไม่ได้โดนว่าแบบซีเรียสขนาดนั้น มันเป็นเรื่องที่เราต้องเรียนรู้ในการทำหนังมากกว่า
LIPS: กลับมาที่บท ‘บุ้ง’ นอกจากเรื่องที่เป็นทอมยุค 90 แล้วมีอะไรน่าสนใจอีก
ปริมมี่: เราค่อนข้างเหมือนตัวละครนี้ตรงที่ทำงานตั้งแต่เด็กและเดินทางบ่อย เราเข้าวงการนางแบบตั้งแต่อายุ 14 อยู่ในวงการเราจะเจอคนเยอะ หลังๆมาเราจะโฟกัสกับคนที่เป็นเพื่อนเราจริงๆ เหมือนเราได้เจอเพื่อนกลุ่มนี้ที่สนิทและเจอกันตลอดเวลา หลังๆมาพยายามอยู่กับตัวเองให้มากขึ้น เพราะเดินทางบ่อยมาก รู้สึกว่าเราโดดจากโปรเจ็กต์หนึ่งไปอีกโปรเจ็กต์ เดินทางไปนู่นนี่นั่น เวลาที่สำคัญที่สุดคือตอนเช้าที่ตื่นขึ้นมา หรือวันไหนว่างๆแล้วได้อยู่บ้าน
ที่ทำหลายโปรเจ็กต์เพราะปริมเองก็ไม่ได้ปิดอะไร เปิดรับทุกโอกาสที่เข้ามา ปริมไม่ได้มีเป้าหมายที่อยากไปถึง เราอยากมีประสบการณ์บางอย่างในอาชีพนี้ที่กำลังสร้างอยู่มากกว่าการที่เราจะต้องเป็นที่หนึ่งของ…อะไรก็แล้วแต่ เราไม่มีความคิดว่าเราต้องสำเร็จสุดๆ
LIPS: ฉากหลังของซีรีส์คือพังงา ดูทรงแล้วน่าจะถูกใจสายช่างภาพ เพราะบ้านเรือนยังเก่าเก็บเหมือนเมืองที่หยุดเวลาในอดีต
ปริมมี่: ปริมอยู่พังงาเยอะกว่าคนอื่น ปริมชอบแถวถนนตะกั่วป่า มีตึกเตี้ยๆ ดูเหมือนย่านน่ารัก ชีวิตสโลว์ไลฟ์มาก เราเคยอยู่แต่ในกรุงเทพฯมาตลอด พอมาอยู่แบบนี้รู้สึกว่าใช้ชีวิตง่ายขึ้น คาแรกเตอร์บุ้งใช้เวลาอยู่กับเมืองนี้เยอะ ซึ่งทีมอาร์ตก็ปรับเปลี่ยนบางอย่างในเมืองนี้บ้าง ยิ่งทำให้เราเหมือนได้กลับไปอยู่ในยุค 90 จริงๆ
“เราอยากมีประสบการณ์บางอย่างในอาชีพนี้ที่กำลังสร้างอยู่มากกว่าการที่เราจะต้องเป็นที่หนึ่งของ…อะไรก็แล้วแต่”
LIPS: ทดสอบความรู้ยุค 90 หน่อย คนดังยุคนั้นที่รู้จัก ได้แก่…
ปริมมี่: รู้จัก Destiny’s Child, ไมเคิล แจ๊กสัน, TLC และ Spice Girls
LIPS: แต่ไม่รู้จักทอมยุค 90
ปริมมี่: ความยากคือเราต้องเล่นเป็นทอม เข้าใจว่าปริมเป็นคนแมนๆ และอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ได้เล่นบทนี้ แต่ปริมไม่เคยมีความสัมพันธ์กับผู้หญิง และทอมในยุคของปริมกับทอมยุค 90 ของพี่ต้นก็ไม่เหมือนกัน ทอมของปริมคือเลสเบี้ยน แต่ของพี่ต้นไม่ใช่ ปริมไปทำรีเสิร์ชว่าทอมยุค 90 เป็นแบบไหน ให้พี่ต้นอธิบายว่าเป็นยังไง เราเข้าใจว่าทอมคือคนที่ทำตัวแมนๆ พยายามจะเป็นเหมือนผู้ชาย แต่ทอมในแบบพี่ต้นไม่ใช่แบบนั้น เป็นผู้หญิงที่ชอบผู้หญิงหรือผู้ชายก็ได้ เลยเป็นคาแรกเตอร์ที่น่าสนใจ เราไม่เคยเล่นคาแรกเตอร์แบบนี้ มีโมเมนต์ที่นั่งอ่านบทและเถียงกับพี่ต้นว่าทำไมบุ้งต้องเป็นทอม เขาก็แค่ชอบผู้หญิงและไว้ผมสั้น
LIPS: ปริมมี่โตมาในยุคที่ผู้คนมีความไหลเลื่อนทางเพศกันเป็นเรื่องปกติ ไม่จำเป็นต้องนิยามว่าเป็นอะไร
ปริมมี่: ใช่ และปริมต้องการเหตุผล แต่ในยุค 90 เหมือนพอคนนี้มีคาแรกเตอร์หรือพฤติกรรมแบบนี้ เขาก็ต้องเป็นแบบนี้ เราพยายามสร้างที่มาที่ไปให้ตัวละคร และพบว่าเรามีคำถามเยอะ เรารู้สึกว่าใครจะเป็นเพศอะไรไม่เห็นต้องแคร์
