Search
Close this search box.
Search
Close this search box.
HOME / Interview

Rhyme of the Youth – Milli

มินนี่-ดนุภา คณาธีรกุล แร็พเปอร๋สาวสุดเผ็ดกับการแบกรับคำว่า "เด็กสมัยนี้" ไว้บนบ่า
Interview

แร็พเปอร์สาวน้อยร่างเล็กเผ็ดจี๊ดแบบพริกขี้หนูหมดสวนคนนี้ใครๆ ก็เคยทึ่งในความสามารถในการแร็พได้อย่างเอร็ดอร่อยของเธอเมื่อเธอขึ้นเวทีในรายการ The Rapper และเปิดตัวให้โลกรู้จักด้วยเพลงดัง “พักก่อน” ที่ออกมาคาบเกี่ยวในช่วง Quarantine พอดี ทำให้เพลงของเธอโด่งดังอย่างไม่มีอะไรมาต้านทานได้

     ในวัย 17 ปี มินนี่-ดนุภา AKA Milli (มิลลิ) เพิ่งเข้าชั้นปีที่ 1 คณะดนตรี สาขา Music Entrepreneurship มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และมีความใฝ่ฝันอยากเป็น Music Therapist ในอนาคต ส่วน ณ ปัจจุบันนี้นอกจากกำลังตื่นเต้นกับเพลงใหม่ “สุดปัง” ที่เพิ่งปล่อยออกมาได้ไม่กี่วันก็แตะหลัก 5 ล้านวิวไปแล้ว เธอยังต้องกดดันกับการแบกน้ำหนักของคำว่า “เด็กสมัยนี้” ไว้บนบ่า

ลิปส์ : มิลลิรู้สึกอย่างไรที่เหมือนตัวเองกลายเป็นตัวแทนของเด็กสมัยนี้ไปแล้ว
มิลลิ : กดดันมากค่ะ แล้วบางทีหนูก็กลายเป็นไอดอลกลาย ๆ เป็นบุคคลตัวอย่าง ซึ่งจริง ๆ แล้วหนูไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย หนูรู้สึกว่า คนดีจะต้องทำอะไรมากกว่าที่หนูเป็นอยู่ การที่คนเราจะเป็นไอดอลให้คนอื่นๆ ได้ เขาก็จะต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในสังคม ซึ่งบางเรื่องหนูก็ mood แย่ไป คนเราก็มีทั้งด้านดี และด้านไม่ดีใช่ไหมคะ แต่ว่าหนูก็กลับบางคนเขาคาดหวังอะไรกับตัวหนู เพราะว่าคำว่าเป็นไอดอล หรือเป็นตัวอย่างให้เยาวชน ซึ่งมันฟังดูหนักมาก ฟังดูต้องแบกอะไรเยอะมากเลย

ลิปส์ : แต่ดูเหมือนมิลลิก็ต้องแบกคำว่า “เด็กสมัยนี้” ติดตัวไปตลอด แล้วถ้าพูดถึง  “Generation Z”  พอได้ยินคำนี้นึกถึงอะไรมาก่อนเลย
มิลลิ : นึกถึงตัวเอง นึกถึงสังคมที่อยู่แล้วรู้สึกว่า สังคมที่มีใน Gen Z มันไม่ได้มีแค่บ้าๆ บอๆ เหมือนสังคมที่หนูอยู่ มันก็ยังมีสังคมที่เป็นเด็กดี หรือว่าดีกว่าหนูมากๆ พฤติกรรมเรียบร้อย อยู่ในโอวาท เชื่อฟังผู้ใหญ่ มีสัมมาคารวะ มีมารยาท อยู่ในกรอบ อยู่ในระเบียบ ดูเป็นคนที่เชื่อฟัง นั่นคือเด็กดี แต่ส่วนใหญ่หนูก็จะเป็นเด็กที่ผู้ใหญ่ต้องบอกว่า “มิลลิเอาอีกแล้ว”  หนูก็เลยรู้สึกว่าหนูเป็นเด็กไม่ดี ชอบเถียง ทุกลมหายใจเข้าออก แต่หนูเป็นกับแม่คนเดียวนะคะ ชอบเถียงเอาชนะ เถียงกวนประสาทเฉยๆ แต่ว่าถ้าเถียงเหตุผล อันนี้จะเป็นกับทุก ๆ คน

