*SPOILER ALERT เนื้อหาบางช่วงเปิดเผยเรื่องราวในซีรีส์
ย้อนกลับไปในช่วงเวลาของการหาเสียงเลือกตั้งอันแสนคึกคักเมื่อสองเดือนที่ผ่านมา เหล่าผู้สมัครจากแต่ละพรรคต่างตบเท้าลงพื้นที่เดินสายหาเสียง ออกรายการดีเบตเพื่อแสดงวิสัยทัศน์ นโยบาย และการแสดงจุดยืนทางการเมือง เรียกคะแนนเสียงจากประชาชนให้เลือกพวกเขาเข้าไปทำหน้าที่ในสภา ขณะเดียวกันสื่อมวลชนทุกช่องทางล้วนเกาะกระแสและนำรายงานข่าวกระแสความนิยมของผู้คนที่มีต่อพรคคต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เป็นบรรยากาศที่สร้างสีสันให้กับสังคมไทยไม่น้อย
ท่ามกลางความร้อนระอุของการหาเสียงเลือกตั้งพอๆ กับสภาพอากาศในเมืองไทยช่วงเวลานั้นเอง ซีรีส์สัญชาติเกาหลีอย่าง Queenmaker ก็ลงแพลตฟอร์ม Netflix อย่างพอเหมาะพอเจาะ
ซีรีส์เรื่องนี้ว่าด้วยเรื่องราวของ ฮวังโดฮี หัวหน้าทีมวางแผนกลยุทธ์และการบริหารภาพลักษณ์ผู้บริหารองค์กรของบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีชื่อว่า ‘อึนซองกรุ๊ป’ โดยเธอทำหน้าที่คอยตามล้างตามเช็ดปัญหา(จัญไร)ต่างๆ มากมายที่คนในตระกูลนี้ทำไว้ และส่วนใหญ่ก็ใช้ความชาญฉลาดของเธอในการแก้ปัญหาแม้ว่าวิธีการนั้นจะไม่ถูกต้องก็ตาม กระทั่งวันหนึ่งเธอกลับถูกเจ้าของอึนซองกรุ๊ปหักหลังจนชีวิตพลิกผันสู่จุดต่ำสุด
ฮวังโดฮีจึงหวังกลับมาแก้แค้น ด้วยการเข้ามาอยู่เบื้องหลังและวางกลยุทธ์จัดแคมเปญการหาเสียงเลือกตั้งให้กับ โอกยองซุก ทนายความหญิงนิสัยโผงผาง นักเคลื่อนไหวผู้ไม่เกรงกลัวอิทธิพลใดๆ ให้ชนะการเลือกตั้งและขึ้นมานั่งเก้าอี้นายกเทศมนตรีกรุงโซลให้ได้
เหตุผลที่เธอยอมกลับขั้วจากเผด็จการไปเป็นประชาธิปไตยลงสนามเลือกตั้ง ก็เพราะนั่นเป็นหนทางเดียวที่เธอจะได้เอาคืนตระกูลนี้อย่างสาสม รวมถึงการโค่น รยูซูยอง ลูกเขยประจำตระกูลอึนซองกรุ๊ปที่เป็นตัวแทนของตระกูลที่ลงสมัครชิงตำแหน่งเช่นกัน การแก้แค้นบนสมรภูมิการเลือกตั้งจึงเริ่มต้นขึ้น
การล้างแค้นของคนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยต่อกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ใจอำมหิต เป็นหนึ่งในประเด็นที่เรามักจะได้พบในซีรีส์เกาหลีในช่วงเวลาที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น Itaewon Class, Squid Game, Reborn Rich หรือแม้กระทั่ง The Glory ซึ่งซีรีส์ดังที่กล่าวมา ล้วนเป็นกระแสได้รับความนิยมจากคนดูในวงกว้าง ไม่เว้นแม้แต่ Queenmaker ที่นำเสนอประเด็นนี้