ปริมชอบตั้งแต่บทที่เล่นเป็นทอมยุค 90 คอนเซปต์ของ White Lie การโกหกขาว และการโกหกในโลกยุค 90 ตอนอ่านบทแรกๆก็ขำ ไม่ได้ขำบทตัวเอง ขำโดยรวมที่มีความดราม่ากับตลก ปริมว่าคนไทยชอบแนวนี้ ‘ตลกแต่มีน้ำตา’ กิมมิกที่ใช้ในเรื่องนี้มีดราม่ามากๆ และตลกมากๆ และมีบริบทที่ให้คิดด้วย คาแรกเตอร์บุ้งก็น่าสนใจและมีอะไรให้เล่นเยอะ คิดว่าเราต้องทำการบ้านหนักถ้าจะเล่นเรื่องนี้ มีหลายเลเยอร์ ไม่ใช่แค่เป็นคนกวนๆ ดูเป็นคนปกติที่อยู่ในโลกสดใส
LIPS: นั่นแหละที่ผิดปกติสุดๆ
ปริมมี่: (หัวเราะ) แต่ในวัยนั้น บุ้งยังคงมองโลกสดใส
LIPS: มันต้องอยู่มานานประมาณหนึ่งถึงจะไม่เชื่อในอะไรที่ too good to be true
ปริมมี่: ใช่ และปริมรู้สึกว่าหลายๆคนในวัย 20 จะมีความหัวแข็ง เราเชื่อฝังหัวกับสิ่งที่เราเชื่อ บุ้งเป็นแบบนั้น พอชีวิตไปเจอความจริงบางอย่าง มันเลยทำลายเขา ปริมเองก็เคยเจอกับสภาวะที่รู้สึกเหมือนโลกถล่มทลาย เราเลยเชื่อมโยงกับบุ้งได้กับภาวะพื้นหาย รู้สึกไม่ค่อยมั่นใจในตัวเอง ตอนเราโตมาในวัยเดียวกับบุ้ง เราเป็นแบบนั้นเลย
“ถ้าเรา White Lie ไปเรื่อยๆ จะกลายเป็นความเคยชินหรือเปล่า นิสัยนี้ไม่ควรจะทำได้อย่างอัตโนมัติ”
LIPS: ทำไมสนใจเรื่อง White Lie
ปริมมี่: เราคิดว่าเป็นคอนเซปต์ที่น่าสนใจ มาสะกิดให้คิดว่าเราเองก็เคย White Lie แต่ไม่ใช่ว่าพูดด้วยความเคยชิน เราแค่พูดออกไป พอกลับมาคิด นี่เราก็โกหกเขานี่นา แล้วทำไมต้องโกหก ทำไมเราไม่เรียนรู้ที่จะพูดความจริง พอมาเล่นเรื่องนี้เรากลับไปคิดเรื่องของเรากับครอบครัวเยอะมาก ถ้าให้เลือกได้เราอยากฝึกพูดความจริง แม้จะเป็นความจริงที่เขาไม่อยากได้ยิน เราเองก็อยากหลีกเลี่ยงบางสถานการณ์ที่เราไม่ต้องโกหกเขาดีกว่าไหม ตอนนี้ก็ยังเป็นอยู่นะ เช่น เพื่อนชวนกินข้าว จริงๆแล้วเราไม่อยากไป แต่ตอบไปว่าทำงานอยู่ แล้วทำไมเราต้องพูดไปแบบนั้น ในเมื่อเราบอกไปตรงๆก็ได้ว่าวันนี้ขอไม่ไปนะ
LIPS: พูด White Lie ไม่ดียังไง
ปริมมี่: ถ้าเรา White Lie ไปเรื่อยๆ ไม่ได้คิดอะไร มันจะกลายเป็นความเคยชินหรือเปล่า นิสัยนี้ไม่ควรจะทำได้อย่างอัตโนมัตินะ แต่เราทำโดยอัตโนมัติในบางช่วง บางครั้งชอบอยู่คนเดียว แต่โดนชวนไปข้างนอกก็จะ White Lie ว่ายุ่งอยู่
LIPS: ชอบอยู่คนเดียว แต่ทำอาชีพที่ต้องเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก ทั้งการเป็นนางแบบ ผู้กำกับ นักแสดง
ปริมมี่: ถ้าเอาปริมไปวางกับกลุ่มคนจำนวนมากก็พูดเก่งอยู่ค่ะ ไม่ได้มีปัญหา แค่ว่าถ้าเลือกได้ก็เลือกจะอยู่คนเดียวหรืออยู่กับเพื่อนไม่กี่คน
“ตอนแสดงเป็นบุ้ง เราคิดในหัวว่าเราไม่รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับการทำหนังเลย”
LIPS: ผลงานส่วนตัวหลังจากเรียนจบด้าน Fine Art Photography จากอังกฤษมีอะไรบ้าง