ลิปส์ : แล้วผู้ใหญ่เจอเด็กแบบมิลลิต้องรับมืออย่างไรถึงจะทำให้เราเถียงไม่ออก
มิลลิ : เหตุผลเท่านั้นค่ะ หนูถึงจะยอมรับว่า “อ๋อ…หนูผิดเอง โอเค ขอโทษค่ะ” อย่างเรื่องมาสาย อันนี้เป็นสิ่งที่รู้ตัวเองอยู่แล้ว แล้วเราก็ไม่มีคำแก้ตัว โดนดุไปเรียบร้อยแล้วค่ะ เพราะฉะนั้น หนูก็จะไม่เถียง หนูก็จะขอโทษค่ะอย่างเดียว อันนี้มันสมเหตุสมผล หนูไม่ค่อยแฮปปี้กับผู้ใหญ่อีกแบบหนึ่งที่เขาไม่รับฟังอะไรเลย อันนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของหนูด้วยนะคะ ไม่ได้หมายความว่าเด็กทั้ง Gen Z จะเป็นเหมือนหนู แต่ว่าหนูเป็นคนที่รู้สึกว่าโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว

“ทุกอย่างมันเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น อะไรที่คุณคิดว่าดี ในสมัยนี้อาจจะไม่ดีก็ได้แล้ว อย่างเรื่องที่หนูเจอบ่อยที่สุด ตอนนี้ก็ยังเจออยู่เป็นเรื่องที่ญาติๆ อยากให้หนูเป็นข้าราชการ”

ลิปส์ : เด็กที่มีความสำเร็จแล้วในระดับหนึ่งอย่างมิลลิยังเจอกับค่านิยมนี้อยู่อีกเหรอ
มิลลิ : (พยักหน้า) หนูน่ะพิสูจน์ตัวเองมาตลอดว่า จะทำในสิ่งที่ชอบ และจะทำให้ได้ดีด้วย พอหนูได้ยินเขาบอกกับหนูแบบนั้น หนูจึงได้แต่มองหน้าเขาเฉย ๆ แล้วไม่พูดอะไร เพราะว่าหนูรู้สึกว่า หนูพูดไปเขาก็ไม่ฟัง หนูก็เลยเลือกที่จะทำให้เขาเห็น จนตอนนี้ไม่รู้เขาเห็นหรือเปล่า หรือเขาเห็นแล้วแต่อาจจะมองว่าไม่พอก็ได้ ซึ่งเขาคงเขามองว่า สิ่งที่หนูทำอยู่มันไม่มั่นคง หนูก็เลยเสนอหนทางที่มั่นคงว่าไปเป็น Music Therapist ดีไหม ซึ่งเขาก็ไม่ยอมรับอยู่ดี เขาบอกว่า “จิตวิทยาน่ะเหรอ ใครจะไปหาหมอคนโรคจิต ไปรักษาคนโรคจิต รักษาตัวเองเหรอ”  แต่ไม่ใช่ไง  หนูรู้สึกว่า วิทยาการนี้มันเป็นวิทยาศาสตร์ที่เข้าถึงเด็กๆ ได้แล้ว ยิ่งสมัยนี้มีภาวะซึมเศร้า ภาวะไบโพลาร์กันเยอะขึ้นในวัยรุ่น มันจึงเป็นอาชีพที่น่าจะใช้งานได้มากๆ เลย ไม่รู้สินะ แต่หนูอาจจะเอาวิชานั้นมารักษาญาติผู้ใหญ่ก็ได้
     ซึ่งจริง ๆ หนูก็เข้าใจในส่วนของเขานะว่า เขาอาจจะเป็นห่วงแล้วก็มองอะไรในระยะยาว ซึ่งเขาอาจจะมองว่าหนูเด็ก แล้วก็มองระยะสั้น แต่จริง ๆ หนูมองยาวมากนะว่า หลังจากที่หนูเป็น Therapist เสร็จแล้วหนูจะทำอะไรต่อ  ส่วนงานข้าราชการ หนึ่ง ไม่ใช่สไตล์หนูอยู่แล้ว สองก็คือเงินเดือนที่สตาร์ทมันน้อยมาก มันไม่คุ้มกับสิ่งที่หนูทำอยู่ตอนนี้ สาม ถ้าพูดกันตรงๆ ก็คือ ไม่พูดให้ถูกใจเจ้านายก็จะไม่โต  จะว่าง่ายก็ง่ายถ้าเรากล้าทำ แต่จะว่ายากก็ยากถ้าเรายังเป็นตัวเราอยู่ ก็เลยรู้สึกว่าไม่ใช่สไตล์ หนูพยายามหนีออกจากระบบโรงเรียน แล้วทำไมหนูจะต้องเข้าไปเจอในระบบราชการอีก

