Best Designer of the Year
ข่าวการลาออกของแดเนียล ลี ครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ของ Bottega Veneta ถือเป็นข่าวช็อควงการแฟชั่นแห่งปี ในขณะเดียวกันผลการทำงานของเขาที่ผ่านมาที่ Bottega Veneta ก็อาจจะทำให้เขาเป็นดีไซเนอร์แห่งปีได้ด้วย เรียกได้ว่า Bottega Veneta กลับมาเป็นแบรนด์ฮอตฮิตระดับโลกทั้งเรื่องเทรนด์และการขายได้ ก็เพราะแดเนียล ลี นี่เอง
แดเนียล ลี เข้ามาทำงานในตำแหน่งครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ที่ Bottega Veneta ในช่วงกลางปีค.ศ. 2018 แทนโทมัส ไมเออร์ ที่ทำงานมานานถึง 17 ปี ชื่อของแดเนียล ลี อาจจะไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แต่พอจะเป็นที่รู้กันว่า เขาเคยทำงานให้กับโฟบี้ ไฟโล ที่ Celine มาก่อน ก่อนที่จะมารับตำแหน่งใหญ่ที่ Bottega Veneta
ผลงานการสร้างสรรค์ของแดเนียล ลี ที่ทำให้ Bottega Veneta กลับมาเป็นแบรนด์ยอดนิยมได้อีกครั้งก็คือ บรรดาแอ็กเซสซอรี่ทั้งหลาย เริ่มจากกระเป๋า Pouch และ Cassette ที่กลายเป็น must-have ไอเท็มแห่งปี กับการนำเอาการสานหนังรูปแบบ intrecciato อันเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์มาสร้างสรรค์ใหม่ในแนวทางที่โมเดิร์นขึ้น เรียบง่าย แปลกใหม่ และสะดุดตา ในรูปแบบที่ Gen Z ชื่นชอบ หลังจากนั้นก็กลับกลายเป็นว่า การสานหนังแบบที่ใครๆ ต่างเห็น และคุ้นเคยมานานหลายปี กลับกลายมาเป็นของเก๋ที่ถูกปรับเปลี่ยนไปเป็นเครื่องประดับรูปแบบต่างๆ รวมไปถึงรองเท้า Lido และรองเท้าบู๊ตยาง อีกหนึ่งแฟชั่นไอเท็มแห่งปีที่ถูกก็อปปี้ขายจนเกลื่อน
ไม่เพียงแค่การเป็นไอเท็มฮอตที่ใครๆ ก็ต้องมี มันยังช่วยทำให้ยอดขายและการเติบโตของแบรนด์ Bottega Veneta พุ่งสูงปรี๊ดอีกด้วย โดย Bottega Veneta มียอดขายสูงขึ้น 2.2% หรือประมาณ 1 พันล้านยูโรในปีค.ศ. 2019 และเติบโตขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าโลกจะเจอกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ยอดขายของแบรนด์ต่างๆ ลดลงกว่า 23% แต่ไม่ใช่ Bottega Veneta และในไตรมาสที่สามของปีนี้ก่อนที่แดเนียลจะประกาศลาออก Bottega Veneta มีผลประกอบการสูงขึ้นถึง 8.9% เลยทีเดียว และนั่นเป็นสิ่งที่ มาทธิเออ บลาซี ครีเอทีฟไดเร็กเตอร์คนใหม่ของ Bottega Veneta จะต้องมาสานต่อ
Best Collab of The Year
ในปีนี้เราเห็นการ Collab กันระหว่างแบรนด์มากขึ้น เริ่มต้นด้วย Balenciaga และ Gucci กับ The Hacker Project ที่เหมือนเป็นการเปิดโอกาสให้ดีไซเนอร์ทั้งสองแบรนด์ ทั้งเดมนา กวาซาเลีย และอเลสซานโดร มิเคเล สามารถ ‘แฮ็ก’ เข้าไปในคลังเก็บผลงานของอีกแบรนด์ได้ เพื่อนำเอาอาไคป์ต่างๆ ออกมาใช้ในการผสมผสานกับผลงานของแบรนด์ตัวเอง
ผลลัพธ์ที่ออกมาก็คือ เราจะเห็นกระเป๋าของ Balenciaga ที่มีลายโลโก้ของ Gucci คาดร่วมอยู่ หรือโครงชุดอันเป็นเอกลักษณ์ของ Balenciaga แต่ใช้ผ้าลวดลายโมโนแกรมของ Gucci ซึ่งโปรเจ็กต์นี้นัยหนึ่งยังเป็นการประชดประชันงานก็อปปี้ในโลกปัจจุบันที่มักจะนำเอาโลโก้ของแบรนด์ต่างๆ ไปใช้สร้างสรรค์ผสมปนเปกันไปหมดอีกด้วย
แม้คอลเล็กชั่นนี้จะมีกระแสเสียงออกมาว่า คิดเยอะแต่ทำน้อยไปนิด เพราะสุดท้ายทุกอย่างก็ยังเป็นอาไคป์ของแต่ละแบรนด์แค่เอาโลโก้อีกแบรนด์มาผสมผสาน แต่จากการเปิดขายครั้งแรกที่ขายหมดเกลี้ยงคนต่อคิวกันยาวเหยียด ก็คงพอบ่งบอกได้ว่า ความนิยมของสองแบรนด์นี้ยังคงไม่ลดราลงแม้แต่น้อย