ปริมมี่: เพิ่งทำหนังสั้นเรื่องดาหลาสีม่วง (PURPLE DALHA ปริมมี่เป็นผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ หนังเรื่องนี้เข้าประกวดในเทศกาลหนังสั้นที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และได้รางวัล Winner Of Tokyo International Short Film Festival for Best Female Director 2023 และรางวัล Honourable Mention for First Time Filmmaker 2023 ในงานเทศกาลหนังสั้นที่โตเกียว Official Selection at The Tokyo International Short Film Festival 2023 ชมได้ในเว็บไซต์ www.nowness.asia
นอกจากนั้นก็กำลังเขียนบทเองอยู่ เพราะหลังจากมาทำ Analog Squad ก็ได้เรียนรู้เยอะมากว่าเรายังไม่รู้อะไรอีกเยอะมากๆ ปริมเคยเรียนฟิล์มแบบคอร์สสั้นๆ แต่ไม่เคยเขียนบทเอง จำได้ว่าตอนแสดงเป็นบุ้ง เราคิดในหัวว่าเราไม่รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับการทำหนังเลย มิน่าล่ะ ตอนที่เราโดดไปทำหนังสั้นเองถึงได้มีปัญหาเยอะมาก
LIPS: ในด้านไหน เทคนิค การสื่อสาร…?
ปริมมี่: การสื่อสารกับทีม กับคนที่เราทำงานด้วย การทำหนังไม่ใช่แค่การกำกับหนัง เราต้องกำกับคนด้วย พอมาเป็นนักแสดงเอง เราก็ได้ทำงานอีกพาร์ตหนึ่งของหนัง มันก็น่าสนใจดี
“ปริมอยากร่วมงานกับทั้งผู้กำกับไทยและต่างชาติ อยากไปนิทรรศการต่างๆ และได้ลองกำกับงานที่ตัวเองแสดงเอง”
LIPS: ประสบการณ์ที่ปริมมี่บอกว่าอยากไปสัมผัส เช่นอะไรบ้าง
ปริมมี่: อยากทำเธียเตอร์ค่ะ อยากทำ Performance คุยกับพี่ผู้กำกับคนหนึ่งว่าอยากทำการแสดงที่แกลเลอรี และอยากร่วมงานกับผู้กำกับที่ปริมชอบ
LIPS: ถ้าไม่มีเงื่อนไขอะไรเลย ผู้กำกับคนนั้นที่อยากร่วมงานด้วยคือ…
ปริมมี่: (เขิน) พี่ต้อม-เป็นเอก รัตนเรือง ปริมชอบหนังเขามากแทบทุกเรื่อง ชอบ Last Life in the Universe (ฝ้า บ้า คาราโอเกะ, เรื่องตลก 69, นางไม้, ฝนตกขึ้นฟ้า ฯลฯ) อยากเล่นหนังหลายๆแบบ ลองแสดงหลายๆคาแรกเตอร์ ได้ร่วมงานกับทั้งผู้กำกับไทยและต่างชาติ อยากไปนิทรรศการต่างๆ และได้ลองกำกับงานที่ตัวเองแสดงเอง ส่วนมากงานปริมเป็นส่วนตัวมาก ปริมว่าสำคัญมากที่เราต้องเอาตัวเองใส่เข้าไปในงาน ไม่ต้องเยอะ แต่ต้องมีนิดหนึ่ง เพื่อให้เราเชื่อมโยงกับโปรเจ็กต์นั้นๆได้
LIPS: ดูปริมมี่คลุกวงในกับบุ้งมานาน และใช้ชีวิตเป็นบุ้งมาหนักหน่วง ตอนนี้ที่ปิดกล้องไปแล้วและบุ้งจะได้มีชีวิตบนจอ สำหรับปริมมี่ บุ้งคือใครในชีวิต
ปริมมี่: เขาคือเพื่อนอีกคนในชีวิตเรา ตอนอ่านบทครั้งแรก เราสงสารบุ้งมากๆ แต่เราก็ได้เรียนรู้จากเขาเยอะ ทั้งสิ่งที่เขาเรียนรู้กับตัวเอง ทั้งสิ่งที่เขาสอนปริม เช่น การแสดง การทำหนัง บุ้งเป็นคาแรกเตอร์แรกที่ปริมเล่นเป็นตัวนำ ซึ่งดีใจนะคะที่ได้เล่นคาแรกเตอร์นี้
ตัวอย่าง Analog Squad ทีมรักนักหลอก ทาง Netflix
Analog Squad ทีมรักนักหลอก รับชมได้ทาง Netflix ตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคมนี้เป็นต้นไป
Words: Suphakdipa Poolsap
Photos: Somkiat Kangsdalwirun