ซีรีส์ตระกูลล้างแค้นนี้มักสร้างตัวละครที่เป็นคู่ตรงข้ามอย่างชัดเจน คือครอบครัวอึนซองกรุ๊ปผู้รวยล้นฟ้า เอาเปรียบประชาชนเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง (แม้กระทั่งฮวังโดฮีผู้จงรักภักดีต่อองค์กรนี้เสมอมายังถูกเขี่ยทิ้งอย่างไม่แยแส) ปะทะกับ โอกยองซุก ผู้เป็นตัวแทนของประชาชนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากกลุ่มทุนตระกูลนี้
ไม่น่าแปลกใจที่คนดูส่วนใหญ่ต่างเทใจเชียร์ฮวังโดฮีและโอกยองซุกได้อย่างเต็มกำลัง ควบคู่ไปกับความสนุกในการวางแผนกลยุทธ์ งัดกลเม็ดเด็ดพราย ไพ่ลับต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างข้อมูลเท็จ การเผยแพร่ข่าวปลอม การจัดฉากเพื่อทำลายฝ่ายตรงข้าม โดยใช้สื่อมวลชนเป็นเครื่องมือในการสร้างดราม่า บิดเบือนความจริง การสาดโคลนและแก้เกมต่างๆ นานา รวมถึงการตีหน้าเศร้าเล่าความเท็จของผู้ลงสมัครหวังเรียกคะแนนสงสารจากประชาชน
กลเกมการเมืองเหล่านี้เป็นเครื่องตอกย้ำว่าเวทีการเมืองนั้นไม่ต่างอะไรจากเวทีการแสดงที่ผู้สมัครต่างสวมบทบาทที่คนดูอยากเห็นและปกปิดความฟอนเฟะของตนเองเอาไว้อย่างแนบเนียน ทำให้คนดูได้เห็นเรื่องราวการห้ำหั่นกันในช่วงเวลาการหาเสียงเลือกตั้งชนิดที่เรียกว่า “ฆ่าได้ฆ่า ใครตายช่างมัน” อย่างถึงพริกถึงขิง
เหนือสิ่งอื่นใด อีกประเด็นที่ Queenmaker ตั้งใจนำเสนอควบคู่ไปกับเส้นเรื่องการแข่งขันบนเวทีการเมืองก็คือ ความพยายามในการสร้างพลังของผู้หญิงที่ร่วมด้วยช่วยกันต่อสู้กับอำนาจอันไม่เป็นธรรมจากกลุ่มทุนสามานย์และการตกเป็นเหยื่อการคุกคามทางเพศของผู้ชาย ด้วยการวางเหตุการณ์การฆ่าตัวตายของเลขาสาวที่ถูกรยูซูยองขืนใจและไม่รับผิดต่อการกระทำนี้ อันเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ฮวังโดฮีตัดสินใจที่จะกระชากหน้ากากอันชั่วร้ายของเขา และยังเป็นการไถ่บาปที่เธอเองก็มีส่วนที่ทำให้เลขาสาวต้องตายเพราะเธอเองก็ถูกหลอกเป็นเครื่องมือในการปกปิดความชั่วร้ายนี้เช่นกัน
พูดได้เต็มปากว่านี่คือซีรีส์ดราม่าว่าด้วยการแก้แค้นของผู้หญิงคนหนึ่งที่ไม่ต่างจาก The Glory เพียงแต่ถูกนำมาจัดวางให้อยู่บนพื้นที่ทางการเมืองนั่นเอง
แม้ว่าเรื่องราวใน Queenmaker จะเหตุการณ์ที่เต็มไปด้วยความบังเอิญหรือชวนให้ขมวดคิ้วสงสัยอยู่ไม่น้อยตามแนวทางเล่าเรื่องแนววางแผนแก้แค้นทำลาย แต่ถือได้ว่าเป็นซีรีส์ที่เห็นจุดยืนและประเด็นที่ต้องการนำเสนอของผู้สร้างอย่างชัดเจน ทั้งในแง่การต่อสู้ของคนตัวเล็กกับอำนาจใหญ่ที่ดูไม่มีวันจะโค่นลงได้และพลังของผู้หญิงในการลุกขึ้นมาส่งเสียงและขับเคลื่อนสู่การเปลี่ยนแปลงสังคม
ฮวังโดฮีทำตามแผนได้สำเร็จสมดังที่มุ่งหวังเอาไว้ทุกประการ อันเกิดขึ้นจากความเฉลียวฉลาดของตนเองและจากความร่วมแรงร่วมใจกันของผู้หญิงทุกคนเช่นเดียวกัน
Words: Thanapol Chaowanich