ลิปส์ : อย่างนี้ถ้าเป็นผู้ใหญ่เขาจะหาจุดเชื่อมโยงกับคนรุ่นมิลลิอย่างไรดี คุยเรื่องอะไรกันดี
มิลลิ : ต้องคุยกันนะคะ อย่างบ้านหนูคุยกันแทบจะตลอดเลย เพราะว่าไม่มีเรื่องอะไรที่เข้ากันได้เลย (หัวเราะ)  เราเถียงกันเป็นปกติจนเรียกว่าคุยแล้วค่ะ อย่างหนูกับพ่อ เราจะค่อนข้างใช้เหตุผลเยอะหน่อย สำหรับหนูกับแม่จะไปทางอารมณ์หน่อย บางทีเราก็กวนเขาเล่นเฉยๆ เพราะเราสนิทกัน อย่างเวลาหนูใส่สั้น ก็รู้แหละว่า เขาเป็นห่วง หนูก็จะถกกระโปรงให้เขาดู แล้วก็ตบตูดโชว์เลย เขาก็บอกว่า “เดี๋ยวจะโดนๆ” ก็สนุกๆ ดีค่ะ  ตอนเด็กๆ หนูเคยดาวน์กับคำว่า “แรด” กับ “แก่แดด”  แต่ตอนนี้ก็ไม่แคร์แล้วค่ะ

“ถ้าแม่คุยกันด้วยเหตุผลแล้วแม่บอกว่า “แต่งตัวอย่างนี้ไม่เรียบร้อย ทำให้แกดูไม่แพง”  อู้หู… คำว่า “ดูไม่แพง นี่เหมือนกรีดเลือดกันเลยนะ หนูรีบไปเปลี่ยนชุดเลย แต่ถ้าเจอคำว่า “แกดูแรด” ปุ๊บ อะ…วันนี้สวยแล้ว  แปลว่าตรงจุดประสงค์”

ลิปส์ : เพื่อนๆ หรือตัวมิลลิเอง รู้สึกว่าอะไรหลายๆ ในสังคมทุกวันมัน force ให้เราต้องประสบความสำเร็จเร็วไหม
มิลลิ : หนูว่า force ในแง่ความต้องการเป็นที่รู้จัก แต่ไม่ได้ force ให้หนูประสบความสำเร็จ  force ให้หนูไม่หยุดพัฒนาตัวเองมากกว่า เหมือนว่าเราจะต้องทำอะไร ๆ เราต้องเรียนรู้ตลอดเวลา เราต้องพัฒนาตัวเองตลอด เพราะเรารู้สึกว่า ชื่อเสียงมันเข้ามาเรื่อยๆ แล้วมีคนคาดหวังในตัวเรา ถึงเราจะทำปิดหู ปิดตาไม่รับรู้ ฉันจะเป็นของฉันอย่างนี้ แต่ในใจเราก็ไม่อยากให้คนที่เขาคาดหวังในตัวเราผิดหวังเหมือนกัน แต่ถ้าเป็นเพื่อนในแก๊งหนูที่รู้จักกัน เขาจะโดนกดดันเรื่องเรียนจบนี่แหละว่า จะต้องเข้าคณะนี้ เสร็จแล้วจะต้องได้เกียรตินิยม  ได้เกียรตินิยมเสร็จ แล้วจะต้องทำงานที่บริษัทนี้ ซึ่งหนูก็มานั่งคุยกันในเพื่อนหนู เลือกในสิ่งที่ชอบดีกว่า แล้วเราก็ต่อสู้กันมา เพื่อที่เราจะได้เลือกในสิ่งที่เราชอบจริงๆ