ผ่านมาไม่กี่เดือนก็มีการ Collab ครั้งยิ่งใหญ่เกิดขึ้นอีกครั้งระหว่างแบรนด์ Versace และ Fendi ภายใต้ชื่อ ‘Fendance’ ความแตกต่างระหว่างการ Collab ครั้งนี้กับของ Balenciaga และ Gucci ก็คือ Versace และ Fendi ไม่เรียกว่าเป็นการ Collab แต่เป็นการ ‘สลับ’ กันทำงาน โดยให้ Donatella Versace ไปทำงานให้ Fendi ส่วน Kim Jones มาทำงานให้กับ Versace โดยทั้งสองมีสิทธิในการเข้าถึงและการใช้อาไคป์ทุกอย่างของแบรนด์นั้น และนำมาผสมผสานกับแบรนด์ของตัวเอง
ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นแม้จะมีความละม้ายคล้ายคลึงกับ The Hacker Project ของ Balenciaga และ Gucci แต่ก็มีรายละเอียดที่มากกว่า โดยเฉพาะเสื้อผ้าที่มีการสร้างลวดลายขึ้นมาใหม่ด้วยเทคนิคใหม่ๆ ในการนำเอาลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ของทั้งสองแบรนด์มาผสมผสานกัน อีกครั้งยังเกิดซิลลูเอตต์และสไตล์ใหม่ๆ อีกด้วย แต่ส่วนของการขายอาจจะต้องรอปีหน้า เพราะนี่คือ คอลเล็กชั่นฤดูร้อนที่จะวางขายในปีหน้า
Best Innovative Show of the Year
ในสถานการณ์การระบาดของของโควิด-19 ที่ทำให้แฟชั่นวีคต้องงดการจัดงาน เปลี่ยนไปเป็นรูปแบบดิจิทัล หรือบางแบรนด์ก็งดการจัดโชว์ของตัวเองไปเลย ทำให้แบรนด์แฟชั่นต้องปรับตัวตามสถานการณ์ของโลก เพื่อที่ธุรกิจจะยังสามารถดำเนินต่อไปได้ และภายใต้การปรับตัวนั้นก็ทำให้เราได้เห็นความสร้างสรรค์ใหม่ๆ มากมาย ที่นำเอานวัตกรรมหรือเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้
หนึ่งในแบรนด์ที่โดดเด่นที่สุดในการนำเสนอผลงานคอลเล็กชั่นต่างๆ ในปีค.ศ. 2021 นี้ก็คือ Balenciaga เริ่มต้นด้วยการนำเสนอคอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ผลิ 2022 ที่นำเอาเทคโนโลยีดีฟเฟค (การปลอมแปลงด้วยปัญญาประดิษฐ์) มาใช้สร้างตัวโคลนทางดิจิทัล ถูกนำเสนอผ่าน Eliza Douglas (เอลิซ่า ดักลาส) ศิลปินที่มักจะเป็นคนเปิดหรือปิดเกือบทุกโชว์ของ Balenciaga และปรากฏตัวในแคมเปญส่วนใหญ่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาของแบรนด์ โดยเอลิซ่าจะปรากฏตัวในรูปแบบของตัวโคลนดิจิทัล ซึ่งบางส่วนเป็นดีฟเฟค หรือบางส่วนก็จะเป็นนางแบบคนอื่นที่ใช้ใบหน้าของเอลซ่าในรูปแบบงาน CG สวมทับลงไป
นอกจากนี้กระบวนการการสร้างสรรค์วิดีโอนำเสนอคอลเล็กชั่นนี้ โดยเฉพาะส่วนของโพสต์โปรดักชั่นยังใช้กรรมวิธีที่หลากหลายทั้ง การติดตามในแบบแนวระนาบ การหมุนภาพ แมชชีนเลิร์นนิ่ง และการสร้างแบบจำลอง 3 มิติ เพื่อให้ได้ผลงานที่ออกมาในรูปแบบจริงยิ่งกว่าจริง (hyper-realistic )
ซึ่งก่อนหน้านั้น Balenciaga ได้เข้าไปจอยในโลกของเกมมาแล้ว กับ Afterworld และในคอนเซ็ปต์คล้ายๆ กันนี้ในปีนี้ก็มีแบรนด์ N.Hollywood นำเสนอคล้ายๆ กัน โดยนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการนำเสนอคอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน 2022 ด้วยการสร้างแอพพลิเคชั่นขึ้นมา เป็นแอพฯ ที่คล้ายกับการเล่มเกม โดยที่ลูกค้าสามารถเข้าไปเล่น และสามารถ customize เสื้อผ้าในคอลเล็กชั่นนี้ได้เองอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น สี หรือลายผ้า
ดูเหมือนว่า นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่ได้ถูกนำมาใช่แค่รองรับในแง่งานออกแบบเท่านั้น แต่ยังถูกนำมาใช้ในการนำเสนองานออกแบบ หรือการสร้างประสบการณ์ร่วมกับลูกค้า โดยเฉพาะในยามที่บูติกช็อปทั้งหลายยังคงปิดด้วยสถานการณ์โควิด-19 คนออกจากบ้านน้อยลง และใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น นวัตกรรมเหล่านี้ทำให้เราตื่นเต้นกับแฟชั่นมากขึ้น และทำให้เราได้ใกล้ชิดกับมันมากขึ้นอีกด้วย
Best Trend of 2021
หากจะพูดถึงเรื่องเทรนด์แห่งปี เรามักจะโฟกัสไปยังเรื่องสไตล์ รูปแบบของเสื้อผ้า สี แฟชั่นไอเท็มที่ฮิต แต่จริงๆ แล้วเทรนด์แฟชั่นของปีค.ศ. 2021 กลับเป็นเรื่องแนวความคิดในการสร้างสรรค์แฟชั่นต่างหาก โดยเฉพาะประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เป็นประเด็นระดับโลกและส่งผลถึงการสร้างสรรค์งานแฟชั่นอีกด้วย
อย่างที่รู้กันว่า อุตสาหกรรมแฟชั่นเป็นอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษและก๊าซเรือนกระจกสูงเป็นอันดับสองของโลก นั่นทำให้แฟชั่นต้องปรับตัวไปกับเทรนด์ของโลก ที่คนเริ่มใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ใส่ใจกับการบริโภคมากขึ้น สิ่งนี้เราเห็นมาตั้งแต่คอลเล็กชั่น Re-Nylon ของ Prada เมื่อหลายปีที่แล้ว และดูเหมือนว่า ผ้าไนลอนรีไซเคิลจะกลายมาเป็นวัตถุดิบสุดฮิตในโลกแฟชั่นนับจากนั้น เช่นเดียวกันกับ Fendi ที่เพิ่งออกไลน์กระเป๋าที่ทำจากไนลอนรีไซเคิลเมื่อไม่นานมานี้ โดยใช้ Econyl ของ Aquafil ซึ่งเป็นเส้นใยไนลอน 00% ที่ทำมาจากขยะไนลอนอย่างพวกเศษผ้า อวนจับปลา พรม พลาสติก ฯลฯ
ไม่เพียงแค่นั้นเรายังเห็นแบรนด์ต่างๆ เริ่มสื่อสารถึงกระบวนการการสร้างสรรค์เสื้อผ้าของแบรนด์ตัวเองว่ามีอะไรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมบ้าง อย่าง Balenciaga ในคอลเล็กชั่นล่าสุดก็ใช้ผ้าเดนิมอัพไซเคิล หนัง สิ่งทอชั้นดี และการปัก รวมถึงนวัตกรรมด้านวัสดุ ทั้งหนังที่ทำจากพืช หนังที่มีส่วนผสมของเส้นใยที่ได้จากแคคตัสและโพลีเมอร์ชีวภาพ โดย 95.2% ของผ้าธรรมดาและผ้าพิมพ์ลายในคอลเลกชั่นนี้ได้รับการรับรองความยั่งยืน หรือ Versace ในส่วนของเสื้อยืดผ้าเจอร์ซีย์และสเวตเชิ้ตนั้นสร้างสรรค์มากจากเนื้อผ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ชุดที่มีความเป็นทางการสร้างสรรค์ขึ้นมาจากผ้าที่ค้างอยู่ในสต็อกของ Versace เอง
และอีกหนึ่งแบรนด์ที่มุ่งมั่นในเรื่องสิ่งแวดล้อมก็คือ Burberry การนำเสนอคอลเล็กชั่นนี้ตลอดจนการทำงานทั้งหมดของ Burberry ได้รับการรับรองว่า ได้ทำโครงการชดเชยการปลดปล่อยคาร์บอนทั้งหมด (certified carbon neutral) และยังได้มีมาตรการเพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นในการจัดกิจกรรม ก่อนที่จะมีการชดเชยการปลดปล่อยคาร์บอนใดๆ ผ่านกองทุนฟื้นฟู Burberry Regeneration Fund ของแบรนด์อีกด้วย
นอกจากนี้ Burberry ยังตั้งเป้าหมายในเป็นแบรนด์ที่เป็นมิตรต่อสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ( Climate Positive) ภายในปี 2040 และเป็นบริษัทชั้นนำรายแรกที่ออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนโดยได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุนในการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนของแบรนด์อีกด้วย และนั่นบ่งบอกได้ถึงเทรนด์ของแฟชั่น ที่กำลังเคลื่อนไปสู่ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้นและลึกขึ้น
Text : Mr. G
Photos : Courtesy of Brands