ลิปส์ : ตั้งเป้าหมายว่า ตัวเองต้องไปถึงจุดไหนถึงเรียกว่า ประสบความสำเร็จ
มิลลิ : จุดที่มีเงินเยอะๆ ค่ะ หนูมองตัวเองในกระจกแล้วก็รู้สึกว่า สมมติถ้าหนูอายุ 25 ปีหนูมีเงินประมาณ 30 ล้านหนูก็ยังไม่มองว่าตัวเอง success รู้สึกว่ามันจะต้องสบายกว่านี้  สมมติหนูมีเงิน 30 ล้าน เป้าต่อไป คือ พ่อ แม่ และยายหนูต้องมีเงิน 30 ล้านเหมือนกัน ทุกคนจะต้องมีเงินเหมือนที่หนูมี ถ้าหนูสบายเขาก็ต้องสบายไปพร้อมกับหนู ไม่ใช่หนูสบายแล้วเขาลำบาก

ลิปส์ : มิลลิเชื่อในอะไรที่สุด
มิลลิ : เชื่อในการลงมือทำ เพราะรู้สึกว่าถ้าเราพึ่งสิ่งศักดิสิทธิ์ไปแต่เราไม่ลงมือทำมันก็เท่านั้น อย่างถ้าหนูไปขอแม่พุ่มพวง ดวงจันทร์ว่า ขอให้ยอดวิวร้อยล้าน แต่ไม่ทำเพลงออกมามันก็งงนะว่าแล้วจะขอไปทำไม แต่หนูก็ไปขอ “แม่ผึ้ง” นะขอให้คนดูเยอะๆ ขอให้กระแสมันดี ตอนนี้ก็ไปแก้บนเรียบร้อยแล้วค่ะ หนูบนว่า จะไปหาแม่ผึ้ง เพราะว่าเข้าใจว่าแม่ผึ้งอยู่พระโขนง แต่จริงๆ แล้วพระโขนง คือ “แม่นาค” หนูก็เลยต้องไปหาถึงสุพรรณบุรีค่ะ (หัวเราะ)แต่เหนือสิ่งอื่นใดหนูเชื่อในการลงมือทำเพราะว่า หนูเห็นมาเยอะมากเลยคนที่พูดว่า อุ๊ย…อยากเป็นอย่างนี้ อยากทำแบบนี้ อยากเป็นอย่างนั้นบ้าง อยากอย่างเดียว แต่ไม่ทำสักอย่างหนึ่ง กลัว ไม่กล้าทำ มัวแต่รอๆๆ จนตอนนี้ก็ยังไม่ได้ทำ ถ้ารู้สึกว่าอยากต้องทำเลย หนูถือคติ ไม่พูด ถ้าเราพูดเราจะไม่ได้ทำ แต่ถ้าเราทำ มันไม่จำเป็นต้องพูด

ลิปส์ : คิดว่างานของตัวเองน่าจะช่วยเปลี่ยนแปลงอะไรในสังคมได้ไหม
มิลลิ : คาดหวังว่า งานตัวเองจะช่วยเปิดประเด็นให้สังคมมาถกเถียงกัน ซึ่งก็ไม่คิดว่า จะบรรลุผลตั้งแต่เพลงแรก  จริงๆ เพลงแรก “พักก่อน” หนูไม่ได้คาดหวังให้คนมาเถียงกันในประเด็นที่หนูพูดออกไปด้วยซ้ำ อย่างในเพลง “พักก่อน” ทำให้เราเห็นเลยว่า สังคมไม่ได้มีแค่สังคมเดียว แล้วสังคมที่หนูอยู่ ไม่ใช่สังคมคนดี  มันเกิดการเปรียบเทียบเลยค่ะ แล้วมันก็สอนเราว่า การใช้คำพูด ถึงแม้มันจะเป็นเพลงก็ตาม หรือจะเป็นสไตล์เราก็ตาม แต่เมื่อสื่อออกไปแล้วเข้าไปถึงเด็กที่เล็กมากๆ อย่างน้องๆ ชั้นอนุบาล ชั้นประถมเต้น TikTok เพลงหนู กลายเป็นว่าเราต้องระมัดระวังคำพูดมากขึ้นค่ะ เพราะถึงแม้เราไม่ได้อยากเป็นตัวอย่างให้เด็กๆ หรือเป็นไอดอลให้น้องๆ  แต่หลายๆ คนเขาก็มองเห็นเราเป็นไอดอลไปแล้ว

อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ในนิตยสาร LIPS ฉบับกรกฎาคม 2563
Photography : Somkiat K.

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม